Skip to main content
sharethis

11 เม.ย.56 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องนายบวร ยสินทร กับคณะ ที่ขอให้ศาลฯ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ม.65 ว่า ประธานรัฐสภากับพะวก 312 คน กระทำการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ศาลพิจารณาคำร้องแล้วมีคำสั่งโดยมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย แต่ยกคำขอคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากไม่ปรากฏมูลกรณีอันเป็นเหตุฉุกเฉินหรือเหตุอันสมควรเพียงพอที่จะต้องใช้วิธีการชั่วคราว

โดยศาลฯ ระบุว่าคำร้องนี้เป็นกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ถึง 316 เป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่…) พ.ศ.... ต่อประธานสภาผู้ถูกร้องที่ 1 โดยยกเลิกความในรัฐธรรมนูญ ม.68 แล้วเสนอเนื้อความใหม่ที่เป็นการยกเลิกสิทธิของชนชาวไทยในการที่จะใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงออกไป คงเหลือแต่เพียงให้บุคคลผู้ทราบการกระทำเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเพียงประการเดียว และให้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญในกรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยเท่านั้น ไม่อาจใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้พ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในลักษณะอื่นนอกเหนือจากการใช้สิทธิและเสรีภาพอันเป็นการลิดรอนสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของชนชาวไทย มีมูลกรณีที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบตาม ม. 68 วรรคสอง กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ม. 68 วรรคสอง และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 17 (2) ศาลรัฐธรรมนูญจึงให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

นอกจากนี้มีรายงานด้วยว่า ตุลาการเสียงข้างน้อย ได้แก่ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ ยังไม่ได้ข้อยุติเพราะยังมีโอกาสที่จะแก้ไขในวาระ 2 ได้อีก ข้อเท็จจริงตามคำร้องจึงเป็นเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้า ไม่เข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ม.68 วรรคสอง

นายบุญส่ง กุลบุปผา และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี เห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ม.291 เป็นการใช้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติและยังไม่มีมูลกรณีที่จะเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ม.68 วรรคหนึ่ง

ศาลฯ ได้ให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องส่งต่อศาลจำนวน 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้องและให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง และหากไม่ไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจ

มติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง "เรืองไกร" ยื่นยุบ ปชป.

วันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา กรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนา ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ม.68 ว่า นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ผู้ถูกร้องที่ 1 กับคณะ 11 คน และพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้องที่ 12 กระทำการร่วมกันใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีการตัดสิทธิของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

โดยศาลเห็นว่าคำร้องไม่ปรากฏว่ามีการกระทำฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ม.68 วรรคหนึ่ง ดังนั้นคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินย่อมตกไปด้วย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 รับคำร้อง นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กรณีขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 64 ว่า “นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ กับคณะ กระทำการที่ส่อไปในทางกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือไม่”

"เรืองไกร"จี้ศาลรธน. แจงเหตุไม่รับคำร้อง ม.68 ทั้งที่ญัตติเดียวกับของ"สมชาย-บวร"

12 เม.ย.56 - มติชนออนไลน์ รายงาน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา กล่าวเมื่อวันที่ 11 เมษายน ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 กรณีที่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ กับคณะ และพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกระทำการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการตัดสิทธิของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า  ตนยังไม่ได้อ่านหนังสือแถลงอย่างเป็นทางการของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การโต้แย้งในตอนนี้คงยังไม่เหมาะสมเท่าไหร่ แต่ส่วนตัวคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญคงต้องชี้ถึงเหตุผลที่ไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาต่อไป เพราะญัตติร่างแก้ไขมาตรา 68 และ มาตรา 237 ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด 3 คำร้อง ประกอบด้วย คำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา คำร้องของนายบวร ยสินทร กับคณะ ซึ่งทั้ง 2 คำร้อง ระบุว่า ผู้ร่วมเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความผิด และคำร้องของตน ซึ่งระบุว่า ผู้ที่เสนอชื่อเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความผิด ตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ด้วย แต่ศาลได้รับคำร้องของนายสมชายกับนายบวรไว้พิจารณา แต่ศาลไม่รับคำร้องของตน ดังนั้นศาลจึงต้องอธิบายว่า ทำไมผู้ที่เสนอชื่อเป็นกรรมาธิการญัตติดังกล่าวถึงไม่ผิดตาม มาตรา 68 วรรคหนึ่ง ทั้งๆที่เอกสารคำร้องต่างๆเป็นญัตติเดียวกันหมด

 

เรียบเรียงจาก : ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net