Skip to main content
sharethis
 
“แม้เราจะถูกกำหนดให้เชื่อว่าคำพิพากษาของศาลในระบบปัจจุบันมีความถูกต้องเป็นธรรมเสมอ แต่ก็ไม่มีใครสามารถมาบังคับให้เราต้องศิโรราบกับข้อวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรมได้...” ถ้อยความจากบทวิพากษ์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีจ้างวานฆ่า ‘เจริญ วัดอักษร’ โดย กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก
 
 
 
หลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้ประหารชีวิต ‘ธนู หินแก้ว’ จำเลยที่ 3 ในคดี ในฐานะผู้จ้างวานด้วยเหตุความโกรธแค้นที่ ‘เจริญ วัดอักษร’ เป็นผู้นำชาวบ้านคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของ บ.กัลฟ์พาวเวอร์ เจนเนอเรชั่น จำกัด ในพื้นที่ ต.บ่อนอก และเปิดโปงการบุกรุกที่ดินสาธารณะของกลุ่มอิทธิพล ตั้งแต่เมื่อปี 2547
 
เหตุผลในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องระบุว่า “พยานโจทก์ไม่มีเหตุผลหนักแน่นพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่านายธนูเป็นผู้จ้างวานจริง” จึงก่อให้เกิดคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมในวงกว้าง
 
เพื่อไขข้อสงสัยดังกล่าว กรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก พร้อมกลุ่มชาวบ้านเสื้อเขียวกว่า 200 คนเดินทางจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มายังศาลอุทธรณ์ ถ.รัชดา เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ด้วยเป้าหมายในการชี้แจงข้อมูลต่อสาธารณะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดี รวมทั้งคำวินิจฉัยคดีของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ซึ่งต่างกันราวขาวกับดำ
 
 
กรณ์อุมา กล่าวว่า ในขณะที่มีคำพิพากษาตอนนั้น สังคมรับรู้แค่เพียงผลของคดี แต่ไม่ได้รู้ข้อเท็จจริงในสำนวน ไม่ได้รู้ว่ามีพยานหลักฐานต่างๆ อย่างไร มีกระบวนการนำสืบที่มีการหักล้างกันได้จริงหรือไม่ ชาวบ้านจึงต้องการนำข้อเท็จจริงตรงนี้ออกสู่สังคมให้มากที่สุด
 
ขณะนี้ชาวบ้านจัดทำเอกสารข้อมูลกว่า 3,000 ชุดเพื่อเผยแพร่ และจะมีการเผยแพร่ข้อมูลต่อไปเรื่อยๆ
 
“เป้าประสงค์ของเราจริงๆ อยากให้สังคมได้รับรู้ข้อเท็จจริงในคดี วันนี้เราคิดว่าการสร้างความเป็นธรรมในสังคมในบ้านเรา คงไม่ใช่ขึ้นต่อหน่วยงานหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งอีกต่อไป” ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกกล่าว
 
จากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จำนวน 25 หน้า ศาลได้วินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับ ‘ธนู หินแก้ว’ จำเลยที่ 3 ไว้ในหน้า 23 ถึงหน้าที่ 25 โดยเห็นว่า
 
1.มีข้อเท็จจริงเพียงว่า ก่อนเกิดเหตุนายธนูขับรถยนต์ไปส่งประจวบ หินแก้ว (มือปืน) ที่ปั๊มน้ำมันของนายเจือ หินแก้ว ซึ่งเสน่ห์ เหล็กล้วน (มือปืน) พักอาศัยอยู่ หลังจากนั้นเสน่ห์จึงขับรถจักรยานยนต์ที่มีประจวบซ้อนท้ายไปยังที่เกิดเหตุ
 
2.แม้ในชั้นสอบสวนมือปืนทั้งสองรับว่าธนูเป็นผู้สั่งให้ไปยิงนายเจริญผู้ตาย แต่เมื่อมือปืนทั้งสองถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล คำให้การต่างๆ ของมือปืนทั้งสองไม่ว่าในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน หรือการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ จึงถือเป็นพยานบอกเล่าทั้งสิ้น
 
3.คำรับสารภาพของมือปืนทั้งสองที่ไม่ได้มาเบิกความต่อศาลด้วยตนเอง ถือเป็นคำพยานซัดทอดจำเลยอื่น (หมายถึงธนู) ที่อ้างว่าร่วมกระทำความผิดด้วยกัน จึงเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อย
 
4. โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่สำคัญอันมีเหตุผลแน่นอนหรือมีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีมาสนับสนุน พยานหลักฐานโจทก์ไม่อาจฟังลงโทษนายธนูได้ จึงพิพากษายกฟ้องปล่อยตัวนายธนูพ้นความผิดไป
 
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะชนว่า มือปืนทั้งสองเสียชีวิตด้วยอาการป่วยอย่างมีเงื่อนงำขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ โดยทั้ง 2 เสียชีวิตก่อนขึ้นเบิกความต่อศาลเพียงไม่นาน
 
อย่างไรก็ตาม ศาลชั้นต้นยังลงความเห็นว่าคำให้การต่างๆ ของมือปืนทั้งสองก่อนตายล้วนเป็นการให้การไปตามความเป็นจริงตามลำดับขั้นตอน และสอดคล้องตามพยานหลักฐานแวดล้อมทุกอย่าง อีกทั้งจากพยานหลักฐานต่างๆ ศาลจึงตัดสินให้ลงโทษประหารชีวิตธนู หินแก้ว
 
สำหรับชาวบ้าน คำวินิจฉัยดังกล่าวที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนนั้นแสดงถึงเงื่อนงำบางอย่าง
 
 
เอกสาร ‘วิพากษ์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีจ้างวานฆ่าเจริญ วัดอักษร' 
 
“การที่มักพูดว่า ชอบด้วยกฎหมาย อาจไม่ได้หมายถึงความชอบธรรมและเป็นธรรมหากผู้บังคับใช้กฎหมายนั้นไม่มีจรรยาบรรณ” กรณ์อุมากล่าว
 
และอีกหนึ่งเป้าประสงค์ของการเดินทางของชาวบ้านกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก นั่นคือ การเรียนเชิญอัยการในฐานะที่เป็นโจทก์ในคดี และประธานศาลอุทธรณ์ ให้เข้าร่วมเสวนาวิชาการ 'ย้อนรอยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีเจริญ วัดอักษร' ซึ่งชาวบ้านร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 28 เม.ย.นี้
 
 
 
เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อมูล และร่วมสร้างบรรทัดฐานในการตรวจสอบคำพิพากษาของศาลในเชิงวิชาการให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
 
“ในวันนี้ชาวบ้านไม่ได้มาเพื่อขอให้ศาลเปลี่ยนคำพิพากษา เพราะรู้อยู่แล้วว่าคำพิพากษาศาลที่มีออกมาแล้วนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ ตามกระบวนการต่อไปคือคดีความในชั้นศาลฎีกาซึ่งมีอัยการในฐานะโจทก์เป็นผู้ฟ้องคดี ส่วนชาวบ้านนั้นเป็นผู้ตรวจสอบและนำเสนอต่อสังคมได้รับทราบต่อไป” กรณ์อุมากล่าวระบุ
 
ทั้งนี้ ต้องถือว่าเป็นกรณีศึกษา ดีกว่าไปพูดวิพากษ์วิจารณ์กันโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีโอกาสได้ชี้แจง
 
 
อย่างไรก็ตาม ในวันนั้นการเรียนเชิญดังกล่าวเป็นเพียงด้วยวาจาต่อหน้าชาวบ้านที่มาร่วมชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ และสื่อมวลชน ชาวบ้านกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกไม่ได้เข้าไปในรั้วอาคารศาลอุทธรณ์ซึ่งมีตำรวจกว่า 100 นายทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่อย่างแน่นหนา
 
ส่วนเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น กรณ์อุมาระบุว่าจะมีการจัดส่งให้ต่อไป
 
สำหรับการติดตามความคืบหน้าในคดี ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก กล่าวว่า การที่ชาวบ้านไม่ได้เป็นโจทก์ร่วมในคดีที่ผ่านมาจึงไม่ได้รับทราบว่าคำพิพากษาจะมีในวันไหนอย่างไร แต่ในฐานะผู้สูญเสียผู้นำในการต่อสู้เพื่อรักษาบ้านเกิด จึงได้ยื่นข้อเรียกร้องต่ออัยการสูงสุด ขอเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยขอให้อัยการเจ้าของคดีแจ้งกำหนดการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้ชาวบ้านได้รับทราบล่วงหน้าอย่างเป็นทางการ
 
เพราะคำพิพากษาศาลฎีกาถือเป็นกระบวนการสุดท้ายที่จะสร้างบรรทัดฐานว่า สังคมไทยจะอยู่กันต่อไปอย่างไร
 
“วันนี้ไม่ได้มาเรียกร้องความเป็นธรรมในฐานะภรรยาให้กับสามีผู้ล่วงลับ แต่อยากสร้างบรรทัดฐาน โดยใช้กรณีการตายของเจริญสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคมไทยว่า กระบวนการยุติธรรม หรือคำว่าสถาบันตุลาการ คุณจะจัดระเบียบของบ้านเมือง คุณจะใช้อำนาจตามกฎหมายจัดการกับการละเมิดของรัฐ ของทุน ของผู้มีอิทธิพลต่อชาวบ้านให้เกิดความเป็นธรรมอย่างไร” กรณ์อุมาบอกเล่าความรู้สึก
 
กรณ์อุมา กล่าวด้วยว่า ถึงวันนี้มีหลายคดีที่มืดมนและจบลงอย่างน่าสังเวชใจต่อกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งการตายของคนธรรมดาๆ เช่นเจริญ นั้นไม่ใช่การตายรายแรกของประเทศ และยิ่งไม่ใช่รายแรกของประเทศที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นมากมายแต่ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง
 
ทำให้เกิดคำถามว่าสังคมไทยจะอยู่กันอย่างสันติสุขได้อย่างไร
 
“วันนี้ถ้าคนที่สั่งฆ่าเจริญยังลอยนวลอยู่ในพื้นที่ โดยคำพิพากษาทำให้กลุ่มอิทธิพลเหิมเกริม ต่อไปคงไม่ได้มีเจริญเพียงแค่คนเดียวที่ถูกฆ่า” กรณ์อุมา กล่าว
 
เจริญ อาจไม่ได้รับความเป็นธรรมแม้จนคดีสิ้นสุด แต่การต่อสู้ครั้งนี้พวกเราชาวบ้านต้องการให้การตายของเจริญเกิดคุณูปการด้วยการสร้างการเรียนรู้ต่อกระบวนยุติธรรมและร่วมกันปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทยเพื่อยังความสงบสุขของสังคมสืบไป… กรณ์อุมากล่าวทิ้งท้าย
 
 
 
คดีจ้างวานฆ่า เจริญ วัดอักษร
 
เมื่อวันที่ 15 มี.ค.56 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 2865/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 22467/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ฟ้องนายเสน่ห์ เหล็กล้วน นายประจวบ หินแก้ว นายธนู หินแก้ว นายมาโนช หินแก้ว และนายเจือ หินแก้ว ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันจ้างวานฆ่าผู้อื่น
 
อัยการโจทก์ฟ้องว่า ระหว่างต้นปี 2547-วันที่ 21 มิ.ย.2547 จำเลยที่ 3-5 ร่วมกันจ้างวานให้จำเลยที่ 1-2 ฆ่านายเจริญ วัดอักษร แกนกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอกและประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้อาวุธปืนยิงนายเจริญ จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ที่ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์
 
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อ 30 ธ.ค.2551 ให้ประหารชีวิต นายธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 ฐานจ้างวาน ส่วนจำเลยที่ 4-5 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานนำสืบไม่ชัดเจน จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ขณะที่นายเสน่ห์จำเลยที่ 1 และนายประจวบจำเลยที่ 2 กลุ่มมือปืนได้เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังที่เรือนจำ
 
ต่อมา นายธนูจำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์ โดยระหว่างอุทธรณ์คดีได้รับการประกันตัว ขณะที่อัยการโจทก์ ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4-5 ด้วย  
 
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอให้เอาผิดจำเลยได้ อุทธรณ์จำเลยที่ 3 ฟังขึ้น จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 4-5 อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนยกฟ้อง
 
อนึ่ง นายเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก แกนนำต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2547 หลังเดินทางไปยื่นข้อมูลความผิดปกติในการออกเอกสารสิทธิที่ดินสาธารณะให้กับคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา
 
ชาวบ้านเชื่อว่าสาเหตุการถูกปองร้ายเนื่องมาจากการที่เขาเป็นแกนนำคัดค้านการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินสาธารณะบริเวณทุ่งเลี้ยงสัตว์คลองชายธง และคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าจนทำให้ต้องล้มเลิกโครงการ ขัดขวางผลประโยชน์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล โดยก่อนหน้านี้เขาถูกขู่ฆ่ามาแล้วหลายครั้ง
 
อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของเจริญ วัดอักษรก่อให้เกิดความตื่นตัวของประชาชน ในการมีส่วนร่วมตัดสินใจต่อนโยบายของรัฐ เพื่อการพัฒนาในท้องถิ่น
 
 
 
 
 
หมายเหตุ: งานเสวนาวิชาการ 'ย้อยรอยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีเจริญ วัดอักษร' จะจัดในวันที่ 28 เม.ย.56 ที่ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เวลา 13.00-16.00 น.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net