อย่าด่วนฉลองร่างกฎหมายแต่งงานคนรักเพศเดียวกัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หญิงรักหญิง, ชายรักชาย และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต้องการการปฏิบัติอย่างเสมอภาคภายใต้กฎหมาย มิใช่การสงเคราะห์และเหยียดหยาม

การที่คณะกรรมาธิการรัฐสภาว่าด้วยกฎหมาย ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ต้องการร่างกฎหมายรับรองความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วน เป็นสิ่งที่ทำให้ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศเกิดทั้งความดีใจและแปลกใจ นักกิจกรรมสิทธิความหลากหลายทางเพศสามคนได้รับเชิญให้เข้าร่วมร่างกฎหมายในคณะทำงานที่คณะกรรมาธิการตั้งขึ้น

แต่ความตื่นเต้นยินดีนั้นก็เหือดแห้งไปอย่างรวดเร็ว เมื่อปรากฏว่าเสียงของผู้แทนชุมชนทั้งสามคนกลับไม่ได้รับการใส่ใจ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ร่างกฎหมายที่ได้จะมีข้อพึงกังวลอยู่ไม่น้อย ตัวอย่างเช่น การไม่ระบุสิทธิใดๆ เกี่ยวกับบุตร (แม้แต่บุตรในสายเลือดที่เกิดจากการแต่งงานครั้งก่อน) เป็นการตัดสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในการตั้งครอบครัว ที่แย่ไปกว่านั้นคือมีการเอ่ยหลายครั้งถึงการให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องผ่าน “การทดสอบ” ก่อนที่จะจดทะเบียนตามกฎหมายนี้ได้

นักกิจกรรมสิทธิความหลากหลายทางเพศที่พูดถึงข้อกังวลเหล่านี้ในการประชาพิจารณ์เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็กลับถูกผู้ผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้บอกว่า “น่าจะดีใจที่ไม่ได้เกิดในประเทศอิหร่านหรืออัฟกานิสถาน”, “ทำให้แค่นี้ก็ดีแค่ไหนแล้ว” และ “อย่าโลภมาก” คำพูดที่น่าตกใจเหล่านี้เผยให้เห็นถึงทัศนคติทางวัฒนธรรมทั่วไปที่ไม่เห็นผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม แต่เห็นว่าเป็นคนต่ำต้อยน่าสงสาร เหมือนกับขอทานที่ต้องรู้จักขอบคุณทุกความเมตตาที่คนโยนใส่ขันให้

ผู้ผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ควรไปอ่านปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งยอมรับ “ศักดิ์ศรีแต่กำเนิด และสิทธิที่เท่าเทียมกันและที่ไม่อาจเพิกถอนได้ของสมาชิกทั้งมวลแห่งครอบครัวมนุษยชาติ” กล่าวอีกอย่างก็คือ สิทธิมนุษยชนไม่ใช่ “การสงเคราะห์” หรือ “ทำบุญทำทาน” สิ่งที่นักกฎหมายและรัฐบาลต้องทำก็เพียงแค่รับรองสิทธิเหล่านี้และกำจัดอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิเหล่านี้ได้

มาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ โดยเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญอธิบายไว้ชัดเจนว่า คำว่า "เพศ" นั้นมิได้หมายถึงเพียงแค่ความแตกต่างระหว่างหญิงกับชายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความหลากหลายทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ (sexual orientation, gender identity) ด้วย ดังนั้นมาตรานี้จึงทำให้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพที่ห้าว่าด้วยการสมรสที่มีมาแต่เดิมนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงเพราะการกีดกันต่อคู่รักเพศเดียวกันเท่านั้น แต่ยังเพราะความไม่เท่าเทียมกันระหว่างสามีกับภรรยาในกฎหมายอีกด้วย

แม้ว่าจะไม่มีเจตจำนงทางการเมืองหรือแม้แต่ความสนใจที่จะแก้กฎหมายล้าสมัยนี้ นักกฎหมายไทยก็ยังมีทางเลือกที่จะทำตามแบบอย่างที่ดีในต่างประเทศ ด้วยการออกกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตที่ไม่ระบุหรือจำกัดเพศ แต่แทนที่จะทำเช่นนั้น ผู้ร่างกฎหมายกลับเลือกที่จะร่างกฎหมายเฉพาะเจาะจงสำหรับคู่เพศเดียวกันเท่านั้น โดยอ้างว่าเป็นการ “ทำให้” ผู้มีความหลากหลายทางเพศ

(ทั้งสิบสี่ประเทศที่ยอมให้คู่ชีวิตเพศเดียวกันแต่งงานได้อย่างเสมอภาค ไม่มีประเทศใดเลยที่ทำเช่นนี้ ประเทศแอฟริกาใต้ออกกฎหมายใหม่ที่ไม่ระบุหรือจำกัดเพศออกมาอีกฉบับหนึ่งเพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมจากกฎหมายแต่งงานสองฉบับที่มีอยู่เดิม ส่วนอีกสิบสามประเทศที่เหลือนั้นแก้กฎหมายแต่งงานเดิมให้ไม่มีการระบุหรือจำกัดเพศใดๆ )

ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ระบบแยกที่ออกมาต่างหากไม่มีทางให้ความเสมอภาคได้ ร่างกฎหมายที่ไม่ได้อยู่บนฐานความคิดที่ถูกต้องนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าถูกผ่านออกมามันก็จะเป็นกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการกีดกันแบ่งกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นพลเมืองชั้นสองอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ยังสามารถถูกฟ้องว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคู่ชีวิตต่างเพศที่อาจต้องการใช้กฎหมายนี้เนื่องจากไม่สะดวกใจกับความไม่เท่าเทียมทางเพศในการสมรสตามประเพณีเดิมๆ

นอกจากปัญหาเรื่องการขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ความพยายามของร่างกฎหมายนี้ที่จะจัดระเบียบแบ่งคนออกเป็นประเภทตามลักษณะทางเพศก็เป็นปัญหาสำหรับคนข้ามเพศ กะเทย หรือผู้มีเพศสรีระกำกวม การเขียนระบุเพศเข้าไปในกฎหมายโดยไม่จำเป็นเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อวิวัฒนาการของกฎหมายในการรับประการความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

การที่ผู้ผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้บอกผู้มีความหลากหลายทางเพศว่า “ทำให้แค่นี้ก็ดีแล้ว” ก็เป็นการเผยให้เห็นความคิดว่า สิทธิความหลากหลายทางเพศ เป็น"สิทธิพิเศษ" ที่สามารถจะให้หรือไม่ให้ก็ได้ตามความพอใจ ซึ่งเป็นวิธีคิดเดียวกันกับประเทศที่รังเกียจคนหลากหลายทางเพศใช้ในการโจมตีต่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งประเทศเหล่านี้เห็นว่าไม่ใช่มนุษย์และไม่สมควรได้รับสิทธิใดๆ

การที่ผู้ผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้บอกผู้มีความหลากหลายทางเพศว่า “น่าจะดีใจที่ไม่ได้เกิดในประเทศอิหร่านหรืออัฟกานิสถาน” ก็แสดงให้เห็นอย่างไม่ตั้งใจว่า ที่จริงแล้วพวกเขาก็ไม่ได้ต่างอะไรกับพวกคนที่ต่อต้านเกลียดชังความหลากหลายทางเพศ ทั้งที่คิดว่าตัวเองวิเศษวิโสกว่า ความสำเร็จเดียวที่พวกเขาสามารถเฉลิมฉลองให้กับตัวเองได้ก็คือการค้นพบหนทางใหม่ในการเลือกปฏิบัติภายใต้หน้ากากของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเท่านั้นเอง

 

จากบทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ The Nation 28 เมษายน 2556

 

ที่มา: http://www.nationmultimedia.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท