'กสิกรไทย' แจงผู้ถือหุ้น มั่นใจ ‘เขื่อนไซยะบุรี’ อุบเงียบมูลค่าเงินกู้

ผู้ถือหุ้นธนาคารกสิกร ตั้งคำถามในการประชุมประจำปีผู้ถือหุ้น กรณีธนาคารปล่อยกู้ให้โครงการเขื่อนไซยะบุรี

<--break->

3 เม.ย. 56 ประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนของ “เขื่อนไซยะบุรี” เป็นคำถามใหญ่ในการประชุมประจำปีผู้ถือหุ้นของธนาคารกสิกรไทย ผู้ปล่อยกู้ให้กับโครงการ

ที่สำนักงานใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ในระหว่างการประชุมเพื่อพิจารณาอนุมัติการจัดสรรกำไรจากผลการดำเนินงานปี 2556 ผู้ถือหุ้นได้ลุกขึ้นซักถามถึงข้อมูลการลงทุนให้เงินกู้ของธนาคารกสิกรไทย ในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี – เขื่อนขนาดใหญ่ที่กั้นแม่น้ำโขงสายหลัก ว่าทางธนาคารได้ให้เงินกู้กับโครงการนี้จริงหรือไม่ และเป็นจำนวนเงินเท่าใด ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารเองก็มีหลักการสำคัญที่จะต้องรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย หากในอนาคตโครงการดังกล่าวก่อความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมและชุมชน ธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้ลงทุนหลักจะรับผิดชอบอย่างไรต่อความเสียหายนั้น และต่อความเสียหายของชื่อเสียงธนาคาร ซึ่งย่อมจะกระทบต่อผู้ถือหุ้นทุกคนในที่สุด

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชี้แจงว่า “โครงการเขื่อนไซยะบุรีแทบจะไม่มีความเสี่ยงของการได้รับชำระหนี้ และทุกธนาคารของไทยต่างก็กระโจนเข้าสนับสนุน เพราะโครงการนี้ได้ผ่านกระบวนการตัดสินใจของคณะกรรมการระหว่างประเทศแล้ว อีกทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าทั้งหมดจากโครงการ และประเทศไทยก็ต้องการไฟฟ้าส่วนนี้ จึงไม่น่ากังวลในเรื่องการชำระหนี้

“แต่เนื่องจากเขื่อนไซยะบุรีเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงอาจมีผลกระทบชุมชนบ้าง เช่น การย้ายถิ่นฐานชาวบ้านจากพื้นที่ที่น้ำจะท่วมถึง เป็นเรื่องปกติสำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่จะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของการชั่งน้ำหนักผลประโยชน์ที่จะได้รับและผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น”

หลังจากนั้น ผู้ถือหุ้นอีกคนลุกขึ้นอภิปรายว่า ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนนี้คิดเป็นสัดส่วนเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณไฟฟ้าที่ไทยใช้ในแต่ละปี จึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด แม้ปราศจากเขื่อนนี้ ไทยก็ยังมีไฟฟ้าเพียงพอ

และต่อคำชี้แจงของธนาคารที่ระบุว่าโครงการนี้ผ่านกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการระหว่างประเทศแล้วนั้น ผู้ถือหุ้นได้โต้ว่าไม่เป็นความจริง

“กระบวนการพิจารณาในแต่ละประเทศยังไม่เสร็จสิ้น และชาวบ้านริมน้ำโขงที่เดือดร้อนในหลายประเทศ ก็ไม่มีใครเห็นด้วย และไม่มีใครลงไปถามชาวบ้านเหล่านี้เลย แต่โครงการนี้จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมหาศาล โครงสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เช่นนี้ แม้จะมีทางปลาผ่านก็ไม่มีประโยชน์ เพราะมันไม่สามารถใช้การได้ และในอีกไม่นาน ปลาน้ำโขงก็จะสูญหายไปแน่นอน”

ด้านนายบัณฑูรกล่าวย้ำอีกครั้งว่า โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ มีหลากหลายของความเห็น ไม่มีขาวไม่มีดำ ต้องชั่งน้ำหนักประโยชน์ด้านค่าไฟฟ้า และปริมาณไฟฟ้าที่ไทยจะได้รับ กับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

ในวาระสุดท้ายก่อนปิดการประชุม ซึ่งเปิดกว้างให้ผู้ถือหุ้นแสดงความเห็น ผู้ถือหุ้นยังลุกขึ้นทวงถามให้เปิดเผยถึงจำนวนเงินกู้ของธนาคารกสิกรไทย และชี้แจงข้อมูลกับกรรมการและผู้ถือหุ้นอื่นๆ ในที่ประชุมว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีประชาชนพึ่งพามากกว่า 60 ล้านคน ซึ่งถือว่ามากที่สุดสายหนึ่งในโลก และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เขื่อนไซยะบุรี ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงในประเทศลาว กำลังผลิตขนาด 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2 ของไฟฟ้าที่ไทยผลิตได้ในปัจจุบัน เท่านั้นเอง

ผู้ถือหุ้นยังกล่าวอีกว่า กระบวนการพิจารณาของชาติสมาชิกลุ่มน้ำโขง ในคณะกรรมการแม่น้ำโขงนั้นยังไม่จบสิ้น แต่รัฐบาลลาวและรัฐบาลไทยไม่สนใจกระบวนการนี้ กลับเดินหน้าสร้างเขื่อนต่อไป ในส่วนของผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เขื่อนนี้มีระบบทางลาดปลาผ่าน ซึ่งงานวิจัยระดับโลกหลายชิ้นระบุชัดว่าปลาส่วนใหญ่ในแม่น้ำโขง ไม่ใช่ปลากระโดด แต่เป็นปลาที่อพยพตามน้ำลึก อีกทั้งยังไม่เคยมีการพิสูจน์ว่าใช้ได้ผลเพียงใด นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำขึ้น-ลงในแม่น้ำโขงจากการเปิด-ปิดประตูเขื่อนก็จะทำให้ ระดับน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ปลาไม่สามารถอพยพขึ้นตามลำน้ำเพื่อวางไข่ได้ ซึ่งย่อมจะกระทบต่อชีวิตผู้คนกว่า 60 ล้านคน ที่อาศัยแม่น้ำสายนี้ในการหาเลี้ยงชีพ

ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นได้ยกกรณีตัวอย่างของธนาคาร HSBC ซึ่งให้เงินกู้แก่บริษัทอุตสาหกรรมตัดไม้ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม กรณีดังกล่าวทำให้ธนาคาร HSBC ไม่สามารถชี้แจงกับสาธารณะได้ในฐานะผู้มีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อม และทำให้ทางธนาคารต้องเสียชื่อเสียงเป็นอย่างมาก

“ธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้ให้กู้ ย่อมต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อม และชีวิตผู้คนทั้งในประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ไม่ต่างจากบริษัท ช.การช่าง เจ้าของโครงการ ซึ่งความเสียหายในอนาคตอาจมากจนไม่สามารถประเมินได้ ธนาคารจะรับไหวหรือไม่ จะชดเชยความเสียหายนั้นอย่างไร และจะรับผิดชอบอย่างไรต่อผู้ถือหุ้นอย่างไร” ผู้ถือหุ้นทิ้งท้าย

สุดท้ายผู้ถือหุ้นในที่ประชุมยังได้เสนอให้ธนาคารกสิกรไทยตระหนักและปฏิบัติตามหลักปฏิบัติมาตรฐานของ IFC (The International Finance Corporation [IFC] Performance Standards) และ Equator Principles ซึ่งวางหลักเกณฑ์ด้านการพิจารณาให้สินเชื่อแก่โครงการขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งน่าจะนำมาใช้กับโครงการขนาดใหญ่เช่น โครงการไซยะบุรี

ทั้งนี้ไม่ปรากฏว่านายบัณฑูรตอบคำถามเรื่องจำนวนเงินที่ธนาคารกสิกรไทยให้กู้แก่โครงการเขื่อนไซยะบุรี หรือแนวทางการแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายของโครงการที่ธนาคารให้กู้แต่อย่างใด

แฟ้มภาพ: ชาวบ้านแม่น้ำโขงในนาม "เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน" (คสช.) รณรงค์เรียกร้องให้หยุดการสร้างเขื่อนไซยะบุรี เนื่องจากหวั่นเกรงต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนริมน้ำโขง เมื่อเดือนกันยายน 2555

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท