อวัตถุศึกษากับอธิป: Pirate Bay ย้าย url ไปอยู่เกาะกรีนแลนด์

ประมวลข่าวสารด้านทรัพย์สินทางปัญญากับ ‘อธิป จิตตฤกษ์’ - รัสเซียระบุไม่มีแผนไล่เอาผิดคนแชร์ไฟล์แบบ 'พวกอเมริกา' - แต่จะเล่นงานเว็บละเมิดลิขสิทธิ์ให้หนัก - สตูดิโอหนังซอมบี้ สามารถคืนทุนการผลิตได้จากการเรียก 'ค่ายอมความ' คนโหลดบิตทอร์เรนต์เพียง 4 คน!

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก

 

 

09-04-2013

รัฐบาลรัสเซียประกาศแล้วว่าไม่มีแผนจะไล่เอาผิดคนแชร์ไฟล์แบบที่ 'พวกอเมริกา' ทำ

อย่างไรก็ดีทางรัสเซียมีแผนที่จะเล่นงานพวกเว็บละเมิดลิขสิทธิ์ให้หนักขึ้น

News Source: http://torrentfreak.com/file-sharers-will-not-be-held-liable-for-piracy-russia-says-130408/

 

The Pirate Bay ย้าย url หนีไปเป็น .gl ของประเทศกรีนแลนด์แล้ว

เนื่องจากยูอาร์แอล .se ของสวีเดนมีความเสี่ยงและแนวโน้มสูงว่าจะถูกยึด หลังจากที่กลุ่มต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์สามารถกดดันให้ Pirate Party ของสวีเดนเลิกการให้บริการแบนด์วิธแก่ The Pirate Bay (ที่นำมาสู่การหนีไปขอแบนด์วิธของ Pirate Party ของนอร์เวย์และสเปนแทน ก่อนโดนไล่เล่นงานอีก ส่งผลให้ The Pirate Bay หนีไปเกาหลีเหนือแบบปลอมๆ อันเป็นข่าวไปทั่ว และตอนนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าใครโฮสต์แบนด์วิธให้ The Pirate Bay กันแน่)

ล่าสุด The Pirate Bay ก็ได้ย้ายหนีไปที่ http://thepiratebay.gl/ ซึ่งเป็นยูอาร์แอลของประเทศกรีนแลนด์แล้ว

News Source: http://torrentfreak.com/the-pirate-bay-moves-to-gl-domain-in-anticipation-of-domain-seizure-130409/

 

อดีตนักเรียนกฎหมายวิจารณ์โรงเรียนกฎหมายอย่างนิรนามเลยโดนทางโรงเรียนฟ้องหมิ่นประมาท

ศาลชั้นต้นตัดสินว่าโรงเรียนกฎหมายมีสิทธิจะเปิดเผยตัวนักวิจารณ์นิรนามผู้นี้ได้ แต่ศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสินว่าทางโรงเรียนไม่มีสิทธิ์จะทำแบบนั้น

อย่างไรก็ดีคำตัดสินของศาลมิชิแกนก็มีปัญหาเพราะไม่ยอมชี้ประเด็นว่ามันต้องมี "หมายแจ้ง" (Notice) ไปก่อนจะมี "หมายเรียก" (Subpoena) ซึ่งในศาลอื่นๆ เมื่อจำเลยในกรณีแบบนี้โดนหมายแจ้งแล้วก็จะยังมีสิทธิในการสู้เพื่อความนิรนามของตนอยู่ และนี่เป็นกระบวนการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกทั่วๆ ไปที่ศาลอื่นๆ คุ้มครอง

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130405/15314122604/appeals-court-protects-anonymity-critics-cooley-law-school-could-have-done-more.shtml

 

10-04-2013

สตูดิโอหนังซอมบี้เกรดบี Night of the Living Dead: Resurrection สามารถได้ต้นทุนการผลิตหนังคืนทั้งหมดจากการเรียกค่ายอมความจากคนโหลดหนังเถื่อนทางบิตทอร์เรนต์พียง 4 คน

ต้นทุนหนังเรื่องนี้อยู่ที่ราวๆ 20,000 ดอลลาร์เท่านั้น แต่ทางสตูดิโอฟ้องคนที่โหลดหนังทางบิตทอร์เรนต์ในแบบ "เกรียนลิขสิทธิ์" ไป 21 คน โดยการเรียกค่ายอมความ 5,000 ดอลลาร์ต่อคน

ซึ่งนั่นหมายความว่าสตูดิโอของหนังเรื่องนี้ก็น่าจะได้ค่ายอมความอย่างต่ำๆ 105,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 5 เท่าของต้นทุนการสร้างหนังเกรดบีเรื่องนี้

News Source: http://torrentfreak.com/four-alleged-movie-pirates-set-to-cover-entire-horror-movie-budget-130409/

 

11-04-2013

Apple เอา App อ่านหนังสือเกี่ยวกับทิเบตลงจาก App Store ตามคำขอของรัฐบาลจีน

News Source: http://www.telegraph.co.uk/technology/apple/9971655/Apple-censors-Tibet-book-app-in-latest-concession-to-Chinese-government.html

 

ศาลชั้นต้นอาร์เจนตินาตัดสินว่าจะใช้ "สิทธิธรรม" (Moral right) มาขัดขวางการเผยแพร่งานที่หลงเหลือของนักเขียนการ์ตูนที่ตายไปสู่สาธารณะไม่ได้

ทั้งนี้ Roberto Fontanarrosa นักเขียนการ์ตูนชาวอาร์เจนตินาตายไปในปี 2007 และไม่ได้เขียนพินัยกรรมเกี่ยวกับการ์ตูนที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ไว้ ตามกฎหมายอาร์เจนตินา ศาลต้องเป็นผู้ตัดสินว่าทรัพย์สินของผู้ตายจะไปเป็นของใครบ้าง ซึ่งในกรณีนี้คือภรรยาใหม่ และลูกที่ติดจากภรรยาเก่า

ตอนนี้ศาลให้ภรรยาใหม่เป็นผู้จัดการมรดกไปพลางๆ ก่อน ซึ่งเธอก็ได้ไปเซ็นสัญญากับสำนักพิมพ์ท้องถิ่นเพื่อพิมพ์การ์ตูนที่เหลือของสามี แต่ปรากฏว่าลูกชายจากภรรยาเก่าไม่เห็นด้วย และแย้งบนฐานของ "สิทธิธรรม" โดยอ้างว่าไม่รู้ว่างานที่ตีพิมพ์นั้นเป็นของพ่อเขาจริงหรือไม่ หากตีพิมพ์ไปอาจทำให้พ่อเขาเสื่อมเสียชื่อเสียง

เรื่องถึงศาล สุดท้ายศาลตัดสินว่าสิทธิธรรมนั้นไม่เหนือไปกว่า "สิทธิชุมชน" ในการเข้าถึงงาน

ตรงนี้ตรรกะอาจงงๆ เล็กน้อย แต่ถ้าลูกอ้างว่าการ์ตูนที่เหลือไม่ใช่ของพ่อจริงๆ การอ้างลิขสิทธิ์จึงเป็นไปไม่ได้ ลูกเลยอ้างสิทธิธรรมของการ "ไม่ให้ใส่ชื่อคนเขียนผิดๆ" แทนเพื่อยับยั้งการพิมพ์การ์ตูน แต่ศาลก็มองว่าการอ้างแบบนี้เป็นการอ้างโดยมิชอบ และตัดสินให้ตีพิมพ์ได้

ทีน่าสนใจกว่านั้นคือศาลอาร์เจนตินาได้กล่าวถึง "สิทธิชุมชน" ซึ่งในที่นี้ก็น่าจะเทียบเท่าสิทธิของสาธารณชน และนี่ก็เป็นสิ่งทีไม่ค่อยจะมีการกล่าวถึงกันนักในสารบบการพิจารณาคดีลิขสิทธิ์ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม

News Source: http://www.ip-watch.org/2013/04/11/community-right-to-access-unpublished-works-trumps-moral-rights-of-heir-argentine-court-says/

 

12-04-2013

มีการเสนอกฎหมายในวอชิงตันที่จะอนุมัติให้นายจ้างสามารถขอพาสเวิร์ด Facebook ของลูกจ้างเมื่อมีการตรวจสอบภายในบริษัทได้

ฝ่ายสนับสนุนกฎหมายนี้อ้างว่าการที่กิจกรรมบนโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นความลับซึ่งเอื้อให้ลูกจ้างทำสิ่งผิดกฎหมายและผิดสัญญากับบริษัทได้

ทั้งนี้ การเสนอกฎหมายนี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่หลายๆ รัฐในอเมริกาได้ทำให้การที่นายจ้างขอพาสเวิร์ด Facebook ของผู้เข้ามาสมัครงานนั้นผิดกฎหมายไปแล้ว นอกจากนี้ในกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์เองก็ยังมีการระบุว่าการเข้าไปในบัญชีผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นความผิดทางอาญาด้วยซ้ำ

News Source: http://seattle.cbslocal.com/2013/04/03/washington-bill-would-allow-employers-to-seek-workers-facebook-passwords/ , http://www.techdirt.com/articles/20130405/09461122596/wa-bill-allowing-employers-to-request-facebook-passwords.shtml

 

สถิติจากกรมสถิติแรงงานของอเมริกาชี้ว่า จำนวนผู้ได้รับการจ้างงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และบันทึกเสียสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนธันวาคม 2012

ซึ่งนี่เป็นตัวเลขที่ดูจะขัดกับการกล่าวอ้างของสองอุตสาหกรรมที่มีมาอย่างต่อเนื่องว่า "การโหลดเพลง" และ "การโหลดหนัง" นั้นทำให้เกิดการ "สูญเสียอาชีพ" ของผู้คนในสองอุตสาหกรรม

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130411/11122622680/oh-look-number-people-employed-movie-music-recording-business-just-hit-all-time-high.shtml

 

รายได้จากการโฆษณาของอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์อเมริกันลดจากจุดสูงสุดในปี 2000 เหลือแค่ 1 ใน 3 แล้ว

กล่าวคือลดจากกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2000 ลงไปเหลือแค่ราวๆ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน (ปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว) ซึ่งเป็นมูลค่าเท่าๆ กับตอนปี 1950 และมีแนวโน้มลดลงอีก

มีการวิเคราะห์กันว่าเหตุผลส่วนใหญ่น่าจะเป็นเพราะเงินโฆษณาไหลไปที่พวกสื่อออนไลน์แทน เพราะอย่างน้อยๆ รายได้จากการโฆษณาของ Google บริษัทเดียวก็แทบจะเท่ารายได้จากการโฆษณาอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ทั้งอุตสาหกรรมแล้ว และก็ยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

ดังนั้นการที่หลายๆ คนกล่าวว่าหนังสือพิมพ์เป็น "อุตสาหกรรมที่กำลังจะตาย" ก็ดูจะไม่เกินเลยไปเท่าใดนัก

News Source: http://paidcontent.org/2013/04/11/two-charts-that-tell-you-everything-you-need-to-know-about-the-future-of-newspapers/

 

15-04-2013

CD Baby พยายามจะสร้าง CD Baby Pro องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์นักแต่งเพลงระดับโลกขึ้น

ประเด็นนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าภายใต้ระบบลิขสิทธิ์ของอเมริกา ความคิดเรื่อง "สิทธิ" ของนักแต่งเพลงที่มีเหนือบทประพันธ์ดนตรีของตนนั้นมันมีประวัติยาวนานมากๆ ตอนต้นศตวรรษที่ 20 นักแต่งเพลงก็มี 1909 สิทธิเหนือบทประพันธ์เรียบร้อยแล้ว

แต่ต้องเข้าใจว่านี่คือสิทธิของนักแต่งเพลงเท่านั้น นักดนตรีไม่ได้มีสิทธิ์เหนืองานบันทึกเสียงเลยจนถึงการแก้กฎหมายในปี 1970 (คาดว่าการคุ้มครองงานดนตรีในฐานะบทประพันธ์เกิดขึ้นในการแก้กฎหมายสักครั้งในศตวรรษที่ 19 เพราะตอนอเมริกามีกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกในปี 1790 ลิขสิทธิ์คุ้มครองแค่หนังสือ แผนที่และแผนภูมิด้วยซ้ำ ส่วนภาพยนตร์เพิ่งจะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ผ่านการแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ปี 1912)

ในปี 1909 มีการแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ที่สำคัญของอเมริกา ที่ทำให้เกิดระดับใบอนุญาตบังคับ (compulsory license) กับบทประพันธ์เพลง คือบังคับให้หลังจากที่บทประพันธ์เพลงไปสู่สาธารณะแล้ว ใครก็สามารถเอาไปคัฟเวอร์ได้โดยจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในเรตตายตัวให้กับนักแต่งเพลง นักแต่งเพลงไม่มีสิทธิ์ห้ามคนบันทึกเสียงเพลงตัวเอง ส่วนแนวทางของค่าลิขสิทธิ์การแสดงสาธารณะเกิดขึ้นจากคำตัดสินของศาลสูงในปี 1917 ที่ศาลตัดสินให้พวกองค์กรธุรกิจทั้งหลายต้องจ่ายเงินให้กับนักแต่งเพลงถ้าองค์กรเหล่านี้แต่งเพลงให้ลูกค้าฟัง นี่ทำให้พวกร้านอาหารและร้านค้าต่างจ่ายค่าลิขสิทธิ์ และทำให้สถานีวิทยุที่เกิดในเวลาต่อมาก็ต้องจ่าย ซึ่งก็รวมถึงสถานีโทรทัศน์ที่เอาเพลงของนักแต่งเพลงไปใส่ในรายการโทรทัศน์ด้วย (ซึ่งเป็นคนละส่วนกับใบอนุญาตการซิงค์ภาพเข้ากับเสียง)

สิ่งเหล่านี้เป็นค่าลิขสิทธิ์ที่มีองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ในอเมริกาเก็บมาตลอด

อย่างไรก็ดีผลประโยชน์ของนักแต่งเพลงอเมริกันก็ไม่ได้รับการคุ้มครองไปทั่วโลกแต่อย่างใด โดยเฉพาะบรรดาพวกนักแต่งเพลงอิสระที่ไม่ได้มีพวกค่ายเพลงระดับโดย "ดูแลผลประโยชน์" ให้ ดังนั้นเว็บไซต์ CD Baby จึงพยายามจะสร้าง CD Baby Pro เพื่อเสนอตัวดูแลค่าลิขสิทธิ์ระดับโลกให้นักแต่งเพลงอิสระในอเมริกา

กล่าวง่ายๆ คือ CD Baby Pro จะทำให้เงินค่าลิขสิทธิ์เมื่อเกิดการขายงานดนตรีในอังกฤษ การเปิดเพลงในร้านกาแฟในฝรั่งเศส การสตรีมเพลงฟังในสวีเดน กลับไปสู่นักแต่งเพลงในอเมริกา (ต้องย้ำว่านี่เป็นคนละเรื่องกับค่าลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียงที่มีประวัติคนละชุดกัน)

ซึ่งเอาจริงๆ แล้วนี่ก็เป็นประเด็นน่าสนใจอยู่ เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ในหลายๆ ประเทศก็ไม่ได้มีความชัดเจนที่จะเอื้อให้เกิดการเก็บค่าลิขสิทธิ์แบบยิบย่อยยุ่บยั่บแบบในอเมริกา

News source: http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130416cdbaby

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท