Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพยนตร์เรื่อง พี่มากกกก... พระโขนง  มีคุณูปการให้เขียนบทความเรื่องนี้อย่างเสียมิได้ ด้วย 3 เหตุผล คือ

 
1) ทีมงานผู้สร้างประกาศ “ตีความ” บทประพันธ์เสียใหม่ และนำเสนอในรูปแบบ/เนื้อหา ที่ต่างออกไปจากเรื่องที่ผ่านมา
2) การแอบแฝงสัญลักษณ์ และปฏิบัติการทางการเมือง ไม่ว่าจะตั้งใจ หรือได้รับอิทธิพลทางอ้อม
3) ผลตอบรับจากผู้บริโภคสะท้อนความโหยหาบางอย่างด้วยปริมาณผู้ชมล้นหลาม และอาจมีผู้ชมซ้ำมากกว่าหนึ่งรอบ
 
สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำอย่างชัดเจน คือ การสลายเส้นตัดแบ่งเดิมๆ ที่ผู้สร้างภาพยนตร์แม่นากพระโขนงเรื่องก่อนๆ ได้ยึดถือและถ่ายทอดจนเป็นความเชื่อ ความศรัทธา และความคาดหวังของคนในสังคมที่รู้จักแม่นากพระโขนงไว้อย่างยาวนาน   การเล่าเรื่องโดยกลับหัวกลับหาง ยั่วเย้ากระเซ้าแหย่ บทประพันธ์และความคุ้นชินของผู้ชมผ่านแนวทางของภาพยนตร์ตลก จึงเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการสลายเส้นแบ่งที่ถูกขีดไว้อย่างแน่นหนาโดยผู้สร้างภาพยนตร์และที่ฝังอยู่ในหัวของผู้ชม
เส้นแบ่งที่ถูกสลายนั้นแต่เดิมได้สร้างขึ้นเพื่อแบ่งแยกว่าอะไร ถูก – ผิด, ทำได้-ทำไม่ได้, รับได้-รับไม่ได้   ซึ่งแต่เดิมเส้นแบ่งเหล่านี้สังคมซึ่งเป็นผู้อื่นได้ขีดให้กับตัวเอกซึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจโดยตรง และบีบให้ตัวแสดงทั้งหลายต้องแบ่งแยกและ “เลือกข้าง” เอา   แต่ในเวอร์ชั่นนี้กลับทำให้เกิดการพลักผันอย่างน่าสนใจดังตัวอย่างต่อไปนี้
 
- ชาติ – ส่วนตัว   ความรักชาติยอมเสียสละชีพอาจไม่สำคัญเท่าการรักษาชีพกลับมาหาคนที่ตนรัก

- คน – ผี แต่เดิมอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ แต่ตอนนี้ถ้าอยากจะอยู่ด้วยกันก็ไม่ต้องสนใจสังคมหรือคนอื่นจะว่ากระไร

- เป็น – ตาย เป็นเส้นขีดขวางวิถีชีวิตให้เลือกดำเนินไปในแนวทางที่บรรจบกันไม่ได้ แต่ “ความตาย” อาจไม่ใช่จุดจบแห่งความรักความผูกพันที่มีระหว่างคนเป็นกับคนตายอีกต่อไป (อนึ่งจะพบว่าในช่วงหลังจะมีภาพยนตร์คนอยู่กับผี)

- พุทธ – ผี เป็นเสมือนธรรมะชนะอธรรม   หากพระ ธรรมะ ปรากฏผีต้องถอย แต่นี่พระถ้าไม่แน่จริงต้องถอย คนแก้ไขปัญหาอาจจะไม่ใช่พระ แต่อาจเป็นคนธรรมดาที่ตกลงกับผี หรือผีที่ตกลงกับคน โดยไม่ต้องมีพุทธศาสนาเป็นสะพาน

- ไสย อาคม ลี้ลับ – การกระทำของตัวละครที่มุ่งมั่นเปิดเผย   แต่เดิมวิชาอาคมที่เป็นความเชี่ยวชาญจะถูกควบคุมและใช้แก้ปัญหาโดยผู้มีบารมี   ปัจจุบันนี้ผู้มีบารมีอาจไม่ใช่คนสำคัญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่างหากที่ต้องแก้ไขปัญหา

- รัก – เห็นแก่ตัว นิยามความรักเดิมที่ต้องปล่อยคนรักไปให้มีชีวิตที่ดี(ในสายตาสังคม) อาจไม่สำคัญเท่ากับให้อยู่กับเราและดูแลกันไปตราบเท่าที่ยังรักกันอยู่ โดยไม่ต้องสนใจสายตาสังคม และนิยามความรักเดิมๆ

- โบราณ – ปัจจุบัน ภาษาและเสื้อผ้า หน้า ผม ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกยุค เพราะในความเป็นจริงก็หมุนวนเปลี่ยนเสมอ

- เชย – แฟชั่น กำหนดได้ด้วยตัวเอง อะไรที่ปัจเจกชนคนที่อยากทำคิดว่าดีก็ทำ ไม่ต้องตามแฟชั่นที่คนอื่นกำหนด 
 
ภาพโดยรวมของการสลายเส้นแบ่งที่แต่เดิมสังคมเป็นคนขีด   ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเปลี่ยนอำนาจและการกำหนดอนาคตตนเองไปให้กับปัจเจกชน ซึ่งเป็นการทำลายเส้นแบ่งที่สังคม รัฐ ผู้มีอำนาจกำหนด ไปสู่การกำหนดและให้นิยาม “ความดี ความงาม ความจริง” ด้วยปัจเจกชน
 
สัญลักษณ์ และ นัยยะ ทางการเมืองปรากฏอยู่ใน สัญญะ และ ฉาก จำนวนหนึ่ง หยอกล้อหรืออาจได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่เป็นบริบทแวดล้อมภาพยนตร์และผู้สร้างในยุคสมัยนี้อย่างชัดเจน   อาทิ

- พี่มาก – พี่มาร์ค   ผู้ปกป้องชาติให้พ้นจากความพ่ายแพ้สงคราม แต่พอสิ้นสุดสงครามก็ต้องกลับมาซบตักเมีย

- มาก 2 สายเลือด – มาร์ค 2 สัญชาติ   ตัวเอกของเรื่องที่มีสายเสือดมากกว่าหนึ่ง

- นาก สไบแดง หน้าเหมือนสตรีคนดังทางการเมืองคนใด ลองนึกดู

- ไอ้แดง ลูกนางนาก

- ความเป็นผี – การใส่ร้าย หลอกผี   ผีเป็นสิ่งที่เป็นเองน่ากลัวอยู่ในตัวมันเอง หรือสังคมทำให้ผีน่ากลัวกันแน่

- ความเป็นผี – ใช้เวทมนตร์บังตาคนได้   ผีหลอกให้คนงมงาย แต่คนจะถูกผีหลอกให้งมงายได้ตลอดไปจริงหรือ

- การมองลอดใต้หว่างขา – การมองทะลุไปเห็นความจริง   เป็นวิธีการสำคัญที่จะมองทะลุเวทย์มนตร์บังตาไปเห็นความจริง
 
ซึ่งการมองลอดหว่างขานี่เองที่เป็น สัญญะหลักในหนังผี และสอดคล้องกับเรื่องการสร้างวาทกรรมครอบงำทางการเมือง และข้อสังเกตที่เกี่ยวกับการเมืองไทย   เพราะการมองลอดหว่างขาต้องทำให้ถูกวิธีจึงจะเข้าถึงความจริง  ต้องรู้ว่ามองลอดหว่างขาใคร “ตัวเอง” หรือ “ผี”  การเข้าถึงความจริงนั้นไม่ง่าย และอาจเข้าใจผิดเนื่องจากมีปัญหาจาก “วิธีการ” ได้   โดยหนังก็ล้อเลียนด้วยว่า ใครมันจะไม่รู้ล่ะ คนดูผิดวิธีมันโง่มาก แต่มีคนดูผิดและไม่รู้วิธี ซึ่งเงียบไว้
 
ความจริง/ความลวงเกี่ยวกับการตาย และนำไปสู่การใส่ร้ายผีนางนากจึงเป็น ข้ออ้างหลัก ที่ทำให้ผีนางนากเป็นสิ่งน่ากลัว และต้องกีดกันนางนากออกไปจากสังคม และบีบให้พี่มากและเพื่อนๆ ต้องรังเกียจและหนีไปให้พ้นจากนางนาก การพูดความเท็จหรือการใส่ความนี่เองที่ตรงกับทฤษฎีมานุษยวิทยาสายปรากฏการณ์นิยม (Phenomenology) ที่ปลอกเปลือกวิธีการสร้างความคิดหรือจิตสำนึก/จิตใต้สำนึกให้ไปฝังอยู่ในหัวของคนสังคมนั้นๆ    ซึ่งเรื่อง ผี และ ความกลัว แต่เก่าก่อนก้เป็นสิ่งที่สังคมไทยได้สร้างไว้สืบมา   ไอ้เจ็กปิง นายทุนน้อยผู้เสียประโยชน์ จึงใส่ร้ายนางนากเพราะเสียประโยชน์จากการที่นางนากไม่สมยอมตน และกลายมาเป็นแกนนำปลุกระดมมวลชนด้วยการใส่ความเท็จต่อนางนาก และทำให้นางนากกลายเป็น “ผี” ที่น่ากลัว น่ารังเกียจ ไม่ควรให้อยู่ร่วมกับคนและสังคม
 
การลงทุนกับจิตไร้สำนึกของคนในสังคมไทยอย่างหนักหน่วงดังปรากฏ ผี นานัปการ รวมถึงผีทางการเมืองในหลายยุคสมัย   จึงไม่น่าแปลกใจที่ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารนั้นไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางความคิดและสังคมมากนัก   กลับกันคนในสังคมกลับยิ่งกลัว เพราะความกลัวคือเครื่องมือหลักในการควบคุม มวลชน แรงงาน และผู้บริโภคในระบบทุนนิยมเผด็จการ ให้ก้มหน้าจำนนกับจักรวรรดิทุนนิยมที่ควบคุมคนลึกลงไปที่จิตไร้สำนึก   และไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตนเองและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคม ซ้ำร้ายอาจจะกลัวการเปลี่ยนแปลง และเกลียดผู้ที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำ
 
ผู้ปลุกระดมมวลชนด้วยความเท็จที่ว่าแน่ แต่ถ้าเจอเจ้าตัวที่ถูกกล่าวหาลงมาประจันหน้าพร้อมมวลชน ก็วงแตกได้  เพราะขาด “ความสัตย์” และตั้งอยู่บน “ความเกลียดชัง”    ส่วน “ความจริง” และ “ความรัก” ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นของการตัดข้ามเส้นแบ่งขวางกั้น ให้กลับกลาย มาอยู่ร่วมกันได้ หากยังปรารถนาที่จะเชื่อมต่อกันอยู่
 
ตัวเลขรายรับ การเข้าชมซ้ำ และอัตราการขายสินค้าต่อเนื่อง/การโหลดหนังผิดกฎหมาย ของภาพยนตร์เรื่องนี้จะสะท้อนให้เห็นความปรารถนาต่อ “ความรักที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งที่สังคมแห่งความเกลียดชังขีดไว้” และ “อารมณ์ขันที่หายไป” ของสังคมไทยได้ไม่น้อย
 
ขนบของหนัง/วรรณกรรม ผี ในยุคโบราณ/ยุคศักดินา เช่น แดร็กคิวล่า มนุษย์หมาป่า มีขึ้นเพื่อเสียดสีสังคมมูลนายที่กดขี่ชาวนา เรื่อยมาจนการกดขี่ชนชั้นแรงงานของนายทุนในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม/เทคโนโลยี เช่น มนุษย์หมาป่า และแฟรงค์เก้นสไตน์    ส่วนหนังซอมบี้ นั้นพลิกเอา ซอมบี้มาเป็นตัวแทนของคนในระบบทุนนิยมที่ถูกครอบงำเสมือนติดเชื้อไวรัสบริโภคนิยมและการล่องลอยอย่างไร้ความหมายของคนในระบบตลาด    จุดจบของหนังมักจบด้วยความตายและแตกหัก ไม่ว่าจะคนตายเป็นผี หรือผี่โดนคนปราบ   แต่ภาพยนตร์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ Shawn of The Death หนังซอมบี้ครองเมืองไล่ล่าผู้เหลือรอด ที่ลงเอยด้วยการประนีประนอมและหาทางอยู่ร่วมกันระหว่างซอมบี้กับคนที่เคยเป็น “เพื่อน” กันมาก่อนจะเกิดเรื่อง เพราะในท้ายที่สุด   “ความรักชนะทุกอย่าง” และตัดข้ามเส้นแบ่งเดิมๆที่กำหนดไว้ตามจารีต
 
อย่างไรก็ดี การล้อเลียน และเสียดสีด้วยความขำขัน มุทะลุดุดัน และก้าวขนบเดิมๆ ย่อมสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการ สร้าง “ผี” และความหวาดกลัวให้แก่คนในระบบทุนนิยม   ผลตอบรับของมวลชนอย่างถล่มทลายย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความอึดอัดต่อกลไกบงการที่กดทับความปรารถนาต่อความรักและความสนุกสนานที่ต้องการเชื่อมต่อกับบุคคลอื่น สิ่งอื่นๆ โดยไม่มีเส้นของศีลธรรม กระแสสังคม ที่ขีดกั้นไว้
 
ภาพยนตร์แม่นากเรื่องก่อนๆ นั้นการยุติเหตุการณ์สยองขวัญอาศัย พระในศาสนาพุทธซึ่งมาให้ศีลให้พร ทำให้ผีนางนากคิดได้ กลับใจ และละทางโลก เข้าหาทางธรรม หรือสะกดวิญญาณไว้ใต้การควบคุมของวิชาและบารมีของพระสงฆ์   ซึ่งก็คือ การคลี่คลายความรุนแรงทั้งปวงในเรื่องด้วยธรรมะและนักบวชแห่งพุทธศาสนา   แต่ในฉบับใหม่นี้ พระ วัด พระพุทธรูป หรืออาคมคาถาใดๆ ไม่อาจจัดการหรือยุติความรุนแรงในเรื่อง   แต่ความรุนแรงได้มลายไปด้วยการเปิดใจยอมรับความเป็นไปของอีกฝ่ายและตัดสินใจที่จะอยู่ร่วมกันโดยอาศัยความรักที่มีต่อกันในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคู่รัก หรือเพื่อน   และไม่ยอมให้สังคมหรือใครมาทำลายหรือขัดขวางความรักและความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน   และไม่ต้องรอผู้มีบารมีใดๆมาสร้างความปรองดองให้ แต่คนในสังคมต้องลุกขึ้นมาสร้างเอง   ภาพยนตร์เรื่องนี้และกระแสตอบรับของสังคมก็อาจเป็นเสียงสะท้อนหนึ่งที่อาจเป็นแนวทางในการสร้างความปรองดองในสังคมไทย
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net