Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คราวที่แล้วผมทิ้งท้ายว่า “เนื้อหาสาระแห่งคำสอนของพุทธะนั้น ให้ความสำคัญแก่ราษฎรมากกว่าชนชั้นบน และสนับสนุนความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าราชาธิปไตย”

โปรดสังเกตนะครับ ผมใช้คำว่า “เนื้อหาสาระแห่งคำสอนของพุทธะ” ไม่ใช่คำสอนพุทธที่นำมาอ้างกันเพื่อยกย่องชนชั้นปกครองอย่างเกินจริง หรือนำมาอ้างเพื่อประณามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างเลวร้ายเกินจริง หรือนำมาอ้างอย่างสับสน ซึ่งมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ เช่น คำให้สัมภาษณ์สยามธุรกิจ (ฉบับ 27 ก.พ.-1 มี.ค.56) ของคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย ที่ว่า

“สำหรับเรื่องนิรโทษกรรม ผมไม่เห็นด้วย ในฐานะที่ผมเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ...กรรมมีจริง และไม่มีใครเก่งเกินกรรม แล้วจะนิรโทษกรรมได้อย่างไร เพราะสิ่งใดที่ได้ทำไปแล้ว...สิ่งนั้นย่อมต้องส่งผลแน่นอน ถ้าสรุปในเชิงพระพุทธศาสนาคือ ‘กรรม ใคร กรรมมัน’ แต่ถ้าบุคลใดสำนึกได้ก็ควรจะได้รับโอกาส แต่ต้องสำนึกอย่างถ่องแท้ อย่างกรณีองค์คุลิมาล”

ผมคิดว่าการอ้างคำสอนเรื่อง “กรรม” เพื่อโต้แย้ง “การนิรโทษกรรม” เป็นการอ้างตรรกะที่ผิดฝาผิดตัว เพราะกรรมในคำสอนพุทธศาสนา (ตามที่คุณดนัยเข้าใจ) นั้นเป็น “การกระทำเฉพาะตัวบุคคล” แต่กรรมในความหมายของการนิรโทษกรรม หมายถึง “การกระทำทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ” ซึ่งอยู่ในอำนาจของรัฐบาลว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่ โดยต้องมีหลักความชอบธรรมทางกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชนรองรับ ฉะนั้น เมื่อการนิรโทษกรรมเป็นการกระทำทางการเมือง หากจะอ้างคำสอนพุทธศาสนาอย่างสอดคล้องต่อกรณีเช่นนี้ เราต้องอ้างหลักคุณธรรมของผู้ปกครอง ซึ่งเป็น “คุณธรรมทางการเมือง” หรือ “คุณธรรมเชิงสาธารณะ” 

เมื่อพิจารณาที่ “เนื้อหาสาระ” ของคุณธรรมของผู้ปกครองตามคำสอนของพุทธะ (เช่นทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร หรือวัชชีธรรม) ล้วนแต่มีสาระสำคัญอยู่ที่ “การรับใช้ราษฎร” หรือการจัดการปกครองให้ราษฎรได้รับประโยชน์สุขสูงสุด ไม่ว่าผู้ปกครองจะเป็นพระราชา คณะบุคคล หรือเป็นรัฐบาลในสังคมประชาธิปไตยก็ตาม พุทธศาสนาถือว่า “ผู้ปกครองมีหน้าที่รับใช้ราษฎร” โดยยึดประโยชน์สุขสูงสุดของราษฎรเป็นตัวตั้ง

ฉะนั้น คุณธรรมของผู้ปกครองตามที่พุทธะสอน จึงให้ความสำคัญแก่ราษฎรมากกว่าชนชั้นปกครอง

และเมื่ออ้างคุณธรรมของผู้ปกครองในกรณีนิรโทษกรรม  เราต้องอ้างเพื่อเรียกร้องให้ผู้ปกครองปกป้องราษฎรให้ได้รับความเป็นธรรมตาม “หลักการปกครอง” ที่เรียกว่า “ธัมมิการักขา”  ในจักรวรรดิวัตรที่ว่า “ผู้ปกครองมีหน้าที่ปกป้องราษฎรให้ได้รับความเป็นธรรม” และความเป็นธรรมในความหมายทางสังคมการเมืองสมัยใหม่นั้น หัวใจอยู่ที่การปฏิบัติตาม “หลักนิติรัฐ” โดยหลักนิติรัฐต้องยึดโยงอยู่กับหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

เราจึงต้องเริ่มจากการยอมรับความจริงก่อนว่า คนระดับชาวบ้านธรรมดาจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดีในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น รายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ระบุว่า เหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 มีการจับกุมประชาชนดำเนินคดีทั่วประเทศถึง 1,857 คน ซึ่งบางคนไม่ได้ร่วมชุมนุม และในจำนวนนี้ถูกดำเนินคดีถึง 1,763 คน การดำเนินการของรัฐถูกอธิบายด้วยคำ 3 คำคือ “อำพราง อัปลักษณ์ และอำมหิต”

คำถามคือ ทำไมสังคมนี้ยอมรับได้กับการที่พวกทำรัฐประหารครั้งต่างๆ ที่ผ่านมาที่สั่งสลายการชุมนุมจนประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากนิโทษกรรมตนเองให้พ้นผิด แต่ยอมรับไม่ได้กับการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองระดับชาวบ้านธรรมดา ซึ่งพวกเขาไม่ได้ฆ่าใคร นี่มันสะท้อนทรรศนะ “ความเป็นธรรมที่บิดเบี้ยว” ใช่หรือไม่!

พูดตรงไปตรงมา ปัญหาความขัดแย้งที่ไม่จบสิ้น สาเหตุพื้นฐานเลยอยู่ที่ “ทรรศนะเรื่องความเป็นธรรมที่บิดเบี้ยว” จึงนำไปสู่รัฐประหารทำลายหลักประชาธิปไตย เมื่อทำลายหลักประชาธิปไตยก็เท่ากับทำหลายหลักนิติรัฐลงไปด้วย กระบวนยุติธรรมที่ผูกโยงกับรัฐประหารจึงไม่มีหลักนิติรัฐรองรับ จึงไม่มี “ความเป็นกลาง” หรือ “ความเสมอภาคทางกฎหมาย” มีการใช้ “สองมาตรฐาน” ซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดมาจนทุกวันนี้

เป็นไปได้อย่างไรที่ฝ่ายเสียงข้างมากและฝ่ายต่อสู้สนับสนุนเสียงข้างมากในสภา ถูกกระบวนการยุติธรรมยุบพรรคการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า ถูกถอดถอนจากตำแหน่งนายกฯ แกนนำถูกจับกุมต้องนอนคุก คนระดับชาวบ้านธรรมดาถูกจับกุมไม่ได้รับการประกันตัว ขณะที่ฝ่ายเสียงข้างน้อยและฝ่ายสนับสนุนเสียงข้างน้อยในสภา ทำอะไรก็ไม่ผิด ลอยนวล ไม่เคยนอนคุก ได้ประกันตัวตลอดเวลา ฉะนั้น แม้แต่คนที่ไม่เลือกข้าง หากมี “สามัญสำนึกปกติ” ย่อมมองเห็น “ความยุติธรรมที่บิดเบี้ยว” นี้อย่างชัดแจ้งอยู่แล้ว และสามารถคาดการณ์ได้ว่าความยุติธรรมที่บิดเบี้ยวจะเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งไม่สิ้นสุด

มันจึงไม่ใช่อย่างที่คุณดนัย จันทร์เจ้าฉายอ้างคำสอนเรื่อง “กรรม” ในพุทธศาสนาอย่างผิดฝาผิดตัวเพื่อปฏิเสธการนิรโทษกรรมชาวบ้านธรรมดาที่ตกเป็นนักโทษการเมืองอย่างอยุติธรรม แต่เราต้องอ้างคำสอนของพุทธศาสนาเรื่อง “ธัมมิการักขา” ปกป้องความเป็นธรรมเพื่อประชาชน

และเมื่อยึด “ความเป็นธรรมเพื่อประชาชน” เป็นตัวตั้ง เราต้องไม่ติดประเด็นว่าฝ่ายนั้นฝ่ายนี้จะได้หรือเสียประโยชน์ แต่ต้องกลับไปหา “หลักการที่ถูกต้อง คือ “กติกากลาง” ที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับร่วมกันได้ ซึ่งต้องเป็นกติกาที่ “free and fair” กับทุกฝ่าย นั่นคือกติกาที่สามารถอธิบายได้ว่า ยึดโยงอยู่กับหลักนิติรัฐตามระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างไร นี่จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน ศาล สื่อมวลชน นักวิชาการ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมกันปกป้อง “ความเป็นธรรมเพื่อประชาชน” ในความหมายดังกล่าว

แน่นอน ถ้าปกป้องความเป็นธรรมเพื่อประชาชนอย่างสุจริตใจ ย่อมต้องช่วยกัน “ผลักดัน” การนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง แม้กระทั่งนักโทษ 112 ด้วย และต้องแก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปโครงสร้างอื่นๆให้เป็นประชาธิปไตยต่อไป

 

 

 

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม “พุทธศาสนากับประชาธิปไตย (2) กรรมกับการนิรโทษกรรม” เผยแพร่ใน “โลกวันนี้วันสุข” ฉบับที่ 406 (6-12 เมษายน 2556)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net