สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 23 - 29 เม.ย. 2556

ลูกจ้างแห่กู้นอกระบบเพิ่ม หลังค่าแรง 300 ไม่พอกินอนุมัติมาตรการ

นายวชิร คูณทวีเทพ อา จารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐ กิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการ ค้าไทย เปิดเผยถึงสถานะภาพแรง งานไทยหลังจากการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ ว่า รายได้ของลูกจ้างส่วนใหญ่ 35% ระบุว่า ได้รับเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่มี 26% ระบุว่าได้ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นลูกจ้างรายวันภาคการเกษตร ซึ่งพบว่าลูกจ้าง 90% ที่มีภาระหนี้ ปัจจุบันมีหนี้เฉลี่ย 98,428 บาทต่อครัวเรือน สูงกว่าปีก่อนที่มีหนี้เฉลี่ย 91,710 บาท

ทั้งนี้ ส่วนของหนี้ที่เพิ่มขึ้น นั้น พบว่า เป็นการกู้ในระบบ 48.1% ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่มีสัดส่วน 52.3% ขณะที่การกู้เงินนอกระบบ มีเพิ่มขึ้นเป็น 51.9% จากปีก่อนที่มีสัดส่วน 47.7% ซึ่งการผ่อนชำระ หนี้นั้น กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน มีการผ่อนชำระหนี้ ตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท มีสัด ส่วนสูงถึง 56.8% ซึ่งพบว่ากลุ่มนี้ประสบปัญหาในการชำระหนี้ค่อนข้างเยอะ

เมื่อถามว่ามีปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายหรือไม่ 62.8% ตอบว่ามีปัญหา โดย 74% ระบุว่าเป็นเพราะราคาสินค้าแพงขึ้น ขณะที่ 13% ระบุว่าเป็นเพราะดอกเบี้ยสูง และ 10.4% ระบุว่าเป็นเพราะรายได้ลดลง

ทั้งนี้ ลูกจ้างมีความเห็นว่าหลังการปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศแล้ว รัฐบาลควรจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างทุกปี โดยอัตราที่เหมาะสมในปัจจุบันอย่างน้อยควรอยู่ที่ 385 บาทต่อวัน  ขณะที่ในอีก 3 ปีข้างหน้าควรอยู่ที่ 456 บาทต่อวัน และอีก 5 ปีข้างงหน้าควรอยู่ที่ 574 บาทต่อวัน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการ ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่พบว่าแรง งานส่วนใหญ่ยังคงเป็นหนี้ โดยเฉพาะ หนี้นอกระบบที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เป็นเพราะว่าค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่ม และการกู้ในระบบไม่สามารถเข้าได้ถึงแหล่งเงินกู้เต็มที่ จึงต้องหันไปกู้นอกระบบ

"จุดนี้เป็นสิ่งที่ต้องเป็นห่วงว่าอาจจะเกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคแรงงานก็ เป็นได้ เพราะรายได้ที่ได้มาไม่พอกับรายจ่าย ทำให้ต้องก่อหนี้เพิ่ม" นายธนวรรธน์กล่าว

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐ มนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการบรร เทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบ ธุรกิจขนาด กลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ตามกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรร เทาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น การจัดโครงการคลินิกอุตสาหกรรม และปรับแผนดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในปีงบประมาณ 56 เช่น ใช้งบ 201 ล้านบาท จัดหาผู้เชี่ยวชาญจัดทำแผนธุรกิจและให้คำปรึกษาการขอสินเชื่อ, การส่งเสริมเอสเอ็มอีเข้าโครงการปรับการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน

ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน โดยร่วมกับสถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ในปีแรก เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย คิดเป็นสินเชื่อ 6,300 ล้านบาท โดยใช้งบที่มีอยู่จากกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) 200 ล้านบาท รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าบริการรายปี ตาม พ.ร.บ.โรงงาน รวมทั้งมีโครงการปรับปรุงและฟื้น ฟูสภาพเครื่องจักร อีกทั้งยังมียุทธ ศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพและผลิต ภาพภาคอุตสาหกรรมด้วย.

(ไทยโพสต์, 23-4-2556)

 

"นครปฐม"อบรม แรงงานคนพิการ

นายสุเทพ โชคบุญธิยานนท์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า พม.นครปฐม จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิด้านอาชีพของคนพิการ จังหวัดนครปฐม วันที่ 30 เม.ย.นี้ เพื่อให้ความรู้ผู้พิการ และเจ้าของสถานประกอบการที่สนใจ เพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับสิทธิด้านอาชีพของผู้พิการ ส่งผลให้ผู้พิการมีงานทำ

ขอเชิญชวนผู้พิการ และเจ้าของสถานประกอบการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 33 กำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนพิการทำงานในอัตรา 100 ต่อ 1 แต่ปัจจุบันสถานประกอบการหลายแห่งยังไม่มีความพร้อมจ้างงานคนพิการ ส่วนคนพิการที่มีความพร้อมเข้าสู่สถานประกอบการมีจำนวนจำกัด

(ข่าวสด, 25-4-2556)

 

กรมการจัดหางานผนึก 3 มหาวิทยาลัยดัง ดึงนักศึกษาเข้าทำงานในโรงแรมมาเก๊า

นายวินัย ลู่วิโรจน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า ขณะนี้โรงแรมต่างๆ ในมาเก๊าเช่น โรงแรมแซนด์ส ไชน่า (Sands China) โรงแรมวิน มาเก๊า (Wynn Macau) โรงแรมเอ็มจีเอ็ม มาเก๊า(MGM Macau) มีความต้องการจ้างงานแรงงานในตำแหน่งต่างๆ เช่นพนักงานต้อนรับส่วนหน้า พนักงานต้อนรับพนักงานแผนกอาหารและเครื่องดื่มรวมทั้งหมดประมาณ 100 ตำแหน่ง แต่ที่ผ่านมาได้มาเปิดรับสมัครและสอบสัมภาษณ์แรงงานไทยและมีแรงงานไทยผ่าน การคัดเลือกจำนวนน้อย เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการเมื่อเร็วๆ นี้ กกจ.จึงได้ประสานไปยังมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ในภาคเหนือได้แก่?ม.ราชภัฏเชียงราย ม.ราชภัฏเชียงใหม่และม.แม่โจ้ เพื่อให้แจ้งนักศึกษาชั้นปีที่ 4สาขาภาษาอังกฤษ ภาษาจีนและสาขาการโรงแรมและการท่องเที่ยวที่มีความประสงค์จะไปทำงานโรงแรมใน มาเก๊าให้มาเข้ารับการอบรมจากเจ้าหน้าที่กกจ. เพื่อเตรียมความพร้อมเข้ารับการสอบสัมภาษณ์จากตัวแทนโรงแรมต่างๆ ในมาเก๊า เช่น โรงแรมแซนด์ส ไชน่า ภายในเดือนเมษายนนี้

“กกจ.จะส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมให้ความรู้แก่นักศึกษาทั้ง 3 มหาวิทยาลัยทั้งในเรื่องบุคลิกภาพ การแต่งกายการสอบสัมภาษณ์ ตำแหน่งงาน สัญญาจ้างเงินเดือนและการใช้ชีวิตในมาเก๊า รวมทั้งจะประสานไปยังโรงแรมต่างๆ ในมาเก๊าให้ส่งตัวแทนขึ้นไปสัมภาษณ์นักศึกษาที่ผ่านมาอบรมถึงสถาบันด้วยคาด ว่าน่าจะมีนักศึกษามีโอกาสได้งานทำในโรงแรมมาเก๊าอย่างน้อย 50-60 คน หลังจากนี้เมื่อโรงแรมในมาเก๊าติดต่อมายังกกจ.เพื่อมาเปิดรับสมัครแรงงาน ไทยกกจ.จะจัดอบรมการเตรียมตัวให้แก่แรงงานไทยที่สนใจสมัครเข้ารับการ สัมภาษณ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 1-3 วัน เพื่อให้มีโอกาสได้งานทำสูงขึ้น” รองอธิบดีกกจ. กล่าว

(แนวหน้า, 25-4-2556)

 

ปธ.สภาองค์การลูกจ้างฯ ยื่น 11 ข้อเรียกร้องต่อรบ. จี้แก้ปัญหาด้านแรงงาน เตรียมจัดงานใหญ่

วันที่ 28 เม.ย. นายชินโชติ  แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี 2556 ได้เสนอข้อเรียกร้องที่ผู้ใช้แรงงานต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาโดยแร่งด่วน 11 ข้อ ประกอบด้วยดังนี้
 
1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98
 
2.ออกกฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้างที่ตกงานเพราะโรงงานผิดกิจการ โดยไม่จ่ายค่าชดเชย
 
3.ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชยของลูกจ้างเอกชน และเงินตอบแทนของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ
 
4.ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไข พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานกรรมการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2550 ให้มีการมาตรฐานเดียวกับข้าราชการพลเรือน
 
5.ผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจและยุติการแปรรูปหรือยุบเลิกรัฐวิสาหกิจ
 
6.ให้รัฐบาลเร่งตรา พ.ร.ฎ.สถาบันความปลอดภัยฯ
 
7.ปฏิรูประบบประกันสังคมและเพิ่มสิทธิประโยชน์ รวมทั้งยกระดับสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ
 
8.จัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็ก และศูนย์เก็บน้ำนมแม่ในโรงงาน โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
 
9.แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 59 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อตรวจรักษา สุขภาพก่อนคลอดบุตร และคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 90 วัน และให้ลูกจ้างซึ่งเป็นชายมีสิทธิลาเพื่อดูแลภรรยาในการคลอดบุตรได้ 15 วันโดยได้รับค่าจ้าง และมาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างเป็น 2 เท่าจากเดิมที่บัญญัติไว้
 
10.ออก พ.ร.ฎ.การจัดเก็บเงินสะสม และเงินสมทบ เพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และ
 
11.ตั้งคณะทำงานติดตาม และประสานงานข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี พ.ศ. 2556

สำหรับการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในวันที่ 1 พ.ค. นี้ จะเริ่มขึ้นเวลา 07.00 น. เป็นพิธีสงฆ์ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธาน จากนั้น เวลา 08.30 น. จะเคลื่อนขบวนผู้ใช้แรงงานไปตามถนนราชดำเนินสู่ท้องสนามหลวง เวลา 10.45 น. นายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงบริเวณงาน จากนั้น นายชินโชติ กล่าวรายงานข้อเรียกร้องและยื่นต่อนายกรัฐมนตรี จากนั้น นายกรัฐมนตรี จะกล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้ใช้แรงงานก่อนจะกดปุ่มผ้าแพรเปิดงานวันแรงงานอย่าง เป็นทางการ ส่วนช่วงเย็นจะจัดกิจกรรม คอนเสิร์ตของศิลปินดารา จนถึงเวลา 22.00 น.
   
ส่วนกลุ่มผู้ใช้แรงงานในนามคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดยนายชาลี ลอยสูง และนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ได้แยกจัดงานวันแรงงานแห่งชาติที่บริเวณด้านหน้ารัฐสภา เวลา 09.00 น. จากนั้น จะเริ่มเคลื่อนขบวนไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยตั้งเวทีปราศรัยบริเวณประตูหน้า 5 และจัดกิจกรรมรำลึกถึงวันกรรมกรสากลสลับกับไฮปาร์คบนเวที

(มติชน, 28-4-2556)

 

โพลชี้ค่าแรง 300 บาทไม่ทำให้ชีวิตของแรงงานดีขึ้น

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานเรื่อง “มุมมองแรงงานหลังได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท” เนื่องในวันที่ 1 พ.ค.ที่จะถึงนี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติโดยเก็บข้อมูลจากแรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 75.1  ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่ร้อยละ 24.9 มีภูมิลำเนาอยู่ ทั้งนี้เมื่อถามถึงสาเหตุที่ผู้ใช้แรงงานไม่ทำงานในภูมิลำเนาที่เกิด ร้อยละ 64.8 ระบุว่ามีงานให้เลือกน้อย รองลงมาร้อยละ 33.4 ระบุว่าในกทม. และปริมณฑลมีสวัสดิการที่ดีกว่า  และร้อยละ 33.3 ระบุว่าได้ค่าแรงต่ำกว่า 300 บาท  โดยเมื่อถามต่อว่า “หากสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้  ตั้งใจที่จะกลับไปทำงานในภูมิลำเนาเกิดหรือไม่” ร้อยละ 80.0  ตั้งใจว่าจะกลับ ขณะที่ร้อยละ 20.0 ตั้งใจว่าจะไม่กลับ

ส่วนผลกระทบที่มีต่อการทำงาน หลังจากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท  แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 65.4 ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ร้อยละ 34.6 ระบุว่าได้รับผลกระทบ  ในจำนวนนี้ร้อยละ 16.5 ระบุว่าทำงานล่วงเวลา (OT) ได้น้อยลง  ร้อยละ 9.2 ระบุว่าต้องทำงานหนักมากขึ้น  และร้อยละ 4.2 ระบุว่าไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ หลังจากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 45.9 เห็นว่ามีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนเดิม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากการสำรวจในปี 55) ขณะที่ร้อยละ 44.2 เห็นว่าดีขึ้น (ลดลงร้อยละ 16.5) และร้อยละ 9.9 เห็นว่าแย่ลง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1) โดยเมื่อถามสาเหตุที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้นอันดับแรกคือ ข้าวของแพงขึ้น (ร้อยละ 85.9) รองลงมาคือ ขาดสวัสดิการช่วยเหลือ/สวัสดิการแย่ลง ( ร้อยละ 7.1) และงานไม่มั่นคง ไม่รู้จะถูกเลิกจ้างตอนไหน (ร้อยละ 4.4) สุดท้ายเมื่อถามว่า “มีความกังวลว่าจะตกงานมากน้อยเพียงใด หลังจากการขึ้นค่าแรง 300 บาทมีผลทำให้ผู้ประกอบการ SME มีการลดพนักงานลง 15% (ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมฯ) เพื่อประคองกิจการให้อยู่รอด” ร้อยละ 73.2 กังวลน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 26.8 กังวลมากถึงมากที่สุด.

(เดลินิวส์, 29-4-2556)

 

คสรท.ยื่นข้อเรียกร้องเร่งด่วน 5 ข้อ ในวันแรงงานแห่งชาติปี 56

29 เม.ย.- คสรท. ร่วมกับ สรส. และเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศยื่นข้อเรียกร้องเร่งด่วน 5 ข้อ ในวันแรงงานแห่งชาติปี 56 ต่อนายกรัฐมนตรี เน้นให้รับรองอนุสัญญาไอแอลโอ 87 , 98  รวมถึงการยุตินโยบายและกฎหมายละเมิดสิทธิแรงงาน  ส่วนข้อเรียกร้องติดตาม ขอให้ทบทวนมติ ครม. ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในปี 57 และ 58
 
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า คสรท.ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศยื่นข้อเรียกร้องวันแรงงาน โดยแบ่งเป็นข้อเรียกร้องเร่งด่วนดังนี้  1. ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง 
 
2. ยุตินโยบายและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิแรงงาน  ที่ขัดต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 เช่น กรณีผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย 13 คน  3. สร้างระบบสวัสดิการสังคม เช่น มีมาตรการควบคุมราคาสินค้า ลดค่าครองชีพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  4. ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ ยุติการแทรกแซงการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ โดยขาดความเป็นธรรม และ 5. ต้องเร่งปฏิรูประบบประกันสังคม  ประกันสุขภาพคนทำงานถ้วนหน้า ให้โครงสร้างเป็นอิสระตรวจสอบได้  ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม
 
ส่วนข้อเรียกร้องติดตาม 1. ต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม  รวมถึงทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2554  ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในปี 57 และ 58   2. แก้กฎหมายเลือกตั้งทุกระดับ ให้แรงงานที่ทำงานในสถานประกอบการในพื้นที่ ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป มีสิทธิเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่นั้น ๆ  3. เร่งพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ อย่างจริงจัง  4. จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน  เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง 5. สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็ก ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม 6. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสวัสดิการสังคม ของแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ

(สำนักข่าวไทย, 29-4-2556)

 

“เผดิมชัย”รับลูกดันข้อเรียกร้องวันแรงงาน

( 29 เม.ย.) ที่กระทรวงแรงงาน  นายเผดิมชัย  สะสมทรัพย์  รมว.แรงงาน  กล่าวถึงกรณีสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทยจะยื่นข้อเรียกร้อง  11 ข้อต่อนายกรัฐมนตรีเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.นี้ ว่า ข้อเรียกร้องในเรื่องการให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ  98  เพื่อให้ได้รับสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอรัฐบาลพิจารณาให้การรับรอง  ส่วนการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็ก และศูนย์เก็บน้ำนมแม่ในสถานประกอบการ หรือใกล้กับนิคมอุตสาหกรรม  รวมทั้งการให้ลูกจ้างซึ่งเป็นชายมีสิทธิลาเพื่อดูแลภรรยาในการคลอดบุตรได้ เป็นเวลา  15  วันโดยได้รับค่าจ้างนั้น  รัฐบาลยืนยัน ว่า จะส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กและศูนย์เก็บน้ำนมแม่ในสถานประกอบ การขนาดใหญ่ให้มากขึ้น  และขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการให้พิจารณาให้สิทธิลาเพื่อดูแลภรรยาคลอด บุตรได้เป็นเวลา 15 วัน  แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายจ้างว่าจะให้ลาได้กี่วัน

“ทั้งสองเรื่องข้างต้น ขณะนี้กระทรวงแรงงานคงดำเนินการได้ในลักษณะของการขอความร่วมมือไปยังสถาน ประกอบการต่างๆ    ส่วนระยะยาวจำเป็นจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่นั้น ผมจะต้องมาหารือกับทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนว่ามีความเห็นเป็นอย่างไร   เพื่อให้ได้ข้อสรุปและการดำเนินการที่เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย” รมว.แรงงาน กล่าว

นายเผดิมชัย  กล่าวอีกว่า ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องให้ปรับระบบประกันสังคมเช่น กำหนดในกฎหมายประกันสังคมให้ขยายสิทธิผู้รับงานไปทำที่บ้านเข้าเป็นผู้ ประกันตนในมาตรา 33 ได้ โดยให้ถือว่าผู้จ้างเป็นนายจ้าง พร้อมทั้งให้นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ประกันตน มาตรา 39 กลับมาเป็นผู้ประกันตนได้ และนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ประกันตน มาตรา 40 ในอัตราร้อยละ 50 ในทุกกรณีนั้น  จะให้ สปส.ศึกษาในเรื่องการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมเพื่อรองรับในเรื่องเหล่านี้

ด้านนายจีรศักดิ์  สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.)   กล่าวว่า วันแรงงานปีนี้ สปส.ได้มอบของขวัญให้แก่ผู้ประกันตนด้วยการสั่งเพิ่มสาขาสำนักงานประกัน สังคมให้บริการเพิ่มขึ้น ในจังหวัดที่มีการขยายตัวด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และมีสถานประกอบการ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพิ่มขึ้น โดยได้เปิดสาขาให้บริการอีก 2 แห่ง ที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 27/70   ซอยหัวหิน 11 ถนนเพชรเกษม ตำบลบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้บริการนายจ้างผู้ประกันตนในเขตพื้นที่ รวม 2 อำเภอ คือ อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี  ส่วนอีก   1 แห่ง คือที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม สาขาอำเภอสามพราน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่เลขที่    16/16 – 19 หมู่ที่ 1 ถนนเพชรเกษม ตำบลท่าตลาด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยได้เปิดให้บริการ นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนในพื้นที่ อำเภอสามพราน และอำเภอพุทธมณฑล

นายจีรศักดิ์  กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สปส.ได้ขยายเวลาการให้บริการของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป ซึ่ง ได้เพิ่มระยะเวลาให้บริการออกไปอีกวันละ 1 ชั่วโมง 30 นาที ในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 18.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ไม่สามารถมารับบริการในเวลาราชการได้ ทั้งนี้หากนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 12 แห่ง/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือโทร 1506 ให้บริการทุกวันตลอด    24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ.

(เดลินิวส์, 29-4-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท