มองอนาคตทีวีดิจิตอล นักเศรษฐศาสตร์หวั่น กม.เอื้อผูกขาด ไม่ต่างจากเดิม

วันพุธที่ 24 เมษายน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงาน กสทช.จัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง “ทีวีดิจิตอล...จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ตอนทีวีดิจิตอลสาธารณะ ที่อาคารสถาบัน 3 ชั้น 2 คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยในช่วงบ่ายเป็นการอภิปรายในหัวข้อ “อนาคตทีวีดิจิตอลสาธารณะในมุมมองนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และเทคโนโลยี” มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ดร.ภูรี สิรสุนทร จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์  รศ.เวช วิเวก จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ดร.กิตติ วงค์ถาวราวัฒน์ จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

เวช กล่าวว่า การเปลี่ยนจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เช่น การเปลี่ยนนาฬิกา หรือระบบโทรคมนาคมจากอนาล็อกมาเป็นระบบดิจิตอล ฉะนั้นเรื่องทีวีดิจิตอลก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ในด้านเทคนิคมันมีความจำเป็น เนื่องจากระบบอนาล็อกเป็นระบบเก่าที่ไม่มีการผลิตอะไหล่ หรือเทคโนโลยีมาเพื่อซ่อมแซมอีกแล้ว การซ่อมบำรุงต้องสั่งทำอะไหล่พิเศษซึ่งต้นทุนสูงมาก

เขากล่าวต่อว่า ทีนี้ถ้าถามถึงต้นทุนของทีวีดิจิตอล ตอบได้ว่ามันขึ้นๆ ลงๆ ตามกระแส แต่ทุกวันนี้ก็บอกได้ว่าราคาถูกลงกว่าในอดีตเยอะมาก ตัวอย่างเช่นทีวีดิจิตอลตามท้องตลาด ในอดีต ทีวีจอแบนเครื่องหนึ่งราคาสี่ถึงห้าหมื่นบาท ปัจจุบันราคาหมื่นกว่าบาทก็มี ส่วนตัวรับสัญญาณหรือ set up box ก็ราคาต่ำลงเช่นกัน ทุกวันนี้ราคาไม่ถึงหนึ่งพันบาทต่อเครื่อง ตัวเครื่องส่งสัญญาณเพื่อให้บริการโครงข่ายก็ออกแบบมาให้ใช้ได้เป็นระยะเวลานานอยู่ได้หลายปี และเมื่อเปลี่ยนเป็นทีวีดิจิตอลแล้ว ก็เพิ่มจำนวนช่องอย่างที่ทราบกัน การตัดต่อภาพซ้อนจะเรียบและรวดเร็วขึ้นกว่าในระบบอนาล็อก

ด้านกิตติ นักวิชาการด้านเทคโนโลยีอีกคนหนึ่งกล่าวว่า ในระบบทีวีดิจิตอลจะต้องมีผู้ให้บริการโครงข่าย (network provider) ทำหน้าที่ส่งสัญญาณโทรทัศน์ไปให้ผู้บริโภค ซึ่งในระบบอนาล็อกเดิม 1 มักซ์ (mux ย่อมาจาก multiplex) สามารถส่งได้ช่องเดียว แต่ในระบบดิจิตอล 1 มักซ์สามารถส่งได้ 6-10 ช่องและเป็นโชคดีของเราที่ผู้วางโครงข่ายระบบอนาล็อกตั้งแต่ปี 2539 เล็งเห็นว่าจะมีระบบทีวีดิจิตอลในอนาคต จึงวางโครงข่ายที่สามารถรับรองระบบดิจิตอลเอาไว้แล้ว เราจึงสามารถตัดต้นทุนออกไปได้เยอะ

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า เมื่อมาดูข้อกฎหมายที่ระบุว่า ระบบดิจิตอลต้องครอบคลุมทั่วประเทศเทียบเท่ากับระบบอนาล็อก และต้องสามารถรับสัญญาณในครัวเรือนได้ในเขตอำเภอเมืองและเทศบาลเมือง ข้อนี้น่าเป็นห่วงอยู่เล็กน้อย เพราะการจะทำให้คลื่นที่ส่งไปสามารถทะลุทะลวงเข้าไปในตัวอาคารได้นั้นมี 2 วิธี คือ 1.ต้องลดความยาวคลื่น (bit rate) ซึ่งอาจทำให้จำนวนช่องที่สามารถส่งได้จริงอาจไม่ถึง 48 ช่องตามที่บอกไว้ อาจได้จริงๆ ประมาณ 30-40 ช่อง หรือ 2.ต้องเพิ่มสถานีทำหน้าที่เป็นจุดปล่อยสัญญาณกระจายตามพื้นที่ต่างๆ แต่วิธีนี้จะทำให้ต้นทุนของผู้ให้บริการโครงข่ายเพิ่มสูงขึ้น โดยปัญหานี้ทาง NECTEC กำลังหาทางแก้ไขให้สามารถบรรลุตามเป้าหมาย 48 ช่อง และครอบคลุมตามที่ข้อกฎหมายกำหนดไว้ให้ได้

ทางฝั่งของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ภูรีให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดสรรช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 48 ช่องโดยแบ่งเป็นช่องธุรกิจ 24 ช่อง ช่องสาธารณะ 12 ช่อง และช่องชุมชน 12 ช่องไว้ว่า จะเหมาะสมหรือไม่ก็ต้องกลับไปดูที่ผู้บริโภคเป็นสำคัญ 48 ช่องเป็นจำนวนที่เยอะ ประชาชนไม่น่าจะดูทั้งหมดได้ ย่อมมีการแย่งผู้บริโภคกันเกิดขึ้น ซึ่งเป้าหมายของช่องธุรกิจ กับสาธารณะย่อมแตกต่างกัน ธุรกิจต้องพยายามสร้างรายการที่คนดูชื่นชอบ เพื่อดึงคนดูและเพิ่มกำไร ในขณะที่ช่องสาธารณะต้องเป็นอิสระจากกลุ่มทุน

ภูรี ระบุว่า คำจำกัดความของทีวีสาธารณะนั้นมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ 1.สาระความรู้ 2.เพื่อความมั่นคงของรัฐ และ 3.เพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐและประชาชน เพราะฉะนั้น ช่องธุรกิจเขาก็จะหาวิธีการของเขาให้ตัวเองอยู่รอด แต่ที่เรากังวลคือช่องสาธารณะ แม้ช่องสาธารณะจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลทำให้สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งการแสวงหากำไร แต่แค่อยู่ได้มันไม่เพียงพอ เนื้อหาที่นำเสนอก็ต้องมีคนดูด้วย เราจึงต้องใช้ระบบ Beauty Contest ในการพัฒนาคุณภาพรายการ คือเปิดโอกาสให้เอกชนที่ต้องการทำรายการทีวีสาธารณะนำเสนอแนวคิด (concept) รายการที่ตนอยากทำเข้ามา รายการไหนน่าสนใจก็จะได้รับเลือกให้ออกอากาศในช่องสาธารณะ โดยต้องยึดโยงกับคำจำกัดความของทีวีสาธารณะ 3 ข้อข้างต้น

นวลน้อย นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ให้ความเห็นกับตัวโครงสร้างทางกฎหมายเอาไว้ว่า จริงอยู่ที่ทางด้านเทคนิค ต้นทุนทีวีดิจิตอลจะต่ำ แต่กลัวเรื่องตัวบทกฎหมายที่จะเอื้อให้เกิดการผูกขาด เพราะช่องธุรกิจต้องจ่ายค่าบริการให้กับผู้ให้บริการโครงข่ายที่ประมูลได้ลิขสิทธิ์ให้บริการมักซ์มาซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 6 มักซ์ เมื่อเขาได้มา เขาก็มีสิทธิขาดในการกำหนดราคา ทำให้ไม่มีการแข่งขัน ธุรกิจก็ไม่กล้าจะถอนตัวจากผู้ให้บริการโครงข่ายเพราะไม่มั่นใจว่ามักซ์อื่นยังมีช่องให้ตนอยู่ไหม สุดท้ายคือต้องยอมให้ผู้ให้บริการโครงข่ายขึ้นราคาไปเรื่อยๆ

นวลน้อย กล่าวต่อว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความฝันที่เราอยากเห็นภาคประชาสังคมมีช่องทีวีเป็นของตัวเองแบบสหรัฐฯ หรือออสเตรเลียคงเป็นจริงได้ยาก เพราะยังไงก็ไม่สามารถสู้เงินทุนของภาคธุรกิจได้ จะเป็นบรรยากาศเหมือนตอนมีโทรศัพท์มือถือช่วงแรกๆ คือมีผู้ให้บริการอยู่แค่ 2-3 เจ้า และรวมตัวกันผูกขาดราคาค่าบริการสูงถึงเดือนละ 500 บาท เพราะฉะนั้นการจัดสรร 12 ช่องไว้ให้เป็นช่องสาธารณะจึงมีความเหมาะสม

นวลน้อย กล่าวว่า ส่วนเมื่อพูดถึงรูปแบบรายการที่ประชาชนต้องการ เราคงยังตอบไม่ได้เพราะประชาชนยังนึกภาพไม่ออกว่าทีวีสาธารณะรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เราต้องผลิตรายการที่เราเชื่อว่าดีออกไปให้ประชาชนดูก่อน เช่น สารคดี หรือ เนชั่นแนล จีโอกราฟี เพื่อให้ประชาชนเห็นภาพก่อน แล้วจึงถามประชาชนว่าเขาต้องการายการรูปแบบไหน
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท