Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ครูชายแดนใต้ กับความต้องการในกระบวนการสันติภาพ ทุกเสียงย้ำอยากให้ยุติทำร้ายครูและประชาชน ขอให้ครูได้ทำหน้าที่ต่อไปโดยไม่มีความรู้สึกกลัว ชี้การพูดคุยสันติภาพความนี้เป็นความหวังของคนในพื้นที่

 
 
 
(ที่มาภาพ: kroothaiban.blogspot.com)
 
“ขอให้ยุติการทำร้ายครูและประชาชน” นี่คือคำขอจากครูต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เพราะทุกครั้งที่ครูตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากสถานการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ มักเป็นข่าวใหญ่และส่งผลสะเทือนไปทั่วประเทศ เช่นกรณีครูจูหลิง ปงกันมูล ครูโรงเรียนบ้านกูจิงลืปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่ถูกรุมทำร้ายเมื่อปี 2549 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
 
เป็นคำขอต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างตัวแทนรัฐไทยที่นำโดยพล.ท.ภารดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติกับตัวแทนขบวนการต่อสู่เพื่อเอกราชในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือฟาฏอนีย์ ที่นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งกำลังจะมีการนัดพูดคุยกันเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 29 เมษายน 2556 ที่ประเทศมาเลเซีย
 
เป็นคำขอจากสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2556 ที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี นายบุญสม ทองศรีพลาย ประธานสมาพันครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีข้อเสนอ 3 ข้อในเวทีการสร้างปรองดองและสันติภาพที่มีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนั่งอยู่ด้วย
 
ข้อที่ 1.ขอให้ยุติการก่อเหตุต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะต่อครู ซึ่งไม่มีครูที่ไหน (ในพื้นที่ความขัดแย้ง) ในโลกที่เสียชีวิตจำนวนเท่านี้
 
ข้อที่ 2. รัฐบาลต้องจริงใจในการแก้ปัญหารุนแรงในพื้นที่ เพื่อให้คนไทยพุทธกับมุสลิมในพื้นที่กลับมาใช้ชีวิตอย่างสงบสุขอีกครั้ง เนื่องจากความไม่สงบได้ทำให้เกิดความหวาดระแวงต่อกัน ซึ่งเป็นห่วงว่าอาจจะขยายเป็นความกลัว เกลียดชังต่อกัน และในที่สุดอาจทำให้เกิดการทำลายต่อกัน
 
“แม้ว่าเราจะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน แต่เราเป็นพี่น้องกันและเคยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมาเป็นร้อยๆ ปีในพื้นที่แห่งนี้”
 
ข้อที่ 3. ขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาลที่มีแนวความคิดในเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพในครั้งนี้
 
ที่ผ่านมาสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รวบรวมสถิติครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตไปแล้ว 159 ราย ในระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดคำถามว่าทำไมต้องฆ่าครู ทั้งที่เป็นผู้ให้ความรู้ โดยเฉพาะครูที่นับถือศาสนาพุทธที่กลายเป็นเป้าหมายที่ของการฆ่า และเป็นเป้าหมายที่ไม่ได้ถืออาวุธหรือ Soft target ตามการจำแนกของนักวิชาการ เช่น ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
 
นายบุญสม กล่าวว่า ขอเสนอต่อทั้ง 2 ฝ่ายที่พุดคุยกันครั้งนี้ ให้ยุติทำร้ายครูและประชาชนในพื้นที่ เพราะจะเป็นเงื่อนไขให้ครูเกิดความกลัว ทำให้ครูไม่สามารถสอนเด็กนักเรียนในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่
 
“ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญที่สุด ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงมากที่สุด เพราะหากการพูดคุยครั้งนี้ล้มเหลวก็ตัวใครตัวมัน ท่านไปตามทางของท่าน ผมก็ไปตามเส้นทางของผม การพูดคุยครั้งนี้เป็นความหวังของคนในพื้นที่อย่างมาก ดังนั้นรัฐบาลต้องมีความจริงใจในการพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพ”
 
นายบุญสม เสนอด้วยว่า รัฐบาลต้องให้ประชาชนในพื้นที่รับรู้และรับทราบถึงผลของการพูดคุย โดยเฉพาะครู พร้อมๆ กับสร้างความยุติธรรมแก่ประชาชนในพื้นที่ เพราะความขัดแย้งในที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากความไม่เป็นธรรม
 
“การพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการหาทางออกสำหรับการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ ส่วนผลการพูดคุยจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับทั้ง 2 ฝ่าย” นายบุญสม ระบุ
 
ในขณะที่ครูที่นับถือศาสนาอิสลาม อย่างนางสาวนูรีมาน หะมะ ครูโรงเรียนแสงธรรมวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ระบุว่า ติดตามข่าวเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพมาตลอด ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในการแก้ปัญหา 
 
เธอบอกว่า เพราะครูเป็นเป้าหมายหนึ่งในการก่อเหตุ ดังนั้นครูต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจว่า อะไรเป็นสิ่งที่ผู้ก่อเหตุต้องการ ดังนั้นจึงอยากให้มีการพูดคุยกันให้มากกว่านี้
 
“สิ่งที่อยากได้จากกระบวนการสันติภาพคือ ขอความสงบกลับมาเหมือนเดิมอย่างที่เคยเป็น และอยากให้ครูเป็นได้เป็นแม่พิมพ์ของชาติต่อไป แต่ไม่ใช่เป็นเครื่องมือในการต่อรองของใครในการพูดคุยเจรจา”
 
นางสาวรุสณีย์ กาเซ็ง ครูประจำศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือครู กศน. อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี มองว่า การพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้ ยังคลุมเครือและไม่ชัดเจนกับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงรู้สึกยังไม่มั่นใจเต็มร้อยกับการพูดคุยครั้งนี้
 
“แต่ในทางกลับกัน การพูดคุยดังกล่าวทำให้รับรู้ถึงการเดินหน้าไปอีกขั้นของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ เพราะโดยปกติรัฐไทยจะให้ทหารแก้ปัญหา แต่ปัจจุบันนับว่ามีการนำการเมืองมาแก้ปัญหาในพื้นที่แล้ว”
 
นางสาวรุสณีย์ มองว่า แม้การพูดคุยครั้งแรกคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นการจัดฉาก แต่เมื่อมีการพูดคุยกันหลายครั้ง คนก็จะเชื่อว่าคงจะเป็นความจริง
 
เมื่อกระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ต้องการเสนอคือ การตัดสินใจใดๆ ของฝ่ายที่มีอำนาจ ต้องให้ประชาชนรับรู้ ซึ่งการศึกษาเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถให้เด็กเผยแพร่ความรู้เรื่องสันติภาพให้คนในครอบครัวและคนรอบข้างได้
 
“ปัจจุบันเมื่อพูดถึงการสื่อสารสร้างความเข้าใจ ทุกคนจะนึกถึงสื่อมวลชนและภาคประชาสังคม แต่มองข้ามครู กศน.ทั้งที่มีนักศึกษาทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เยาวชนขึ้นไป มวลชนเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญและเป็นพลังให้กับการแก้ปัญหาในพื้นที่” นางสาวรุสณีย์ กล่าวทิ้งท้าย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net