นภดล ชาติประเสริฐ: เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ คู่ขัดแย้งที่ตัดสัมพันธ์ไม่ขาด

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ห้อง 202 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ "วิกฤตคาบสมุทรเกาหลีรอบใหม่: ความไม่มั่นคงในภูมิภาคและทางออก" มีวิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร. จุลชีพ ชินวรรโณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร. นภดล ชาติประเสริฐ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร. กิตติ ประเสริฐสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย อ.ดร. จันจิรา สมบัติพูนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ โดยประชาไทได้นำเสนอในส่วนของการนำเสนอโดย รศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ และ ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ไปแล้วนั้น

รศ.ดร.นภดล ชาติประเสริฐ ในการเสวนา "วิกฤตคาบสมุทรเกาหลีรอบใหม่: ความไม่มั่นคงในภูมิภาคและทางออก" เมื่อ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

ต่อมาเป็นการอภิปรายโดย รศ.ดร.นภดล ชาติประเสริฐ โดยเริ่มอภิปรายว่า ในช่วงสงกรานต์มานี้ มีคนให้ความสนใจกรณีคาบสมุทรเกาหลีอย่างมาก โดยมีสื่อมวลชนแขนงต่างๆ มาขอความเห็น ถามว่าทำไมถึงเป็นช่วงกรานต์ เนื่องจากคนจะไปเที่ยวเกาหลีในช่วงสงกรานต์ ซึ่งช่วงนี้ตรงกับฤดูใบไม้ผลิพอดี กำลังสวยงาม และทัวร์แน่น แต่พอเจอวิกฤตคาบสมุทรเกาหลีตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม คนอลหม่านวุ่นวายไปหมด ว่าจะไปไม่ไปดี จะยกเลิกทัวร์หรือไม่ ก็ถามมาทางสื่อมากมาย สื่อก็เลยมาถามเราต่อ ผมก็บอกว่าไปเถอะ อย่าคืนตั๋วเลย ก็แคล้วคลาดผ่านสงกรานต์ไปได้ ก็ยินดีด้วยที่ไม่เปลี่ยนใจ

ความขัดแย้งครั้งนี้ขอตั้งสังเกตว่า คราวนี้เป็นการเผชิญหน้าระหว่างผู้นำที่เชื่อว่าน่าจะอายุน้อยที่สุดในโลก อายุประมาณ 29-30 ปี กับมหาอำนาจที่เข้มแข็งของโลก เพราะฉะนั้นสีสันย่อมฉูดฉาดไม่ธรรมดา วาทะ คำพูดที่ออกมาดุเดือนรุนแรงก็คาดหมายได้ เพราะเกาหลีเหนือก็ทำแบบนี้มานานแล้ว ใครที่เฝ้าติดตามเหตุการณ์ในคาบสมุทเกาหลี จะพบว่าเกาหลีเหนือมักจะมานิ่งๆ เนิบๆ เรียบๆ จืดๆ ไม่เป็น

บางท่านที่ติดตามวาทะของเกาหลีเหนือมาหลายสิบปี จะพบว่าเกาหลีเหนือพูดแบบนี้อยู่แล้ว เพียงแต่เปิด Volume ให้ดัง คือที่ผ่านมาถ้ามีสเกล 10 ก็จะเปิด Volume ประมาณ 5-6 แต่ตอนนี้เร่ง 10 เลย ทำให้ชาวโลกตื่นตะลึง ช็อก จะไม่ไปเที่ยวกัน ดังนั้นจึงเห็นว่าคนเกาหลีใต้ไม่ตื่นเต้น เพราะได้ยินแบบนี้มาตลอด เพียงแต่ที่ผ่านมาเปิด Volume เบาได้ยินไม่ถึงชาวโลก

ถ้าจะพูดถึงเกาหลีใต้ เกาหลีใต้ในวิกฤตคราวนี้ ต้องมองในภาพใหญ่ในแง่ของดุลระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ที่การตั้งประเทศเกิดขึ้นจากฐานความขัดแย้ง และก็เคยทำสงครามกันด้วย ดังนั้นหลังการเกิดขึ้นของประเทศซึ่งแตกต่างทางอุดมการณ์นั้น เขาก็แข่งขันกัน โดยที่ระหว่างสองประเทศในทางอำนาจ ทางเศรษฐกิจ และในทางเครือข่ายกับประชาคมโลกมันผันแปรไม่ได้หยุดนิ่ง

โดยเกาหลีเหนือนั้นภูมิประเทศเป็นภูเขา มีแร่ธาตุทรัพยากรเยอะ ทางใต้เป็นเขตเกษตรกรรม เป็นที่ราบเยอะกว่า เมื่อญี่ปุ่นปกครอง ได้ใช้เกาหลีเหนือเป็นฐานอุตสาหกรรม แล้วโรงไฟฟ้าอยู่ในเกาหลีเหนือหมดเลย ทางใต้เป็นแหล่งเกษตร เมื่อแบ่งออกเป็นสองประเทศ ก็ตัดสองส่วนออกจากกัน มันวุ่นเลย เกาหลีใต้อยู่ในสภาพขาดแคลน แร้นแค้น ทรัพยากรทรัพยากรโรงงาน แหล่งกำเนิดไฟฟ้า ขณะที่เกาหลีเหนือพร้อมกว่า โดยในช่วง 20 ปีแรกที่แยกประเทศ เศรษฐกิจเกาหลีเหนือเติบโตแข็งแกร่งกว่าเกาหลีใต้มาก เกาหลีใต้อยู่ในสภาพแร้นแค้น ต้องรอประธานาธิบดีปักจุงฮีมาปฏิรูป กว่าจะเข้าที่เข้าทางก็เลยยุค 1960

ในแง่เครือข่าย ระยะแรกเกาหลีเหนือก็ทำได้ดีกว่า ในแง่ประเทศต่อต้านจักรวรรดินิยม และประเทศเกิดใหม่ในแอฟริกา ประเทศเล็ก ประเทศน้อย ก็ล้วนต่อต้านจักรวรรดินิยม กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเกาหลีเหนอจะจับมือกับประเทศเหล่านี้ได้เยอะ ขณะที่เกาหลีใต้ถูกมองว่าเป็นญาติสนิทอเมริกา ก็จะเปิดความสัมพันธ์ได้แต่เครือข่ายของสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประเทศเกิดใหม่ซึ่งมีมากมาย ประเทศตามเกาะแก่งทั้งหลาย เกาหลีเหนือทำได้ดีกว่าเกาหลีใต้ นี่คือยุคประมาณ 20 กว่าปีแรก 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเกมพลิก เกาหลีใต้เริ่มพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ของเกาหลีเหนือสักพักเริ่มอิ่มตัว และเร่งเศรษฐกิจไม่ได้ การกระจายสินค้าเริ่มมีปัญหา เหมือนที่โซเวียตเจอ ก็เริ่มเกิดความขาดแคลนขึ้น ขณะที่เกาหลีใต้เติบโตเร็วมาก ตั้งแต่สมัยปักจุงฮีก สักพักศักยภาพของเกาหลีใต้จะมีความสำคัญมากขึ้น คนเริ่มมาคบหาสมาคมมากขึ้น เกาหลีเหนือเริ่มทรงตัว สักพักพอถึงกลางๆ ทศวรรษ 1980 โซเวียตเริ่มปฏิรูป จีนเริ่มปฏิรูปตั้งแต่ปลาย 1970 ยิ่งสนใจเศรษฐกิจก็ยิ่งอยากคุยกับคนมั่งคั่ง เกาหลีเหนือซึ่งจนลงๆ ก็เริ่มมีบทบาทน้อยลงและไปอยู่ชายขอบ เกาหลีใต้ก็รู้อำนาจตรงนี้ ก็เร่งความสัมพันธ์ นอกจากความสัมพันธ์กับประเทศโลกที่ 3 แล้ว เกาหลีใต้ก็เอื้อมมือไปแตะกับจีนและโซเวียตได้ ที่สำคัญคือการที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 1988 ซึ่งสามารถนำนักกีฬาจีนกับโซเวียตมาร่วมแข่งขันที่โซลได้ ประเทศยักษ์ใหญ่มาร่วมหมดเลย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นมาอยู่แล้ว แต่สามารถนำนักกีฬาจีนกับโซเวียตมาร่วมด้วย ทั้งที่ยังไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ โดยถือเป็นความคืบหน้าที่สำคัญมาก ขณะที่เกาหลีเหนือในช่วงนั้นเคยหารือกันว่าจะร่วมมือเป็นเจ้าภาพ จะร่วมจัดในบางส่วน เกาหลีเหนือจะขอจัดนิดหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ แผนที่คุยกันไว้พังหมด เกาหลีใต้จัดผู้เดียว ทุกวันนี้ที่เปียงยางยังมีสนามกีฬาใหญ่ไว้รองรับโอลิมปิกคราวนั้น สร้างไว้อย่างสมบูรณ์รองรับการแข่งขันกีฬาขนาดใหญ่ แต่ไม่ได้ใช้ ทุกวันนี้ก็ใช้ในงานประจำปีที่เราดูตามสื่อ 

ฉะนั้นจะเห็นว่าตั้งแต่ปลายปี 1988 เป็นต้นมา จะเห็นว่าดุลเปลี่ยนมาทางเกาหลีใต้ และเกาหลีใต้ต่อมาก็สามารถสถาปนาความสัมพันธ์กับจีน และรัสเซีย คือมหาอำนาจยักษ์ที่มีอิทธิพลในเอเชียตะวันออก เกาหลีใต้มีความสัมพันธ์หมดแล้วทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น รัสเซีย จีน มีความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนที่เข้มข้น ขณะที่เกาหลีเหนือยังคงมีความสัมพันธ์กับรัสเซีย จีน ยังไม่สามารถเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นได้เลย

สหรัฐอเมริกา นี่เป็นประเด็นหลัก ทุกครั้งที่ทะเละเบาะแว้งมีเรื่องราว ก็บอกว่าอยากจะคุย อยากให้อเมริกาให้ความมั่นใจว่าจะไม่รุกราน จนกระทั่งสถาปนาความสัมพันธ์ได้ ส่วนญี่ปุ่นก็พูดคุยกันตลอดเวลา แต่มีประเด็นเล็กประเด็นน้อยทำให้ไปไม่ถึงไหน เช่นเรื่องลักพาตัว เพราะญี่ปุ่นใช้เป็นเงื่อนไขหลัก ว่าจะร่วมมือหรือเจรจาแค่ไหน ดังนั้นจะเห็นว่าดุลระหว่างเหนือใต้มันพลิก จากช่วงแบ่งแยกประเทศใหม่ๆ 20 ปีแรกที่เหมือนเกาหลีเหนือได้เปรียบ กับกลายเป็นเกาหลีใต้โดดเด่นมีพลัง และรวมถึงอำนาจทางทหารด้วย เพราะมีเงินซื้ออาวุธ ขณะที่เกาหลีเหนือไม่มีเงิน ดังนั้น Conventional Weapon ของเกาหลีใต้ก็ได้เปรียบกว่า นี่ก็เป็นเหตุผลด้านความมั่นคงว่า เกาหลีเหนือจึงพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง หรือนิวเคลียร์ เพราะเป็นทางออกเดียวที่จะสร้างดุล หรือป้องปรามอีกฝ่ายได้

นี่คือดุลของสองประเทศที่เปลี่ยนไปในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนับวันช่องว่างจะห่างกันอีก โดยเกาหลีใต้ก็เติบโตเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสิบกว่าๆ

ส่วนในแง่ความสัมพันธ์อันเฉพาะของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ก็มีลักษณะพิเศษของประเทศที่เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่าง จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เข้ามาเกี่ยวข้องเพราะอยู่ใกล้กัน มีผลประโยชน์กระทบกระเทือนต่อกัน แต่ก็เป็นคนละเชื้อชาติ แต่เกาหลีใต้และเกาหลีเหนือเป็นคนชาติเดียวกัน มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมา เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์จึงซับซ้อน ลึกซึ้งมากกว่าประเทศอื่น และมีอะไรหลายอย่างร่วมกัน มีตัวหนังสือเหมือนกัน พูดภาษาเดียวกัน ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกัน มีหลายอย่างร่วมกัน แม้จะมุมมองต่างกัน แต่พอถามเรื่องการยึดครองญี่ปุ่นกับคนเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ก็จะได้คำตอบแบบเดียวกัน ดังนั้นเขาก็ไม่ได้แตกต่างกันทุกมิติ ความชอกช้ำระกำใจ เกลียดชังญี่ปุ่นก็มีไม่ต่างกัน

เพราะฉะนั้น ในแง่ความสัมพันธ์ ผู้นำเกาหลีใต้ จึงไม่สามารถกำหนดจุดยืนได้แบบผู้นำสหรัฐอเมริกา ผู้นำจีน หรือผู้นำญี่ปุ่น ดังนั้นต้องหาดุลตรงนี้ให้ได้ อย่างประธานาธิบดีสุภาพสตรี ปัก กึน เฮ ก็มาจากพรรคสายอนุรักษ์ และจุดยืนต้องแสดงความเข้มแข็ง ถ้าจะร่วมมือกับเกาหลีเหนือต้องมี Give&Take ต้องมีการประพฤติที่ดี ต้องพัฒนาตัวเองด้วย ซึ่งนโยบายไม่เหมือนกับประธานาธิบดีที่มาจากพรรคเอียงซ้ายหน่อย อย่าง คิม แด จุง ที่ค่อนข้างอยากจับมือกับเกาหลีเหนือ มีการเดินทางไปเยือน โดยที่เกาหลีเหนือยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงบทบาทเท่าไหร่

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของชาวเกาหลีจำนวนมาก ที่อยากให้สองเกาหลีญาติดีกัน พบเจอกัน แลกเปลี่ยนกันด้วย เพราะมีประเด็นที่ลึกซึ้ง คืออาจจะมากกว่าประเด็นลักพาตัว เพราะมีคนถูกลักพาตัว 10 กว่าคน 20 กว่าคน แต่ทุกวันนี้มีชาวเกาหลีทั้งสองฟากพรมแดน ซึ่งมีญาติที่ไม่ได้เจอกันหลายหมื่นคนหรือแสน ไปมาหาสู่กันไม่ได้ เขียนจดหมายถึงกันไม่ได้ บางทีเป็นพี่น้องกันจากกันตั้งแต่สงครามเกาหลี แม่อยู่ประเทศหนึ่ง พ่ออยู่ประเทศหนึ่ง พี่น้องอยู่คนละประเทศ ไม่ได้เจอกัน ยังจำความกันได้ และเฝ้ารอวันที่จะเจอกัน มีบางคน บิดาใกล้จะตาย ก็เขียนจดหมายแล้วสั่งเสียลูกว่าให้เอาจดหมายไปให้พี่ให้ได้ นี่เป็นเรื่องราวที่ฟังแล้วสะเทือนใจมาก

และในช่วงที่ความสัมพันธ์สองเกาหลีค่อนข้างจะดี อย่างสมัยประธานาธิบดี โน มู เฮียน ก็ให้ญาติมาเจอกันหลายครั้ง แม้จะเป็นระยะเวลา 3-5 วัน แต่ก็เป็นเวลาที่พิเศษสุด ที่ให้ญาติได้มาพูดคุยกัน แล้วก็จะได้เห็นวัฒนธรรมแบบเอเชีย ลูกไปคารวะแทบเท้าพ่อที่ไม่ได้เจอกันมา 50 ปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ผู้นำเกาหลีใต้มองข้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้นท่าทีของปัก กึน เฮ และผู้นำเกาหลีใต้แม้จะขึงขังกับเกาหลีเหนือแค่ไหน ก็ทิ้งไม่ได้ เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา จีน หรือญี่ปุ่น

ท่าทีของเกาหลีใต้ ด้านหนึ่งจึงฮึกเหิม อยากตอบโต้ อีกด้านก็พยายามผ่อนๆ อยากพูดคุย เสนอให้เปิดนิคมอุตสาหกรรมแกซองต่อ อยากให้มีการแลกเปลี่ยน มีความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ให้มีการพบเจอของญาติมิตร เพราะที่ผ่านมายังจัดพบญาติไม่กี่ครั้ง และส่วนใหญ่ก็เฝ้ารอให้มีการจัดพบญาติอีก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เริ่มอายุมากแล้ว  ใกล้จะถึงกาลสุดท้ายของชีวิต อายุ 70-80 แล้ว เวลาก็นับถอยหลังเรื่อยๆ ดังนั้นจึงเป็นอะไรที่กดดัน นี่เป็นมิติที่ไม่ค่อยพูดถึงกัน ซึ่งสะเทือนใจชาวเกาหลีส่วนใหญ่ที่แม้ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องได้ก็ได้ทราบเรื่องเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้กับสหรัฐอเมริกา ก็แยกจากกันไม่ออก ในแง่ความมั่นคงและผลประโยชน์ แง่หนึ่งเกาหลีใต้ยื่นมือไปแตะเกาหลีเหนือ ขณะเดียวกันมือหนึ่งก็แตะสหรัฐอเมริกา เหมือนเล่นบทสองหน้าตลอด ซึ่งทำให้เกาหลีเหนือหงุดหงิดเหมือนกัน อย่างเช่น การซ้อมรบที่กระทำอยู่นี้ จัดใหญ่ จัดหนัก ใช้ทหารร่วมสองแสน เท่ากับกองทัพไทยทั้งกองทัพ เป็นการซ้อมรบทุกมิติ บก เรือ อากาศ นอกจากมีการใช้เครื่องบิน B52 แล้ว ยังมีการใช้เครื่องบิน B2 ซึ่งหลบหลีกเรดาห์ได้ บินมาจากมิสซูรี 16,000 กิโลเมตร เติมน้ำมันกลางอากาศ ทิ้งระเบิดจำลอง 2 ลูก ใกล้ๆ พรมแดน แล้วบินกลับอีก 16,000 กิโลเมตร ซึ่งเครื่องบินที่หลบหลีกเรดาห์ได้ ก็สามารถทิ้งระเบิดในเกาหลีเหนือโดยที่เกาหลีเหนือตรวจจับไม่ได้ ซึ่งท่าทีแบบนี้ถ้ามองจากฝั่งเกาหลีเหนือ เราก็ต้องบอกว่า นี่คือการคุกคาม และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เกาหลีใต้ก็คงต้องรู้

ซึ่งจริงๆ ท่าทีแบบนี้ไม่ใช่ของใหม่ เวลาที่สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ซ้อมรบก็ทำอะไรอย่างนี้เป็นประจำ อย่างเช่นเครื่องบินรบ B52 บินขึ้นจากฐานทัพในเกาหลีใต้ มุ่งหน้าขึ้นเหนือ สปีดแบบพร้อมรบ ความเร็วสูงสุดบินเข้าหาพรมแดน พอถึงใกล้ๆ เส้นเขตปลอดทหารก็เลี้ยวซ้าย-ขวา เลี้ยวแบบหักมุม ท่าทีแบบนี้เกาหลีเหนือก็รู้สึกว่าถูกคุกคาม ดังนั้นทุกครั้งที่มีการซ้อมรบ เกาหลีเหนือก็จะอยู่ไม่สุข เพราะว่าในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีอยู่บ่อยครั้ง ที่มีการอาศัยการซ้อมรบบังหน้าเพื่อคุกคาม เช่น ตอนเกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลต้นทศวรรษที่ 1970 ฝ่ายอาหรับก็ใช้การซ้อมรบครั้งใหญ่

ในอีกมุมหนึ่งเกาหลีใต้ก็เล่นสองบทตลอดเวลา และเมื่อมองอีกมุมหนึ่งก็มีการสื่อสารสองฝ่ายด้วยการกระทำ เช่น พอเปลี่ยนผู้นำเกาหลีเหนือเมื่อปลายปี 2554 ในช่วงนั้น จะมีข่าวมาจากโลกตะวันตกว่าจะเป็นยุคสมัยใหม่ มีความหวังกับผู้นำท่านใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตก คงมีการพูดคุยที่เข้าท่ามากขึ้น และปาฐกถาสำคัญของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ อี เมียง บัก ในวันปีใหม่ในปี 2555 ก็บอกว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลกตะวันตกและเกาหลีใต้ ก็คือโลกตะวันตก และเกาหลีใต้บอกคุยกันไหม เปลี่ยนคนแล้ว เปลี่ยนเกมดีกว่า แต่ผ่านไปได้ 10 กว่าเดือน เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธระยะไกล ซึ่งเกาหลีเหนืออ้างว่าปล่อยดาวเทียม และเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทดลองนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 นี่คือสัญญาณว่าอยากจะเดินเกมนี้อยู่

เพราะฉะนั้นก็มองได้ว่า การซ้อมรบใหญ่ของเกาหลีใต้-สหรัฐอเมริกา คือการตอบโต้การทดลองขีปนาวุธ และนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ซึ่งต้องมองว่าเกาหลีเหนือจะตอบโต้อย่างไร ซึ่งผมเห็นว่าสงครามนิวเคลียร์ไม่มีทางเกิดขึ้น เกาหลีเหนือไม่มีทางทำลายตัวเอง และขณะนี้เกาหลีเหนือยังไม่มีศักยภาพที่จะส่งหัวรบนิวเคลียร์ไปสู่เป้าหมายได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท