Skip to main content
sharethis

มือดีที่พ่นคำว่า "บุกรุก" และสาดสีใส่งานกราฟฟิติในเทศกาลสตรีทอาร์ตที่หอศิลปกรุงเทพ เผยแพร่คลิปแจง เห็นต่างการสร้างงานสตรีทอาร์ต ยัน "บุกรุก" ต้องเท่ากับ ลักลอบ ซุ่มโจมตี นิรนาม

 

ก่อนหน้านี้ มีผู้พ่นคำว่า "บุกรุก" และสาดสีใส่งานกราฟฟิติในเทศกาลสตรีทอาร์ตชื่อ "บุกรุก - เทศกาลสตรีทอาร์ต การเชื่อมต่อไทย-ยุโรป" ซึ่งสนับสนุนโดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) โดยมีการจัดพื้นที่ไว้ให้ศิลปินวาดภาพบนกำแพง

ล่าสุด (19 เม.ย.) มีผู้โพสต์คลิปในเว็บยูทูบ โดยชี้แจงว่าเป็นผู้พ่นคำว่า "บุกรุก" และสาดสีลงบนภาพวาดดังกล่าว เนื่องจากมองว่า ผลงานที่เกิดขึ้นได้ทำลายความหมายของคำว่า “บุกรุก”

"การ “บุกรุก” ของเรา คือกระบวนการสร้างสรรค์ คือ “ตัวงาน” ที่โต้ตอบไปกับงานนิทรรศการนี้ เรารักษาจิตวิญญาณของการบุกรุก เพราะไม่มีใครเชิญ และไม่มีใครต้องการ เรายืนยันความขบถ โดย บุกรุก = ลักลอบ ซุ่มโจมตี นิรนาม เราต้องการปลดปล่อย graffiti จากระบบธุรกิจและราชการ ให้ graffiti ยังคงความขบถและบริสุทธิ์ เป็นอาวุธที่ศิลปินใช้ส่งสารสู่สังคมอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง" กลุ่ม "ผู้บุกรุก" ระบุและชี้แจงว่า ไม่ได้มีความแค้นเคืองเป็นการส่วนตัวกับเจ้าของผลงานคือ P7 แต่อย่างใด แต่บังเอิญ งานของเขาอยู่ในเงื่อนไขที่ตรงกับยุทธศาสตร์พอดี

ขณะที่ในยูทูบที่โพสต์คลิปดังกล่าว มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับกลุ่ม "ผู้บุกรุก" เนื่องจากมองว่า งานกราฟฟิตินั้นต้องเกี่ยวข้องกับความเร็วและการฝ่าฝืนข้อบังคับ ขณะที่บางฝ่ายก็เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายงานของผู้อื่น

 


คำแถลงการณ์ของกลุ่มผู้บุกรุก

พวกเราคือ ผู้พ่นคำว่า บุกรุก และ สาดสีลงบนภาพวาดบนผนังหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
และนี่คือ คำประกาศจากเรา
เราทำเยี่ยงนี้ เพื่อส่งสาส์นสู่สังคมไทยที่กำลังถูกมอมเมาด้วย graffiti อันไร้ราก

ขาดความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ศิลปะ จับเพียงแค่สิ่งที่ตาเห็นของ graffiti และ
street art
 โดยไม่นำสาระสำคัญที่อยู่เบื้องหลังนั้นมาด้วย
จนทำให้ graffiti และ
street art ที่เกิดขึ้นมา กลายเป็นเพียงแฟชั่นฉาบฉวย ไร้ความย้อนแยง

หนึ่งในกระบวนการนี้ คือ นิทรรศการ Bukruk – Street Art Festival ที่เชิญผู้เยี่ยมยุทธศิลป์ 
มาวาดภาพตามสถานที่ต่างๆ โดยขออนุญาต “ตระเตรียม” กันไว้ก่อน
เราเชื่อว่า ศิลปะ ต้องมีการสื่อ “สาระ” ให้สังคม
และทำหน้าที่ เปิดมุมคิดใหม่
ตั้งคำถามใส่สังคมในประเด็นต่างๆ 
เพื่อพัฒนาเมืองไทยไปข้างหน้า 

มิใช่เพียงทำไปเพื่อยกยอคนทำให้เป็นดาราดัง ทำเงิน
จนลืมจิตวิญญาณหรือจุดเริ่มต้นของ street art

เราเคารพในความคิดเห็นของพี่น้องศิลปินทุกท่าน 
แต่สีที่เราสาด แทนคำถามที่เราสาดใส่สังคมไทย 
ที่กำลังหน้ามืดตามัว ยึดติดอยู่กับ “รูปแบบ”
ที่นำมาโดยมิได้มีรากความคิดติดมาด้วย

สถาบันทางศิลปะของไทยกำลัง คิดเอง อวยเอง
ว่านี่คือ street art ว่านี่คือ จิตวิญญาณแห่ง graffiti 
ทั้งที่สิ่งมันเป็นจริงๆ คือ รูปวาดฝาผนัง สีสันสดใส สวยงาม
และงาน “Bukruk – Street Art Festival” ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เราออกไปตั้งคำถามครั้งนี้เพราะผลงานที่เกิดขึ้นนี้ ได้ทำลายความหมายของ คำว่า “บุกรุก” 
นี่คือ ความคับข้องใจที่เราซึ่งเป็นศิลปินเหมือนกัน ไม่อาจปล่อยผ่านไปได้จริงๆ

การ “บุกรุก” ของเรา คือกระบวนการสร้างสรรค์
คือ “ตัวงาน” ที่โต้ตอบไปกับงานนิทรรศการนี้ 

เรารักษาจิตวิญญาณของการบุกรุก เพราะไม่มีใครเชิญ และไม่มีใครต้องการ

เรายืนยันความขบถ โดย บุกรุก = ลักลอบ ซุ่มโจมตี นิรนาม
เราต้องการปลดปล่อย graffiti จากระบบธุรกิจและราชการ
ให้ graffiti ยังคงความขบถและบริสุทธิ์ 
เป็นอาวุธที่ศิลปินใช้ส่งสารสู่สังคม อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง
สำหรับงานของ คุณ P7 ที่อยู่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เราไม่ได้แค้นเคือง ต่อต้าน อิจฉา หรือรู้สึกไม่ดี เป็นการส่วนตัว
แต่บังเอิญ งานของคุณอยู่ในเงื่อนไข ที่ตรงกับยุทธศาสตร์ของเรา 
เราไม่เกี่ยงว่า งานนั้นเป็นของใคร

หรือคุณเป็นใคร
 แต่นี่คือสิ่งที่เราจะตั้งคำถามให้กับหอศิลป์และนักวาดภาพ
ว่า
สิ่งที่คุณทำมันคืออะไรกัน?
เรามั่นใจว่า เราได้เพิ่มมิติทางความคิดให้กับภาพวาดที่อยู่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

และเรามั่นใจว่า เรากำลังสร้างสรรค์งานศิลปะ ลงบนพื้นที่ของหอศิลป์
มิใช่การวาดรูปเล่น หรือสาดสีด้วยความสนุกสนาน
เราจึงหวังว่า
ทางหอศิลป์จะเข้าใจ และเก็บรักษาผลงานชิ้นนี้เอาไว้ให้สังคมได้ศึกษา
ในท้ายที่สุดนี้
เราต้องขอส่งความขอบคุณไปยัง คุณ P7 ด้วย

ที่ช่วยกรุณาประชาสัมพันธ์งานของเราให้ไปสู่สารธารณชน


ขอความสุขสุนทรีย์ จงมีแด่ทุกท่าน จงทั่วกัน

ผู้บุกรุก
19 เมษายน 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net