อ่าน อุบล : ส่งเสริม ‘การอ่าน’ เมืองดอกบัว-เปิดตัวหนังสือ สายรุ้งกลางซากผุกร่อน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เมื่อเย็นวันจันทร์ (29 เม.ย.) ที่ผ่านมา ฟรีดอม โซน จัดลานสนทนา “อ่าน อุบล” ณ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นแหล่งนัดพบของคนอุบลฯที่รักและสนใจในการอ่านและการเขียน และสะท้อนมุมมองต่อการอ่านในบริบทของเมืองดอกบัว โดยแม้หลายคนจะมองว่าเป็นบทสนทนาตามกระแสคนเมืองกรุงที่ได้กลายเป็นเมืองหนังสือโลกไปเมื่อไม่นานมานี้ แต่หากกระแสดังกล่าวบันดาลใจให้คนนอกกรุงหันมารื้อฟื้นพลังอยากเขียน อยากอ่าน ก็น่าจะดีไม่ใช่หรือ? ยิ่งถ้าพลังดังกล่าวเกิดมาจากภาคประชาชนโดยแท้จริง แม้จะเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆก็ตาม

ผู้ร่วมวงเสวนา “อ่าน อุบล” ได้แก่ รศ.ดร. ไชยันต์ รัชชกูล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คุณวิทยากร โสวัตร นักเขียนอิสระและเจ้าของร้านหนังสือ “ฟิลาเดลเฟีย” และคุณมาโนช พรหมสิงห์ นักพัฒนาสังคมและนักเขียนอิสระ ที่ยังร่วมเปิดตัวนวนิยายเล่มแรกในชีวิต “สายรุ้งกลางซากผุกร่อน” ต่อท้ายการเสวนาครั้งนี้ด้วย

โดยแม้จะไม่มีข้อเสนอแนะเป็นแนวทางการส่งเสริมการอ่านให้ได้ยิน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการที่ทั้ง 3 ผู้นำการสนทนาได้เล่ากล่าวด้านสำคัญของชีวิตที่มีพลังการอยากอ่านและอยากเขียนเป็นเครื่องชี้นำทาง คุณมาโนช พรหมสิงห์ นักเขียนอีสานรางวัลรพีพรคนแรก กล่าวตอนหนึ่งว่า “การอ่านหนังสือให้ออก ไม่ได้หมายถึงการอ่านตัวหนังสือออกเพียงเท่านั้น หากแต่ต้องอ่านเพื่อเข้าไปในใจของผู้เขียนและเข้าใจตัวผู้อ่านเองด้วย และที่สำคัญนั้น หนังสือคือประชาธิปไตย หนังสือบ้างเล่มห้ามถูกอ่านหรือมีไว้ในครอบครอง ทำไม? เพราะมันดีเกินไป”

ความหลงใหลในวรรณกรรมทั้งไทยและเทศ และความต้องการที่จะ “อ่านให้ออก” หล่อหลอมให้ รศ.ดร. ไชยันต์ รัชชกูล กลายเป็นนักอ่านและนักแปล แม้ใครหลายๆ คนจะรู้จักท่านในฐานะนักวิชาการรัฐศาสตร์ก็ตาม ในโอกาสนี้ อาจารย์ไชยันต์ ที่เคยตั้งความหวังอยากเห็นฟรีดอม โซน เป็นเสมือน ไฮด์ ปาร์ค (Hyde Park) แห่งภาคอีสาน ได้มองถึงความสำคัญของการอ่านเชิงวิพากษ์ โดยกล่าวว่า บางเรื่องราว อ่านเพื่อเป็นข้อมูล บางเรื่องราว อ่านแล้วต้องคิด ต้องตั้งคำถามด้วย เพื่อจะเข้าใจ อีกทั้ง การอ่านเรื่องราวเดียวกันนั้น แต่เข้าใจแตกต่างกัน เพราะคนอ่านตีความแตกต่างกันไปตามความแตกต่างของคนอ่านนั่นเอง

 

แม้ร้านหนังสือทางเลือก จะหายากเต็มทีในภาคอีสาน แต่คุณวิทยากร โสวัตร หรือ คุณเจี๊ยบ กล่าวว่า การทำร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ในอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นการทำตามฝันของตนและภรรยา หาได้เริ่มจากผลกำไรเฉกเช่นเดียวกับร้านหนังสือส่วนใหญ่ คุณวิทยากรเคยเล่าว่า แม้จะมีผู้มาเสนอขายหนังสือ “ขายง่าย” ให้ทางร้าน แต่ก็รับไว้ไม่ได้ เพราะ “มันไม่เข้ากับร้าน” ดังนั้น ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย แม้จะไม่ใหญ่โต แต่ก็เต็มไปด้วยหนังสือใหม่และมือสองที่หายาก แต่ขายง่ายสำหรับนักอ่านที่แท้จริง

ด้วยอุดมการณ์ของความเป็นลูกอีสาน คุณวิทยากรยังเรียกร้องให้คนอีสานหันมาส่งเสริมการอ่านและสร้างบรรยากาศทางศิลปะและวัฒนธรรมของถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องตามวิถีเมืองหลวงหรือภาครัฐบาลที่มีความเหลื่อมล้ำในนโยบายการส่งเสริมการอ่าน

นักสนทนาทั้งสาม บอกเล่าเรื่องราวที่ทำให้เข้าใจได้ว่า การอ่านที่ดีที่ควรค่าแก่การส่งเสริม คือการอ่านที่สะท้อนอิสระทางความคิด การอ่านที่มาจากพลังของการอยากอ่าน หาใช่การอ่านเพื่อบรรลุเป้าหมายในเชิงนามธรรม คุณค่าของการอ่าน อาจไม่ได้อยู่ที่จำนวนหนังสือที่ผ่านตา แต่อาจจะอยู่ที่จำนวนครั้งของหนังสือเล่มเก่าเล่มเดิมที่ผ่านใจก็เป็นได้ การถ่ายทอดพลังของการอยากอ่าน อยากเพิ่มพูนเนื้อหาและชีวิตให้กับการอ่าน จึงสร้างให้เสวนา “อ่าน อุบล” ไม่ได้ทำหน้าที่แค่การเป็นเวทีประชาสัมพันธ์การอ่านทั่วไปเท่านั้น หากแต่เป็นการรวมตัวขนาดย่อมของนักเขียน นักอ่าน และนักอยากอ่าน ที่มีความนิยมชมชอบการครุ่นคิดของตัวเองและผู้อื่น การครุ่นคิดเพื่อหวังจะเปลี่ยนแปลง การครุ่นคิดที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และการครุ่นคิดที่มิได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หากแต่มีความสวยงามคงทน ส่องแสงได้ด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับที่สะท้อนออกมาในนวนิยาย “สายรุ้งกลางซากผุกร่อน” ของมาโนช พรหมสิงห์

ในขณะที่นักอ่านรุ่นใหม่เมืองอุบลราชธานีไม่ค่อยจะรู้จักนักเขียนคนบ้านเดียวกันที่ชื่อ มาโนช พรหมสิงห์ พอๆ กับการที่พวกเขาไม่ค่อยจะเข้าใจหรืออยากทำความเข้าใจรากเหง้าอีสานของตนเอง นวนิยาย “สายรุ้งกลางซากผุกร่อน” ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นการผสมผสานระหว่างการย้อนมองตัวเอง แม้จะรวมถึงด้านมืด และการมองไปข้างหน้าอย่างมีความหวังเต็มเปี่ยมในจิตใจ เรื่องราวของนวนิยายที่ผู้เขียนมองว่าเต็มไปด้วยเรื่อง “ตอแหล” เป็นการสะท้อนอุดมการณ์ทางการเมืองที่มาจากการต่อสู้เพื่อรักษาตัวตนที่แท้จริงและการต่อสู้ทางชนชั้น ผ่านตำนาน นิทานปรัมปราของคนอีสาน ที่เป็นบททดสอบ “การอ่านให้ออก” ของผู้อ่านนั่นเอง และนิทานปรัมปรา ก็เหมือนละคร ที่เปรียบเปรยถึงความเป็นจริง

คุณค่าของนวนิยายเล่มเล็กๆ เล่มนี้ นอกจากจะเป็นความสวยงามของงานเขียน การเปรียบเทียบเล่นคำอย่างไพเราะและภาษาอีสาน จึงน่าจะอยู่ที่การเล่าเรื่องจริงผ่านเรื่องลวง ทำให้เกิดอารมณ์จริงๆที่ปะปนกันไประหว่างความสิ้นหวังและการคงอยู่ของความหวัง

คุณมาโนช พรหมสิงห์กล่าวตอนท้ายสั้นๆว่า “ขอบคุณที่อ่านหนังสือ”

ถ้าเสวนา “อ่าน อุบล” เป็นหนังสือ ฟรีดอม โซนคงอยากให้ผู้อ่าน อ่านหนังสือเล่มนี้ให้ออกเช่นกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท