นักข่าว The Independent เปิดใจครอบครัวอัคบารี เหยื่อเหตุระเบิดในภาพรางวัลพูลิตเซอร์

ภาพของเด็กหญิงที่ยืนร้องไห้ท่ามกลางผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุระเบิดพลีชีพที่ศาสนสถานในอัฟกานิสถาน กลายเป็นภาพที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเธอก็ยังไม่ดีขึ้นนัก และยังคงเศร้ากับการสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไป

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2013 ผู้สื่อข่าว The Independent คิม เซนกุปตา ได้สัมภาษณ์ครอบครัวของเด็กหญิงในภาพเหตุการณ์ระเบิดฆ่าตัวตายในอัฟกานิสถานเมื่อเดือน ธ.ค. 2011 ที่กลายเป็นภาพได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นความโหดร้ายและสิ้นหวังโดยมีเด็กหญิงสวมชุดซาลวาร์ กามีซ สีเขียวยืนกรีดร้องอยู่ท่ามกลางซากศพผู้เสียชีวิต ซึ่ง 7 คนในนั้นเป็นคนในครอบครัวเธอ รวมถึงน้องชายอายุ 9 ปี ของเธอด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่ศาสนสถานอาบุลฟาร์เซลของนิกายชีอะห์ ในกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน ขณะที่ชาวมุสลิมนิกายชีอะห์กำลังปฏิบัติพิธีกรรมวันอาชูรออฺจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 70 ราย ภาพดังกล่าวถูกรัฐบาลอัฟกานิสถานและองค์กรต่างประเทศนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับความสูญเสียจากปฏิบัติการของกลุ่มกบฏ และมีการให้สัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือครอบครัวของเด็กหญิงในรูป

เด็กหญิงที่กรีดร้องในรูปชื่อ ทารานา อัคบารี ปัจจุบันอายุ 13 ปี ผู้สื่อข่าว The Independent เปิดเผยว่าในตอนนี้ครอบครัวของเธอยังคงอยู่อย่างยากจนในย่านเสื่อมโทรมของกรุงคาบูล อาการบาดเจ็บทำให้เธอยากลำบากในการเดินไปที่ไกลๆ พี่สาวน้องสาวสองคนของเธอก็ได้รับบาดเจ็บเช่นกัน สุนิตา พี่สาวอายุ 15 ของเธอได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจากสะเก็ดระเบิดและไม่ได้ไปโรงเรียนอีก น้องสาวชื่อสุริตาอายุ 6 ปีต้องอยู่ในโรงพยาบาล 40 วันและเสียไตข้างหนึ่งไป เธอมีแผลเป็นที่ท้องและความเจ็บปวดที่ขาจากแผลสาหัสและต้องการการรักษาโดยด่วน

"ผมไปเคาะตามประตูบ้านเป็นร้อยหลังเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ก็ไม่มีใครทำอะไรเลย ผมไม่รู้ว่าเราควรจะไปที่ไหนอีก" อาห์เหม็ด ชาห์ อัคบารี พ่อของทารานากล่าว "ผมลากรถเข็นตลอดวัน ได้เงินมาราวๆ 300 อัฟกานิส (ประมาณ 170 บาท) ซึ่งไม่พอเอามาจ่ายค่ายาและค่าผ่าตัด หลังจากที่เอาไปเลี้ยงดูครอบครัวแล้ว มีคนใหญ่คนโตหลายคนมาดูลูกสาวผมหลังเกิดเหตุระเบิด แต่พวกเขาก็ไม่ได้ให้ความสนใจอะไร"

ครอบครัวของทามาราบอกว่าการรักษาที่ได้รับจากฟรีคลีนิกไม่ได้ผล ทำให้พวกเขาผิดหวัง แต่สิ่งต่างๆ ก็แตกต่างออกไปหลังเหตุการณ์เมื่อพวกเขาได้รับความสนใจ สุนิตาถูกส่งไปเข้ารับการผ่าตัดช่วยชีวิตที่ตุรกี แต่สิทธิในการเข้ารับการผ่าตัดหมดไปนานแล้ว ขณะที่ทารานายังมีรอยจากแผลฉีกขาดที่แขนและขา

ทารานาบอกว่า "หลังจากเหตุการณ์ระเบิดในครั้งนั้น ฉันคิดว่าฉันอยากเป็นหมอและช่วยเหลือผู้คน จนตอนนี้ฉันก็ยังอยากเป็นอยู่ ฉันเห็นว่ามันเป็นเรื่องของเงินไปหมด มันยากมากที่คนจนจะได้รับบริการทางการแพทย์และฉันว่ามันไม่ถูก ฉันรู้ว่าพวกเขาใช้รูปฉันลงในหนังสือพิมพ์ พวกเขาบอกว่ารูปนั้นเผยแพร่ไปทั่วโลก แต่มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรครอบครัวฉันในตอนนี้เลย และมันก็ไม่ได้ช่วยเหลือคนอื่นๆ ก็มีสภาพเดียวกับฉัน"

ทารานากล่าวในการสัมภาษณ์อีกว่า "แต่ฉันก็ว่าพวกเราโชคดีที่ยังมีชีวิตอยู่ ฉันเสียคุณป้า ลูกพี่ลูกน้องของฉันไป คนที่ฉันคิดถึงตลอดเวลาคือชาอิบ (น้องชายของเธอ) พวกเราเคยเล่นด้วยกัน ฉันเคยเป็นคนดูแลเขา หลังจากเกิดระเบิดฉันเห็นเขานอนอยู่บนทางเท้า เขายังมีชีวิตอยู่ เขาพยายามหายใจ มีเลือดไหลออกมาจากปากและจมูกของเขา ฉันมักจะฝันถึงเหตุการณ์วันนั้น ฉันพยายามจะไม่ให้ฝัน แต่มันก็ยังย้อนกลับมา"

"แม่ของฉันยังร้องไห้อยู่เสมอ เมื่อวานซืนเธอเห็นรองเท้าที่เคยซื้อให้เขาและคิดว่าจะเอาให้เขาหลังวันอาชูรออฺ แต่เขาก็ไม่เคยได้ใส่มัน แม่รู้สึกแย่มาก รู้สึกทำใจลำบาก" ทารานากล่าว

"ฉันรู้สึกโกรธกับเรื่องที่เกิดขึ้น โกรธมากๆ ทำไมคนๆ หนึ่งถึงระเบิดตัวเองเพื่อสังหารคนอื่นได้ ฉันรู้สึกโกรธคนที่ส่งเขามา พวกเขาส่งคนอื่นที่เหมือนเขามาอีก พวกเราเห็นคนตายเยอะมากเพราะการระเบิดพลีชีพเหล่านี้" ทารานากล่าว

ลัชการ์-อี-จังวี กลุ่มในปากีสถานอ้างว่าตนเป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าว นอกจากนี้ยังประกาศว่าเป็นผู้ก่อเหตุโจมตีต่อต้านลัทธิอื่นในปากีสถานอีกหลายครั้ง The Independent ระบุว่ากลุ่มนี้เคยมีฐานอยู่ในอัฟกานิสถานช่วงที่กลุ่มตอลีบันยังปกครองอยู่ ทั้งยังถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่งหน่วยระเบิดพลีชีพข้ามพรมแดนไปยังประเทศอื่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

ผู้ที่จู่โจมในพิธีกรรมอาชูรออฺได้พยายามเข้าไปข้างในศาสนสถาน บอกว่าเขาเป็นผู้ดำเนินพิธีกรรม แต่ถูกยามห้ามไว้ เป้าหมายของเขาน่าจะเป็นการเข้าไปทำลายแหล่งศาสนสถานของนิกายชีอะห์ แต่พอเข้าไปไม่สำเร็จจึงตัดสินใจออกมาโจมตีครอบครัวที่อยู่ด้านนอก

สุนิตา กล่าวถึงชายผู้ก่อเหตุว่า "เขาดูน่าสงสัยเพราะทำตัวแปลกๆ ยังดูเป็นคนอายุไม่มาก มีเคราขึ้นเล็กน้อย ผมเปียกเหมือนเพิ่งอาบน้ำมา เขานั่งลงหลังจากนั้นก็เกิดระเบิด นั่นเป็นสิ่งสุดท้ายที่ฉันจำได้ และหลังจากนั้นฉันก็ตื่นขึ้นมารู้สึกเจ็บไปทั่วร่าง"

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นซึ่งเกิดเมื่อเดือน ธ.ค. 2011 ในพิธีกรรมอาชูรออฺครั้งถัดมาเมื่อเดือน พ.ค. 2012 ก็มีทารานาเป็นเพียงคนเดียวในครอบครัวที่ไปเข้าร่วม เธอสวมชุดซาลวาร์ กามีซ สีเขียวตัวเดิมไป แต่ในครั้งหลังตำรวจอัฟกานิสถานก็ประกาศว่าพวกเขาจับกุมตัวผู้วางแผนก่อเหตุโจมตีพิธีกรรมเอาไว้ได้

ทารานาบอกว่า ที่เธอสวมชุดตัวเดิมไปงานเพื่อแสดงให้เห็นว่าเธอไม่กลัว และคิดว่ามันจะเป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงคนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุระเบิด

"ฉันคิดว่ามันจะเตือนให้คนนึกถึงรูปนั้น และนึกถึงคนที่บาดเจ็บจากระเบิด ฉันจึงไปที่นั่น จากนั้นจึงไปสวดภาวนาที่หลุดศพของน้องชายและสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ฉันรู้สึกเศร้ามาก"
 

 
 
เรียบเรียงจาก
 
'I dream about that day. I try not to but it keeps coming back': Tarana Akhbari, the girl in the 2011 Afghan bombing photograph, Kim Sengupta, The Independent, 01-04-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท