Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทนำ

การต่อสู้คดีเกี่ยวกับข้อพิพาททางเขตแดนทางบกหรือทางทะเล รัฐคู่ความมักจะเสนอพยานหลักฐานต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็นพยานหลักฐานทางเอกสาร หรือคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญรวมถึงแผนที่ด้วย อย่างไรก็ดี พยานหลักฐานดังกล่าวจะมีน้ำหนักความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดนั้นก็เป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาที่จะประเมินว่าพยานหลักฐานดังกล่าวมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด บทความนี้จะนำเสนอบทบาทความสำคัญของแผนที่ในฐานะที่เป็นพยานหลักฐานในข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนว่ามีบทบาทมากน้อยเพียงใดในสายตาของกฎหมายระหว่างประเทศ

1.คุณค่าของแผนที่ในฐานะหลักฐานตามกฎหมายระหว่างประเทศ (Legal Value of Map)

ประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญมากตามกฎหมายระหว่างประเทศคือคุณค่าทางกฎหมายของแผนที่ (Legal value of map) ในฐานะพยานหลักฐาน (Evidence) มีมากน้อยเพียงใด ประเด็นนี้วงวิชาการบ้านเรายังไม่เคยหยิบมาพิจารณาอย่างจริงจังทั้งก่อนและหลังที่เกิดคดีปราสาทพระวิหาร หลายฝ่ายเข้าใจว่าแผนที่มีน้ำหนักมากเวลาพิจารณาเรื่องเขตแดน อย่างไรก็ดี ในประเด็นเรื่องคุณค่าทางกฎหมายของแผนที่ในทางระหว่างประเทศนั้น แต่ก่อนแต่ไรมาทั้งศาลโลกเก่าและศาลโลกใหม่ต่างลังเลที่ให้ความเชื่อถือหรือให้น้ำหนักเเก่แผนที่ในกรณีที่มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ   “แผนที่” นั้นขัดแย้งกับเกณฑ์ที่ใช้ใน “สนธิสัญญา” หรือแผนที่นั้นเกิดจากการการทำแผนที่ฝ่ายเดียวมิได้เป็นผลงานของคณะกรรมการผสมปักปันเขตแดนหรือแผนที่นั้นมิได้เป็นแผนที่แนบท้ายสนธิสัญญา[1]

 

http://tbn0.google.com/images?q=tbn:tHSU3JYe8K5HGM:http://bp2.blogger.com/_Bs_kb5jdyFY/RpZD4-cbWKI/AAAAAAAAAOQ/JAoROdkysbM/s400/Preah%2BVihear%2Bcartoon.JPG

2. ทางปฎิบัติของศาลโลกเกี่ยวกับการยอมรับแผนที่ในฐานะที่เป็นหลักฐานของการใช้อำนาจอธิปไตย

เพื่อสะดวกต่อการทำความเข้าใจ ผู้เขียนของเเบ่งออกเป็นสองช่วงเวลาโดยใช้คดีปราสาทพระวิหารเป็นจุดเเบ่ง เนื่องจากคดีปราสาทพระวิหารเป็นคดีที่ศาลโลกได้หันเหไป (departing from) จากเเนวปฎิบัติของ                           ภาพล้อเลียนการรุกรานโดยเเผนที่                ศาลโลกทั้งศาลโลกเก่าเเละศาลโลกใหม่รวมถึงอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศด้วยที่ไม่เคยให้น้ำหนักแก่แผนที่

I. ช่วงเเรก: ก่อนศาลโลกตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร

                หากพิจารณาแนวคำพิพากษาของศาลโลกและอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในอดีตจะพบว่า ศาลและอนุญาโตตุลาการให้น้ำหนักน้อยเกี่ยวกับคุณค่าทางกฎหมายของแผนที่เช่นคดี the Island of Palmas ปีค.ศ. 1928 โดยมี Max Huber เป็นอนุญาโตตุลาการได้กล่าว่า “….only with the greatest caution can account be taken of maps in deciding a question of sovereignty…If the Arbitrator is satisfied as to  the existence of legally relevant facts which contradict the statements of cartographers whose sources of information are not know, he can attach no weight to the map, however numerous and generally appreciated they may be The first condition required of maps that are to serve as evidence on points of law is their geographical accuracy …a map afford only an indication-and that a very indirect one-and, except when annexed to a legal instrument, has not the value of such an instrument, involving recognition or abandonment of rights[2]

หรือคดี Delimitation of the Polish-Czechoslovak Frontier, (Question of Jaworzina) โดยคดีนี้ศาลโลกเก่ากล่าวว่า “…maps and their tables of explanatory signs cannot be regarded as conclusive proof, independently of the text of the treaties and decision.”[3]

 นอกจากนั้นก็มีคดี Guatemala-Honduras Boundary Arbitration (1932) หรือคดี Labrador (1927) คดี the Monetary of Sanit-Naoum (1924) ยิ่งกว่านั้น นักกฎหมายระหว่างประเทศอย่าง Dr. Durward Sandifer ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องพยานหลักฐานได้เห็นว่า ในกรณีที่มีการพิจารณาคดีในศาลระหว่างประเทศ แผนที่มีสถานะเป็นเพียง “พยานบอกเล่า” (Hearsay) เท่านั้น[4]

นอกจากนี้ ในคดี Minquiers and Ecrehos  ปี ค.ศ. 1953 ระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับอังกฤษ ในขั้นตอนของการนำเสนอหลักฐานต่อศาลโลก ทั้งสองประเทศได้นำเสนอแผนที่มากมายต่อศาลโลก แต่ปรากฏว่าในคำพิพากษาของศาลรวมถึงความเห็นเอกเทศของผู้พิพากษา Basdevant ไม่มีการประเมินคุณค่าน้ำหนักของแผนที่แต่ประการใด[5] ยิ่งกว่านั้น ในความเห็นส่วนตัวของผู้พิพากษา Levi Carneiro ในคดีนี้ มิได้ให้น้ำหนักทางกฎหมายต่อแผนที่แต่อย่างใด โดยท่านกล่าวว่า

It is necessary to say something on the evidence supplied by maps. 1 know that such evidence is not always decisive in the settlement of legal questions relating to territorial sovereignty. It may however constitute proof of the fact that the occupation or exercise of sovereignty was well known. ….At any rate, maps do not constitute a sufficiently important contribution to enable a decision to be based on them. 1 shall not take the evidence of maps into consideration”[6]         

ในทำนองเดียวกัน ในคดี Concerning Sovereignty over Certain Frontier Land ระหว่างประเทศเบลเยี่ยมกับเนเธอร์เเลนด์ในปี ค.ศ. 1959 ผู้พิพากษา Armand-Ugon ได้ทำความเห็นเเย้งโดยกล่าวว่า “…the well-established and conclusive legal facts relied upon below are in complete disagreement with what is shown on the map in question. Such a circumstance deprives the map of any probative value….What is shown on the map cannot be regarded as having any effect with regard to sovereignty; nor can one attribute to it’s the value of an act of sovereignty.[7]

สังเกตว่าคดี Minquiers and Ecrehos  และคดี Concerning Sovereignty over Certain Frontier Land เกิดขึ้นก่อนคดีปราสาทพระวิหารไม่กี่ปีเอง

II. ช่วงที่สอง: หลังจากที่ศาลโลกตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร

1) CASE CONCERNING the FRONTIER DISPUTE (BURKINA FASO/REPUBLIC OF MALI) Judgment of 22 December 1986

คดีที่ศาลโลกอธิบายสถานะทางกฎหมายของแผนที่ได้ชัดเจนที่สุดและได้เป็นที่อ้างอิงอย่างแพร่หลายคือคดี CASE CONCERNING the FRONTIER DISPUTE (BURKINA FASO/REPUBLIC OF MALI) Judgment of 22 December 1986 อันข้อพิพาททางเขตแดนระหว่างประเทศ Burkina Faso และ Republic of Mali ปี ค.ศ. 1986 โดยศาลโลกเห็นว่า แผนที่เป็นเพียงข้อมูลซึ่งความถูกต้องนั้นขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละคดีไป แผนที่โดยตัวมันเองโดยลำพังไม่อาจก่อให้เกิดสิทธิทางกฎมายเกี่ยวกับอาณาเขตได้ นอกจากนี้ แผนที่จะมีน้ำหนักต่อเมื่อเป็นแผนที่ที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญา  หากเป็นแผนที่ที่มิได้เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาแล้ว ความน่าเชื่อถือของแผนที่ย่อมลดลงและจะต้องพิจารณาความคู่ไปกับหลักฐานอื่นๆประกอบกัน[8]  ทัศนะคติของศาลโลกที่ไม่ให้น้ำหนักเเก่เเผนที่มากเเสดงให้เห็นถึงท่าทีของศาลโลกได้กลับไปในสมัยยุคดั้งเดิมอีกครั้งหนึ่ง[9]

2) Case Concerning Kasikili/Sedudu Island (Botswana /Namibia)

ต่อมาในคดี Case Concerning Kasikili/Sedudu Island ระหว่างประเทศ Botswana เเละประเทศ Namibia ปี ค.ศ. 1999 ศาลโลกมิได้ให้ความสำคัญกับแผนที่ เนื่องจากรัฐคู่พิพาทยังโต้เถียงกันเกี่ยวกับความถูกต้องของแผนที่ (accuracy) และความไม่ชัดเจน (uncertainty) และความไม่สอดคล้องต้องกัน (inconsistency) เกี่ยวกับข้อมูลในการเขียนแผนที่ (cartographic material)[10]

3) Case Concerning Sovereignty over Pulau Ligitan and Pulau Sipadan (Indonesia/Malaysia)

ทำนองเดียวกัน ปีค.ศ. 2002 คดี Case Concerning Sovereignty over Pulau Ligitan and Pulau Sipadan ระหว่างประเทศอินโดนีเซียและมาเลย์เซีย โดยก่อนที่ศาลจะวินิจฉัยประเด็นเรื่องเเผนที่ศาลโลกได้อ้างคำพิพากษาคดีในคดี The Frontier Disputes (BURKINA FASO/REPUBLIC OF MALI) ในปีค.ศ. 1986 ด้วย โดยคดีนี้ ศาลโลกมิได้ให้นำหนักเกี่ยวกับแผนที่ซึ่งรัฐคู่พิพาทนำเสนอมากมายยกเว้นแผนที่แนบท้ายสนธิสัญญาเท่านั้น ส่วนแผนที่อื่นๆ ซึ่งเป็นแผนที่จัดทำฝ่ายเดียวก็ดีหรือเป็นแผนที่ที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะในเรื่องเรื่องหนึ่งก็ดี ล้วนแล้วไม่เป็นข้อพิสูจน์ที่แน่นอน (inconclusive) ทั้งสิ้น

4) Sovereignty over Pedra Branca/Pulau Batu Puteh, Middle Rocks and South Ledge   (Malaysia/Singapore)

 ยิ่งกว่านั้นในคดีล่าสุดคือคดี Sovereignty over Pedra Branca/Pulau Batu Puteh, Middle Rocks and South Ledge  ระหว่างประเทศ Malaysia/Singapore โดยศาลโลกได้มีคำพิพากษา วันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 ในคดีนี้รัฐคู่พิพาทต่างนำเสนอแผนที่เพื่อเป็นหลักฐานของการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะพิพาทเกือบ 100 ฉบับ แต่ศาลโลกกลับให้ความสำคัญเชื่อถือแผนที่เพียง 6 ฉบับซึ่งเป็นแผนที่ที่ประเทศมาเลย์เซียทำขึ้นเองและแผนที่นี้ได้แสดงว่าหมู่เกาะ Pedra Branca/Pulau Batu Puteh อยู่ในประเทศสิงค์โปร์ ศาลโลกได้พิจารณาข้อเท็จจริงอื่นๆประกอบด้วยไม่ใช่แผนที่อย่างเดียว ศาลโลกจึงวินิจฉัยว่า หมู่เกาะ Pedra Branca/Pulau Batu Puteh ตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศสิงค์โปร์

5) Arbitration between the State of Eritrea and the Republic of Yemen (1998)[11]

คดีนี้เเม้จะมิได้ขึ้นศาลโลกก็ตาม เเต่ก็เป็นข้อพิพาทที่อนุญาโตตุลาการ[12]ได้มีโอกาสประเมินคุณค่าหรือน้ำหนักของเเผนที่ในฐานะที่เป็นหลักฐาน ในคดีนี้รัฐคู่พิพาททั้งสองฝ่ายต่างเสนอเเผนที่ต่างกรรมต่างวาระเเละต่างวัตถุประสงค์[13] โดยทั้งคู่ต่างกล่าวหาถึงความน่าเชื่อถือของเเผนที่ของกันเเละกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝ่าย Eritrea เห็นว่าเเผนที่โดยทั่วไปนั้นมีขัดเเย้งในตัวเองเเละเชื่อถือไม่ได้ (contradictory and unreliable) เเละไม่สามารถถูกใช้เพื่อก่อให้เกิด legal positions ได้[14] ที่น่าสนใจคดีนี้ก็คือ เยเมนได้เสนอเเผนที่ของสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1950 (United Nation Map) อย่างไรก็ดี Eritrea ได้หักล้างในประเด็นนี้ว่าโดยอ้างความไม่ถูกต้องของเเผนที่เเละไม่มีเเผนที่อย่างเป็นทางการที่ถูกรับเอา (adopted) โดยสหประชาชาติ ในประเด็นนี้อนุญาโตตุลาการเห็นว่า ทางปฎิบัติของสหประชาชาติการพิมพ์เผยเเพร่ เเผนที่ไม่สามารถก่อให้เกิดการรับรองอำนาจอธิปไตยเหนือดินเเดนโดยสหประชาชาติ[15] ในคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการคดีนี้ได้เเบ่งช่วงเวลาของการทำเเผนที่ออกเป็นระยะต่างๆ เเละมีการเเยกประเมินคุณค่าของเเผนที่ตามช่วงเวลา เเต่โดยภาพรวมเเล้ว อนุญาโตตุลาการเห็นว่าเเผนที่ยังมีความไม่ชัดเจนเเละขัดเเย้งกันอยู่ บทสรุปที่ได้จากการพิจารณาเเผนที่หลายฉบับในฐานะเป็น “หลักฐาน” ซึ่งทำขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ นั้นอนุญาโตตุลาการได้กล่าวทิ้งท้ายอย่างถูกต้องว่า “The evidence is, as in all cases of maps, to be handled with great delicacy.”[16]

กล่าวโดยสรุปแล้ว หากเอาคดีปราสาทพระวิหารเป็นเกณฑ์แบ่ง เราอาจกล่าวได้ว่าก่อนคดีปราสาทพระวิหารแนวปฎิบัติของศาลโลกและอนุญาโตตุลาการไม่ได้ให้น้ำหนักหรือคุณค่าแก่แผนที่ และหลังจากคดีปราสาทพระวิหาร ศาลโลกก็ยังคงไม่ให้น้ำหนักแก่แผนที่มากเท่าที่ควร ศาลโลกอาจพิจารณาแผนที่ประกอบกับองค์ประกอบและสภาวะแวดล้อมอย่างอื่นแต่ไม่ใช่แผนที่อย่างเดียวที่ศาลจะนำมาตัดสินข้อพิพาททางเขตแดนระหว่างรัฐ

3. หากไทยยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 ไทยอาจไม่แพ้คดีก็ได้?

 ผู้อ่านคงสงสัยว่าทำไมผู้เขียนมาตั้งคำถามที่แปลกประหลาดเช่นนี้ เนื่องจากคนไทยก็รับรู้ว่าเป็นเพราะแผนที่เจ้าปัญหาทำให้ไทยต้องแพ้คดีนี้ แต่หากอ่านความเห็นของ Fitzmaurice ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้พิพากษาเสียงข้างมากที่โหวตให้ไทยแพ้ได้แสดงความเห็นน่าสนใจไว้ว่า ที่ไทยแพ้คดีนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตั้งรูปคดีที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น ที่น่าแปลกก็คือท่านเห็นว่าประเทศไทยควรจะต่อสู้ว่าไทยยอมรับแผนที่เจ้าปัญหา (ทั้งๆที่มันผิดพลาดนั่นแหละซึ่งความผิดพลาดของแผนที่นี้ท่าน Fitzmaurice ก็ยอมรับเหมือนกัน) ไทยไม่ควรปฎิเสธแผนที่มาตั้งแต่ต้น และไทยควรต่อสู้ต่อไปว่า เมื่อมีความขัดแย้งระหว่างสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 ที่ระบุให้ใช้สันปันน้ำ กับแผนที่ สนธิสัญญาย่อมมีค่าบังคับเหนือกว่าแผนที่ (Prevail) พูดง่ายๆก็คือ เมื่อสนธิสัญญากับแผนที่ขัดแย้งหรือไม่ลงรอยกัน สนธิสัญญาชนะแผนที่ และเมื่อตั้งรูปคดีแบบนี้ศาลโลกย่อมจะต้องพิจารณาข้อโต้สู้ของไทยในประเด็นนี้และบีบให้ศาลต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ด้วย นอกจากนี้ หลักที่ว่าสนธิสัญญามีค่าบังคับเหนือกว่าแผนที่นั้นเคยถูกรับรองไว้ในสนธิสัญญาแวร์ซาย ดังที่ผู้พิพากษากินตาน่าได้อ้างไว้ในสนธิสัญญาแวร์ซายมาตรา 29 บัญญัติว่า “In the case of any discrepancies between the text of the Treaty and this map or any other map which may be annexed, the text will be final.  เสียดายที่ไม่มีไทม์แมชชีน! หากย้อนเวลากลับไปได้ไทยคงเปลี่ยนแนวทางต่อสู้คดีใหม่

คำถามน่าคิดก็คือ ทำไมไทยจึงไม่ตั้งรูปคดีอย่างความเห็นของ Fitzmaurice  ผู้เขียนสันนิฐานว่า ทีมทนายต่างประเทศเวลานั้นมั่นใจมากว่า “แผนที่” ไม่มีน้ำหนักเป็นแค่ “พยานบอกเล่า” (hearsay)  ดังที่แนวคำพิพากษาคดีก่อนหน้าพระวิหารศาลโลกและอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศก็ไม่ให้น้ำหนักแก่แผนที่เลย อีกทั้งศาสตราจารย์ Charles Cheney Hyde ซึ่งได้รับการยกย่องในเวลานั้นว่าเป็นนักกฎหมายระหว่างประเทศชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงมากได้เขียนตำรากฎหมายระหว่างประเทศชื่อว่า International Law–Chiefly as Interpreted and Applied by them United States (ค.ศ. 1945) ในหน้า 494-495 ก็ได้อธิบายว่าศาลและอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญแก่แผนที่ในการพิจารณาข้อพิพาททางเขตแดน ที่น่าสนใจยิ่งไปอีกก็คือ ศาสตราจารย์ Charles Cheney Hyde ยังได้เป็นบิดาของนาย James Nevins Hyde หนึ่งในทีมทนายความของไทยในคดีปราสาทพระวิหารด้วย แม้ว่า Hyde ผู้เป็นบิดาจะถึงแก่กรรมในปีค.ศ 1952 ก่อนที่กัมพูชาจะฟ้องไทย แต่ไม่ต้องเป็นที่สงสัยเลยว่า Hyde ผู้เป็นลูกย่อมต้องอ่านหนังสือของพ่อในประเด็นเกี่ยวกับสถานะของแผนที่อย่างแน่นอน และในเวลานั้น Hyde ผู้เป็นลูกได้ให้ผู้ช่วยของตนคือ Guenter Weissberg ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับแผนที่ในฐานะที่เป็นพยานหลักฐานว่าจะมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใดในสายตาของกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อจะนำมาใช้เป็นข้อมูลในคดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งหลังจากที่ศาลโลกตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร Weissberg ก็ได้นำข้อมูลในฐานะที่เป็นผู้ช่วยของ  Hyde มาเขียนบทความชื่อว่า Maps as Evidence in International Boundary Disputes: A Reappraisal ลงในวารสาร American Journal of International Law ปีค.ศ. 1963 สังเกตชื่อบทความใช้คำว่า Reappraisal ซึ่งหมายถึง การประเมินใหม่อีกครั้ง แสดงให้เห็นว่าหลังจากคดีปราสาทพระวิหารแนวบรรทัดฐานของศาลโลกเกี่ยวกับการรับฟังแผนที่ในฐานะที่เป็นพยานหลักฐานได้เปลี่ยนไปจากแนวบรรทัดฐานที่ศาลโลกและอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้เคยยึดถือว่า นอกจากนี้ Hade ผู้เป็นลูกก็มีความสนิทสนมกับ Dr. Durward Sandifer ผู้ที่ได้รับการนับถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพยานหลักฐานโดยได้แต่งหนังสือชื่อ Evidence before International Tribunals (พิมพ์ครั้งที่  ค.ศ. 1975) ในคำนำของหนังสือเล่มนี้ก็ได้กล่าวขอบคุณทั้ง Charles Cheney Hyde และ James Nevins Hyde ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้อยู่ตรงที่ว่า ในความเห็นของ Sandifer แผนที่ไม่มีความสำคัญมากนักเป็นเพียงพยานหลักฐานชั้นรองหรือเป็น “พยานบอกเล่า” การรับฟังแผนที่ต้องกระทำด้วยความรอบคอบยิ่งและพิจารณาจากองค์ประกอบอื่นๆประกอบกัน

สรุปความก็คือเป็นไปได้ที่ทีมทนายความของไทยในเวลานั้นค่อนข้างมั่นใจกับแนวคิดหรือหลักปฎิบัติของศาลโลกและอนุญาโตตุลาการว่าแผนที่ไม่มีน้ำหนักหรือความน่าเชื่อถือมากพอที่จะหักล้างกับสนธิสัญญา

4. การทำเอกสารแจ้งพิกัดรอบปราสา

ตามที่ผู้พิพากษาอับดุลคาวิ อะห์เม็ด ยูซูฟ ชาวโซมาเลีย ได้ให้ไทยและกัมพูชาเสนอแนวพิกัดนั้นทำให้ผู้เขียนนึกถึงความเห็นของท่านเวลลิงตัน คูที่เห็นว่า ปัญหาคดีปราสาทพระวิหารมิได้เป็นปัญหาเฉพาะข้อกฎหมายอย่างเดียวแต่มีปัญหาเชิงเทคนิคด้วย ท่านเห็นว่า ศาลโลกควรแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อไปสอบสวน (investigate) และจัดทำรายงานเกี่ยวกับการสังเกตการณ์และข้อเสนอแนะ แต่วิธีการนี้ศาลโลกก็ไม่ได้ใช้ซึ่งวิธีการนี้ศาลโลกเคยใช้มาแล้วในคดี Corfu ท่านยังเห็นอีกด้วยว่า วิธีการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อศาลมากในการพิจารณาข้อเท็จจริง ผู้เขียนเห็นว่า หากศาลโลกใช้วิธีการนี้ในการยุติปัญหาข้อเท็จจริงเชิงเทคนิคในช่วงเวลานั้น ปัญหาคงไม่ยืดเยื้อเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้ก็เป็นได้

อนึ่ง มีข้อสังเกตสังเกตว่า การส่งพยานผู้เชี่ยวชาญโดยศาลเพื่อไปตรวจสอบพื้นที่พิพาทจริงนั้นเป็นคนละกรณีกับที่ผู้พิพากษาไปดูพื้นที่พิพาทจริงด้วยตัวเองที่เรียกว่า visit to the place หรือในภาษาฝรั่งเศส descente sur les lieux[17]

5. ประเด็นของอาจารย์ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลต่อความเห็นของคุณอลินา มิรอง

ความเห็นของ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล ที่ว่า การนำเสนอเรื่องแผนที่ของทนายความฝ่ายไทยคือคุณ อลินา มีรองไม่ได้หักล้างคำพิพากษาในปี ค.ศ. 1962 นั้นก็มีเหตุผล จริงๆเรื่องความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของแผนที่ที่ไม่เป็นไปตามสันปันน้ำนั้น ศาลโลกได้ทราบเป็นอย่างดี แต่ศาลโลกเห็นว่า ฝ่ายไทยมีโอกาสประท้วงหลายครั้งแต่ไม่ประท้วง อีกทั้งศาลโลกเห็นว่า ในเรื่องเขตแดน จำต้องมีเสถียรภาพ (Stability) จึงต้องเป็นที่ยุติ ศาลโลกใช้คำว่า “ to achieve frontier stability on a basis of certainty and finality” (หน้า 35) นอกจากนี้ การคัดค้านความไม่ถูกต้องของแผนที่ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้เสนอผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผนที่ซึ่งหากดูคุณสมบัติแล้ว พยานผู้เชี่ยวชาญของไทยมีความน่าเชื่อถือกว่ามากและฝ่ายไทยมีถึง 3 คนขณะที่กัมพูชามีเพียงคนเดียว ผู้พิพากษากินตาน่าก็ยังยอมรับว่า การนำเสนอของผู้เชี่ยวชาญของไทยทำได้ดีกว่าทั้งในเรื่องของความแม่นยำและความมีเหตุผล[18]

บททิ้งท้าย

บทสรุปที่ได้จากเรื่องนี้ก็คือ เเม้นักนิติศาสตร์บางท่านจะเห็นว่า ปัจจุบัน      เเผนที่โดยเฉพาะเเผนที่อย่างเป็นทางการ (Official map) มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นหลักฐานในกรณีเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตเเดนก็ตาม[19] เเต่จากแนวคำพิพากษาของศาลโลกที่ผ่านมา (ยกเว้นคดีปราสาทพระวิหาร)  เเสดงให้เห็นว่า แผนที่โดยตัวมันเองมิใช่เป็นปัจจัยชี้ขาดหรือเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักมากที่สุดเกี่ยวกับการพิจารณาปัญหาเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน แต่ศาลโลกจะพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นๆประกอบด้วยเสมอ เช่น การกระทำของรัฐคู่ภาคีในภายหลัง (Subsequent conduct)  ที่สามารถบ่งชี้ได้ว่ามีการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริงหรือไม่  นักกฎหมายระหว่างประเทศต่างยอมรับว่าข้อบกพร่องที่สำคัญที่สุดของแผนที่ในฐานะที่เป็นพยานหลักฐานคือการแสดงความถูกต้องด้านสภาพภูมิศาสตร์ของสถานที่ต่างๆ[20] ดังที่ปรากฏในคดีปราสาทพระวิหาร การที่แผนที่ของฝรั่งเศสแสดงปราสาทพระวิหารอยู่ในดินเดนของกัมพูชาเนื่องจากว่า คณะสำรวจได้คำนวณหรือกำหนดตำแหน่งของแม่น้ำโอตาเซมผิดไปจากความจริง การไม่เชื่อถือต่อความถูกต้องของแผนที่ได้ถูกเน้นย้ำในความเห็นแย้งของท่านสเปนเดอร์ โดยท่านกล่าวว่า “ข้อผิดพลาดอันนี้มีผลทำให้การวางเส้นเขตแดนที่แสดงไว้ในภาคผนวก 1 ผิดออกไปนอกแนวของเส้นสันปันน้ำในอาณาบริเวณปราสาทพระวิหารอย่างสิ้นเชิง ผลก็คือทำให้พระวิหารอยู่ในดินแดนกัมพูชาทั้งหมด[21]

นอกจากนี้ ความมีน้ำหนักหรือความน่าเชื่อถือของแผนที่ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขบางประการหรือลักษณะของแผนที่เองว่ามีการทำขึ้นในลักษณะใด เช่น แผนที่ที่จัดทำโดยเอกชนย่อมมีน้ำหนักน้อยกว่าแผนที่ของราชการ หรือหากเป็นแผนที่ที่แนบท้ายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาย่อมมีน้ำหนัก แต่หากเป็นแผนที่จัดทำขึ้นเองฝ่ายเดียวโดยมิได้เป็นผลมาจากคณะกรรมการผสมปักปันเขตแดนแล้ว แผนที่แบบนี้ย่อมมีน้ำหนักน้อย หรือแผนที่ที่รัฐคู่พิพาทยังคงโต้แย้งถึงความไม่ถูกต้อง แผนที่นี้ย่อมไม่มีความน่าเชื่อถือ

 

 

 




[1] Guenter Weissberg, Maps as Evidence in International Boundary Disputes: A Reappraisal, The American Journal Of International Law, vol. 57, No.4 (1963), p. 781

[2] U.N., Reports of International Arbitral Awards, vol.II,pp.852-854

[3] Delimitation of the Polish-Czechoslovak Frontier, (Question of Jaworzina), December 6, 1923, P.C.I.J.., Series B, No.8 ,pp.32,33

[4] Sandifer, Evidence Before International Tribunals (1939), p. 157, 259

[5] Guenter Weissberg, supra note,, p. 787

[6] See Individual Opinion of Judge Levi Carneiro, para. 20

[7] Dissenting Opinion of Judge Armand-Ugon,p.246-247

[8]The Frontier Dispute, I.C.J. Reports, 1986,para.54

[9] K. Lee, Mapping the Law of Legalizing Maps: The Implications of the Emerging Rule on Map Evidence in International Law, 14 Pacific Rim Law and Policy Journal 159, 2005,p.171

[10] Case Concerning Kasikili/Sedudu Island (Botswana /Namibia), I.C.J. Reports,1999,  para. 84-87

[11] Award of the Arbitral Tribunal in the First Stage of the Proceedings (Territorial Sovereignty and Scope of the Dispute) (1998)

[12] อนุญาโตตุลาการประกอบด้วย Professor Sir Robert Jennings,(President), Judge Stephen Schwebel, Dr. Dhmed SadekEl-Kosheri, Mr.Keith Highet เเละ Judge Rosalyn Higgins

[13] Id.,para.362

[14] Id.,para366,367

[15] Id., para 376,377

[16] Id.,para 388

[17] I.C.J Report Corfu Channel case, 1949, หน้า 51; Durward Sandifer, Evidence before International Tribunals,(USA: University Press of Virginia, 1975)หน้า 346

[18] ดูความเห็นแย้งของผู้พิพากษากินตาน่า หน้า 73

[19] Guenter Weissberg, supra note, pp.799, 803; Sakeus Akweeda, The Legal Significant of Maps in Boundary Questions: A Reappraisal with Particular Emphasis on Namibia, British Yearbook of International Law, 1989,p253;; Hyung K.Lee, supra note,pp.159,188; Keith Highet, supra note, p. 18

[20] Keith Highet, supra note,p. 19

[21] Dissenting Opinion of Judge Spender,p.122

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net