ไม่มีเสรีภาพที่แท้จริงอยู่ก่อนแล้ว : ปัญหาเรื่องความหมาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เกริ่นนำ

เมื่อปัจเจกบุคคลต่างให้ความหมายของคำตามอัตถิภาววิสัยของตนเอง อย่างน้อยที่สุด เราหวังว่า เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับเขา (หรือเขาตีความว่าเป็นจริง) เช่น ประสบการณ์ส่วนตัวที่คนหนึ่งมีต่อบารมีของผู้นำแบบที่หลวงวิจิตรวาทการมีต่อจอมพลแปลก พิบูลสงคราม แต่ปัญหาซึ่งไม่มีวันสิ้นสุดก็มีต่อไปว่า แล้วอะไรเป็นความจริงสากล หรือความจริงกลาง ที่ควรจะมีไว้เพื่ออ้างอิง หรือ เพื่อยอมรับในฐานะข้อตกลงกลางเล่า? เพราะถ้าสนทนาของผู้มีอำนาจปกครองคำนึงถึงประโยชน์สุขที่มหาชนควรมีควรได้อย่างเท่าเทียมกัน ประสบการณ์แบบอัตถิภาวะนิยม ของผู้มีอำนาจแต่ละคน รวมถึงปวงชนด้วยควรจะมีการประมวลผลผ่านการเสวนาให้กลายเป็น ข้อตกลงกลางมิใช่หรือ? เช่น ถ้าในรัฐธรรมนูญที่เปรียบเหมือนข้อตกลงกลางได้ตราไว้ว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิดเชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้” (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 หมวด 3 มาตรา 30) แล้วถ้าในอัตถิภาววิสัยของใครหลายคนเห็นว่า “มี”การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพราะความแตกต่างในเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาอบรม ความคิดเห็นทางการเมืองล่ะ? แบบนี้ข้อตกลงกลางจะว่าอย่างไร? หรือไม่มีเสรีภาพที่แท้จริงอยู่ก่อนแล้ว เพราะที่ตราไว้นั้นเป็นเพียงการแถลงตามพิธีการว่าสักวันหนึ่งจะมีความคิดแบบนี้ แต่ไม่ใช่วันนี้หรือเดี๋ยวนี้แน่นอน?
 

เนื้อหา

ความเป็นไปในศตวรรษที่ 21 อะไรที่เป็นเรื่องกฎหมายล้วนแต่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนงำ และมีวาระซ่อนเร้นเกือบทุกเรื่องไป คงเป็นเรื่องที่เพ้อฝันไปแล้วสำหรับการวาดฝันสังคมในอุดมคติที่ทุกอย่างจะกลับมาเท่าเทียมและมีเสรีภาพได้ แต่สิ่งที่ประชาชนต้องทำมิใช่การนั่งทนทุกข์และหมดหวังจากการถูกกดขี่อย่างต่อเนื่องจากผู้มีอำนาจ หากแต่เป็นการยอมรับในความจริงเท่าที่จะทำได้ และพยายามแก้ไขบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่พี่น้องร่วมสังคม ถ้าอยากจะทำ ซึ่งความอยากจะทำนี้เอง เป็นแรงจูงใจที่ปลุกเร้าพี่น้องประชาชนบางส่วนให้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับ “เสรีภาพตามข้อตกลงกลางที่เขาควรมีควรได้” อย่างน้อยที่สุด การยั่วเย้าจากประชาชนซึ่งอาจดูป่าเถื่อนเมื่อเทียบกับภาพลักษณ์ผู้ดีมีสกุลของบรรดาผู้มีอำนาจปกครอง กำลังตั้งคำถามว่า “ถ้ามันไม่มีเสรีภาพจริงๆแล้ว คุณกล้ายอมรับไหมล่ะว่ามันไม่มีจริงๆ?”

ปัญหาของเรื่องนี้อาจเป็นว่า การให้ความหมายของคำว่าเสรีภาพมีความไม่เหมือนกันอยู่ก่อนแล้ว เช่น ถ้าคุณเชื่อค้านท์ (Immanuel Kant) คุณอาจเห็นว่า เสรีภาพคือการที่มนุษย์คนหนึ่งเข้าถึงเหตุผลชุดหนึ่ง ซึ่งเหตุผลชุดนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นธรรมชาติของระบบเหตุผลทั้งมวล? ในขณะที่ ถ้าคุณเชื่อซาร์ตร (Sartre) คุณอาจเห็นว่า สิ่งต่างๆมิได้ถูกกำหนดด้วยเกณฑ์ที่เป็นสากล เราจะหาธรรมชาติของระบบเหตุผลทั้งมวลได้อย่างไร? แต่คุณค่าต่างๆ เกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราเลือกที่จะทำต่างหาก โดยการเลือกนั้นไม่ได้มีอะไรมากำหนดกฎเกณฑ์ทั้งสิ้นแม้กระทั่งเหตุผล? เมื่อเป็นแบบนี้แล้วคำว่า เสรีภาพจึงกลายเป็นเสรีภาพแบบของค้านท์ กับ เสรีภาพแบบของซาร์ตร และที่จริงมีชุดของการให้ความหมายคำว่าเสรีภาพแบบอื่นด้วย เช่น เสรีภาพแบบของฮอบส์ (Thomas Hobbes) หรือว่าจะเป็นการให้ความหมายที่หลังสมัยใหม่กว่านั้น เช่น เสรีภาพแบบของฟูโกต์ (Michael Foucault) และเมื่อนับมาถึงศตวรรษที่ 21 เราจะมีชุดของการให้ความหมายคำว่า “เสรีภาพ” รอให้ถูกหยิบมาใช้และผสมผสานอย่างมากมายไปหมด

จริงอยู่ทุกคนคงต้องการเห็นการให้ความหมายของคำแต่ละคำอย่างเรียบง่าย แต่อย่าลืมว่า นั่นอาจเป็นเพียงความปรารถนาส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับโลกแห่งความเป็นจริงแม้แต่น้อย ถ้าลองคิดถึงความเป็นจริงที่หลายคนบอกว่าแสนจะโหดร้าย เช่น ลองนึกถึงรายละเอียดทางข้อกฎหมายในนิติกรรมสัญญาที่คุณต้องลงลายมือชื่อ เพื่อกู้เงินในอนาคตมาต่อชีวิตคุณและครอบครัว คุณอาจจะนึกออกว่าแต่ละคำในทางกฎหมายซึ่งเป็นข้อตกลงกลางที่มีหลายหน้ากระดาษนั้น มันไม่ได้มีความหมายเรียบง่ายอย่างที่คุณคิด แน่นอนที่สุด มันไม่ง่ายเหมือนกับที่หลายคนหลอกตัวเองและพยายามชวนเชื่อผ่านสื่อมวลชนว่าอย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นความจริงอันขมขื่นที่เราต้องยอมรับ เพราะเราอยู่ในโลกแห่งอุดมคติไม่ได้ตลอดไป ฉะนั้น เราย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า อะไรคือเสรีภาพสำหรับเราเท่าที่เราพึงกระทำได้ และอะไรเป็นเสรีภาพที่ผู้อื่นพึงกระทำได้ จึงได้ว่า เสรีภาพอาจไม่ใช่เรื่องของการต่างตอบแทน ไม่ใช่ว่า ฉันมีเสรีภาพในการทำร้ายเธอ เช่นกันเธอมีเสรีภาพในการทำร้ายฉัน ในเมื่อไม่เคยมีความเท่าเทียมกันแบบนั้น เพราะแต่ละคนก็ต้องการที่จะเป็นผู้กระทำฝ่ายเดียว และไม่พร้อมยอมรับการเป็นผู้ถูกกระทำด้วยกันทั้งนั้น ข้อตกลงกลางจึงต้องมีขึ้น และคงต้องสลับซับซ้อนเสมอ เพื่อให้เท่าทันและควบคุมเล่ห์เหลี่ยมร้อยแปดพันประการของมนุษย์

กระนั้นก็ดี ถึงจะไม่มีเสรีภาพที่แท้จริงอยู่ก่อนแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สิทธิของเราจะไม่ถูกคุ้มครองโดยข้อตกลงกลาง กล่าวคือ ข้อตกลงกลางจะมีความหมายเมื่อเราได้รับการคุ้มครองจากข้อตกลงนั้น เช่น เรามีสิทธิที่จะพูดถึงผู้อื่นตราบเท่าที่เราไม่ละเมิดสิทธิควรมีควรได้ของผู้อื่น เช่นเดียวกันผู้อื่นก็มีสิทธิพูดถึงเราตราบเท่าที่เขาไม่ละเมิดสิทธิควรมีควรได้ของเรา และในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิดังกล่าวนั้น ก็จำต้องมีกระบวนการให้เราเรียกร้องสิทธิควรพึงควรได้ของเราด้วย เป็นต้น การฟ้องร้องฐานหมิ่นประมาท อย่างไรก็ตาม สิทธิควรมีควรได้ของบางคนถูกแทรกแซงเพราะสถานะทางสังคม เช่น การชวนเชื่อเรื่องเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องส่วนตัวของบุคคลสาธารณะ และการชวนเชื่อให้ผู้ถูกกระทำยอมรับการดูหมิ่นด้วยเหตุผลว่า คุณเป็นบุคคลสาธารณะ นั่นเป็นการใช้เหตุผลที่ลักลั่นและไม่เท่าเทียม อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นตรรกะวิบัติชนิดโจมตีตัวบุคคล

เช่นเดียวกัน การไปกำหนดกฎเกณฑ์ว่า จะต้อง “มี” การยกเว้นเสรีภาพที่จะกระทำต่อใครบางคนเป็นพิเศษ อาจเป็นเรื่องที่จะกระทำได้ด้วยเหตุผลทางการปกครองและความมั่นคง แต่ควรจะพิจารณาถึงเหตุผลซึ่งรับรองการกระทำเช่นนั้นด้วย เพราะถ้าเป็นการใช้เหตุผลที่ลักลั่นและไม่เท่าเทียมแล้ว ก็จะทำให้เกิดข้อโต้แย้งและความขัดแย้งได้ บ่อยครั้งเป็นเพราะมีการบังคับใช้ข้อตกลงกลาง ซึ่งขัดกับคำประกาศว่าด้วยความหมายของเสรีภาพแห่งมหาชนเสียเอง จึงกลายเป็นว่า มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยอย่างที่ไม่อาจยอมได้และมีแรงจูงใจที่จะเคลื่อนไหวเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงที่เขาเชื่อว่าไม่เป็นธรรมนั้น อาจเป็นเพราะไม่มีใครกล้าออกมายอมรับและชี้ชัดว่า สรุปแล้วมีเสรีภาพดังกล่าวหรือไม่มี?

ฉะนั้น โลกจึงมีนักคิดมากมายที่ในวิธีทางอ้อม เป็นต้น การล้อเลียนความร่ำรวยของผู้มีอำนาจซึ่งกำลังเทศนาสั่งสอนผู้อยู่ใต้อำนาจให้พอใจในความยากจน แนวคิดเสียดสีทางการเมืองเช่นนี้สะท้อนให้เห็นร่องรอยของความลักลั่นของการให้ความหมายคำว่า เสรีภาพ และแม้แต่ในระบอบการปกครองแบบคอมมูนเองก็ตาม ทั้งที่ ใครก็รู้ว่าเสรีภาพในระบอบคอมมูนอาจมีอยู่ เพียงแต่ว่าจะไม่มากเท่าระบอบประชาธิปไตย แต่แน่นอนว่า อาจมากกว่าระบอบเผด็จการทหาร แม้กระนั้น การให้เสรีภาพตามตัวบทกฎหมายอย่างจำกัดจำเขี่ยตามตัวอักษรที่ตราไว้ กลับเป็นคนละเรื่องกับเสรีภาพในทางปฏิบัติที่ควรมีควรได้ ฉะนั้น การกำหนดกฎเกณฑ์ไปเลยว่า “ที่จริงไม่อยากให้มีเสรีภาพเท่านั้นเท่านี้” อาจชัดเจนกว่า แต่เรื่องของเรื่องคือ ไม่มีใครกล้ายอมรับว่า การตัดสินใจปกครองของตนเองพรากเสรีภาพไปจากผู้อื่น

แล้วอะไรคือทางออกเกี่ยวกับปัญหาในการให้ความหมายที่ว่า? นักคิดหลายคนเช่นค้านท์ พยายามคิดค้นของตกลงกลางเพื่อเป็นหลักในการอ้างอิงสำหรับทุกการกระทำที่จะกำหนดว่า ดี-ชั่ว อย่างไรก็ตาม แนวทางลักษณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า มีความไม่สมบูรณ์ ซึ่งนักคิดมากมายได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไขระบบข้อตกกลางของค้านท์ บ้างก็เสนอให้ปรับเปลี่ยนบางส่วน บ้างก็เสนอให้รื้อถอนระบบนี้ไปเสียเลย นั่นคือ สิ่งที่เป็นไปแล้วในโลกของนักคิดและยังเป็นไปอยู่ จึงเป็นที่มาของคำว่า “หลังโครงสร้าง” (Post-structure) หรือ “หลังหน้าที่” (Post-Duty) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเป็นข้อเสนอที่ยังมีพัฒนาการและร่วมสมัยกับเราในศตวรรษที่ 21 ท่ามกลางโลกที่พร้อมจะเรียนรู้ว่า ความหลากหลายเชิงการให้คุณค่ามีอยู่จริง (Epistemological pluralism) กล่าวคือ ทุกอย่างก็แล้วแต่ประชาชนในสังคมนั้นกำหนดและให้ความเห็นร่วมกัน และเป็นเสรีภาพของมนุษย์ที่จะให้คุณค่าต่อเรื่องต่างๆว่าอย่างไรก็ได้ ผ่านกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลอาศัยการตกผลึกและเสวนากันอย่างทั่วถึงจะช่วยให้มนุษย์พบว่า อะไรเป็นความเรียบง่ายที่ตนเองต้องการ
 

สรุป

ความหลากหลายของความหมายเป็นความจริงที่ใครก็ไม่อยากยอมรับ เพราะความจริงมีว่า มนุษย์มีประวัติศาสตร์และมีการผลิตซ้ำทางความหมายอย่างต่อเนื่องมานับพันปี การผลิตซ้ำไปซ้ำมาทั้งหมด ส่วนหนึ่งก็เพื่อแก้ปัญหาเรื่องข้ออ้างเกี่ยวกับเสรีภาพของบรรดาผู้ปกครองให้แล้วเสร็จ จนกระทั่งบัดนี้ เสรีภาพที่แท้จริงดังกล่าวยังเป็นเรื่องในอุดมคติ และถูกเปลี่ยนความหมายไปเรื่อยๆ เช่น การเสียดสีว่าเสรีภาพคือการทำอะไรตามอำเภอใจ กระนั้นก็ดี จุดมุ่งหมายหลักของการพัฒนาและเลือกใช้ความหมายของเสรีภาพคงไม่ใช่เพื่อเอาไว้พูดสุนทรพจน์และโต้วาทีเท่านั้น หากแต่เกี่ยวกับชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์เอง ในอันที่จะได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมที่จะกระทำทุกอย่างภายใต้ของตกลงร่วมกันของการปกครองที่ทุกคนยอมรับ ซึ่งตราบใดที่ความเท่าเทียมกันยังไม่เกิดขึ้นแบบมีแนวโน้มไปในทางที่ดีและความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิดเชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ถูกเลือกปฏิบัติอยู่ก่อนแล้ว คงไม่ต้องกล่าวว่า เรากำลังจะมีเสรีภาพ แต่น่าจะกล่าวว่า เราไม่มีเสรีภาพอยู่ก่อนแล้ว ทั้งหมดเป็นเพียงพิธีการและการสถาปนาให้สักคนสู่อำนาจ นั่นเป็นความจริงอันขมขื่นของประชาชน
 

 

               
                

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท