Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา วอยซ์ทีวีทำสิ่งที่น่าสนใจมาก กล่าวคือส่งนักข่าวออกไปยัง 5 ย่านของกรุงเทพฯ รวมทั้งสี่แยกคอกวัวด้วย เพื่อถามคนแถบนั้น 5 คน (ผมเดาเอาเองว่า คงมีหลักในการกระจายผู้ให้ข้อมูลที่ไม่ได้รายงานไว้ เช่น ถามเฉพาะคนสวมเสื้อลายดอก) ว่า เกิดอะไรขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 2553 สาเหตุที่เกิด และความคิดของเขาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ปรากฏว่า มีเพียง 3 ใน 25 คนเท่านั้น ที่รู้หรือยังจำได้ว่า เกิดอะไรขึ้นเมื่อสามปีที่แล้ว

ผมคิดว่า วอยซ์ทีวีน่าจะทำอย่างนั้นบ้างในเมืองใหญ่ของทุกภาค เช่น นครศรีธรรมราช, ขอนแก่น และเชียงใหม่ เพื่อเปรียบเทียบสถิติ บางทีคนกรุงเทพฯ จะเข้าใจได้ว่า คนนอกกรุงเทพฯ เป็น "ควาย" น้อยกว่า หรือเป็น "ควาย" พอๆ กัน (อันที่จริงควายเป็นสัตว์ที่ฉลาดและรอบรู้มากทีเดียว แต่สำนวนไทยใช้มาอย่างนี้เสียแล้ว)

ผู้อ่านข่าวสรุปว่า คำกล่าวที่ว่าคนไทยขี้ลืม ก็ยังคงเป็นเช่นนั้นจริง

อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยารู้จากการทดสอบมานานแล้วว่า ความจำและความลืมเป็นกระบวนการที่ถูกสร้างขึ้น โดยเจ้าตัวเองบ้าง, โดยคนแวดล้อมบ้าง หรือโดยสังคม-วัฒนธรรมบ้าง ไม่ใช่การทำงานของสมองโดยธรรมชาติ ไม่เชื่อลองไปถามคนกรุงเทพฯ ว่า พระนเรศวรเป็นใคร ผมเชื่อว่าสถิติจะดีกว่านี้มาก ทั้งที่พระนเรศวรเป็นเรื่องเก่าแก่บรมสมกัลป์แล้วก็ตาม

กระบวนการลืม 10 เมษายน 2553 ถูกสร้างขึ้นอย่างไร

บางคนบอกว่าสื่อเป็นผู้สร้างขึ้น ผมมานึกดูก็ไม่สู้จะเห็นด้วย 100% นัก เพราะเอาเข้าจริง สื่อ (รวมที่เรียกว่ากระแสหลักด้วย) พูดถึง 10 เมษายน 2553 อยู่บ่อยๆ เพราะต้องพูดถึงการดำเนินคดีที่ดีเอสไอทำอยู่ หรือต้องพูดถึงคำพิพากษาของศาล (เช่นกรณีผู้ที่ถูกยิงเสียชีวิตในสวนสัตว์ดุสิต) แม้แต่ในช่วงเดือนเมษาฯปีนี้ วอยซ์ทีวีเองก็ทำข่าวญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์หลายครั้ง ทำให้ทางพีบีเอสต้องทำบ้าง แต่เน้นไปที่ญาติทหาร ซึ่งก็ดีที่เป็นการสร้างสมดุลของข่าว เสียแต่เป็นสมดุลกันคนละช่อง

กระบวนการลืมจึงไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีใครยอมพูดถึงเลย แต่เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก

ผมอยากพูดถึงความซับซ้อนตรงนี้ เท่าที่สติปัญญาผมพอจะหยั่งได้

ผมขอเริ่มที่วัฒนธรรมไทยก่อน คนไทยเพิ่งออกจากหมู่บ้านไม่เกิน 100 ปีมานี้เอง รวมทั้งคนกรุงเทพฯ ด้วย เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 5 กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ก็จริง แต่ประชากรกรุงเทพฯ อาศัยอยู่ใน "ย่าน" ต่างๆ ซึ่งมีความเป็นชุมชนสูง แม้ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมก็ตาม พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ กรุงเทพฯ ในตอนนั้นเป็นที่ประชุมของ "หมู่บ้าน" ต่างๆ มากที่สุด ความสัมพันธ์ของคนในแต่ละชุมชนก็ยังคล้ายกับชุมชนในชนบท

ส่วนคนไทยนอกกรุงเทพฯ ก็ล้วนมีชีวิตในชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมทั้งสิ้น 

วัฒนธรรมหมู่บ้านเกษตรกรรมนั่นแหละ เป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน

ความสัมพันธ์ของชีวิตชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรม คือความราบรื่น อย่างน้อยโดยผิวหน้า เพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดในชุมชนรุนแรง จนเป็นอันตรายต่อกลไกทางวัฒนธรรมแห่งการผลิต ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนในหมู่บ้านไม่เหม็นขี้หน้ากัน หรือไม่ได้ต่อยตีฆ่าฟันกันเลย แต่ความขัดแย้งทั้งหลายจะถูกกดไว้หรือแก้ไขโดยไม่ให้กระทบต่อความร่วมมือที่จำเป็นในชีวิตของหมู่บ้านเกษตรกรรม

ความขัดแย้งอย่างเปิดเผยจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะประสานให้กดความขัดแย้งนั้นไว้ได้ยาก เนื่องจากถูกเปิดเผยเสียแล้ว ย่อมทำให้มีราคาของ "หน้า" ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องเสีย ยิ่งเป็นความขัดแย้งเปิดเผยระหว่างกลุ่มบุคคลหรือ "พวก" ไม่ใช่ระหว่างบุคคล ยิ่งเป็นอันตราย เพราะประสานให้จำกัดความขัดแย้งเพื่อไม่ให้ทำลายความร่วมมือในการผลิตและการใช้ชีวิตในหมู่บ้านทำได้ยาก หรือทำไม่ได้เลย

วัฒนธรรมไทยปัจจุบันจึงกลัวความขัดแย้งประเภทนี้ ขัดแย้งอย่างเปิดเผยแก่สาธารณชน และเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรหรือกลุ่มคน อีกทั้งไม่ใช่บุคคลต่อบุคคลขัดแย้งกันเอง มีเหตุผลที่ควรกลัวความขัดแย้งประเภทนี้ เพราะวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน ไม่ได้สร้างกลไกเพื่อรองรับความขัดแย้งประเภทนี้ขึ้น เราไม่มีวิธีจัดการ นอกจากปล่อยให้สู้กันจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะขาด หรือมิฉะนั้นก็ "อ่าน" ความขัดแย้งประเภทนี้ให้เป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล เพราะมีกลไกในทางวัฒนธรรมไทยหลายอย่างที่สามารถระงับหรือบรรเทาความขัดแย้งประเภทนี้ได้ เช่น "จับเข่าคุยกัน" หรือ "เกี้ยเซี้ย" กันให้รู้แล้วรู้รอดไปเป็นต้น

วันหนึ่งเราตื่นขึ้นมาพบตัวเองในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งความขัดแย้งอย่างเปิดเผยเป็นสาธารณะ และขัดแย้งระหว่างกลุ่มคน เป็นเรื่องปรกติธรรมดา โดยไม่มีวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งประเภทนี้เลย

วิธีเดียวที่วัฒนธรรมไทยปัจจุบันจัดการกับความขัดแย้งประเภทนี้คือ ปฏิเสธหรือปิดบังความเป็นสาธารณะของความขัดแย้ง และแม้มีกลุ่มคนจำนวนมากเข้ามาอยู่ในความขัดแย้ง เราก็ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องมือของบุคคลที่ขัดแย้งกัน

กระบวนการลืมที่เราสร้างขึ้นให้แก่ 10 เมษายน 2553 ไม่ใช่ลืมเหตุการณ์ แต่ลืมมิติทางสังคมของความขัดแย้งต่างหาก

เราส่งทอดความสามารถในการหลับตาให้แก่ความขัดแย้งของสังคมสมัยใหม่ผ่านการศึกษา เป็นเวลานานกว่ากระทรวงศึกษาจะหาวิถีทางผนวก 14 ตุลา เข้าไปในหลักสูตรได้เจอ นั่นคือยอมรับหนังสืออ่านประกอบที่เล่าถึง 14 ตุลา จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน ผมคงไม่จำเป็นต้องพูดถึงความพยายามกลบเกลื่อนความขัดแย้งประเภทนี้ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาไปมากกว่านี้ ขอยกข้อสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้น ป.6 ใน พ.ศ.2553 ข้อหนึ่งให้ดูเป็นตัวอย่าง

คำถามถามว่า "การกระทำอะไรที่ไม่สอดคล้องกับกระบวนการประชาธิปไตย" คำตอบที่ให้เลือก 1/ ประท้วงด้วยการนัดหยุดงาน 2/ ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 3/ ยอมรับเสียงของคนส่วนใหญ่ 4/ กล่าวแสดงความเห็นทางการเมือง คำตอบที่ถูกคือข้อ 1/ การนัดหยุดงานเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับกระบวนการประชาธิปไตย (!!!) 

เห็นได้ชัดเลยว่า การนัดหยุดงานคือความขัดแย้งที่ตั้งใจทำให้เป็นสาธารณะ อีกทั้งไม่ใช่เรื่องหัวหน้าสหภาพเหม็นขี้หน้าฝ่ายบริหารเป็นส่วนตัว ความขัดแย้งประเภทนี้แหละที่การศึกษาพยายามฝังหัวนักเรียนว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย และคนดีๆ ไม่ควรทำ

กลับมาสู่กระบวนการลืมเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ใหม่ สื่อนำเสนอเรื่องราวของญาติผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร เพราะในทุกความขัดแย้ง นอกจากมีมิติทางสังคมแล้ว ยังมีมิติทางบุคคลอยู่ด้วยเสมอ และเราไม่ควรลืมว่าเหยื่อทุกฝ่ายล้วนเป็นคนจริงๆ ซึ่งการจากไปของเขาก่อให้เกิดผลกระทบแก่คนอื่นอีกไม่น้อย แต่การปะทะกันในวันที่ 10 เมษายน 2553 มีอะไรที่ลึกกว่าการสูญเสียของบุคคล ซึ่งสื่อจำเป็นต้องสืบค้นมาเสนอให้หลากหลายมิติมากขึ้น เช่น ผมอยากรู้เหมือนกันว่า หลังจาก 3 ปีผ่านไป อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สนธิ ลิ้มทองกุล, จำลอง ศรีเมือง ฯลฯ ยังมองเหตุการณ์นั้นเหมือนกับเมื่อตอนเกิดเหตุการณ์หรือไม่ หากให้เลือกได้ใหม่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, จตุพร พรหมพันธุ์ และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา จะเลือกใช้ยุทธวิธีเดิมหรือไม่

จนถึงที่สุด คำถามที่สื่อลืมไม่ได้ก็คือ มันมีช่องโหว่ตรงไหนในระบบของไทยปัจจุบัน ที่ทำให้เราไม่สามารถจัดการกับความขัดแย้งประเภทนี้ได้ นักกฎหมายคิดอย่างไร นักรัฐศาสตร์

คิดอย่างไร นักมานุษยวิทยาคิดอย่างไร นักบริหารเอกชนคิดอย่างไร ฯลฯ เราคงตีกันฆ่ากันอย่างนี้ตลอดไปไม่ได้ เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป 3 ปี มีสัญญาณตรงไหนที่แสดงว่า ระบบของเราเริ่มเรียนรู้ และพบวิธีจัดการกับความขัดแย้งประเภทนี้โดยสันติและอย่างประชาธิปไตยบ้างหรือไม่

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สื่อ (และสังคม) ต้องเผชิญกับความขัดแย้งประเภทนี้อย่างตรงไปตรงมา เราต้องช่วยกันหยุดกระบวนการลืมที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้ความขัดแย้งเป็นเรื่องส่วนตัวไม่มีพื้นที่สาธารณะอีกต่อไป ในทางตรงกันข้าม ช่วยกันสร้างกระบวนการจำที่จะทำให้สังคมเข้มแข็งพอจะร่วมกันสร้างกลไกทางวัฒนธรรม, กฎหมาย, กติกาการเมือง, กติกาการบริหารรัฐ, สถาบันและกระบวนการระงับความขัดแย้ง (ประเภทนี้) ฯลฯ เพื่อให้เรามีชีวิตที่เป็นสุขในสังคมสมัยใหม่

และแน่นอนว่า ควรเลิกฝันถึงความสัมพันธ์อันราบรื่นของชุมชนหมู่บ้านได้เสียที เพราะนั่นคือการหลบเลี่ยงปัญหาจริงของปัจจุบันอย่างหนึ่ง ได้แก่การลืมความขัดแย้งที่เป็นสาธารณะและระหว่างกลุ่มคน

 

 

ที่มา: คอลัมน์กระแสทรรศน์ มติชน 22 เมษายน 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net