Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา ข่าวชิ้นหนึ่งสร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจระดับโลก เพราะเป็นวันที่ราชินีเบอาทริกซ์ หรือชื่อเต็มว่า เบอาทริกซ์ วิลเฮลมิน่า อาร์มฆาร์ท (Beatrix Wilhelmina Armgard) ในฐานะประมุขของรัฐ (Head of state) ของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (Kingdom of the Netherlands) ประกาศสละราชสมบัติที่ครองมา 33 ปี ตั้งแต่ปีคศ.1980 ให้กับพระโอรสองค์โต วิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ (Willem-Alexander) พระชนมายุ 46 พรรษา ซึ่งเป็นการประกาศแบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนผ่านรายการทางโทรทัศน์ที่ถ่ายทำมาล่วงหน้า ก่อนที่จะถึงวันประสูตรของราชินีเองในวันที่ 31 มกราคมซึ่งมีพระชนมายุ 75 พรรษา โดยราชินีเองยังระบุด้วยว่าปีนี้เป็นในโอกาสที่ดีเพราะเป็นปีที่เนเธอร์แลนด์ครบรอบ 200 ปีที่ประเทศเปลี่ยนจากประเทศสาธาณรัฐ (Dutch Republic) เป็นราชอาณาจักรหรือมีสถาบันกษัตริย์นับจากปี 1814 เป็นต้นมา

 


ราชินีเบอาทริกซ์ในวันที่ประกาศสละราชสมบัติออกรายการโทรทัศน์  
[1]

 

พิธีขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันที่ 30 เมษายนนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเนเธอร์แลนด์ประกาศเป็นวันควีนส์เดย์ (Queen’s Day) หรือ “โกนิงงิ่นเนอะดัค” (Koninginnedag) ในภาษาดัตช์ โดยเป็นวันเฉลิมฉลองวันประสูติของราชินีและเป็นวันหยุดราชการ ความจริงวันที่ 30 เมษายนนั้นไม่ใช่วันประสูติของราชินีเบอาทริกซ์ แต่เป็นวันประสูติของพระมารดาของพระองค์คือราชินียูลิอาน่า (Juliana) แต่พระองค์ยังคงให้ใช้วันนี้แทนวันเกิดของตนเอง เพราะเห็นว่ารูปแบบการเฉลิมฉลองที่ประชาชนมีส่วนร่วมในวันนี้ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมกลางแจ้ง ดังนั้น วันที่ 30 เมษายน ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิจึงเหมาะสมกว่าวันประสูติของพระองค์ที่อยู่ในฤดูหนาว

ด้วยเหตุการณ์ที่น่าสนใจนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงประสบการณ์ขณะที่กำลังศึกษาต่อในประเทศนี้ และต้องอาศัยอยู่จนกว่าจะจบการศึกษา และเมื่อปีที่แล้วก็ได้มีโอกาสสัมผัสกับการเฉลิมฉลองของคนดัตช์ในวันควีนส์เดย์ด้วย เมื่อวันนี้จะเยือนมาอีกครั้งและเป็นการเฉลิมฉลองวันควีนส์เดย์ที่ตรงกับวันที่ 30 เมษายนเป็นปีสุดท้าย เพราะผู้ที่จะมาเป็นประมุขของรัฐคนใหม่เป็นผู้ชาย จึงมีการเปลี่ยนวันเฉลิมฉลองเป็นวันคิงส์ เดย์ (King’s Day) หรือ “โกนิงส์ดัค” (Koningsdag) ในภาษาดัตช์ เนื่องจากเป็นวันประสูติของกษัตริย์องค์ใหม่ซึ่งตรงกับวันที่ 27 เมษายน และจะเริ่มฉลองวันนี้อย่างเป็นทางการในปี 2014 จากจุดนี้ทำให้ผู้เขียนสนใจศึกษาระบบการเมืองการปกครองของประเทศนี้ขึ้นมา โดยเฉพาะบทบาทของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยการอ่านบทความและหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้ ประกอบกับข้อสังเกตบางประการและนำมาเขียนเป็นบทความชิ้นนี้

เนเธอร์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional Monarchy) ซึ่ง Schnabel (2007: 34) เสนอว่า 200 กว่าประเทศในโลกใบนี้ อาจมีเพียงแค่ 10 ประเทศเท่านั้นที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยมันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง ซึ่งจำนวนจะไม่เพิ่มไปมากกว่านี้แน่นอนในศตวรรษที่ 21 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศที่มีสถาบันนี้อยู่จะยังคงอยู่อย่างนี้ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งน่าสนใจตรงที่ว่า หลังจากอ่านงานต่างๆที่พูดเรื่องเหล่านี้ พบว่ากษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์เกี่ยวโยงกับการเมืองของประเทศมาตลอด โดยเฉพาะช่วงที่ราชินีเบอาทริกซ์ขึ้นครองราชย์น ที่สถาบันกษัตริย์มีพัฒนาการอย่างน่าสนใจ คือสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศ แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของอัตลักษณ์ดัตช์ด้วย (Tjeenk Willink 2007:6)

 

จากสาธารณรัฐสู่ระบบราชอาณาจักร

“ในขณะที่ปีหนึ่งๆกำลังผ่านไป ผมพบว่าตนเองนั้นตื่นตาตื่นใจกับประวัติศาสตร์ของประเทศนี้และลักษณะเฉพาะของสังคมการเมืองดัตช์ ที่นี่เรามีประเทศที่ห้องสมุดหลวงมีอายุมากกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ มีประเทศที่เมืองหลวงไม่ใช่ที่ตั้งของรัฐบาล มีระบบที่ฝากรากลึกด้วยร่องรอยของความเป็นสาธารณรัฐ และมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ชาติ” (Ibid: 3)

Tjeenk Willink อดีตนักวิชาการด้านกฎหมาย เคยทั้งทำงานราชการ เป็นหนึ่งในทีมผู้อาวุโสพรรคแรงงานของเนเธอร์แลนด์ และรองประธานการจัดงานเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบรอบ 25 ปีของราชินีเบอาทริกซ์ (The 25th jubilee of Queen Beatrix) กล่าวขึ้นต้นบทความของเขาอย่างน่าสนใจ พร้อมกับแสดงอาการรำคาญกับลักษณะเหล่านี้ของประเทศเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่สนใจประวัติศาสตร์และสถาบันสาธารณะต่างๆ ไม่ต่างอะไรกับการขับรถโดยไม่มีกระจกมองหลัง ซึ่งอันตรายมากสำหรับคนขับ และจะอันตรายยิ่งขึ้นเมื่อสถานการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์ที่คนมีความเห็นที่หลากหลายต่ออดีตอันสามัญของพวกเขา (ibid.)

จากประวัติศาสตร์ น่าสนใจว่าเนเธอร์แลนด์ไม่ใช่ประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดมาก่อน ประเทศนี้สร้างความเป็นรัฐในปี 1579 ซึ่งเป็นรวมตัวกันต่อสู้ของกลุ่มคนในประเทศต่ำ (Low countries) เพื่อเป็นอิสระจากสเปนจนได้รับเอกราชในปีถัดมา ทำให้เนเธอร์แลนด์พัฒนารูปแบบเป็นสาธารณรัฐที่มีทั้งหมด 7 แคว้นตั้งแต่ช่วงปี 1579-1795 โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญของการทำหน้าที่รัฐบาลคือสภาฐานันดร (States-General) และมีผู้นำหรือผู้ครองเมือง (Stadholder) ทำหน้าที่คล้ายกับกษัตริย์ทั้งด้านการเมืองและการทหาร และทำหน้าที่ตามคำแนะนำหรือความเห็นของผู้นำในแคว้นต่างๆ หลังจากนั้นในปี 1795 เกิดปฏิวัติแบบไม่รุนแรงต่อต้านระบบขุนนาง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติฝรั่งเศสในช่วงนั้น ทำให้เนเธอร์แลนด์กลายเป็นรัฐเดี่ยว (Unitary state) แคว้นต่างๆถูกริดลอนอำนาจ แต่ระบบนี้ก็สิ้นสุดในปี 1908 เมื่อหลุยส์ นโปเลียน โบนาพาร์ท (Louis Napoléon Bonaparte) แห่งฝรั่งเศสเข้ามายึดครอง และปกครองเนเธอร์แลนด์ในฐานะ “สาธารณรัฐบาตาเวียน” (Batavian Republic) และต่อมาสาธารณรัฐปาตาเวียนได้ถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรฝรั่งเศสในปี 1810 ในระหว่างปี 1812-1813 ฝรั่งเศสไม่สามารถควบคุมเนเธอร์แลนด์ได้อีก อันเนื่องจากขบวนการเสรีของดัตช์ที่ต้องการปกครองตนเอง และในที่สุดฝ่ายดัตช์ก็ได้รับชัยชนะ ในปี 1814 ได้มีการเชิญให้ Willem Frederik van Orange-Nassau ลูกชายของผู้นำคนสุดท้ายก่อนที่จะถูกฝรั่งเศสครองมาเป็นผู้นำคนใหม่ในฐานะ “องค์อธิปัตย์” (Sovereign Prince) ภายหลังได้เปลี่ยนสถานะเป็นกษัตริย์ ขณะเดียวกันก็ได้เปลี่ยนชื่อจากสาธารณัฐปาตาเวียนเป็นราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (Kingdom of the Netherlands) (Willem Sap: 2010:5-6)

ประเทศเนเธอร์แลนด์จึงเป็นประเทศที่แปลกตรงที่เป็นประเทศสาธารณรัฐแล้วกลายเป็นประเทศที่เป็นราชอาณาจักรโดยมีกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งในขณะนั้นถือว่าสวนทางกับประเทศมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสที่ปฏิวัติจากประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประเทศสาธารณรัฐ เนเธอร์แลนด์จึงมีระบบกษัตริย์ที่มีอายุน้อยมาก ถึงปัจจุบันมีอายุเพียง 200 ปีเท่านั้น กรณีของเนเธอร์แลนด์ สถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นจากการปฏิวัติก่อนหน้าที่ทำให้กลายเป็นรัฐเดี่ยว และผู้นำไม่ได้เติบโตมาจากระบบฟิวดัล (Feudal) แต่สังคมดัตช์ดั้งเดิมก่อร่างจากสังคมชนชั้นกระฎุมพี (Von Der Dunk 2007: 86) กระทั่งทุกวันนี้คนดัตช์เองก็มองสังคมดั้งเดิมของตนเองแบบประชดประชันว่าก่อร่างสร้างตัวมาจากความเป็น “นักเทศน์-พ่อค้า” (Preacher-Merchant) ด้วยความที่ร่ำรวยจากการค้าทางทะเล หรือระบบตลาดโลกาภิวัฒน์ ดังนั้นในสมองจึงคิดแต่กำไร แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามที่จะปรับตัวเองให้เข้าคุณค่าและคุณธรรมที่ดำรงอยู่ (Tjeenk Willink 2007: 6)

 

สถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ

ในหนังสือ “ราชินี นักประชานิยม และคนอื่นๆ” (The Queen, the Populists and the Others) เขียนโดยยาน วิลเลิม ซาป (Jan Willem Sap) นักกฎหมายมหาวิทยาฟรีอัมสเตอร์ดัม (Vrije Universiteit Amsterdam) ได้เขียนสรุปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยสถาบันกษัติย์ และความสัมพันธ์ของกษัตริย์ไว้เพื่อให้ชาวต่างชาติที่สนใจการเมืองเนเธอร์แลนด์ได้เข้าใจได้อย่างกระชับและได้ใจความ ซึ่งผู้เขียนขอสรุปจากหนังสือเล่มดังกล่าวดังนี้

ปัจจุบัน กษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์นั้นมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ คือใครจะเป็นกษัตริย์ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา การขึ้นดำรงตำแหน่งกษัตริย์ของประเทศเนเธอร์แลนด์จึงไม่ได้อยู่บนแนวคิดการประกอบพิธีราชาภิเษก (Being crowned) ที่ยึดโยงกับหลักศาสนา แต่เป็นการมอบตำแหน่งที่มีเกียรติให้ (Being invested) ซึ่งเป็นพิธีกรรมทางโลก [2]  ดังนั้น กษัตริย์จึงไม่ได้มีฐานะเป็นสมมติเทพหรือเทพประทาน (Grace of God) เพราะเนเธอร์แลนด์ไม่เคยมีการปกครองแบบสมบุรณาญาสิทธิราช (Absolute Monarchy) มาก่อน (Instituut voor Publiek en Politiek 2005: 5) พิธีมอบตำแหน่งให้กับกษัตริย์นั้นส่วนใหญ่จัดขึ้นที่กรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของประเทศ โดยกษัตริย์ต้องพิธีสาบานตนว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆของราชอาณาจักร

หน้าที่ของกษัตริย์ที่ระบุในรัฐธรรมนูญคือเปิดประชุมสภา เป็นประธานการประชุมของสภารัฐมนตรี (Council of Ministers) ซึ่งเป็นองค์กรทำหน้าที่ออกพระราชบัญบัติและกฎหมายต่างๆ ลงนามในการออกกฎหมาย และเป็นผู้นำในการต้อนรับผู้นำหรือคณะทูตจากประเทศต่างๆ และทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศในต่างแดน บทบาทอันหนึ่งที่น่าสนใจคือมีส่วนในการเลือกสรรบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือ Formateur ระบบธรรมภิบาลของเนเธอร์แลนด์จึงอยู่ในกำกับของรัฐบาลด้วย ไม่ใช่ตัวกษัตริย์เพียงคนเดียว แต่เป็นกษัตริย์ทำงานร่วมกับสภารัฐมนตรี

เนื้อหาที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ที่ประเทศเปลี่ยนจากสาธารณรัฐเป็นราชอาณาจักรในปี 1814 และมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขเรื่อยมาหลายครั้ง รัฐธรรมนูญปี 1848 ระบุชัดเจนถึงสถานะกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญในฐานะประมุขของรัฐ (Head of state) และระบุว่ากษัตริย์จะล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญไม่ได้ และต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ Second Chamber of Parliament แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ระบุให้มีการเสนอการอภิปรายไม่ไว้วางใจ (Motion of confidence) จึงทำให้สถาบันกษัตริย์เนเธอร์แลนด์ยังอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะในตอนนั้นกษัตริย์วิลเลิมที่ 2 (King Willem II) ตัดสินใจลาออกจากการเป็นกษัตริย์ระหว่างปี 1940-1949 ซึ่งเป็นที่ประทับใจมากท่ามกลางกระแสการปฏิวัติประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นทั่วยุโรป เป็นผลให้กษัตริย์วิลเลิมที่ 3 ครองราชย์ต่อมาในช่วงปี 1949 ถึง 1890 ช่วงนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตรย์และสภาผู้แทนฯถือว่าตกต่ำ สภาฯจึงต้องการคุมอำนาจโดยการเปลี่ยนระบบจากประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มาเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขพร้อมด้วยระบบรัฐสภา (constitutional monarchy with a parliamentary system) และเสนอให้มีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจกษัตริย์ได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

การครองราชสมบัติและสละราชสมบัติ

รัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์ปี 1887 นั้นประกาศให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศได้ ในกรณีที่ไม่มีทายาทฝ่ายชายที่สืบเชื้อสายโดยตรงของกษัตริย์วิลเลิมที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์ออรานเยอ-นาเซา (Oranje-Nasau) และสามารถสรรหาจากผู้สืบเชื้อสายของเจาหญิงของราชวงศ์ออรานเยอ-นาเซา หรือถ้ายังไม่มีผู้สืบทอดอีกก็ให้สรรหาจากพี่น้องคนถัดจากเจ้าหญิงลงไป กรณีราชินีวิลเฮลมีนา (Wilhelmina) ถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ขึ้นครองราชย์ในราชวงศ์ออรานเยอ ซึ่งเป็นการสืบทอดจากพ่อของเธอคือกษัตริย์วิลเลิมที่ 1 และราชินีวิลเฮลมีนาก็มีพระธิดาองค์เดียวคือราชินียูลีอานา (Juliana) ตอนนั้นมีแนวโน้มแล้วว่าคนที่จะสืบราชสมบัติต่อคือผู้หญิงอีก ทำให้ในปี 1922 เกิดความคิดที่จะจำกัดไม่ให้มีการสืบรัชทายาทผ่านสายผู้หญิง ส่วนญาติฝ่ายราชินีวิลเฮลมีนาเองก็ถูกห้ามไม่ให้สืบราชบัลลังก์ต่อเช่นกัน แต่ต่อมาในปี 1963 กฎนี้ก็ถูกยกเลิกไป ผู้หญิงกลับมาสืบราชสมบัติได้อีก และในปี 1983 แนวคิดให้ผู้ชายได้รับการสรรหาก่อนผู้หญิงก็ยกเลิกตามมา การขึ้นมาครองราชย์ของเจ้าชายวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ในปี 2013 นี้จึงเป็นการให้ผู้ชายขึ้นมาเป็นกษัตริย์หลังจากที่เนเธอร์แลดน์มีผู้หญิงครองราชย์มา 123 ปี

ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังระบุไว้ในมาตรา 28 ว่าหากกษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ที่อยู่ในสายที่จะสืบทอดราชสมบัติแต่งงานโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากกฎหมายของรัฐสภา ให้ถือว่ากษัตริย์พระองค์นั้นสละราชสมบัติไปโดยปริยาย ซึ่งกรณีนี้จะมีการจัดประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่ กรณีนี้เกิดขึ้นมาแล้วในกรณีของเจ้าชายโยฮัน ฟริโซ (Johan Friso) พระโอรสองค์ที่สองของราชินีเบอาทริกซ์ ซึ่งต้องการแต่งงานกับ มาเบิล วิสเซ สมิท (Mabel Wisse Smit) ซึ่งพบภายหลังว่ามีความสนิทคุ้นเคยกับนักค้ายาเสพติดรายหนึ่ง ทำให้ในเดือนตุลาคม 2003 นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นในฐานะประธานสภาฐานันดร (States-General) ประกาศไม่อนุมัติคำร้องขอแต่งงานของทั้งสอง โยฮัน ฟริโซต้องสละสิทธิ์ในการสืบราชสมบัติ ปัจจุบันเขาไม่ใช่สมาชิกของพระราชวังแต่ยังถือว่าเป็นสมาชิกของเชื้อพระวงศ์อยู่ แต่มีการวิเคราะห์ภายหลังว่าการพิจารณาครั้งนั้นอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ไม่เที่ยงตรง

ส่วนการสละราชสมบัติของกษัตริย์ระบุไว้ในมาตรา 27 ว่ากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ไม่สามารถสละราชสมบัติล่วงหน้า ราชินีวิลเฮลมีนาสละราชสมบัติขณะที่มีอายุ 68 ปี ราชินียูลีอานาเมื่ออายุ 71 ปี และล่าสุดราชินีเบอาทริกซ์เมื่ออายุ 75 ปี โดยที่ราชินีเบทริกซ์เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าจะไม่สละราชสมบัติเร็วเกินไป เพราะต้องการให้เจ้าชายวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ และเจ้าหญิงแม็กซิมา ซอร์เรกีเอต้า (Máxima Zorreguieta) พระชายา ได้มีโอกาสใช้เวลากับครอบครัวให้เพียงพอ (Willem Sap: 2010: 27) การสละราชสมบัติของกษัตริย์เนเธอร์แลนด์ถือว่าเป็นประเพณีที่แตกต่างจากอังกฤษ เพราะมีการถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยราชินีวิลเฮลมีน่า และการสละราชสมบัติก็ต้องได้รับการอนุมติจากคณะรัฐมนตรีเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ผู้สืบทอดราชสมบัติถูกพิจาณาให้พ้นออกจากตำแหน่งได้ โดยรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ 3 กรณี 1.ผู้นั้นอายุยังไม่ถึง 18 ปี 2.เมื่อสภารัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้นั้นไม่สามารถใช้อำนาจของกษัตริย์ได้ โดยต้องมีการรายงานการพิจารณาตรงนี้ไปยังสภาฐานันดร ซึ่งต้องได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการกฤษฎีกา (Council of states) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาของรัฐบาลเสียก่อน โดยสภาฐานันดรต้องเปิดประชุมและต้องมีการแจกจ่ายรายงานของสภารัฐมนตรีเพื่อการพิจารณา การแถลงรายงานดังกล่าวทำโดยประธานของที่ประชุมและมีผลทันที ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะเพื่อรองรับผลตรงนี้ แต่ต้องมีกฎหมายรองรับหากต้องการเปลี่ยนแปลงคำแถลงกรณีที่กษัตริย์องค์นั้นจะกลับมาดำรงตำแหน่งอีก กรณีที่กษัตริย์เจ็บป่วยหรือหายตัวไปเป็นระยะเวลานานนำไปสู่การประกาศให้พ้นออกจากตำแหน่งได้เช่นกัน ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ เมื่อกษัตริย์วิลเลิมที่ 3 ล้มป่วยในปี 1889 และ 1890 และ 3.กษัตริย์สามารถที่จะสละอำนาจของกษัตริย์เป็นการชั่วคราวและกลับมาใช้อำนาจใหม่ได้ โดยที่สภาฐานันดรจะเป็นผู้ตัดสินใจในที่ประชุม กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกับราชินีวิลเฮลมีน่าที่อาการป่วยนำไปสู่การที่อำนาจของกษัตริย์ถูกเพิกถอน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่มีผลในทางปฏิบัติในวันที่ 10 ตุลาคม 1947

และมาตรา 38 ระบุว่ากรณีที่ไม่มีกษัตริย์ อำนาจของกษัตริย์จะอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่มาตรานี้ยังมีข้อถกเถียงตรงที่ว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินในกรณีดังกล่าวว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะต้องปฏิบัติหน้าที่แทนกษัตริย์ ซึ่งอนุมานกันว่าหน้าที่ตกอยู่กับสภารัฐมนตรีโดยการปรึกษาหารือกับสภาฐานันดร ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เพราะกษัตริย์ถือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ซึ่งประเด็นนี้จะอธิบายในส่วนต่อไป

 

สถาบันกษัตรย์กับการเมือง

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่ากษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์มีบทบาทหน้าที่ในการสรรหาผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี (Formateur) และคนสรรหานายกรัฐมนตรีหรือพิจารณาการจัดตั้งรัฐบาล (Informateur) ที่ทำหน้าที่ควบคู่กับกษัตริย์ นอกจากนี้ กษัตริย์เนเธอร์แลนด์ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่ประกอบด้วยกษัตริย์และรัฐมนตรีหนึ่งคนเป็นต้นไปเพื่อสร้างอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยกษัตริย์มีสถานะเป็นประมุขของรัฐ ตรงนี้ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแต่มีการปฏิบัติเป็นประเพณีมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ (Willem Sap: 2010: 20) ซึ่งตรงนี้เป็นจุดบอดของกฎหมายรัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์ บทบาทที่ลักลั่นนี้ปรากฏชัดในโอกาสที่ราชินีเบอาทริกซ์ต้องทำหน้าที่ในวันกล่าวพระราชดำรัสของราชินี (Queen’s speech Day) หรือ Prinsjesdag ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในวันอังคารที่สามของเดือนกันยายน ซึ่งเป็นการกล่าวข้อความจากกษัตริย์ที่ร่างขึ้นร่วมกับการกล่าวนโยบายของรัฐบาลก่อนที่จะมีการเปิดประชุมรัฐสภา ซึ่งหน้าที่ตรงนี้ระบุในมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญ

บทบาทในการเป็นประมุขของรัฐนี้ค่อนข้างขัดกับสิ่งที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า “สถาบันกษัตริย์คืออะไหล่ที่อยู่หลังระบบ” (Engine behinds the system) (Willem Sap 2010: 19) เช่นมาตรา 42 ว่าด้วยการไม่ก้าวล่วงทางการเมืองของกษัตริย์ ความเห็นของกษัตริย์ต้องเก็บเอาไว้เป็นความลับ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว กษัตริย์ถือว่ามีอำนาจในฐานะที่เป็นสวนหนึ่งของรัฐบาล เพียงแต่ต้องอยู่หลังประตูที่ถูกปิดไว้  ในทางปฏิบัติกษัตริย์ดัตช์มีการประชุมประจำสัปดาห์ร่วมกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ในขณะเดียวกันมีกฎที่ไม่ได้เขียนเอาไว้ว่า รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบกรณีที่หน้าที่ของตัวแทนและการกระทำอื่นๆของกษัตริย์นั้นส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ ด้วยมาตรานี้จึงส่งผลให้รัฐมนตรีต่างๆไม่สามารถปกป้องนโยบายของรัฐบาลด้วยการอ้างว่าเป็นแนวคิดของราชินีโดยเด็ดขาด ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบต่อนโยบายทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ความรับผิดชอบรวมไปถึงการกระทำที่เป็นส่วนตัวของเชื้อพระวงศ์ด้วย 

บทบาทของสถาบันกษัตริย์จะอ่อนแอลงก็ต่อเมื่ออำนาจของสภาผู้แทนราษฎรเข้มแข้ง ในทางปฏิบัติการทำงานของสถาบันกษัตริย์และรัฐสภามีการถ่วงดุลกันตลอด หากเกิดปัญหาขึ้นระหว่างสองสถาบัน การณ์จะเป็นลักษณะที่ว่ารัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีลาออก เช่นเดียวกัน กษัตริย์สามารถที่จะได้รับการประกาศว่าขาดศักยภาพในการบริหารอำนาจของกษัตริย์ได้ ซึ่งเพื่อเป็นการสืบทอดราชวงศ์ให้อยู่ต่อไป ทำให้กษัตริย์ต้องพยายามที่จะทำตามเจตนารมย์ของคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเมืองรัฐสภา แต่ก็ยังมีช่องทางที่ราชินีสามารถที่จะมีอิทธิพลต่อนโยบายของประเทศได้เช่นกัน (Willem Sap 2010:38-39)

การสร้างสมดุลทางอำนาจระหว่างกษัตริย์และรัฐสภานั้น มีให้เห็นเป็นตัวอย่างเมื่อเจ้าชายวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ต้องการแต่งงานกับแม็กซิมา ซอร์เรกีเอต้า ในปี 2002 ซึ่งสาธารณะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเข้มข้นถึวความเหมาะสม เนื่องจากบิดาของแม็กซิมา เป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรสมัยเผด็จการนายพลจอร์จ ราฟาเอล ฟิเดลา (Jorge Rafael Videla) ที่ยึดครองอำนาจประเทศอาเจนตินา ช่วงทศวรรษ 1970 และทำให้เกิดการฆ่าผู้คนตายถึง 30,000 คน ในที่สุดปัญหาของเรื่องนี้จบลงตรงที่บางส่วนของคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ทั้งสองเข้าพิธีสมรสได้ภายใต้ในเงื่อนไขที่ว่าบิดาของแม็กซิมาต้องไม่ปรากฏตัวในพิธีสมรส (Willem Sap 2010: 30)

ในทางกลับกัน ราชินีเบอาทริกซ์ก็เข้ามามีอิทธิพลในทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดและสาธารณชนก็รับรู้ ล่าสุดมื่อสมัยเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2010 ซึ่งเกียท วิลเดอรส์ (Geert Wilders) ผู้นำพรรคการเมืองเพื่อเสรีภาพ (Partij voor de Vrijheid – PVV) ที่ชูจุดยืนเรื่องการลดอาชญากรรมด้วยการลดจำนวนคนเข้าเมือง (Immigrants) และลดความสำคัญของความเป็นอิสลาม ซึ่งเกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่าในการเลือกตั้งครั้งนั้นมีผู้ให้การสนับสนุนพรรคของวิลเดอร์มากขึ้นกว่าการเลือกตั้งในปี 2006 โดยได้รับการเลือกตั้งถึง 24 ที่นั่งจากทั้งหมด 150 ที่นั่งของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแม้จะไม่ใช่พรรคที่มีเสียงมากที่สุด แต่ก็ถือว่าได้รับชัยชนะมากที่สุด เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ที่พรรคนี้ได้รับเลือกเพียง 9 ที่นั่ง ในขณะนั้นพรรคที่ได้รับเลือกตั้งสูงสุดคือพรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย (Volkspartij voor Vrijheid en Democratie - VVD ) ที่ได้ 31 ที่นั่ง ตามด้วยพรรคแรงงาน (Partij van de Arbeid-PvdA) ที่ได้ 30 ที่นั่ง ตอนนั้นพรรคของวิลเดอร์ซึ่งได้อันดับสามสามารถต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้

แต่เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าราชินีเบอาทริกซ์ไม่นิยมชมชมในตัววิลเดอร์เพราะไม่ต้องการให้แนวคิดอนุรักษ์นิยม ขวาสุดโต่งของเขาเข้ามาครอบงำรัฐบาล ก่อนหน้านี้ราชินีเบอาทริกซ์มักแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในกรณีที่ให้เคารพความแตกต่างของสังคมที่เต็มไปด้วยชนกลุ่มน้อย รวมทั้งกรณีที่ประชาชนต่อต้านการแต่งงานของวิลเลม-อเล็กซานเดอร์กับแม็กซิมา พระองค์เองก็ได้ย้ำแนวคิดนี้อีกครั้งหนึ่ง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ราชินีแสดงความจำนงอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการให้พรรคของวิลเดอร์เข้าร่วมรัฐบาลผสม ถึงขั้นมีข่าวลือเป็นเดือนๆว่าราชินีเลื่อนการสละราชสมบัติออกไปเพื่อให้การเลือกตั้งปี 2010 ผ่านไปเสียก่อน เพราะต้องการดับความทะเยอทะยานของวิลเดอร์ที่จะเป็นรัฐบาล กรณีนี้ทำให้เกิดความไม่พอในอย่างมากทั้งวิลเดอร์เองและนักกฎหมายในแง่ที่ว่าราชินีเข้ามาขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาล และสกัดกั้นไม่ให้วิลเดอร์เป็นพรรคหนึ่งที่จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าไม่เคารพในการตัดสินใจของประชาชนที่เลือกพรรคของวิลเดอร์

การเมืองของเนเธอร์แลนด์น่าสนใจตรงที่ว่า ไม่จำเป็นเสมอไปที่พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดจะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล บางครั้งเสียงที่ประชาชนออกมาเลือกนั้นไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของพวกเขาแม้ว่าพรรคที่เลือกจะได้รับเสียงข้างมาก เพราะการเจรจาต่อรองนั้นเกิดขึ้นและก็เป็นความลับจนหาร่องรอยของผลการเจรจาแทบไม่ได้ก็มี การจัดตั้งรัฐบาลในปี 2010 วุ่นวายมากเพราะพรรคที่ได้รับเลือกตั้งสูงสุดอย่างพรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยปฏิเสธที่จัดตั้งรัฐบาลกับพรรคแรงงานเพราะต้องการจัดตั้งรัฐบาลที่ออกไปทางซ้ายเสรีนิยม แต่ก็ลงตัวตรงที่ราชินีเบอาทริกซ์ขอให้มาร์ค รุทเท (Mark Rutte) หัวหน้าพรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ยอมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอุทธรณ์ประชาธิปไตยคริสเตียน (Christen-Democratisch Appèl-CDA) ซึ่งเป็นพรรคที่อนุรักษ์นิยมเหมือนกัน แต่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคของวิลเดอร์ ทำให้รัฐบาลมีลักษณะเป็นกลาง คือไม่ซ้ายหรือขวาจัด (Willem Sap 2010: 53-56) ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็ทำให้เห็นบทบาทของราชินีที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะมีการวิเคราะห์ว่าเป็นการสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาลและประเทศก็ตาม 

แต่ในเดือนเมษายน 2012 มาร์ค รุทเท ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อราชินีเบอาทริกซ์ เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาด้านงบประมาณให้เป็นไปตามเกณฑ์ของสหภาพยุโรป [3]  แต่ รุทเทก็ได้ชัยชนะอีกครั้งจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2012 คราวนี้พรรคฝ่ายซ้ายหรือเสรีนิยมของนายรุทเทได้คะแนนท่วมท้นถึง 41 ที่นั่ง ตามด้วยพรรคแรงงานที่ได้ 39 ที่นั่ง รวมที่นั่งของทั้งสองพรรคอยู่ที่ 80 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้การจัดตั้งรัฐบาลผสมไม่ต้องใช้เวลามากเหมือนการเลือกตั้งปี 2010 ส่วนพรรคของวิลเดอร์กลับคะแนนตกเหลือเพียง 15 ที่นั่งจาก 24 ที่นั่งในการเลือกตั้งเมื่อปี 2010 ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าคนดัตช์ไม่เอานโยบายสุดโต่งที่ต่อต้านมุสลิมและการรวมตัวกันของประเทศยุโรปของนายเกียรท์ นอกจากนี้เห็นว่าคนดัตช์เบื่อหน่ายกับผลการเลือกตั้งที่เอียงไปฝ่ายซ้ายหรือขวาอย่างชัดเจนเพียงฝ่ายเดียว และไม่ต้องการผลการเลือกตั้งที่มีคะแนนสูสีจนทำให้เกิดการต่อรองเจรจาในการจัดตั้งรัฐบาลเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา  [4]

 

การเฉลิมฉลองวันควีนส์เดย์

ราชินีเบอาทริกซ์กำลังจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของวันควีนส์เดย์ที่ตรงกับวันที่ 30 เมษายนเป็นปีสุดท้าย วันเกิดของราชินีในความหมายนี้ทำให้ความเป็นตัวตนแยกออกจากราชราชสำนัก และวันนี้ผู้คนก็จะใส่เสื้อสีส้มฉลองกันทั่วประเทศ เพราะสีส้มซึ่งเป็นสีประจำราชวงศ์ออรานเยอ-นาเซา (Oranje-Nasau) (oranje แปลว่าส้มในภาษาดัตช์) สีส้มของราชวงศ์เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของประชาชนไปแล้ว (Schnabel 2007: 34) ขณะที่วิเคราะห์ว่าสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์เนเธอร์แลนด์นั้นถือว่าเชื่อมโยงกับสัญลักษณ์ชาติที่แน่นแฟ้นที่สุดในบรรดาประเทศในยุโรป (Blockmans 2007: 131)

วันควีนส์เดย์นั้นเฉลิมฉลองกันมายาวนาน โดยงานศึกษาของ Komter (2007) ได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจถึงระยะห่างและความใกล้ชิดของสถาบันกษัตริย์และประชาชนผ่านพิธีกรรม โดยส่วนหนึ่งได้วิเคราะห์การเฉลิมฉลองวันควีนส์เดย์ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากอดีตถึงปัจจุบันอย่างน่าสนใจ การฉลองวันควีนส์เดย์นั้นเริ่มมีตั้งแต่สมัยที่ราชินีวิลเฮลมีน่า ในปี 1885 แต่ขณะนั้นยังเป็นประเพณีการเฉลิมของวันเจ้าหญิง (Princess Day) เพื่อให้เกิดการสืบต่อจากการเฉลิมฉลองวันเกิดของกษัตริย์วิลเลมที่ 1 ผู้เป็นพ่อ ซึ่งตอนนั้นประชาชนพยายามจัดกิจกรรมรื่นเริง ทั้งการเดินพาเหรด เล่นเกม แสดงดนตรี และจุดดอกไม้ไฟ เพื่อเป็นเกียรติแก่กษัตริย์ ในขณะนั้น ผู้ที่เป็นกษัตริย์ไม่ได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์หรือส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองนี้ ถือเป็นการเฉลิมฉลองที่จัดขึ้นโดยประชาชนเพียงฝ่ายเดียว ความใกล้ชิดระหว่างกษัตริย์และประชาชนยังมีไม่มากนัก รูปแบบเริ่มเปลี่ยนไปในสมัยราชินียูลีอานา ที่สมาชิกเชื้อพระวงศ์ทั้งหมดมารวมตัวกันที่ขั้นบันไดของพระราชวัง Soesdijk และมารับพระราชทานของที่ระลึกจากประชาชน ซึ่งระยะห่างระหว่างสถาบันกับประชาชนอาจมีน้อยลงในสมัยนี้ (Komter.2007: 63-64)

รูปแบบนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในยุคของราชินีเบอาทริกซ์ เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่ประชาชนจะเป็นคนไปเข้าเฝ้ากษัตริย์ แต่สมัยราชินีเบอาทริกซ์เป็นลักษณะที่กษัตริย์ไปหาประชาชน โดยราชินีเบอาทริกซ์มีกำหนดการเดินทางไปยังเมืองต่างๆในแคว้นต่างๆทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเลือกเดินทางไปอย่างน้อย 2 เมืองในแต่ละปี โดยประเพณีปฏิบัตินี้เริ่มขึ้นในปี 1981 ประชาชนในเมืองที่ราชินีเสด็จเยือนก็ต้องเตรียมการต้อนรับเพื่อทำให้วันนี้เป็นวันที่รื่นเริงของกษัตริย์ที่สุดด้วย ราชินีร่วมร้องเพลง เต้นรำ หรือทำกิจกรรมอื่นๆร่วมกับประชาชน ขณะที่เจ้าหญิงและเจ้าชายองค์อื่นๆก็ร่วมกิจกรรมด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่น่าประทับใจสำหรับประชาชนคือเจ้าชายเมาริทซ์ (Maurits) ได้ร่วมรีดนมแพะด้วยมือกับชาวบ้าน กลายเป็นว่าประชาชนไม่ได้ถวายอะไรกับกษัตริย์เพียงอย่างเดียว แต่กษัตริย์กลับต้องเป็นผู้ให้คืนด้วย เป็นลักษณะการให้ต่างตอบแทน (reciprocal relationship) ทำให้เกิดความผูกพันและสร้างเงื่อนไขข้อตกลงขึ้น (ibid.)

นี่คือการวิเคราะห์ของนักวิชาการที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการเฉลิมฉลองวันควีนส์เดย์ที่เปลี่ยนไป และซ่อนนัยยะของความห่างและใกล้ชิดของสถาบันกษัตริย์และประชาชนเอาไว้ ส่วนตัวผู้เขียนเองนั้นขอเล่าประสบการณ์สั้นๆที่ได้มีโอกาสร่วมฉลองวันดังกล่าวปี 2012 ที่อัมสเตอร์ดัมซึ่งเป็นเมืองที่ผู้เขียนอยู่ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสเห็นการเฉลิมฉลองวันเกิดของกษัตริย์ที่ได้เห็นบรรยากาศบ้าบอ (crazy) ของคนดัตช์มากที่สุด เพราะไม่มีพิธีเกี่ยวกับราชวังมากมายนัก คนดัตช์เองก็เหมือนทำกิจกรรมสนุกสนานกลางแจ้ง กิน เล่น เต้น ร้องเพลง ดื่มแอลกอฮอล์และเมากันอย่างคึกคัก แต่ที่เห็นชัดคือทุกคนจะพร้อมใจกันใส่เสื้อสีส้มกันเต็มเมือง พร้อมอุปกรณ์ตกแต่งอย่างวิกผม แว่นตา หรือของบรรดามีที่พร้อมจะทำให้เกิดความบ้าบอมากกว่าจะเคร่งขรึมสำรวม อย่างไรก็ตาม มีบ้างบางคนที่ปฏิเสธจะใส่เสื้อสีส้มเพื่อแสดงอัตลักษณ์ดัชต์ เพื่อนของผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาบอกกับผู้เขียนถึงเหตุผลที่ไม่ใส่เสื้อสีส้มในโอกาสนี้ว่า “เพราะสีส้มเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งฉันไม่ต้องการที่จะแสดงตรงนี้เชื่อมโยงตนเองเข้ากับสถาบัน”

 


บรรยากาศเฉลิมฉลองวันควีนส์เดย์ในคลองอัมสเตอร์ดัมปี 2012 (ภาพโดย: บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล)

 

อีกบรรยากาศที่น่าสนใจคือ แม้จะเป็นวันเกิดของราชินี แต่ประชาชนก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือล้อเลียนราชินีได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรตราบใดที่ไม่เข้าข่ายข้อหาหมิ่นประมาท เช่น ตัวอย่างโปสเตอร์ที่ล้อเลียนราชินีด้วยการทำเป็นโฆษณาการแสดงเรื่อง “God Save the Queen” ดังภาพข้างล่าง

 


ภาพโดย: บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล

 

ส่วนอีกภาพเป็นบรรยากาศล้อเลียนราชินีเบอาทริกซ์ โดยคนในรูปที่ยืนหลังป้ายคัทเอาต์ที่เขียนชื่อของราชินีไว้ ข้างหลังเป็นรูปวาดของราชินีเหมือนนั่งชมเกมนี้อยู่ ส่วนที่พื้นตรงบริเวณพรมแดงเขียนเป็นภาษาอังกฤษที่แปลเป็นไทยได้ว่า “เชิญเข้ามาชมกษัตริย์รอยสัก” ผู้ชายในภาพชวนคนที่เดินผ่านไปมาบนท้องถนนเล่นเกมด้วยการให้ปาไข่ให้โดนส่วนใบหน้าของเขา จะเห็นว่าในภาพเขาโดนไข่ปาใส่หน้าอย่างจัง และที่พื้นก็เต็มไปด้วยเปลือกไข่และคราบไข่ที่แตกแล้วเต็มไปหมด จะเห็นว่าคนสร้างเกมนี้ให้เป็นความสนุกสนาน ซึ่งคนดัตช์สามารถทำได้อย่างเปิดเผยโดยไม่ผิดกฎหมายใดๆเลย และคนที่เข้าร่วมก็ร่วมเล่นเกมอย่างครึกครื้นได้อย่างไม่มีปัญหาเช่นกัน

 

สถาบันที่แตะต้อง-วิพากษ์วิจารณ์ได้

ดังที่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์นั้นทำได้ภายใต้กฎหมายที่กำหนดไว้ เนเธอร์แลนด์ไม่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีเพียงกฎหมายหมิ่นประมาทที่ใช้กับคนที่ทำผิดกฎหมายอาญา ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2003 ที่มีคนสองคนหมิ่นประมาทเจ้าชายวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ และเจ้าหญิงแม็กซิมา และอีกคนหนึ่งทำพลการด้วยการเอาสีไปทารถม้าที่ใช้ในงานเฉลิมฉลองอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์ ทั้งสองกรณีนั้นผู้กระทำผิดต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 250 ยูโร และอีกกรณีในปี 2007 ศาลอัมสเตอร์ดัมได้ตัดสินให้ชายคนหนึ่งผิดด้วยข้อหาหมิ่นประมาทราชินีและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้วยการจ่ายค่าปรับจำนวน 400 ยูโร และถูกจำคุกเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทนั้นระบุไว้ในกฎหมายอาญาตั้งแต่ปี 1881 โดยมีโทษสูงสุดในข้อหาหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์คือจำคุก 5 ปี ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้บนพื้นฐานของเสรีภาพของการแสดงออก (Free speech) ที่เห็นว่าโทษนี้มากเกินไปเมื่อเทียบกับโทษสูงสุด 2 ปี ที่เป็นการหมิ่นประมาทระหว่างประชาชนเอง

แล้ววิพากษ์วิจารณ์อะไรได้บ้าง เรื่องหนึ่งคือการใช้เงินงบประมาณของราชินีและสมาชิกบางพระองค์ ในรัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์และพระราชบัญญัติการเงินของราชวัง (Royal House Finance Act) ระบุว่างบประมาณส่วนนี้จ่ายโดยตรงต่อราชินีเบอาทริกซ์ เจ้าชายวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ และพระชายา เจ้าหญิงแมกซิมา ขณะที่เชื้อพระวงศ์องค์อื่นๆไม่ได้รับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โดยค่าใช้จ่ายแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.ส่วนที่เกี่ยวกับพนักงานของราชวัง 2.ส่วนที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ และ 3.ส่วนที่เกี่ยวกับรายได้ของทั้งสามพระองค์ โดยที่ทั้งสามไม่ต้องเสียภาษีจากรายได้ในส่วนนี้ ตารางข้างล่างแสดงค่าใช้จ่ายประเมินค่าของทั้งสามพระองค์ในปี 2008

 

ผู้รับ ค่าใช้จ่ายส่วนที่1
(พันยูโร)
ค่าใช้จ่ายส่วนที่2
(พันยูโร)
ค่าใช้จ่ายส่วนที่3
(พันยูโร)
รวม
(พันยูโร)
ราชินีเบอาทริกซ์ 1,590 1,819 792 4,201
เจ้าชายวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ 310 463 235 1,008
เจ้าหญิงแม็กซิมา 310 348 235 893

(แปลจาก Willem Sap 2010:16)

 

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 อดีตนายกรัฐมนตรีคลัง เกอริท ซาล์ม (Gerrit Zalm) ได้นำเสนอรายงานว่ากษัตริย์เนเธอร์แลนด์ใช้จ่ายเป็นจำนวนถึง 39 ล้านยูโรต่อปี โดยได้ตีความไว้แล้วว่ากษัตริย์ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ที่เป็นรัฐประชาธิปไตยที่ยึดหลักนิติธรรม เพราะฉะนั้นต้องราชินีเบอาทริกซ์ต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ได้

นอกจากนี้ ในแวดวงของวิชาการก็น่าสนใจ เพราะมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่สนใจศึกษาบทบาทของสถาบันกษัตริย์เนเธอร์แลนด์ ในปี 2005 มีการจัดประชุมวิชาการอย่างเป็นทางการ 2 วัน ที่เมืองโกรนิงเกอ (Groningen) เกี่ยวกับประเด็นนี้หัวข้อ “ระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของเนเธอร์แลนด์ท่ามกลางยุโรปในความเปลี่ยนแปลง” (The Dutch constitutional monarchy in a changing Europe) ในวาระโอกาสที่ราชินีเบอาทริกซ์ครองราชย์ครบรอบ 25 ปี ซึ่งหนึ่งในนักวิชาการกลุ่มนี้อย่าง Van Den Berg (2007:69) ก็ยอมรับในบทความของเขาว่าหากเป็น 25 ปีก่อน การจัดประชุมวิชาการเช่นนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ในปี 1966 มีการจัดงานประชุมลักษณะนี้ที่เมืองไนเมเกอ (Nijmegen) และมีการบรรยายเรื่องนี้ในอัมสเตอร์ดัมปี 2000 แต่เนื้อหาไม่เข้มข้นเป็นทางการเหมือนในปี 2005 รวมถึงมีวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับสถาบันกษํตริย์ในยุโรปในศตวรรษที่ 19 ของ Jaap van Osta ซึ่งต่อมาเขาเป็นบรรณาธิการประจำฉบับของวารสาร Maatstaf ที่รวบรวมเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้ และวารสารฉบับพิเศษอีกเล่มคือ Amsteram Sociologisch Tijdschrift ในปี 1989 ซึ่งเขาเห็นว่าความสนใจในการพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์นั้นมาจากนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และกฎหมายในช่วงปี 1980 แต่ไม่ได้อยู่ในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งเท่าช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ความสนใจใคร่รู้ของนักวิชาการที่เพิ่มขึ้นอาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้บรรยากาศวิชาการเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยหลักที่สำคัญคือบทบาทหน้าที่ของราชินีเบอาทริกซ์ในนามของสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ นั่นคือการที่ราชินีเองก็ทันสมัยพอที่จะยอมให้เป็นหัวข้อในการศึกษาทางวิชาการ (ibid 2007:71) 

นอกจากจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ในขอบขายที่ไม่ใช่การหมิ่นประมาท ประชาชนยังล้อเลียนสถาบันกษัตริย์ได้เช่นกัน มีหนังสือเล่มหนึ่งสร้างความตกใจกับผู้เขียนไม่น้อยเมื่อเห็นหน้าปกครั้งแรกที่ร้านหนังสือ หนังสือเล่มนี้ชื่อ “เบอาทริกซ์...70 ปีเล่าเรื่องด้วยภาพ” (Zeventig Jaar in Beeld) เขียนเป็นภาษาดัตช์ รวบรวมโดย Carl Nix เป็นเรื่องราวเกี่ยวประวัติของราชินีเบอาทริกซ์ที่จัดทำขึ้นในโอกาสที่มีพระชนมายุครบ 70 ปี โดยรวบรวมภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพวาด ภาพบนสแตมป์ ภาพล้อเลียน หรือการ์ตูนล้อการเมือง เริ่มตั้งแต่หน้าปกหนังสือที่เป็นรูปวาดของ Paul van der Steen ซึ่งทำขึ้นในโอกาสที่ราชินีครบรอบ 70 ปี และเมื่อเปิดไปในเล่ม ก็ทำให้รู้ว่าราชินีเป็นหนึ่งในบุคคลที่สามารถวาดภาพล้อเลียน เสียดสี หรือทำให้ตลกขบขันได้ บางรูปวาดหน้าราชินีเหมือนลิงไม่ผิดเพี้ยน เมื่อเห็นอย่างนั้น ผู้เขียนเลยซื้อกลับมาเป็นที่ระลึกหนึ่งเล่ม และด้วยราคาที่ลดถึง 70% แม้ว่าจะเป็นภาษาดัตช์ก็ตาม

 


หน้าปกหนังสือ “เบอาทริกซ์...70 ปีเล่าเรื่องด้วยภาพ”


ภาพวาดล้อเลียนราชินีที่เป็นลิง


การ์ตูนล้อการเมืองด้วยคำบรรยายว่า “เบอาทริกซ์...หัวหน้าจ่าฝูง” (Beatrix als boegbeeld)

 

หรือล่าสุด หลังจากที่ราชินีเบอาทริกซ์ประกาศสละราชสมบัติแล้ว และเมื่อใกล้จะถึงวันที่ 30 เมษายนซึ่งจะเป็นวันที่จะมีพิธีแต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่อย่างเป็นทางการ คณะละครคณะหนึ่งได้จัดการแสดงละครเวทีเรื่อง เรื่อง “เบอาทริกซ์และนายกรัฐมนตรีทั้ง 5” (Beatrix en de Premiers) ที่ศูนย์วัฒนธรรมและการแสดงแห่งหนึ่งในเมืองอัมสเตอร์ดัม เพื่อให้เข้ากับบรรยาการการสละราชสมบัติของราชินีเบทริกซ์ ผู้เขียนบทละครจึงสร้างเรื่องราวของราชินีว่าเบอาทริกซ์ กับนายกรัฐมนตรีทั้ง 5 คนที่ทำงานในช่วงที่ราชินีครองราชย์ [5]

ที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดทำให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์นั้นเป็นสถาบันที่วิพากษ์วิจารณ์และแตะต้องได้อย่างแท้จริง

 

สถาบันกษัตริย์ดัตช์ในยุคสมัยใหม่

ในบทความของ Shenbel (2007:29) ได้นำผลสำรวจในปี 2004 ของสำนักงานวางแผนทางสังคมและวัฒนธรรมของเนเธอร์แลนด์ (Social and Cultural Planning Office) ที่ทำการสำรวจความเห็นของคนดัตช์ โดยถามว่าคิดว่าวัฒนธรรมหรือประเพณีอะไรของคนดัตช์ที่น่าจะหายไปในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นการถามถึงความคาดหวังมากว่าความปรารถนาหรือความกังวลหรือเกรงกลัว โดย 29% ตอบว่าพระราชวัง แม้ว่าจะเป็นจำนวนที่ไม่มาก แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนหนึ่งไม่ต้องการสถาบันกษัตริย์ ขณะที่ 50% ของผู้ตอบสำรวจต้องการให้กองทัพไม่มีอยู่ และอีก 36%เสนอว่าต้องการให้ศีลธรรม (Morals) หรือจารีต (Customs) บางอย่างจางหายไป และอีก 28% คือความเป็นดัตช์ (Being Dutch) ซึ่ง Shenbel มองว่าแทบจะเป็นไม่ได้เลยที่จะเป็นเหตุบังเอิญที่คนรวมเอาราชวังก็เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นดัตช์ด้วย และที่มีสัดส่วนไม่น้อยคือ 23% เห็นว่าเนเธอร์แลนด์ในฐานะที่เป็นรัฐอิสระ (Independent state) เพราะการเกิดขึ้นของสหภาพยุโรปที่ทำให้เนเธอร์แลนด์ต้องเป็นไปตามกฎกติกาขององค์กรระดับภูมิภาค และปรากฏการณ์โลกาภิวัฒน์ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ ที่เห็นว่าภาษาดัชต์จะหายไป คิดเป็น 8% และอีก 4% คือการปฏิบัติแบบดัตช์ (Dutch treats)

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจความเห็นของคนดัตช์จำนวน 1,000 คน โดยสถาบันมอริซ เดอ ฮอนด์ (Maurice de Hond) (อ้างใน Willem Sap 2010:31) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2008 ว่าต้องการให้เนเธอร์แลนด์เป็นสาธารณรัฐหรือไม่ ปรากฏว่า

 

  2008 2007 2006
เนเธอร์แลนด์ควรดำรงสถาบันกษัตริย์ 70% 71% 76%
เนเธอร์แลนด์ควรเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ 25% 23% 20%
ไม่แน่ใจ/ไม่ตอบ 5% 6% 4%

 

จากผลสำรวจที่พบว่าจำนวน 5% ที่เพิ่มขึ้นที่ต้องการให้เนเธอร์แลนด์เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐนั้น มีการวิเคราะห์ว่าส่วนหนึ่งมาจากความนิยมของเกียท วิลเดอร์ การเมืองเพื่อเสรีภาพ (Partij voor de Vrijheid – PVV) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเขาต้องการให้ราชินีเบทริกซ์ถอนตัวจากรัฐบาล วิลเดอร์เป็นผู้ที่มีแนวคิดขวาสุดขั้ว ในแง่ที่มีความเป็นชาตินิยมสูง ต่อต้านการรวมตัวของประเทศยุโรป และความเป็นอิสลาม (Ibid.) ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนมองว่าทัศนคติของคนอนุรักษ์นิยมแบบเขากลับไม่ต้องการให้กษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่สิ่งที่ดั้งเดิมของเนเธอร์แลนด์

แม้ว่าผลสำรวจที่เสนอว่าความต้องการให้สถาบันกษัตริย์อยู่นั้นลดลง ถึงกระนั้น ราชินีเบอาทริกซ์และเชื้อพระวงศ์ปัจจุบันถือว่าได้รับความนิยมในหมู่คนดัตช์พอสมควร Van Den Berg (2007: 70) วิเคราะห์ว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะราชวงศ์รู้ตัวว่าต้องปรับตัวและพยายามใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ราชินีเบอาทริกซ์รู้ว่ากลุ่มคนที่จะไม่พอใจกับสถาบันกษัตริย์มากที่สุดคือกลุ่มชนชั้นกลางและปัญญาชนต่างๆ ดังนั้นราชินีและเจ้าชายเคราส์ สวามีในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่พยายามที่มีบทบาทและสร้างผลงานเอาใจกลุ่มปัญญาชนและชนชั้นกลางที่ชื่นชอบศิลปะด้วยการปรากฏตัวที่พระราชวังที่อัมสเตอร์ดัมในโอกาสสำคัญ หากประทับที่กรุงเฮกหรือเดน ฮาก (Den Haag) และสร้างพื้นที่อัมสเตอร์ให้เป็นเมืองหลวงของประชาชน แล้วใช้กรุงเฮกเป็นศูนย์กลางราชการและวังของเจ้า นอกจากนี้ก็ให้การสนับสนุนศิลปะแขนงต่างๆ เช่นจัดคอนเสิร์ตที่กรุงเฮก สนับสนุนศิลปะการเต้น และอนุญาตให้ศิลปินเป็นผู้ตัดสินใจและเลือกแบบการปรับปรุงตกแต่งประสาทนอร์ดอายเด (Noordeinde Palace) ซึ่งเป็นพระราชวังสำหรับทรงงานของราชินีเบอาทริกซ์ตั้งแต่ปี 1984 [6]

หรือล่าสุดที่เจ้าชายวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ ให้สัมภาษณ์กับโทรทัศน์บีบีซีว่า เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์แล้วประชาชนยังสามารถเรียกเขาด้วยชื่อดั้งเดิมคือวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์มากกว่ากษัตริย์วิลเลิมที่ 4 เพราะเหมือนกับตัวเขากลายเป็นตัวเลข นอกจากนี้ ยังย้ำถึงบทบาทของกษัตริย์ที่จะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และทำตามหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ [7]

ขณะเดียวกัน คนดัตช์รู้สึกได้ว่า สถาบันกษัตริย์ก็เหมือนคนธรรมดาทั่วไป เป็นแค่ดาราดังที่ไม่ต่างอะไรกับดาราฮอลลีวู้ด อย่างที่ผู้เขียนสังเกตที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ (Madame Tussauds) ที่อัมสเตอร์ดัมก็มีหุ่นของราชินีทุกพระองค์ให้คนเข้าไปถ่ายรูปได้ โดยที่ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม หรือตัวอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้าเกี่ยวกับการเสด็จเยือนไปเยี่ยมประชาชนในวันควีนส์เดย์ของราชินีเบอาทริกซ์

Von Der Dunk (2007: 95) เสนอว่า ลักษณะที่กษัตริย์อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนนั้นเรียกว่า “สมัยใหม่” ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญมาก ตรงกันข้าม หากสมาชิกราชวงศ์ยังเพลิดเพลินกับการมีอภิสิทธิ์ที่เป็นประเพณีดั้งเดิมกำลังจะกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเส้นแบ่งระหว่างชนชั้นขุนนางและชนชั้นกลางนั้นพร่าเลือนมากขึ้น ทุกวันนี้มีเพียงคนรุ่นเก่า อนุรักษ์นิยมและเป็นคริสเตียนเท่านั้นที่ยังยินดีกับสถาบันกษัตริย์ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์และอัตลักษณ์ของชาต หรือเป็นสถาบันที่ขาดไม่ได้เพื่อปกป้องการแตกแยกทางสังคม ถึงกระนั้น สถาบันกษัตริย์ดัตช์ปัจจุบันก็ทำให้เห็นว่าความเป็นกษัตริย์กับคนธรรมดานั้นไม่แตกต่างกัน สถานะของกษัตริย์หากขยับเข้าใกล้กับความเหนือปกติเกินธรรมดาเมื่อไร สิ่งที่ตามมาคือการขาดความโปร่งใส โดยเฉพาะกษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์ที่มีสถานะเป็นประมุขของรัฐ ก็ยิ่งจะทำให้เสถียรภาพของกษัตริย์กับความหมายของการเป็นรัฐชาติลดน้อยลง 

 


หุ่นขี้ผึ้งของราชินีและราชวงศ์บางพระองค์ของเนเธอร์แลนด์ที่พิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซ่ ในกรุงอัมสเตอร์ดัม (ภาพบน) ราชีนีเบอาทริกซ์ และ (ภาพล่าง) เจ้าชายวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์และแม็กซิมา ชายา (ภาพโภย: บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล)

 

Von Der Dunk (2007: 91) วิเคราะห์ว่า รูปแบบของสถาบันกษัตริย์แบบรัฐสภา (Parliamentary Monarchy) น่าจะเป็นหลักสำคัญในการค้ำจุนสถาบันกษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์ หากยึดแนวคิดนี้ การมีสถาบันกษัตริย์ในรูปแบบสมมติเทพกลายเป็นเรื่องแปลก ไม่สมเหตุสมผลหรือมีมโนธรรมมากนักสำหรับยุคสมัยปัจจุบันที่สังคมพ้นจากการครอบงำของศาสนา (Secularized society) อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ต้องมีการประท้วงหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งสถาบันกษัตริย์ก็ต้องไม่ใช้อำนาจทางการเมืองในระบบรัฐสภาด้วยเช่นกัน เขาเสนออีกว่า คนส่วนใหญ่ในจำนวนประชากรทั้งหมดที่พบในกลุ่มคนที่มีการศึกษาน้อย เป็นผู้มีใจเข้มแข็งมากในยุคความเป็นสมัยใหม่และการเมืองในชีวิตประจำวัน ซึ่งพวกเขาเป็นพวกที่ยึดติดกับปูชนียบุคคลตัวอย่างที่เป็นพ่อหรือแม่ที่มีความเหนือธรรมดา

ตัวอย่างสดๆร้อนๆ ก่อนมีพิธีขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ มีประชาชนจำนวนประมาณ 40,000 คนออกมาประท้วงกับ “เพลงกษัตริย์” (King's Song) หรือ Koningslied ในภาษาดัตช์ซึ่งประพันธ์โดย จอห์น อิวแบงค์ (John Ewbank) ที่จะใช้ประกอบพิธีการขึ้นครองราชย์ในวันที่ 30 เมษายนนี้ โดยคนดัตช์เหล่านี้ได้ร่วมกันลงชื่ออุทธรณ์ไม่ให้มีการใช้เพลงดังกล่าวในการประกอบพิธี เนื่องจากรับไม่ได้กับเนื้อหาเกินจริงที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะท่อนแร็พที่มีเนื้อหาว่า ให้ชูนิ้วสามนิ้วรูป W ในอากาศแสดงสัญลักษณ์ถึงวิลเลิม (Willem-Alexander) “ฉันจะปลุกเธอให้ตื่นจากนิทรา ปกป้องเธอจากภัยพายุ บอกให้ฉันรู้ว่าถึงใฝ่ฝันถึงสิ่งใด...” ซึ่งหนึ่งในผู้ประท้วงและลงชื่อต่อต้านคือซิลเวีย วิทเทอมัน (Sylvia Witteman) กล่าวว่าในการยื่นเรื่องอุทธรณ์นี้ ขอสละความเป็น “คนดัตช์ที่ถูกกระทำ” (Dutch subject) โดยที่ผู้ประพันธ์เพลงตัดสินใจก็ตัดสินใจทันที่จะถอนเพลงนี้ไม่ให้ใช้ในการประกอบพิธี ทั้งที่เป็นเพลงที่ปล่อยออกมาแล้วและติดอันดับในชาร์ทในเนเธอร์แลนด์ก็ตาม [8]  ตรงนี้ทำให้เห็นว่าสังคมดัตช์ค่อนข้างเคารพและปฏิบัติอย่างใจกว้างในความแตกต่างทางความคิดของคนที่ไม่เห็นด้วยในสังคม แม้ว่าจะเป็นจำนวนที่ไม่มากนักก็ตาม

ขณะที่นักวิเคราห์อย่าง William Z. Shetter (อ้างใน Willem Sap 2010:26) กล่าวว่า “คนดัตช์ไม่ใช่คนมีใจนิยมเจ้า (ต่างจากกรณีของอังกฤษ) หากเป็นพวกที่ชื่นชมสาธารณรัฐ แต่เนื่องจากสถาบันกษัตริย์ดัตช์เชื่อมโยงกับราชวงศ์ออเรนเยอ-นาซอที่มีบทบาทขในประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดสถาบันมหากษัตริย์ขึ้น ซึ่งอาจจะมีความคลางแคลงเพียงเล็กน้อยสำหรับพวกเขาเท่านั้นหากวันหนึ่งราชวงศ์นี้เกิดสูญพันธุ์ขึ้นมา รัฐบาลแบบสาธารณรัฐคงจะขึ้นมาครองอำนาจทันที”

 

เชิญอรรถ

  1. ภาพจาก http://www.guardian.co.uk/uk/2013/feb/01/ruling-monarch-job-for-life สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556
  2. http://www.holland.com/global/tourism/article/investiture-or-coronation.htm สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556
  3. http://www.dutchnews.nl/news/archives/2012/04/political_crisis_elections_loo.php สืบค้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2556
  4. http://www.dutchnews.nl/news/archives/2012/09/the_election_massive_win_for_v.php สืบค้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2556
  5. http://www.debalie.nl/artikel.jsp?articleid=476272) สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2556
  6. http://en.wikipedia.org/wiki/Noordeinde_Palace สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556
  7. ดูรายละเอียดคำแปลการสัมภาษณ์ได้ในบล็อก “วิสามัญสำนึก” ของเกษียร เตชะพีระ ที่ http://blogazine.in.th/blogs/kasian/post/4106 สืบค้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2556
  8. ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.guardian.co.uk/music/2013/apr/22/dutch-revolt-against-song-new-king สืบค้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2556

อ้างอิงและแหล่งข้อมูล

  • Blockmans, WP. 2007. “The Added Value”. in D.J. Elzinga (ed.) The Dutch Constitutional
  • Monarchy in a Changing Europe (pp.129-134). The Netherlands: Kluwer Legal Publishers.
  • Instituut voor Publiek en Politiek.2005. The Dutch Political System in a Nutshell. Amsterdam
  • Instituut voor Publiek en Politiek
  • Komter, A.E.2007. “The Paradox of Modern Monarchy: Distance and Proximity” in D.J. Elzinga
  • (ed.) The Dutch Constitutional Monarchy in a Changing Europe (pp.61-68). The Netherlands: Kluwer Legal Publishers.
  • Schnabel, P. “Modern Monarchism; From ‘Vivat Orange’ to ‘Long live the Queen’” in D.J. Elzinga
  • (ed.) The Dutch Constitutional Monarchy in a Changing Europe (pp.25-36).The Netherlands: Kluwer Legal Publishers.
  • Tjeenk Willink, H.D..2007. “Some observation about the Netherlands and the Monarchy”, in D.J.
  • Elzinga  (ed.) The Dutch Constitutional Monarchy in a Changing Europe (pp.3-6).The Netherlands: Kluwer Legal Publishers.
  • Van Den Berg, J.TH.J.2007. “Saevis Tranquilla in Undis, Queen in Times of Populism” in D.J.
  • Elzinga  (ed.) The Dutch Constitutional Monarchy in a Changing Europe (pp.69-80).The Netherlands: Kluwer Legal Publishers.
  • Von Der Dunk, H.W.2007. “The Dutch Monarchy in Europe” ”, in D.J. Elzinga  (ed.) The Dutch
  • Constitutional Monarchy in a Changing Europe (pp.81-96).The Netherlands: Kluwer Legal Publishers.
  • Willem Sap, Jan .2010.The Queen, the Populists and the Others: New Dutch Politics explained 
  • to Foreigners. Amsterdam: VU University Press

อ้างอิงอิเลกทรอนิกส์

  • http://www.dutchnews.nl/news/archives/2013/01/the_queens_abdication_speech_i.php
  • http://en.wikipedia.org/wiki/Koninginnedag
  • http://www.guardian.co.uk/world/2013/jan/28/queen-beatrix-netherlands-abdicates

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net