ฟรีดอมเฮาส์ลดอันดับเสรีภาพสื่อไทยจาก "เสรีบางส่วน" เป็น "ไม่เสรี"

"ฟรีดอมเฮาส์" จัดอันดับสื่อทั่วโลก ให้สถานการณ์สื่อไทยอยู่ในกลุ่ม "ไม่เสรี" เนื่องจากการใช้ ม.112 เพื่อจำกัดเสรีภาพการแสดงออก และคำตัดสินจากศาล รธน. ว่า ม.112 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และการเอาผิดตัวกลางอินเทอร์เน็ต ขณะที่ "พม่า" เปลี่ยนแปลงทางบวก หลังรัฐบาลยกเลิกกองเซ็นเซอร์ ปล่อยตัวนักข่าว แต่ยังมีปัญหาที่รัฐยะไข่ ซึ่งต้องเฝ้าจับตาต่อไป

วอชิงตัน ดีซี - เมื่อวันที่ 1 พ.ค. เวลา 10.15 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา องค์กรฟรีดอมเฮาส์ ซึ่งเป็นองค์กรที่รายงานเรื่องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพอินเทอร์เน็ต ได้แถลงข่าวและเผยแพร่รายงานเสรีภาพสื่อประจำปี 2012 ที่พิพิธภัณฑ์นิวเซียม วอชิงตัน ดีซี

โดยในปีนี้ฟรีดอมเฮาส์ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะประเทศที่ "ไม่เสรี" โดยลดสถานะจาก "เสรีบางส่วน" จากปีที่แล้ว เนื่องจากการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และคำตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญในปีที่แล้วว่ากฎหมายหมิ่นฯ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อกังวลเรื่องการเอาผิดตัวกลางในอินเทอร์เน็ต เช่นในกรณีการตัดสินคดีจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในทวีปเอเชียแปซิฟิกที่มีการเปลี่ยนสถานะดังกล่าว

คาริน คาร์เลการ์ ผู้อำนวยการโครงการฟรีดอมเฮาส์ กล่าวว่า การจำคุกจากข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากเมื่อมองจากแง่ของเสรีภาพสื่อสากล โดยเฉพาะในหลายกรณีทีี่ผู้ถูกจำคุกเป็นนักข่าวพลเมือง หรือในกรณีที่ยังไม่สามารถพิสูจน์โดยสิ้นสงสัย โดยเธอยกตัวอย่างกรณีของอำพล ตั้งนพพกุลที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปีจากการส่งข้อความสี่ข้อความและเสียชีวิตในเรือนจำในเวลาต่อมา

"ในยุคของอินเทอร์เน็ตที่คุณมีสื่อข้ามชาติ (transnational) และมันเป็นการยากที่จะเอาผิดกับตัวกลางและผู้ให้บริการ ฉันคิดว่านี่เป็นประเด็นสากล และเป็นสิ่งที่บริษัทอย่างกูเกิลและยาฮูก็ได้แสดงความกังวล" คาร์เลการ์กล่าว "ฉันคิดว่ามันเป็นข้อกังวลที่ค่อนข้างร้ายแรงที่กรณีเหล่านี้ยังคงดำเนินอยู่ในประเทศไทย และเป็นข้อยกเว้นสำหรับประเทศที่ในมุมอื่นๆ มีความเปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตย"

โดยในปีนี้แนวโน้มเสรีภาพสื่อโลกที่โดดเด่นได้แก่ การพยายามคุกคามสื่อใหม่โดยรัฐ เช่น โซเชียลมีเดีย บล็อก และการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีอื่นๆ โดยเฉพาะในประเทศจีนและรัสเซียที่มีการปิดกั้นและควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างแน่นหนา การใช้กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เช่น ไทย การจำคุกบล็อกเกอร์ เช่น ในเวียดนามและอียิปต์ และการปิดกั้นเว็บไซต์และบริการการส่งเอสเอ็มเอสในระหว่างความวุ่นวายทางการเมือง เป็นต้น

พม่าเป็นประเทศที่ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่ามีความเปลี่ยนแปลงในทางบวกมากที่สุด จากการพยายามเปิดเสรีของรัฐบาล จะเห็นจากการยกเลิกกองเซ็นเซอร์ การปล่อยตัวนักข่าวและบล็อกเกอร์ที่ถูกจำคุก และการก่อตั้งสมาคมนักข่าวและองค์การทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้นในประเทศ อย่างไรก็ตาม นักข่าวจากชนกลุ่มน้อยและการรายงานข่าวในรัฐยะไข่ยังคงมีข้อจำกัด นอกจากนี้ยังคงต้องจับตาเรื่องการผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายต่างๆ ที่ยังคงจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ

ในกัมพูชา การให้คะแนนเสรีภาพสื่อก็ลดลงเช่นกัน เนื่องจากการจำคุกนักข่าวที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงกรณีของมอม โสนันโด ที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปีจากการมีส่วนในการรายงานเรื่องข้อพิพาทเรื่องที่ดิน และอยู่ในสถานะประเทศที่ "ไม่เสรี" เช่นเดิมจากปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในสถานะประเทศที่ "เสรีบางส่วน" ในปี 2552 จากนั้น กลายมาเป็น "ไม่เสรี" ในปี 2553 จากการใช้กฎหมายอาชญกรรมคอมพิวเตอร์และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากนั้นได้ขยับขึ้นมาเป็น "เสรีบางส่วน" ในปี 2554 ด้วยบรรยากาศการผ่อนคลายความตึงเครียดหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม

สำหรับเกณฑ์ของฟรีดอมเฮาส์ จะพิจารณาการจัดลำดับจากสามแง่มุมหลักเป็นสำคัญ ได้แก่ ด้านกฎหมาย เช่น กฎหมายสื่อ ด้านการเมือง เช่น แรงกดดันหรือการข่มขู่จากรัฐบาล และด้านเศรษฐกิจ เช่น การเป็นเจ้าของสื่อ ต้นทุนในการผลิต และผลกระทบของการโฆษณา เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท