Skip to main content
sharethis

คปก.จัดเวทีสาธารณะ ‘ปฏิรูปการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย’ เน้นปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน เสนอทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน

23 เม.ย.56 คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรม ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดเวทีสาธารณะเรื่อง การปฏิรูปการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมโดยการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย” ว่าตามกฎหมายแล้วกระบวนการยุติธรรมไทยในปัจจุบัน สามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ดีตามสมควร แต่ในทางปฏิบัติมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้งทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ดังนั้นในการปฏิรูปกฎหมายต้องทำพร้อมกัน 3 อย่าง คือ 1) ปฏิรูปตัวบทกฎหมาย 2) ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย และ 3) ปฏิรูปความคิดของบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรม โดยเห็นว่าบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายควรมีการทบทวนโดยเฉพาะในทางปฏิบัติที่ยังเป็นปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวและขอให้ช่วยกันสร้างความเชื่อถือศรัทธาต่อประชาชน

 

คณิต กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมดั้งเดิมเป็นกระบวนการยุติธรรมในระบบไต่สวน โดยระบบไต่สวนไม่แยกอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนฟ้องร้อง และอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาออกจากกัน ให้องค์กรที่ต่างหากจากกันเป็นผู้ทำหน้าที่ทั้งสอง การตรวจสอบความจริงในระบบไต่สวนจึงมีชั้นเดียว คือ การตรวจสอบโดยศาล ทั้งนี้จะเห็นว่าในระบบไต่สวน ผู้ถูกกล่าวหาเป็นกรรมในคดีจึงขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน พอมาถึงกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่เป็นกระบวนการยุติธรรมในระบบกล่าวหา ที่มีการแยกอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบความจริงในกระบวนการยุติธรรมเป็น 2 ชั้น คือการตรวจสอบความจริงชั้นเจ้าพนักงาน และการตรวจสอบความจริงชั้นศาล ซึ่งการตรวจสอบความจริงทั้งสองชั้นต้องกระทำอย่างมีความเป็นภาวะวิสัย โดยในระบบกล่าวหาซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่นั้น ผู้ถูกกล่าวหาต้องเป็น “ประธานในคดี” จึงมีสิทธิต่างๆ ในคดีสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

“วิธีพิจารณาความอาญาที่ดีต้องมีความเป็นเสรีนิยม มีความเป็นประชาธิปไตย และกระทำเพื่อสังคม โดยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นกฎหมายที่ควรมีคุณลักษณะสำคัญสองประการ คือ เป็นกฎหมายที่รักษาความสงบเรียบร้อย และเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิ นอกจากนี้ในแง่ผู้ถูกกล่าวหาเป็น ‘ประธานในคดี’ การกระทำใด ๆ กับผู้ถูกกล่าวหาจึงต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นประธานในคดีของเขาด้วย”

คณิต กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการขอหมายจับยังไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายเท่าที่ควร โดยคำร้องขอให้ออกหมายจับต้องระบุรายละเอียดแห่งการกระทำ และมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลนั้นได้กระทำการดังกล่าว ขณะเดียวกันการตรวจสอบในการออกหมายจับของศาลในทางปฏิบัติก็ยังขาดความเป็นเสรีนิยมอยู่มาก แสดงถึงความไม่เข้าใจต่อบทบาทความเป็นเสรีนิยม เช่นเดียวกับการแจ้งข้อหาแม้กฎหมายจะได้แก้ไขไปบ้างแล้วแต่ก็ยังไม่สมบูรณ์อยู่ดี

“หากการตรวจสอบความจริงของเจ้าพนักงานมีความเป็นภาวะวิสัย และการฟ้องของพนักงานอัยการถูกกฎหมายแล้ว ก็ย่อมจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาที่ดี เพราะศาลจะพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องไม่ได้” ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมายกล่าว

สมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎมายและประธานคณะกรรมการเฉพาะเรื่องด้านกระบวนการยุติธรรมกล่าวว่า  กระบวนการยุติธรรมที่ทั่วโลกใช้อยู่ที่ถูกกำหนดโดยมาตรฐานของสหประชาชาติ (United Nation) เป็นกระบวนการที่ดีที่สุดในการสร้างความเป็นธรรม แม้ในบางสถานการณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจจะไม่พอใจอยู่บ้าง แต่ถือว่าเป็นกระบวนการที่ดีที่สุดเพราะเคารพสิทธิมนุษยชน การที่ทุกฝ่ายจะได้รับความยุติธรรมนั้น ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และต้องคำนึงว่าประชาชนต้องสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือทางกฎหมายได้ กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ได้ตระหนักถึงความเท่าเทียมของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมและทั่วถึงโดยเฉพาะคดีอาญา หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 วงการกฎหมายมีความตื่นตัวอยู่ระยะหนึ่ง แต่ด้วยการขาดการบูรณาการจากแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร

“คปก.เห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ ประกอบกับบทเรียนการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในประเทศไทยยังมีความไม่เท่าเทียมอยู่มาก เช่น คดีสิ่งแวดล้อม คดีผู้บริโภค คดีภาคใต้ เป็นต้น และยังเห็นว่าการเข้าถึงการช่วยเหลือทางกฎหมายยังเป็นส่วนผลักดันในการปกป้องสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม ทำให้กฎหมายรัฐธรรมนูญมีผลในทางปฏิบัติ และมีผลอย่างมากกับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย การประชุมครั้งนี้จึงเป็นการเข้ามาสำรวจ ตรวจสอบ และการสร้างเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อที่จะทำให้การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในประเทศไทยเป็นจริง” สมชายกล่าว

 


ถอดบทเรียนให้ความช่วยเหลือประชาชนยังไร้ทิศทาง เสนอบูรณาการทำงานร่วมกัน

ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวในการอภิปรายหัวข้อ “การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย การดำเนินการ ปัญหาอุปสรรคและแนวทางการแก้ไข” ว่า การให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนทางกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับศาลได้แก่ การจัดหาทนายความ ซึ่งมีปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือเรื่องค่าตอบแทนทนายความในการดำเนินคดี การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต้องมีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีแพ่ง กำลังทุนทรัพย์ของคู่ความแต่ละฝ่ายทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ซึ่งกระทบถึงระบบการค้นหาความจริงเพื่อนำเสนอต่อศาลได้ ดังนั้น จึงต้องบูรณาการทั้งในทางแพ่งและทางอาญาประกอบกัน

“ข้อเสียของการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในปัจจุบัน คือเรื่องมาตรฐานการดำเนินการว่าสมบูรณ์หรือไม่ หากจัดให้มีหน่วยงานหรือเจ้าภาพเข้ามาจัดการเชิงระบบก็จะเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยที่สุดก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ ส่วนอัตราค่าตอบแทนของทนายความอาสาหรือทนายความขอแรงก็สมควรที่จะอยู่ในอัตราที่สูงกว่านี้ ขณะเดียวกันก็ควรจะเพิ่มศักยภาพของทนายความใหม่ด้วย เรื่องนี้ต้องคิดกันใหม่ทั้งระบบและต้องกระทำทั้งสองมิติควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง” ชาญณรงค์กล่าว

ไพฑูรย์ สว่างกมล รองอธิบดีกรรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกล่าวว่า หากมี พ.ร.บ.ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายออกมา เชื่อว่าจะทำให้หน่วยงานที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรฐานและมีกลไกในการช่วยเหลือประชาชนเป็นมาตรฐานเดียวกัน กลไกการช่วยเหลือประชาชนจะชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นการบูรณาการทำงานร่วมกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ประชาชนจึงจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการโครงการเข้าถึงความยุติธรรม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เราคงต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน และมีมาตรการป้องกันข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นด้วย ขณะเดียวกันส่วนตัวมีความเห็นว่า การให้ความช่วยเหลือกฎหมายบางประเภท เช่น สถานการณ์ยาเสพติด หรือในสถานการณ์ฉุกเฉินอาจทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ตรงนี้อาจจะต้องมีการให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือทางกฎหมายในกรณีนี้ด้วย

สมสุข มีวุฒิสม อธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า สคช.ทำหน้าที่การเผยแพร่กฎหมายและให้การช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยมุ่งช่วยเหลือคนจนและผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมเป็นหลัก งานของ สคช.ที่ดำเนินการ เช่น การดำเนินคดีแพ่ง การทำนิติกรรมสัญญา การไกล่เกลี่ยประนอมและระงับข้อพิพาท ด้านคุ้มครองสิทธิทางศาล เช่น คดีอุทลุม การจัดตั้งผู้จัดการมรดก เป็นต้น การให้คำปรึกษาแก่คนไทยในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคคือมีบุคลากรจำนวนน้อยและงบประมาณไม่เพียงพอ

พรรณรายรัตน์ ศรีไชยรัตน์ หัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แต่ละสถาบันการศึกษาอาจมีวิธีการดำเนินงานในการช่วยเหลือทางกฎหมายที่แตกต่างกันไป แต่จุดร่วมของงานที่สำคัญ ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย ทั้งนี้การดำเนินงานมีปัญหาที่สำคัญคือ ความเข้มแข็งและความยั่งยืน บุคคลากรไม่สามารถทุ่มเทและให้เวลากับงานด้านนี้ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการระบบการประเมินผลงานของมหาวิทยาลัยไม่รวมงานส่วนนี้เข้าไว้ด้วย จึงเห็นควรต้องบูรณาการงานส่วนนี้เข้ากับการศึกษาเพื่อเป็นการช่วยเหลือคนที่ทำงานด้านนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net