องค์กรสื่อชูธง 'เสรีภาพ ที่ไม่คุกคาม' หวังลดความขัดแย้งในสังคม

วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 2556 ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมสิทธิเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) โดยในงานมีทั้งการกล่าวไว้อาลัยแก่สื่อมวลชนที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติงาน การอ่านแถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก และการเสวนาเรื่อง “เสรีภาพ ที่ไม่คุกคาม” โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันต์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผศ.วลักษณ์กมล จ่างกลม คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

สมาคมนักข่าวฯ ชูธง 'เสรีภาพ ที่ไม่คุกคาม' มุ่งรณรงค์ลดภาวะความขัดแย้งในสังคม
หลังการยืนไว้อาลัยให้กับเหล่าผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิตขณะการปฏิบัติหน้าที่ในปีที่ผ่านมา นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก โดยกล่าวว่าในยุคปัจจุบันที่ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงมีความรุนแรง ได้เกิดสื่อประเภทใหม่ขึ้นมากมายในสังคมไทย ทั้งสื่อออนไลน์ เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน ฝ่ายการเมืองได้ใช้สื่อของตนแสดงความคิดเห็น ปลุกปั่น และต่อต้านฝ่ายตรงข้ามอย่างชัดเจน ประชาชนเริ่มรู้สึกว่าสื่อเลือกข้าง ไม่เป็นกลาง บิดเบือนความจริง ไม่เปิดพื้นที่ให้ความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนโดยภาพรวม ต่างฝ่ายต่างอ้างเสรีภาพสื่อมาใช้ทำร้ายซึ่งกันและกัน ในวันเสรีภาพสื่อเราจึงเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ตระหนักถึงเสรีภาพสื่อในฐานะ “เสรีภาพ ที่ไม่คุกคาม” ดังนี้

1. ประชาชนและสื่อมีเสรีภาพในการแสดงออก ปราศจากการแทรกแซง คุกคาม ในขณะเดียวกันต้องไม่ใช้เสรีภาพไปคุกคามการใช้เสรีภาพของบุคลอื่น ภายใต้หลักการ “เสรีภาพ ที่ไม่คุกคาม”
2. สื่อมวลชนควรตระหนักถึงการทำหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพนักข่าว เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์แห่งสาธารณะ พึงตระหนักว่าการนำเสนอข้อมูลที่ผิดจากข้อเท็จจริง จะนำไปสู่การให้ทางเลือกที่ผิดกับประชาชน
3. เสรีภาพในการแสวงหาข่าวสารของสื่อมวลชนท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองมีความสำคัญ สื่อมวลชนต้องไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจและอำนาจทุน รวมทั้งกลุ่มอิทธิพลใดๆ มุ่งสนับสนุนรัฐธรรมนูญมาตรา 46 ที่มุ่งคุ้มครองเสรีภาพผู้ที่เป็นสื่อมวลชนให้เป็นอิสระจากเจ้าของทั้งที่เป็นสื่อรัฐและเอกชน
4. สื่อมวลชนต้องแสดงบทบาทนำในการเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูล รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ร่วมกันสร้างบรรยากาศของการใช้เหตุผล เพื่อให้สังคมไทยออกจากความขัดแย้งได้อย่างสันติ
5. ขอให้ กสทช. ยุติและทบทวนการบิดเบือนเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อ วิทยุ และโทรทัศน์ โดยต้องกระจายคลื่นความถี่ที่มีอยู่ไปสู่สาธารณชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาการให้ใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิตอลสาธารณะ และชุมชนอย่างชัดเจน โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคม
6. ประชาชนต้องรู้ทันสื่อ สามารถแยกความคิดเห็นออกจากข้อเท็จจริง หาข้อมูลจากสื่อหลายๆ สื่อเพื่อประกอบการตัดสินใจในช่วงของการเสวนา

โดยจักร์กฤษให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การคุกคามสื่อเอาไว้ว่า ในอดีตสื่อถูกคุกคามโดยตรงจากรัฐบาลทหาร มี พ.ร.บ. การพิมพ์ 2484 เป็นสัญลักษณ์ของการจำกัดเสรีภาพสื่อ ภายหลังเมื่อประเทศเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นจึงมีการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ แต่การคุกคามสื่อก็ยังคงมีอยู่ในรูปแบบของการคุกคามโดยกลุ่มทุน เหตุการณ์หนึ่งในช่วงปี 2547 มีการตรวจพบการทุจริตสอบของลูกชายเจ้าของธุรกิจมือถือรายใหญ่ในขณะนั้น ซึ่งเจ้าของธุรกิจดังกล่าวก็คือนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นด้วย มีการขอไม่ให้มีการตีพิมพ์ข่าวดังกล่าว มีเพียงฉบับเดียวที่ตีพิมพ์ ในวันต่อมากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับที่นำเสนอข่าวดังกล่าวถูกถอดออก บริษัทโทรศัพท์มือถือดังกล่าวถอนโฆษณาออก นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการคุกคามโดยกลุ่มทุน

ในอดีต เราต้องแยกพื้นที่โฆษณา (advertorial) ออกจากพื้นที่ข่าวให้ผู้อ่านเห็นอย่างชัดเจน ทุกวันนี้ไม่มีแล้วซึ่งผมว่ามันอันตราย เมื่อกอง บก. ถูกคุกคามโดยอำนาจทุน จึงต้องยอมละทิ้งจริยธรรมสื่อของตนออกไป นักสื่อมวลชนสมัยใหม่ก็มีการอบรมเรื่องจริยธรรมน้อยเมื่อเทียบกับสมัยก่อน ทุกวันนี้นักข่าวภาคสนามที่ทำงานจริง ต้องการส่งสารของคนในพื้นที่จริง แต่พอข่าวไปถึงกอง บก. มันถูกแต่งเติมด้วยคำรุนแรงเช่น “ไอ้เหี้ยม” “ไอ้หื่น” ลงไปเพื่อให้ข่าวมันสะดุดตา คดีหมิ่นประมาทที่มีเหตุมาจากพาดหัวข่าวทุกวันนี้มีเยอะมาก จริงๆ แค่การเอาภาพผู้เสียชีวิตมาลงมันก็เป็นการละเมิดแล้ว เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนต้องระมัดระวังเวลาจะทำอะไร เพราะคุณกำลังแบกภาพลักษณ์ของความเป็นสื่อเอาไว้อยู่

วลักษณ์กมล ผู้ศึกษาขบวนการสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้กล่าวถึงบทบาทของสื่อในการสร้างความปรองดองในสังคมว่า เราเชื่อในแนวทางการทำข่าวเพื่อสันติ (peace journalism) นั่นคือการทำข่าวไม่ให้กระทบต่อขบวนการสันติที่กำลังก่อรูปขึ้นในภาคใต้ ซึ่งมีหลักการอยู่ 4 ข้อ 1. การเลือกใช้คำที่ไม่รุนแรงที่อาจไปคุกคามสันติภาพที่กำลังอยู่ในระยะตั้งไข่ 2. การศึกษาให้ลึกลงไปถึงรากเหง้าของปัญหาในพื้นที่  มิใช่เอาแต่รายงานยอดผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงในแต่ละวัน 3. สื่อควรเป็นเวทีให้หลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงได้มีโอกาสพูดคุยกัน 4. สื่อมีหน้าที่ทำให้สาธารณะสนับสนุนขบวนการสันติในภาคใต้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อภาคประชาสังคมกำลังทำอยู่ แต่ยังไม่ค่อยเห็นมากนักในสื่อกระแสหลัก 

สื่อควรจะเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า safety net ที่ทำหน้าที่ช่วยประคับประคองขบวนการสันติภาพ คนไทยทุกวันนี้ยังมีทัศนคติที่ไม่ดีกับสถานการณ์ในภาคใต้ บางส่วนยังต้องการให้มีการใช้ความรุนแรงแทนการร่วมมือ สื่อควรทำให้คนเหล่านี้เห็นความสำคัญของขบวนการสันติภาพโดยเข้าไปศึกษาในแวดวงคนในสังคม 3 จังหวัดชายแดนใต้ สื่อจะสามารถเป็นนักการทูตในภาวะความขัดแย้งได้ การที่สื่อมุ่งแต่จะนำเสนอภาพความรุนแรงมันสร้างความเสี่ยงต่อตัวนักข่าวเอง การหันมาให้ข้อมูลประชาชนเรื่องสันติภาพจะทำให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องและเพื่อความปลอดภัยของตัวนักข่าวเอง

ชัยวัฒน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่าในมุมมองของปรัชญาการเมือง “เสรีภาพ ที่ไม่คุกคาม” มันไม่มีจริง เพราะคำว่า “เสรีภาพ” มันคือปรัชญาอันเป็นสิ่งสากล ในขณะที่คำว่า “คุกคาม” มันเป็นเรื่องทางจิตวิทยาที่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล การใช้เสรีภาพของเราอาจไปคุกคามคนอื่นได้โดยเราไม่รู้ตัว นักปรัชญาการเมืองคนหนึ่งกล่าวไว้ว่าเสรีภาพเปรียบได้กับเสือ มันจะสวยก็ต่อเมื่อมันอยู่ในกรง เสรีภาพเป็นสิ่งที่มีเขี้ยวเล็บ หากเราดูอย่างการปฏิวัติฝรั่งเศส เสรีภาพก็ถูกอ้างเพื่อการใช้ความรุนแรง ฌางค์ฌาร์ค รุสโซ นักปรัชญาการเมืองผู้เขียนหนังสือสัญญาประชาคมกล่าวไว้ว่า “มนุษย์นั้นเกิดมาเสรี แต่ทุกที่พวกเขาอยู่ในพันธนาการ” ทำไมเสรีภาพที่เรามีติดตัวมาแต่เกิดต้องถูกพันธนาการ ซึ่งในยุคปัจจุบันสิ่งที่พันธนาการเราก็คือเงินตราและกฎหมาย ก็เพราะว่าเสรีภาพมันหน้ากลัว อีริค ฟรอม นักจิตวิทยาชื่อดังเคยเขียนหนังสือชื่อ “หนีไปจากเสรีภาพ” สรุปแล้วเสรีภาพดูเป็นสิ่งที่น่ากลัวพอสมควร จึงต้องขังไว้ในกรง พันธนาการไว้ และหนีไปจากมัน แต่ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้แปลว่าผมสนับสนุนให้เราเป็นเผด็จการแบบเกาหลีเหนือ ผมแค่ต้องการบอกว่าเราอย่ายกยอเสรีภาพมากเกินไปจนลืมมุมที่อันตรายของมัน

เพราะฉะนั้นเสรีภาพสื่อที่เราครอบครองเป็นสิ่งที่มีพลังมหาศาล ผมอยากเห็นสื่อไทยทำข่าวที่ “คมคาย” คือ “คม” และ “ระคาย” ไปพร้อมๆ กัน เราต้องไม่ระคายเกินไปจนเขาอยากจะฆ่าเรา แต่ต้องระคายมากเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เขาคิดหาทางออกที่ดีต่อไป ผมอยากเห็นสื่อไทยมีสติในการเขียนข่าว พูดแบบง่ายๆ ก็คือมีมารยาทในการเขียน ถ้าเราทำได้ เราจะนำพาสังคมไทยไปได้ไกลมาก ทุกวันนี้เราใช้แต่ความ “คม” มาเชือดเฉือนฝ่ายตรงข้าม มันคม แต่ไม่ “คาย” สัญลักษณ์ของนักข่าวคือปากกา มันคม เราสามารถเอาความคมนี้ไปใช้ในเรื่องที่ดี หรือร้ายก็ได้ ผมหวังว่าหวังปากกาที่เรามีอยู่จะคมพอให้เรานำพาสังคมไทยออกจากวิฤตความขัดแย้งได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท