Skip to main content
sharethis

อัยการสูงสุดชี้ช่องทางอำนาจ ตั้งแต่สั่งไม่ฟ้องไปจนถึงถอนฎีกาคดีไฟใต้ได้ทั้งหมด ตามมาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการ ชี้สามารถเดินหน้าควบคู่กับกระบวนการสันติภาพ ยกเว้นคดีที่ถึงที่สุดแล้ว แต่มีเงื่อนให้ผู้ต้องหาทั้งหมดสัญญาจะเลิกก่อเหตุและร่วมพัฒนาพื้นที่ เชื่อคนไทยไม่คัดค้าน เพราะทุกคนต้องการสันติสุข

 
จุลสิงห์ วสันตสิงห์
 
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด กล่าวในพิธีพิธีมอบเอกสาร “แนวทางการดำเนินคดีความมั่นคงสำหรับพนักงานอัยการในสถานการณ์ชายแดนใต้” และการนำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “ประสิทธิภาพของรัฐในการดำเนินคดีความมั่นคงกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน : ศึกษากรณีสี่จังหวัดชายแดนใต้” ที่โรงแรมราชมังคลาพาวีเลี่ยนบีชรีสอร์ท อ.เมือง จ.สงขลา ตอนหนึ่งว่า อัยการสูงสุดมีอำนาจตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ที่จะสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญาได้ ถ้าเห็นว่า การฟ้องจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ
 
นายจุลสิงห์ กล่าวอีกว่า ถ้าผู้ต้องหาคดีความมั่นคงสัญญาว่าจะกลับใจ สำนึกผิด จะไม่เข้าร่วมขบวนการและสามารถที่จะดึงคนในครอบครัวและเพื่อนออกมาได้ ตนจะถอนฟ้องให้ทั้งหมด เพราะอำนาจดังกล่าวเป็นของอัยการสูงสุดเพียงคนเดียว จะมอบหมายให้คนอื่นทำแทนไม่ได้ แต่มีระเบียบวิธีการที่ต้องมีการเสนอตามลำดับขั้นตอน ซึ่งมีใช้ทั่วประเทศแต่ยังไม่มีระเบียบที่ใช้เฉพาะในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
“ผมได้ประสานงานกับพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือศอ.บต.แล้วว่า หากจับคนที่กระทำผิดจริงอาจจะไม่ลงโทษ ถ้าผู้กระทำผิดนั้นสำนึกผิดจริงๆ จะไม่เข้าไปร่วมกับขบวนการอีก แต่หากทำผิดไปโดยสันดารก็คงจะไม่ยกโทษให้ เพราะถ้ายกโทษก็จะกระทำผิดอีก” นายจุลสิงห์ กล่าว
 
นายจุลสิงห์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 21 ดังกล่าว สามารถเดินหน้าควบคู่ไปกับกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ได้ เพราะกฎหมายให้อำนาจอัยการกว้างมาก แต่ต้องมาคุยกัน มาสัญญากันว่าจะไม่กระทำผิดอีก ถ้าผู้ต้องหาคดีความมั่นคงทั้ง 5,000 กว่าคนมาสัญญากันได้ ตนก็จะถอนคดีให้ทั้งหมด แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ต้องยอมรับและร่วมการพัฒนาเพื่อให้เกิดความสงบสุข ความมั่นคงที่ยื่นยาว
 
นายจุลสิงห์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะต้องทำหลังจากนี้ คือ ต้องทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในพื้นที่ว่าสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้ ซึ่งคนในพื้นที่ต้องไปปรึกษากันว่าจะเอาอย่างไร จะให้เป็นมติคณะรัฐมนตรีก็ต้องทำ แล้วเสนอมาว่าจะมีเงื่อนไขอะไรบ้าง แต่ต้องทำประโยชน์กับคนในพื้นที่ การทำงานต้องมาจากความร่วมจากองค์กรที่ทำงานในพื้นที่
 
นายจุลสิงห์ กล่าวว่า แต่ถ้าเป็นคดีฟ้องศาลไปแล้ว อัยการสูงสุดก็ยังสามารถถอนฟ้องได้ รวมทั้งถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาได้ 
 
“แต่ถ้าเป็นคดีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้วก็ต้องเป็นเรื่องของกรมราชทัณฑ์ต่อไปที่จะสามารถดำเนินการภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษ แต่มีข้อตกลง สมมุติว่าคนที่เป็นผู้นำถูกตัดสินโทษไปแล้ว แต่เขายังมีลูกสมุนอีกหลายคนที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ เขาสัญญาว่าจะทำให้ลูกสมุนกลับใจได้ ก็ปล่อยดีกว่าที่จะเก็บตัวเขาเอาไว้ เก็บไว้บ้านเมืองจะได้อะไร”
 
นายจุลสิงห์ กล่าวด้วยว่า เชื่อว่าคนไทยต้องการความสงบ หลายคนต้องการที่จะเดินทางไปเที่ยวในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสจะตาย โดยไม่มีอะไรต้องกังวล
 
นายจุลสิงห์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความรักความเข้าใจระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่จะทำให้เหตุการณ์ดีขึ้น
 
ทั้งนี้ หนึ่งในเงื่อนไขของขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มเห็นต่างจากรัฐและเป็นหนึ่งในขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นแกนหลักในการพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทยขณะนี้ คือ ให้ปล่อยผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนและยกเลิกหมายจับทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข
 
มาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553
 
พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
 
ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่า การฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด โดยความเห็นชอบของ ก.อ.(คณะกรรมการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ)
 
ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับกับกรณีที่พนักงานอัยการไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกา ด้วยโดยอนุโลม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net