พระไพศาล วิสาโล: กับดักความดี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การทำดีนั้นเป็นเรื่องดีก็จริง แต่หากวางใจไม่ถูก ก็อาจก่อปัญหาขึ้นได้  เช่น ทำบุญแล้วหวังได้โชคได้ลาภ ก็เท่ากับเพิ่มพูนกิเลสให้มากขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้เป็นทุกข์ได้ง่าย เพราะเฝ้าแต่รอว่าเมื่อไรจะถูกหวยหรือร่ำรวยเสียที   เช่นเดียวกับคนที่เสียสละแล้วอยากให้คนอื่นเห็นความดีของตน หรือช่วยเหลือใครก็อยากให้เขาสำนึกในบุญคุณของตน  หากสิ่งที่อยากเห็นนั้นไม่เกิดขึ้นหรือไม่ถึงระดับที่ต้องการ ก็อาจท้อใจหรือขุ่นเคืองใจได้ง่าย

ปัญหาของการทำดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทำแล้วรู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น  ความรู้สึกว่าเหนือกว่านี้จัดว่าเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง เรียกว่า “มานะ” (ซึ่งไม่ได้แปลว่าความพยายาม)  กิเลสชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ดูถูกคนอื่น เกิดอาการหลงตัวลืมตน ใครวิจารณ์หรือตำหนิไม่ได้ ถูกแตะต้องเมื่อใดเป็นโกรธเมื่อนั้น  นักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อย เมื่อถูกทักท้วงว่ากำลังหงุดหงิดหรือไม่มีสติ ก็จะรู้สึกโกรธหนักกว่าเดิม  ทั้ง ๆ ที่อาการดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชน  บางคนเมื่อรู้ว่าได้ทำความผิดพลาดขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย  อย่างมากก็แค่ “หน้าแตก”เท่านั้น กลับพยายามกลบเกลื่อนหรือถึงกับโกหก ทั้งนี้ก็เพราะกลัวเสียภาพลักษณ์คนดีหรือนักปฏิบัติธรรม

ความดีนั้นหากตั้งจิตไว้ไม่ถูกตั้งแต่แรก หรือไม่รู้ทันตนเองเมื่อได้ทำไปแล้ว ก็อาจเปิดช่องให้กิเลสครอบงำใจได้  นอกจากตัณหา (ความอยากได้นั่นได้นี่เป็นผลตอบแทนในทางปรนเปรอตัวตน)  และมานะ (ความถือตัวถือตนว่าเหนือกว่าผู้อื่น) แล้ว  ทิฏฐิก็เป็นกิเลสอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น การยึดมั่นในความคิดว่าต้องดีเหมือนตนเท่านั้นจึงจะถูก  ถ้าไม่ดีเหมือนตน หรือไม่ดีอย่างที่ตนคิด ก็แสดงว่าผิด   และสิ่งที่มักจะตามมาก็คือ  ความไม่พอใจ การดูถูก หรือถึงกับเกลียดชังคนที่ไม่ดีเหมือนตน  ยิ่งคน ๆ นั้นเป็นคนใกล้ตัว รู้สึกรักหรือผูกพัน ก็ยิ่งเป็นทุกข์เพราะความผิดหวัง จนกลายเป็นความโกรธเคืองอย่างรุนแรง

ชายผู้หนึ่งเป็นคนชอบทำบุญ  ช่วยงานวัดไม่ขาด  ส่วนลูกชายนั้นไม่สนใจเข้าวัดเลย ชอบสนุกตามประสาวัยรุ่น  พ่อพยายามเคี่ยวเข็นอย่างไรก็ไม่เป็นผล  จึงไม่พอใจลูก ในที่สุดก็มีปากเสียงกันจนลูกไม่คุยกับพ่อ  พ่อยิ่งขุ่นเคืองใจหนักขึ้นเพราะไม่คิดว่าลูกจะปฏิบัติกับพ่ออย่างนั้น

วันหนึ่งลูกขอยืมรถพ่อขับไปบ้านเพื่อน  พ่อปฏิเสธเพราะค่ำแล้ว ลูกควรอยู่บ้าน  แต่พอพ่อเผลอ ลูกก็แอบเอารถพ่อไปใช้  พ่อโกรธมากที่ลูกไม่เชื่อฟังพ่อ  ไปตามลูกกลับมา เมื่อถึงบ้านก็ทะเลาะกันอย่างรุนแรง ด้วยอารมณ์โกรธชั่ววูบ พ่อเห็นปืนอยู่ใกล้ ๆ จึงคว้าปืนมายิงลูกตาย  พอรู้ตัวว่าได้ทำอะไรลงไป  ก็ทำใจไม่ได้ ยิงตัวตายไปพร้อมกับลูก

พ่อนั้นเป็นคนธัมมะธัมโม อยากให้ลูกเป็นคนดี  แต่พอลูกไม่ดีอย่างที่ตนคิด ก็ไม่พอใจลูก  ทั้ง ๆ ที่ลูกไม่ได้เที่ยวสำมะเลเทเมาที่ไหน  ความไม่พอใจกลายเป็นความโกรธเมื่อลูกมึนตึงกับตน เพราะคนดีย่อมไม่ทำเช่นนั้นกับพ่อบังเกิดเกล้า  ยิ่งลูกขัดขืนคำสั่งของพ่อ แถมไม่ยอมรับผิด เถียงพ่อไม่หยุดหย่อน ใช้ถ้อยคำรุนแรง  ขาดสัมมาคารวะ   พ่อก็ยิ่งโกรธลูก จากความโกรธก็ลามเป็นความเกลียด จนในที่สุดก็ห้ามใจไม่อยู่ ยิงลูกตายคาที่

ความดีนั้นหากยึดติดถือมั่นมาก สามารถนำไปสู่การทำชั่วได้ไม่ยาก เพราะเมื่อพบว่าคนอื่นไม่ดีเหมือนตน หรือไม่ดีตามความคิดของตน  ย่อมเกิดความเกลียดและโกรธตามมา  ถ้าไม่รู้ทัน ปล่อยให้มันครองใจ ก็สามารถทำร้ายเขาได้ง่ายมาก ไม่ด้วยการกระทำก็ด้วยคำพูด              

จะว่าไปแล้วความยึดติดถือมั่นนั้นไม่ว่ากับอะไรก็ตาม แม้กระทั่งกับสิ่งที่ดีงามหรือประเสริฐ ก็สามารถผลักดันให้เราทำสิ่งที่เลวร้ายได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะเมื่อเจอคนที่ไม่ได้ยึดถือสิ่งเดียวกับเรา เช่น ศาสนา ศีลธรรม อุดมการณ์   หรือประเพณีพิธีกรรม  ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยจับอาวุธเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ในนามของศาสนาหรืออุดมการณ์ที่ถือว่าดีงาม

เมื่อใดก็ตามที่เราเชื่อมั่นว่าเรากำลังยึดถือสิ่งที่ดีงาม  เป็นไปได้ง่ายมากที่เราจะมองคนที่คิดหรือนับถือต่างจากเราว่าเป็นคนที่หลงผิด และเห็นเขาเป็นคนเลวในที่สุด  ทันทีที่เห็นว่าเขาเป็นคนเลว ความเกลียดโกรธก็ตามมา จากนั้นการมุ่งร้ายก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก   เริ่มจากการประณามหยามเหยียดเขาอย่างสาดเสียเทเสีย ต่อด้วยการทำร้ายเขาด้วยวิธีสกปรก โดยรู้สึกว่าตนมีความชอบธรรมที่จะกระทำเช่นนั้น (“คนเลว ๆ อย่างมัน สมควรแล้วที่จะต้องเจอแบบนี้”) กลายเป็นว่ายิ่งเห็นเขาเป็นคนเลวมากเท่าไร  ก็ยิ่งประจานตัวเองด้วยการทำสิ่งเลวร้ายมากเท่านั้น  ยิ่งคิดว่าตัวเองดีเลิศประเสริฐกว่าผู้อื่น ก็ยิ่งถลำเข้าสู่ความเสื่อมจนตกต่ำย่ำแย่กว่าเขา

เมื่อต้นปีที่แล้ว  นักการเมืองขวาจัดชื่อดังชาวดัตช์ผู้หนึ่ง (Geert Wilders) ให้สัมภาษณ์โจมตีศาสนาอิสลามว่าเป็นอุดมการณ์ “ฟาสซิสต์แบบเบ็ดเสร็จ” ว่าแล้วเขาก็เรียกร้องให้ “กำจัด” สัญลักษณ์ของศาสนานั้น รวมทั้งปิดมัสยิดและโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามให้หมด  เขาไม่รู้ตัวเลยว่าในขณะที่กล่าวหาคนอื่นว่าเป็นฟาสซิสต์นั้น เขากำลังทำตัวเป็นฟาสซิสต์อย่างชัดเจน   

นักการเมืองผู้นั้นยึดติดถือมั่นในศาสนาคริสต์ จึงมองศาสนาอิสลามไปในทางลบ  แต่ไม่ใช่ศาสนาคริสต์เท่านั้น แม้กระทั่งศาสนาพุทธ หากยึดติดถือมั่นมากเกินไป ก็สามารถมองศาสนาอื่นเป็นศัตรูได้ จนถึงกับทำร้ายคนที่นับถือศาสนาดังกล่าว  ดังเกิดขึ้นแล้วหลายต่อหลายครั้ง ล่าสุดก็คือการก่อเหตุรุนแรงในพม่าเมื่อปลายปีนี้กับเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ชาวมุสลิมตายร่วม 200 คน ผู้คนอพยพหนีภัยอีกนับแสน ๆ  ทั้งนี้โดยมีสาเหตุจากการที่พระกลุ่มหนึ่งปลุกระดมอย่างต่อเนื่องมาหลายปีว่าพม่ากำลังจะ “สิ้นชาติ” และพุทธศาสนากำลังจะสูญสิ้นเพราะน้ำมือของชาวมุสลิม ซึ่งกำลังขยายอิทธิพลไปทุกวงการ ทำให้ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเกิดความเกลียดชังชาวมุสลิม ยิ่งเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจด้วย  การประหัตประหารก็เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

พุทธศาสนานั้นปฏิเสธความรุนแรงในทุกกรณี  แต่หากยึดติดถือมั่นในพุทธศาสนา เกิดการแบ่งเขาแบ่งเราจนเห็นคนที่นับถือศาสนาอื่นเป็นศัตรู ก็สามารถลงเอยด้วยการทำสิ่งที่ตรงข้ามกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังนั้นการฆ่าฟันผู้คนในนามของพุทธศาสนาจึงไม่สามารถทำให้พุทธศาสนามีความมั่นคงเพิ่มขึ้นเลย กลับทำให้พุทธศาสนาตกต่ำกว่าเดิมด้วยซ้ำ  

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นข้อเตือนใจอย่างดีสำหรับชาวไทย ไม่ว่านับถือศาสนาใด หรืออุดมการณ์ใดก็ตาม  ยิ่งมั่นใจในความดีงามของศาสนาและอุดมการณ์ของตนมากเท่าใด ก็ยิ่งต้องระวังใจของตน ไม่ด่วนตัดสินว่าคนที่นับถือศาสนาหรืออุดมการณ์ที่ต่างจากตนนั้นเป็นคนเลว พึงระลึกว่าคนที่ไม่คิดหรือปฏิบัติเหมือนตนนั้น อาจเป็นคนดีก็ได้   ความคิดที่ว่า จะเป็นใครก็ตาม ต้องคิดหรือปฏิบัติเหมือนตน หรือตรงกับความคิดของตนเท่านั้น จึงจะเรียกว่าเป็นคนดี ย่อมเป็นความหลงตนอย่างหนึ่ง  การเอาตนเองเป็นศูนย์กลางอย่างนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะความยึดติดถือมั่นในความคิดของตน (ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่าทิฏฐุปาทาน)

ความดีงามนั้น ไม่ว่ามาในรูปของศาสนา อุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือชาติ ศาสน์ กษัตริย์ก็ตาม มีกับดักที่เราต้องรู้เท่าทันไม่เผลอพลัดตกลงไป  กับดักนั้นคือความยึดติดถือมั่นจนเกิดความหลงตัวลืมตน หรือถูกกิเลสครอบงำใจโดยเฉพาะความโกรธเกลียด ซึ่งสามารถนำไปสู่ความชั่วและความทุกข์ได้  ด้วยเหตุนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสจึงเตือนว่า “ระวังความดีกัดเจ้าของ”

สำหรับชาวพุทธนั้น ย่อมถือว่าพุทธศาสนาหรือพระธรรมนั้นประเสริฐที่สุด แม้กระนั้นก็พระพุทธองค์ก็ตรัสเตือนไว้ว่า “ธรรมที่เราแสดงนั้น ก็เพื่อรื้อถอนตนออกจากทุกข์ ไม่ใช่เพื่อให้ยึดถือเอาไว้ เปรียบได้กับพ่วงแพ (เมื่อถึงฝั่ง ก็วางไว้ไม่แบกขึ้นไปด้วย) ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายผู้ได้ฟังธรรมอันเราแสดงแล้ว อันเปรียบด้วยพ่วงแพ ควรละธรรมทั้งหลายเสีย จะกล่าวทำไมถึงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม”

ธรรมนั้นมีไว้เพื่อพาเราไกลจากความชั่วและความทุกข์ แต่หากยึดถือจนเป็นทุกข์หรือทำชั่วเสียเอง จะเรียกว่าปฏิบัติถูกได้อย่างไร  ที่แท้ต้องเรียกว่าปฏิบัติผิดในสิ่งที่ถูก ต่างหาก

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท