สัมภาษณ์กนกวรรณ ระลึก: ‘คนภูมิซรอล’ เหยื่อนิยาม ‘รักชาติ’ ของแนวคิดรัฐ-ชาติ

 
 
ท่ามกลางบรรยากาศของการแถลงด้วยวาจา ณ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กรณีที่รัฐบาลกัมพูชายื่นขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 กำลังดำเนินไป ขณะที่ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมภายใต้ชื่อ ‘คนไทยหัวใจรักชาติ’ ก็หวังจะปักเสาธงขนาด 21 เมตรในพื้นที่พิพาทไทย-กัมพูชา โดยนับเป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มธรรมยาตรา ที่เคยเผชิญหน้ากับชาวบ้านภูมิซรอล จนเกิดการปะทะกับชาวบ้าน ในเดือนกรกฎาคม 2551 และกันยายน 2552
 
อาจกล่าวได้ว่า ความรักชาติจากแนวคิดรัฐชาตินี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวชุมชนภูมิซรอลให้เดือดร้อนเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดการยิงปะทะกันระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ชาวบ้านต้องหนีตายแบบ ‘ยางตายออก’ อันหมายถึงความกลัวที่เป็นที่สุดของความกลัวนั่นเอง
 
ทำไมชาวบ้านภูมิซรอลจึงต่อต้านการประท้วงของ ‘กลุ่มคนไทยรักชาติ’ นิยามความรักชาติของชาวบ้านภูมิซรอลเป็นอย่างไร เราไปหาคำตอบจากนักวิจัยในพื้นที่
 
กนกวรรณ ระลึก มหาบัณฑิตสาขาวิชาชนบทศึกษาและการพัฒนา สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘การประกอบสร้างอัตลักษณ์ชุมชนภูมิซรอล’ วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
 
เธอเล่าสภาพความเป็นอยู่ของคนภูมิซรอลให้ฟังว่า ชุมชนภูมิซรอลอยู่ห่างจากเขาพระวิหารอันเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหารเพียง 10 กิโลเมตร และสาระสำคัญของวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ ต้องการเปิดพื้นที่ให้ ‘ชาวภูมิซรอล’ ได้ส่งเสียงต่อคนนอกว่าพวกเขาได้รับความเดือดร้อนจากนิยามความรักชาติตามแนวคิดรัฐ-ชาติ รวมทั้งชาวบ้านภูมิซรอลได้ให้ความหมายความเป็นชาติไทย นิยามตัวเองว่า เป็นคนไทยผู้รักชาติเช่นเดียวกับคนไทยทุกคน และผลการศึกษายังพบว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยและรัฐกัมพูชาส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน ให้เดือดร้อนอย่างแสนสาหัส
 
 

จุดสนใจในการเข้าไปทำวิจัย ?

 
จุดสนใจจริงๆ แล้วคือ รู้สึกว่าชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม อยากส่งเสียงให้กับชาวบ้าน จริงๆ แล้วการเข้าไปทำวิจัยเริ่มจากคำถามที่ว่า ทำไมชาวบ้านจึงต่อต้านกลุ่มคนไทยรักชาติ? โดยดิฉันได้รับข้อมูลความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มคนไทยรักชาติจากสื่อกระแสหลัก
 
แต่เมื่อเข้าไปเห็นสภาพหมู่บ้านจริงๆ แล้วนั้นถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ด้วยการมีคนต่างถิ่นเข้ามาเยอะตลอดกว่า 70 ปีที่ผ่านมา อาทิ การแต่งงานระหว่างคนไทยอีสานกับไทยเขมร, คนไทยเขมรกับชาวกัมพูชา ฯลฯ วิถีการผลิตการผลิตก็ดำเนินไป 2 แบบ ทั้งการบริโภคและเมื่อเหลือจากการบริโภคก็จำหน่าย แรงงานรับจ้างกับธุรกิจขนาดย่อมก็ดำเนินคู่กันมาตลอด ทำให้เราเกิดคำถามว่า เวลาชาวบ้านต่อต้านกลุ่มคนไทยรักชาติที่เข้าไปในพื้นที่ในปี 2551 ชาวบ้านเขาก็บอกว่าเขาก็รักชาติเช่นเดียวกัน ความหมายของคำว่ารักชาติแตกต่างกันตรงไหน
 
ขณะที่อีกฝ่ายก็บอกว่าชาวบ้านนั้นไม่รักชาติ จนถึงขั้นที่มี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง เสนอให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน เป็นชื่อว่า ‘หมู่บ้านแผ่นดินอุดมสมบูรณ์’ เพราะ ส.ว.ท่านนั้นบอกว่า ชื่อภูมิซรอลเป็นชื่อเขมร และให้เปลี่ยนเป็นภาษาไทย แต่ ส.ว. คนนั้นคงไม่ทราบว่า ‘ภูมิซรอล’ ตามความหมายของชาวบ้านคือ ความดี ความงาม ความรัก คือถ้าจะเปลี่ยนคงต้องเปลี่ยนชื่อกันทั้งจังหวัดศรีษะเกษเพราะเป็นชื่อที่มาจากภาษาเขมร ชาวบ้านก็บอกว่าไม่เปลี่ยน เพราะความหมายของภูมิซรอลนั้นดีมาก
 
ก่อนหน้านั้นการทำมาหากินท่ามกลางบรรยากาศความพร่ามัวของเขตแดน แม้จะมีอยู่ แต่การทำมาหากินของชาวบ้านก็ยังคงดำเนินไปตามปกติ ชีวิตที่ทำการเกษตร ค้าขายกับชาวกัมพูชา ด้านสังคมลักษณะความสัมพันธ์ก็เหมือนญาติ พี่น้อง กันตามปกติ การแต่งงานข้ามไปมาระหว่างชาวบ้าน 2 ฝั่งประเทศ ก็ถือเป็นเรื่องปกติมาก เขตแดนในความรู้สึกของชาวบ้านแทบจะไม่มี จากการพูดคุยจึงพบว่าในอดีตชาวบ้านได้รับผลกระทบจากสงครามมาโดย
 
ชาวบ้านอธิบายว่า ความรักชาติของชาวบ้านคือการปฏิบัติตามนโยบายรัฐ ปัญหาคือความรักชาติของชาวบ้านกับ ‘กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ’ นั้นถือคนละชุดความหมาย ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่เจตนารมณ์ของ ‘กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ’ จะได้รับการต่อต้านจากชาวบ้านภูมิซรอล เพราะการกระทำที่ยั่วยุให้เกิดการปะทะกันในพื้นที่นั้นส่งผลต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของชาวบ้าน
 
ปรากฏการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวยืดเยื้อกว่า 3 ปี ถามว่ากระแสความรักชาติที่อยู่นอกพื้นที่ภูมิซรอลนั้นส่งผลแค่ไหน ก็ต้องบอกว่ารุนแรงมาก ทั้งในมิติที่เห็นว่าชาวบ้านภูมิซรอลกลายเป็นผู้ไม่รักชาติ และชาวบ้านภูมิซรอลเป็นพวกนิยมก่อความรุนแรง จากผู้ที่ยึดกุมข้อมูลข่าวสารสาธารณะ
 
ผลกระทบต่อคนภูมิซรอลมีอย่างมาก นับตั้งแต่ความตรึงเครียดได้เกิดตลอดหลัง พ.ศ.2551 เช่นการเดินทางไปทำไร่ ทำนา ชาวบ้านทั้ง 2 ฝั่งต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และต้องกลับเข้ามาในหมู่บ้านก่อนเวลา 16.00 น. การดำเนินชีวิตเช่นนี้สวนทางกับวิถีการผลิตของผู้อยู่ในภาคการเกษตรแบบชาวบ้าน การลงไร่ ลงนา ในช่วงฤดูฝนถือเป็นช่วงสำคัญที่จำเป็นต้องไม่จำกัดเวลาการทำงาน
 
นอกจากนี้ ช่วงเวลาประเพณี วันสารท หรืองานบุญก็ต้องเปลี่ยนไปตามคำสั่งรัฐทั้งหมดอีกด้วย ซึ่งก่อนหน้าความขัดแย้ง การเดินทางไปทำบุญร่วมกันของคนทั้ง 2 ประเทศที่วัดชายแดนเขาพระวิหารก็เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว พิธีกรรมที่จำเป็นต่อชาวบ้านที่อยู่ในวิถีการผลิตแบบเกษตรกรรมก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
 
ส่วนผลกระทบในปี 2554 นั้น ชาวบ้านมีคาถาท่องประจำใจคือเตรียมของให้พร้อมและวิ่งให้เร็ว หลังจากชาวบ้านขัดแย้งกับกลุ่มผู้นิยามว่าเป็นคนไทยรักชาติใน พ.ศ.2551 และ 2552 ผ่านไปไม่นานนักในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ได้เกิดเหตุการณ์ ที่ชาวบ้านเรียกว่าบ้านแตกครั้งที่ 2 ซึ่งหมายถึงการยิงถล่มกันอย่างหนักระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชา หมู่บ้านโดนลูกปืนใหญ่และระเบิด ชาวบ้านต้องอพยพหนีตายบ้านแตกสาแหรกขาด โดยชาวบ้านนิยามความกลัวของพวกเขาว่า ‘กลัวยางตายออก’
 
 

นิยามความรักชาติของชาวบ้านภูมิซรอลเป็นอย่างไร ?

 
ชาวบ้านเขาถือว่าเป็นคนรักชาติเช่นเดียวกัน มีการทำงานตอบแทนเพื่อสนองนโยบายรัฐมาตลอดทุกยุคสมัย อย่างเป็นอาสาสมัครด้านความมั่นคงของหมู่บ้าน ที่นี่มีเยอะมาก เยอะจนไม่สามารถจำชื่อได้ว่ามีอะไรบ้าง
 
คำถามสำคัญของการศึกษาคือ ชาวบ้านภูมิซรอลรู้สึกอย่างไรเมื่อถูกให้นิยามว่า ‘เป็นคนไทยไม่รักชาติ เป็นคนไทยหัวใจเขมร’ คำถามต่อมาคือชาวบ้านภูมิซรอลอธิบาย ตลอดจนให้ความหมายความรักชาติของพวกเขาอย่างไร และพวกเขาแสดงความรักชาติอย่างไร
 
จากการสนทนากลุ่มและสัมภาษณ์รายบุคคล ชาวบ้านภูมิซรอลเป็นจำนวน 97 คน สรุปได้ว่า ชุมชนภูมิซรอลได้เริ่มก่อตัวจากชุมชนที่มีวิถีการผลิตแบบยังชีพหรือสังคมประเพณี (traditional society) ขยายตัวไปสู่ชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับรัฐ ซึ่งมีบริบททางสังคมแตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคสมัย กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายกัมพูชาเข้ามาก่อตั้งชุมชนแห่งนี้ประมาณ พ.ศ.2484 และจดทะเบียนเป็นหมู่บ้านตามกฎหมายในปี พ.ศ.2492 แม้ว่าก่อนที่ชุมชนจะเป็นหมู่บ้านภายใต้การควบคุมของรัฐ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายกัมพูชา แต่เมื่อชุมชนมีการขยายตัวรวมกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสานและกลุ่มข้าราชการที่ย้ายเข้ามาในพื้นที่ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงเป็นปัจจัยหลัก ทำให้ชุมชนได้มีความเป็นพหุวัฒนธรรมค่อนข้างชัดเจน
 
โดยภาพรวมแล้วทุกคนบอกว่า ความรักชาติคือการทำตามนโยบายรัฐ ‘เจ้านายบอกว่ารักชาติต้องทำอย่างไรชาวบ้านก็ทำตามอย่างนั้น’
 
ชาวบ้านได้เล่าถึงประสบการณ์คนบ้านภูมิซรอลกับสงครามและความรักชาติว่า บ้านภูมิซรอล จำนวนมากต้องรับใช้ชาติทำงานที่มีความเสี่ยงให้กับรัฐ เช่น เป็นสายลับให้เจ้านายไปสืบข่าวเมืองลุ่ม[1] เป็นทหารรับจ้างไปรบในสงครามเวียดนาม เป็นทหารพราน เป็นทหารรับจ้างกองทัพเฮงสัมริน เป็นนักเก็บกู้ระเบิด[2] คนที่ไม่ได้อยู่ในสถานะดังกล่าวก็เป็นอาสาสมัครไทยอาสาป้องกันชาติมาตั้งประมาณทศวรรษ 2500 ซึ่งเรียกว่าอาสาสมัครไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) เพิ่งเปลี่ยนมาเรียกว่า ชุดอาสาสมัครป้องกันหมู่บ้าน (ชรบ.) เมื่อไม่นานมานี้ มีคนพิการ ขาขาด แขนขาด ตาบอด และเสียชีวิตจากการทำงานที่เสี่ยงที่กล่าวมานี้เป็นจำนวนมาก
 
ชาวบ้านบอกว่าเจ้านายอยากให้เป็นแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านไทยอาสาป้องกันชาติหรือ หมู่บ้านแห่งเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ชาวบ้านล้วนทำตาม การเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้นำเงินเข้าประเทศมากมาย แล้วกลุ่มผู้นิยามตนเองว่ารักชาติมาทำให้ทั้งชาวบ้านและรัฐสูญเสียรายได้ส่วนนี้ แล้วใครกันแน่ที่ไม่รักชาติ นี่คือการตอบโต้และคำอธิบายความรักชาติของชาวบ้าน
 
นอกจากนี้ชาวบ้านยังบอกว่า คนบ้านภูมิซรอลทุกคนรักชาติ ถ้าไม่รักชาติก็คงหนีไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว ทุกคนเป็นคนไทย มีสัญชาติไทย ในกรณีคนที่ยังไม่มีสถานะบุคคลก็มีการพิสูจน์สัญชาติกันทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าโรงเรียนเพื่อให้อ่านออกเขียนภาษาไทยได้ รวมทั้งเป็นหมู่บ้านอาสาสาสมัครปกป้องชายแดนมาทุกยุคทุกสมัย คำย่อว่าด้วยชื่ออาสาสมัครมีมากจนแทบจำไม่ได้มานานแล้ว
 
ชาวบ้านทำทุกอย่างตามที่เจ้านายบอกว่าคนไทยที่รักชาติจำเป็นต้องทำเพื่อความมั่นคงของชาติ เป็นเหตุผลเพียงพอในการอธิบายความรักชาติหรือไม่ เป็นคำถามย้อนกลับของชาวบ้าน
 
 

อัตลักษณ์ชุมชนภูมิซรอลเป็นอย่างไร ?

 
บ้านภูมิซรอลมีอายุการก่อตั้งหมู่บ้านประมาณ พ.ศ. 2484 หรือประมาณ 70 ปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นมีการจดทะเบียนเป็นหมู่บ้านในการควบคุมของรัฐในปี 2492 คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากก็จะเรียกตัวเองว่าเป็น ‘คนเมืองลุ่ม’ โดยมีความหมายว่า เป็นคนจากข้ามแดนจากมาจากฝั่งประเทศกัมพูชา ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มหรือต่ำกว่าฝั่งประเทศไทย คำว่าลุ่มไม่ได้มีนัยการเหยียดหยามทางชาติพันธุ์แต่ประการใด
 
เมื่อย่างเข้าปี พ.ศ.2492 บ้านภูมิซรอลจึงได้เข้าไปจดทะเบียนหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ ช่วงนี้เองมีหน่วยงานด้านความมั่นคงคือตำรวจตระเวนชายแดนเข้าไปทำงาน ร่วมกับ ‘นายฝรั่ง’ นายฝรั่งในความหมายของชาวบ้านนี้มีความเป็นไปได้ว่าคือทหารจากประเทศฝรั่งเศสและทหารจากหน่วยสืบราชการลับประเทศสหรัฐอเมริกา
 
รัฐไทยได้ประกอบสร้างให้หมู่บ้านในแถบนั้นเป็นหมู่บ้านกันชนมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น นิยามให้เป็นหมู่บ้านกันชนที่ต้องรักชาติ คนรุ่นนั้นหลายคนยังมีชีวิตอยู่ จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่เปิดเผยตัวตน 97 คน และไม่เปิดเผยตัวตนจำนวนหนึ่ง ผลการศึกษานั้นแบ่งอัตลักษณ์ชุมชนออกเป็น 4 ยุค หรืออาจกล่าวได้ว่า ชุมชนและรัฐได้ประกอบสร้างอัตลักษณ์ชุมชนหลายความหมายคือ
 
1.ชุมชนหมู่บ้านวิถีสังคมประเพณี (traditional society) (พ.ศ.2484-2492) เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านไทยและชาวบ้านกัมพูชา
 
2.ยุคชุมชนหมู่บ้านกันชนที่ต้องรักชาติ (พ.ศ.2492-2532) เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐไทย ผลกระทบคือชาวบ้านต้องเปลี่ยนจากวิถีชีวิตที่สงบสุขไปทำงานที่มีความเสี่ยง เช่น เป็นสายลับ เป็นทหารรับจ้างในสงครามเวียดนาม เป็นทหารรับจ้างกองทัพเฮงสัมริน เป็นทหารเกณฑ์ เป็นทหารพราน เป็นอาสาสมัครไทยอาสาป้องกันชาติ เป็นนักเก็บกู้ทุ่นระเบิด บางคนโดนจับไปเป็นเชลยสงคราม บางคนพิการ ขาขาด ตาบอดและเสียชีวิตจากทุ่นระเบิด
 
3.ยุคชุมชนหมู่บ้านแห่งเศรษฐกิจการท่องเที่ยว (พ.ศ.2532-2551) เป็นอัตลักษณ์ที่รัฐประกอบสร้างขึ้นในยุคเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ชาวชุมชนทำมาหากินตามแนวชายแดนภายใต้การเฟื่องฟูของธุรกิจท่องเที่ยว
 
4.ยุคชุมชนหมู่บ้านคนไทยไม่รักชาติ เป็นคนไทยหัวใจเขมร (พ.ศ.2551-2555) เป็นยุคความร้าวฉานระหว่างรัฐไทยและรัฐกัมพูชา กรณีประเทศกัมพูชาเสนอปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก หรืออาจกล่าวได้ว่า ยุคนี้ชุมชนท้องถิ่นถูกขับให้หลุดจากชุมชนจินตกรรมการเมืองของรัฐไทย
 
ขณะเดียวกันชุมชนพยายามต่อสู้ด้วยการนำเสนออัตลักษณ์ตัวเองว่าเป็น ‘คนไทยรักชาติ’ ซึ่งผลกระทบที่ชุมชนได้รับในยุคนี้มีความรุนแรงมากที่สุด โดยเป็นผลพวงมาจากนโยบายความมั่นคงของรัฐล้วนๆ
 
 

[1] เมืองลุ่มในคำอธิบายของชาวบ้านคือประเทศกัมพูชา ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มหรือตั้งอยู่ต่ำกว่าบริเวณบ้านภูมิซรอล
[2] การเก็บกู้ระเบิดในบ้านภูมิซรอล มีทั้งนักเก็บกู้ระเบิดที่ผ่านการฝึกหัด แบะนักการเก็บกู้ระเบิดไปขายให้กรอ.มน. ลูกละ 25 บาทโดยไม่ต้องผ่านการฝึกหัด ชาวบ้านเล่าว่าทุ่นระเบิดมีจำนวนมาก บางเดือนเก็บมาขายให้กรอ.มน.จำนวนมากถึง 200,000.-บาท/เดือน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท