รมว.ไอซีทีแจงไม่มีอำนาจปิดเว็บ ชี้อำนาจอยู่ที่ศาล

(7 พ.ค.56) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โพสต์ชี้แจงลงในเพจเฟซบุ๊ก "น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ,สำนักงานปราบโกง Anti-corruption" โดยระบุว่า  จากพฤติกรรมการบิดเบือนข้อเท็จจริงจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองจากพรรคฝ่ายค้านที่กล่าวหากระทรวงไอซีทีว่า ใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบในการปิดกั้นเว็บไซต์ ที่แสดงความเห็นทางการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล มีการกระทำที่ลุแก่อำนาจและไม่เป็นประชาธิปไตย โดยมีการแอบตีกิน แอบอ้างว่าเขาให้สัมภาษณ์ว่า หากมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี จะสั่งปิดเว็บไซต์ ทำให้ประชาชนที่ติดตามข่าวสารเกิดความเข้าใจผิดและบางส่วนเกิดความเกลียดชัง โดยเข้าใจว่า กระทรวงไอซีทีใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ชอบ

น.อ.อนุดิษฐ์ ชี้แจงใน 4 ประเด็น ได้แก่
1. กระทรวงไอซีทีเป็นผู้รักษาการ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ปี 2550 ดังนั้น จึงไม่มีอำนาจใดๆ ในการสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ อำนาจในการสั่งปิดเว็บไซต์นั้น อยู่ในดุลยพินิจและคำสั่งของศาลอาญาเท่านั้น โดยหลังจากศาลอาญามีคำพิพากษาให้ทำการปิดกั้นเว็บไซต์นั้น กระทรวงไอซีทีจะเป็นผู้แจ้งคำสั่งศาลดังกล่าวให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกราย เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งต่อไป ดังนั้น การกล่าวหาว่ากระทรวงไอซีทีใช้อำนาจในการปิดกั้น เว็บไซต์และเป็นการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงไม่เป็นความจริง

2. การใช้ช่องทางเว็บไซต์ และ Social network ในการแสดงความเห็นของพี่น้องประชาชนในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เป็นสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนทุกคนสามารถทำได้ และไม่มีใครหรืออำนาจใด ๆ มาก้าวล่วงได้ แต่อย่างไรก็ดี การใช้ช่องทางดังกล่าวกระทำผิดกฎหมายใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการคุกคาม กล่าวหา ให้ร้ายดูถูกดูแคลน หรือใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อบุคคลอื่น และทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 หรือเข้าข่ายการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว หากมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือบุคคลที่มีอำนาจตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องมีการดำเนินการ ให้เป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งจากกรณีนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจว่า การแสดงออกหรือความเห็นอย่างไรที่ไม่ควรกระทำ ผู้แสดงความเห็นเพียงคิดถึงสิทธิเสรีภาพของตัวเองหรือครอบครัว ที่ไม่ต้องการให้ผู้ใดล่วงละเมิด เฉพาะประเด็นนั้นๆ ก็ไม่ควรไปล่วงละเมิดบุคคลอื่นในเรื่องนั้นๆ เช่นเดียวกัน

3. กระทรวงไอซีทีไม่มีสิทธิในการเลือกปฏิบัติหรือกระทำการใดๆ แบบสองมาตรฐาน การกล่าวหาว่า กระทรวงไอซีทีที่ให้ความสำคัญเฉพาะกรณีของฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จึงเป็นเรื่องที่บิดเบือนและไม่เป็นความจริง

ตลอดเวลาที่ผ่านมากระทรวงไอซีทีได้ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดและผู้ที่ได้รับความเสียหาย ทุกคน ทุกกรณีอย่างเท่าเทียมกัน ตามอำนาจหน้าที่ ที่ได้รับตามกฎหมาย เพราะการดำเนินการใดๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าทำเกินอำนาจหน้าที่ หรือการดำเนินการใดๆ ที่ละเลยไม่ปฏิบัติ กระทรวงไอซีทีไม่สามารถดำเนินการได้ทั้ง 2 กรณี เพราะผู้เสียหายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายกับกระทรวงไอซีทีได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การกล่าวหาด้วยคำพูดว่ากระทรวงไอซีทีละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ นอกเหนือจากอำนาจที่ได้รับจึงไม่เป็นความจริง

4. การดำเนินการกับเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน เป็นการดำเนินการร่วมกันของทุกภาคส่วน ซึ่งกระทรวงไอซีทีเป็นองค์ประกอบหนึ่งในคณะกรรมการ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ที่ทุกคนที่รับผิดชอบให้ความสำคัญสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น ผู้รับผิดชอบทุกคนเป็นข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองที่จงรักภักดีและเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น การกล่าวหาว่า ข้าราชการทั้งการเมือง และประจำที่รับผิดชอบเหล่านี้ ปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการกับเว็บหมิ่น จึงไม่เป็นความจริง และคงไม่มีใครผู้ใดสามารถบงการข้าราชการทุกคน ไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองได้อย่างแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท