‘ถ้ากลัวสันติภาพชายแดนใต้ล่ม ภาคประชาสังคมต้องทำอะไร’ ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส

‘การเจรจาแสนจะเปราะบางมีสิทธิล่มได้ทุกเมื่อ’ ดร.โนเบิรต์ โรเปอร์ส บรรยายสถานการณ์สันติภาพในโลกบทเรียนต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ชี้กุญแจสู่ความสำเร็จมี 2 ปัจจัยหลัก 5 ปัจจัยรอง ผู้นำต้องมุ่งมั่นและได้รับแรงหนุนจากสาธารณะ ย้ำภาคประชาสังคมต้องสร้างตาข่ายรองรับ เพื่อให้กระบวนการเดินหน้าต่อไปได้

ดร.โนเบิรต์ โรเปอร์ส อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อส้นติภาพเบอร์ฮอพแห่งเยอรมัน

 

“ภาคประชาสังคมจะหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ได้อย่างไร” เป็นหัวข้อที่ ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยอาวุโสของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี บรรยายให้เครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่กว่า 20 องค์กรฟัง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2556 ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี แปลโดยนายเมธัส อนุวัตรอุดม

ดร.โนเบิร์ต อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อส้นติภาพเบอร์ฮอพแห่งเยอรมัน มีประสบการณ์ทำงานด้านสันติภาพในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและเอเชียมา 15 ปี เมื่อ 2 ปีที่แล้วได้รับเชิญจาก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการ CSCD ให้ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะนักวิจัยอาวุโส

 

สันติภาพทั่วโลก“นาน-ช้า-ยาก”

“ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญ สำหรับคนทำงานสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นจังหวะแห่งประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการพูดคุยเพื่อสันติภาพเกิดขึ้น

เราได้บทเรียนอะไรบ้างจากกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อนำมาปรับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเราอยู่ในพื้นที่คือคนสำคัญในกระบวนการสันติภาพ จะทำอย่างไรให้กระบวนการพูดคุยระหว่างรัฐไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นโอกาสในการสร้างสันติภาพ และเราจะหนุนเสริมอย่างไร

ในกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นทั่วโลก พบว่ามีบางอย่างที่เหมือนกัน ใช้เวลา “นาน” “ช้า” และ “ยาก” ไม่ได้เป็นเส้นตรง ไม่ได้เป็น 1 – 2 – 3 และ 4 แต่มันจะกลับไปกลับมา มีคนที่ไม่เห็นด้วย มีคนท้าทายกระบวนการสันติภาพอยู่เสมอ

เมื่อปี ค.ศ.2011 มีการศึกษากระบวนการสันติภาพทั่วโลก 36 แห่ง โดยมีการแบ่งกระบวนการสันติภาพแต่ละแห่งว่าอยู่ในระดับไหน พบว่ามี 5 แห่ง ที่อยู่ในระดับ“การค้นหา”ว่า จะเอาอย่างไรกันดี จะคุยหรือไม่คุยกันดี โดยมี 3 แห่งที่รู้สึกว่ามีความหวัง หลังจากคุยกันแล้วเริ่มเห็นแสงสว่าง

1 ใน 5 แห่งนี้คือ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วอยู่ในช่วงของการค้นหา

มีอีก 16 แห่งอยู่ในระดับที่“ยาก” คือมีอุปสรรค ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือออกก้อย มี 7 แห่งที่“แย่” และมี 5 แห่งที่ประสบความ“สำเร็จ”

ใน 36 แห่งที่มีการศึกษานั้น จะพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในช่วงที่ยาก เพราะเป็นช่วงที่มีแต่อุปสรรค พบความยากลำบาก

ความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงทั่วโลกที่เกิดขึ้นในรอบปี 1960-2010 จำนวน 82 แห่ง พบว่า เป็นความขัดแย้งที่ยังเกิดความรุนแรงต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันถึง 30 แห่ง

ในจำนวนนี้มี 28 แห่ง ที่มีข้อตกลงสันติภาพแล้ว ถามว่าเกิดขึ้นด้วยปัจจัยอะไร พบว่ามี 2 คือ ผู้นำมีความมุ่งมั่นชัดเจนที่จะทำให้เกิดสันติภาพ และได้รับแรงสนับสนุนจากสาธารณะและจากกลุ่มต่างๆในสังคมที่จะหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

นอกจากนี้บังพบว่า ในจำนวน 82 แห่ง มี 10 แห่งที่เป็นการแช่แข็ง คือไม่มีการดำเนินการใดๆ และไม่มีทางออก เช่น ความขัดแย้งที่เกาะไซปรัส เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไรแต่ไม่มีความรุนแรง

ยังมีอีก 7 แห่งที่จบลงด้วยการใช้กำลังทหารซึ่งเป็นชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แต่ชัยชนะแบบนี้ ก็ถูกตั้งคำถามว่า จะยั่งยืนจริงหรือไม่ เช่น ความขัดแย้งที่ประเทศศรีลังกาที่จบลงด้วยชัยชนะของรัฐบาลในแง่การทหาร แต่ท้ายที่สุดก็ยังมีความพยายามต่อสู้อยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และมีความพยายามในการสร้างสันติภาพในรูปแบบอื่นด้วย”

 

2 ปัจจัยหลัก 5 ปัจจัยรอง กุญแจสู่สันติภาพ

“จากการศึกษากระบวนการสันติภาพทั่วโลก ยังพบปัจจัยแห่งความสำเร็จอีก 5 ข้อ นอกเหนือจากปัจจัยหลัก คือผู้นำมีความมุ่งมั่นกับได้รับแรงสนับสนุนจากสาธารณะ

ปัจจัยแรกคือ กระบวนการสันติภาพใช้เวลานาน เป็นงานมาราธอน โดยทั่วไปใช้เวลา 5 – 6 ปี

ปัจจัยที่ 2 แต่ละฝ่ายเข้าใจถึงความขับข้องใจหรือความอึดอัดใจของแต่ละฝ่ายว่า ทำไมถึงเกิดความขัดแย้งขึ้นมา อะไรที่เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรง

ในการพูดคุยกัน ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จ คือ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างรับฟังกันอย่างจริงจัง และทำความเข้าใจอีกฝ่ายว่า มีอะไรที่ไม่สบายใจ ถ้าเข้าใจกันโอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็มีสูง

ปัจจัยที่ 3 คนส่วนใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่าย ต้องสนับสนุนและเห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ ถ้าไม่สนับสนุนเต็มที่หรือไม่ดำเนินใดๆเต็มที่ อย่างน้อยๆก็เข้าใจ หรือมีมุมมองบวกต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

คนที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจได้มากก็คือสื่อ สื่อจะต้องทำให้สังคมเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร เช่น ทำไมความรุนแรงจึงยังไม่หยุดในขณะที่มีกระบวนการสันติภาพ ทำไมกระบวนการสันติภาพจึงใช้เวลานาน ถ้าสื่อเข้าใจสังคมใหญ่ก็จะเข้าใจ ประชาชนส่วนใหญ่ก็เข้าใจตามไปด้วย

ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจตามไปด้วยแล้ว กระบวนการสันติภาพก็จะประสบความสำเร็จ

ปัจจัยที่ 4 ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องถอยคนละเก้า เมื่อเข้าสู่กระบวนการสันติภาพแล้ว จะคาดหวังว่าจะได้ทุกอย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่มีทางสำเร็จ โดยทั่วไปของกระบวนการสันติภาพในช่วงแรกๆ แต่ละฝ่ายต่างคาดหวังให้อีกฝ่ายยอมตัวเอง แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่มีทาง

มีการสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพในต่างประเทศ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่ต่อสู้กับรัฐว่า ทำไมถึงคุยกันรู้เรื่องและปัญหาจบลงได้ ทั้ง 2 ฝ่ายตอบตรงกันว่า ช่วงแรกๆ คาดหวังว่าจะได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์และตั้งใจจะให้อีกฝ่ายยอม

แต่เมื่อคุยไปคุยมากันแล้วก็ต้องถอย เพราะโดยธรรมชาติมันไปต่อไม่ได้ ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ยอมถอยเลย กระบวนการก็ไปต่อไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องยอมถอยทั้งคู่ ต้องประนีประนอมกัน ถ้าหวังจะได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม ปัญหาก็ไม่มีวันจบ

ปัจจัยที่ 5 กลุ่มที่เคลื่อนไหวหรือกลุ่มที่ต่อสู่อยู่ในพื้นที่ จะต้องมองเห็นอนาคตของตัวเองว่า หลังจากคุยไปแล้วอนาคตของตัวเองจะมีหรือไม่ คุยไปแล้วบทบาทของตัวเองจะอยู่ตรงไหนในสังคม ตัวเองจะต้องมีที่ยืนต่อไปในสังคม หลังจากเกิดข้อตกลงสันติภาพแล้วจะต้องมีความชอบธรรม จะต้องมีบทบาทในสังคม กระบวนการสันติภาพจึงจะเกิดขึ้นได้”

 

การเจรจามีสิทธิล่ม ภาคประชาชนต้องรองรับ

“กล่าวเฉพาะในเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคประชาสังคมในพื้นที่จะมีส่วนอย่างไรในกระบวนการสันติภาพ

การพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นบวกกับขบวนการต่อสู้อื่นๆ ที่ชัดเจนแน่นอนครั้งนี้ คือ ฝ่ายไทยได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจในรัฐบาลแล้ว และหน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุน

ในขณะที่ฝั่งของกลุ่มขบวนการ ยังไม่ชัดเจนว่า ผู้ที่สนับสนุนอยู่ข้างหลัง ให้การสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน และมีกลุ่มอื่นๆที่สนับสนุนอีกมากน้อยแค่ไหน

แน่นอน ทั้ง 2 ฝ่ายย่อมมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หรือคนที่สงสัยลังเล ซึ่งการแสดงความไม่เห็นด้วยในส่วนของกลุ่มเคลื่อนไหวก็อาจสะท้อนมาในรูปของการก่อเหตุรุนแรงบางส่วน

ส่วนการแสดงความไม่เห็นด้วยของฝ่ายไทย ก็อาจจะสะท้อนออกมาผ่านหน่วยงานบางส่วน หรือกระทั่งนักการเมืองบางคนที่รู้สึกว่า ว่าเรามาถูกทางหรือเปล่า เราคุยถูกตัวหรือไม่ หรือตั้งคำถามว่าความรุนแรงจะลดลงเมื่อไหร่ นี่คือความไม่แน่ใจ ลังเล หรือไม่เห็นด้วยในกระบวนการพูดคุย

ภายใต้สถานการณ์ที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้จริงๆ อย่างต่อเนื่อง

เรามีฐานของประชาชนอยู่ 2 ส่วนใหญ่ๆ คือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกฐานหนึ่งคือประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง 2 ฐานนี้ต้องส่งเสริมกระบวนการสันติภาพ ไม่อย่างนั้นกระบวนการสันติภาพจะไปต่อไม่ได้

สำหรับคนทำงานภาคประชาสังคมในพื้นที่ ไม่ว่ากลุ่มที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลไทย หรือกลุ่มที่สามารถสื่อสารกับขบวนการได้ หรือสามารถสื่อสารกับคนหลายๆกลุ่มได้ จะทำอะไรได้บ้าง

กระบวนการสันติภาพในช่วงแรกๆ พบว่า จะมีคนเกี่ยวข้องเยอะ มีความสลับซับซ้อนในตัวมันเอง ในการพูดคุยของทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายรัฐไทยกับฝ่ายขบวนการนั้น จะมีส่วนที่เพิ่มเข้ามา คือที่ปรึกษา

ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องมีที่ปรึกษาเพื่อคอยอธิบาย ให้คำแนะนำว่า จะต้องพูดคุยกันอย่างไร เพื่อให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้ นี่คือกลไกแรก

กลไกที่ 2 นอกจากทีมที่ปรึกษาแล้ว คือต้องมีคณะทำงานย่อย เนื่องจากเมื่อทีมเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายพูดคุยไประดับหนึ่งแล้ว ก็จะต้องตั้งคณะทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อพูดคุยในรายละเอียด เพื่อหาคำตอบที่ทั้ง 2 ฝ่ายรับได้ จะให้ทีมเจรจาหลักคุยกันอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้

ต้องมีคณะทำงานย่อย เช่น ในเรื่องความมั่นคง การปกครอง ภาษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม แต่ละเรื่องจะเอาอย่างไร ต้องตั้งคณะทำงานย่อยที่เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นโดยตรง เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการจากทั้ง 2 ฝ่ายมานั่งคุยกัน

การพูดคุยในคณะทำงานย่อย จะลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น แล้วนำไปสู่ข้อตกลงที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้”

 

3 สิ่งต้องทำ เพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

“บางท่านอาจอยู่ในทีมที่ปรึกษาหรือในคณะทำงานย่อยก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้ไปในส่วนนี้ ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยได้ คือ ยังมีอีก 3 พื้นที่ที่จะเข้าไปหนุนเสริมการพูดคุยเพื่อสันติภาพได้ ที่จริงยังมีอีกที่สามารถคิดขึ้นได้

พื้นที่แรก คณะทำงานย่อยที่ตั้งขึ้นย่อมเกี่ยวข้องกับทีมเจรจาหลัก เพราะฉะนั้นเป็นไปได้สูงที่คณะทำงานย่อยจะคุยกันลำบาก เพราะเป็นตัวแทนของทีมเจรจาหลักทั้ง 2 ฝ่าย และแต่ละเรื่องก็เป็นเรื่องยากๆ ที่จะหาทางออกร่วมกัน จึงมีโอกาสสูงที่การพูดคุยของคณะทำงานจะหยุดลง หรือสะดุด คุยกันต่อไม่ได้

ดังนั้นภาคประชาสังคมก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาได้ เป็นคณะทำงานเงา ล้อไปกับคณะทำงานของทีมเจรจา โดยคุยกันไปเลยว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้เราเห็นอย่างไร หากการเจรจาหลักล่มลง แต่คณะทำงานเงาก็ยังอยู่ ถึงที่สุดแล้วการพูดคุยทั้ง 2 ระดับอาจจะต้องรับฟังกันและกัน

การพูดคุยในระดับล่างหรือระดับคณะทำงานเงานั้น จะพูดคุยและทำอะไรได้บ้าง มีหลายอย่าง เช่น เรื่องการกระจายอำนาจก็อาจจะหาคนที่หลากหลาย คนที่มีความเห็นแตกต่างกันมานั่งคุยกัน เสมือนเป็นวงเจรจาอีกวงหนึ่งแต่เป็นของภาคประชาสังคม

ตรงนี้จะเป็นเหมือนตาข่ายหนึ่งที่ใช้ป้องกันหรือรองรับกรณีการเจรจาข้างบนมันล้มลงหรือพังลงมา เมื่อยังมีตาข่ายรองรับ การเจรจาก็สามารถเดินหน้าต่อไป เมื่อการเจรจาสามารถเดินหน้าต่อไป แม้การเจรจาข้างบนจะพังลงไปแล้ว สิ่งที่คุยกันในวงเจรจาข้างล่างนี้ก็จะถูกส่งต่อขึ้นไปข้างบนโดยอัตโนมัติ

ตัวอย่างในประเทศอาหรับ เช่น เลบานอน ทำได้แม้กระทั่งคณะทำงานภาคประชาสังคมบอกคณะเจรจาหลักว่า ทำไมไม่คุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าสร้างอย่างนี้ได้ กระบวนการสันติภาพก็จะไม่ขึ้นอยู่กับคณะเจรจาหลักเท่านั้น เราจะมีสิทธิที่จะกำหนด มีสิทธิมีเสียงที่จะสะท้อนเรื่องราวขึ้นไปได้

พื้นที่ที่ 2 ดึงเสียงของประชาชนในชุมชนขึ้นมาให้ได้ว่า แท้ที่จริงแล้วประชาชนฐานล่างต้องการอะไร อยากเห็นอะไร หน้าที่ของภาคประชาสังคมคือดึงเสียงเหล่านี้ขึ้นมา แล้วสะท้อนขึ้นไปข้างบน

พื้นที่ที่ 3 ขยายผลของกระบวนการสันติภาพให้มากที่สุด ลงลึกไปสู่ชุมชนให้มากที่สุดและขยายผลไปสู่สังคมใหญ่ให้ได้ มีเครือข่ายเท่าไหร่ก็ทำให้ได้ ระดมคนให้สนับสนุนกระบวนการสันติภาพให้ได้

ตัวอย่างเช่น ไปยืนหน้ามัสยิดทุกวัน แสดงพลังสนับสนุนสันติภาพ เพราะการเจรจาข้างบนจะต้องล้มลงแน่นอน แต่จะยืนขึ้นมาได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มันจะต้องมีสะดุดแน่นอน ไม่ได้เดินไปเรื่อยๆ อย่างราบเรียบ เพราะสันติภาพทั่วโลกบอกไว้อย่างนั้น ของเราก็น่าจะไม่ต่างกัน วันหนึ่งก็ต้องสะดุด

ถ้ากระบวนการสันติภาพสะดุด โดยที่เราไม่มีมวลชนคอยรอบรับ กระบวนการทั้งหมดก็จะล้มไปเลย เพราะฉะนั้นบทบาทของภาคประชาสังคม ต้องทำ 3 อย่างนี้เพื่อให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้

การพูดคุยในระดับบนมันเปราะบางมาก เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างพลังจากฐานราก หวังว่าตรงนี้จะเป็นตัวจุดประกาย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท