Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คดีสารตะกั่วปนเปื้อนลำห้วยคลิตี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ชาวกะเหรี่ยงลุกขึ้นมาฟ้องหน่วยงานรัฐเพื่อปกป้องสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามรัฐธรรมนูญ จากกรณีโรงแต่งแร่ปล่อยสารตะกั่วลงลำห้วยที่ชุมชนใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน ซึ่งหลังจากใช้เวลาพิจารณาคดียาวนานกว่า 9 ปี ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้และชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านคลิตี้ล่าง ทำให้คดีนี้กลายเป็นคดีด้านสิ่งแวดล้อมคดีแรกในประเทศไทยที่มีคำพิพากษาศาลสูงวางบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในเรื่องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมทั้งชี้ให้เห็น “จุดอ่อน” ในการแก้ปัญหาการปนเปื้อนมลพิษของประเทศไทย

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW) ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้โดยตรง ผ่านคณะทำงานช่วยเหลือชุมชนคลิตี้ สภาทนายความ ได้ทำการถอดสรุปประสบการณ์การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมทั้งขั้นเตรียมฟ้อง การดำเนินการในคดี และเผยแพร่ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม ด้วยเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการปรับใช้กับการทำคดีด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ รวมทั้งการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมซึ่งกำลังลุกลามไปในหลายพื้นที่และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นต่อไป

 

จุดเริ่มต้นของการฟ้องคดี

กรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ แม้จะเริ่มเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชน ตั้งแต่ปี 2541 และหลากหลายหน่วยงานต่างก็ลงพื้นที่แก้ไขปัญหา แต่แล้วผ่านมา 5 ปี การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมยังคงไม่เห็นเป็นรูปธรรม ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ล่างยังคงเจ็บป่วย สัตว์น้ำยังคงอันตราย กรมควบคุมมลพิษซึ่งเคยประกาศแผนการฟื้นฟู กลับไม่ปฏิบัติตามแผนนั้น และเมื่อมีการทำหนังสือทวงถามให้ปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วย กรมควบคุมมลพิษก็นิ่งเฉยไม่ชี้แจงแต่อย่างใด นี่จึงเป็นเหตุให้ชุมชนคลิตี้ล่าง, EnLAW และคณะทำงานตัดสินใจยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

อย่างไรก็ตาม การฟ้องคดีเกี่ยวกับผลกระทบจากมลพิษนั้น จากบทเรียนการทำคดีโคบอลต์ 60 ทำให้เห็นว่าการฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายเพียงอย่างเดียวไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด และไม่สามารถบรรลุผลเพื่อประโยชน์สาธารณะในระยะยาวได้ การฟ้องในคดีนี้  จึงตั้งฐานจากการที่หน่วยงานรัฐละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่และไม่ควบคุมดูแลจนทำให้เกิดการปล่อยตะกอนตะกั่วลงสู่ลำห้วย ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์จากลำห้วยได้ตามปรกติอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่หน่วยงานของรัฐต้องคุ้มครอง เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม อันเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ชาวบ้านคลิตี้หน้ากระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2544

ทำไมจึงฟ้อง “กรมควบคุมมลพิษ”

ในการเตรียมคดี มีความพยายามในการศึกษาข้อกฎหมายเพื่อฟ้องกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) เพราะเป็นหน่วยงานที่อนุมัติอนุญาตให้เกิดการทำเหมืองแร่ จึงต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น แต่สุดท้ายพบว่าไม่มีกฎหมายกำหนดให้กพร.มีอำนาจหน้าที่ฟื้นฟูมลพิษนอกเขตเหมืองแร่ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการซื่งกำหนดอำนาจหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ ประกอบกับข้อมูลจากคุณสุรพงษ์ กองจันทึกและองค์การพัฒนาเอกชนได้ชี้ให้เห็นว่ากรมควบคุมมลพิษยังไม่ได้เข้ามาติดตามควบคุมให้เกิดการฟื้นฟูลำห้วยอย่างเพียงพอ และมาตรา 96 , 97 พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 ที่ให้อำนาจหน่วยงานรัฐในการเรียกค่าเสียหายจากการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากผู้ก่อมลพิษได้  ดังนี้ จึงนำมาสู่ข้อสรุปที่จะฟ้องกรมควบคุมมลพิษ เพื่อให้กฎหมายที่บัญญัติได้นำมาบังคับใช้ และเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานในการบริหารงานของรัฐในการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนสารพิษ

 

เน้นฟื้นฟูลำห้วย แถมค่าเสียหาย

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น การฟ้องคดีนี้ มุ่งหวังให้มีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้อย่างแท้จริง ดังนั้น คำฟ้องแรกจึงขอให้ศาลสั่งกรมควบคุมมลพิษปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่หลังจากยื่นฟ้องได้ไม่นาน กรมควบคุมมลพิษกลับยื่นคำให้การยืนยันว่าจะยุติการดำเนินการและปล่อยให้ฟื้นฟูตามธรรมชาติ ทำให้ชุมชนและภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจเช่นนี้ เพราะการจัดทำแผนการฟื้นฟูควรต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้เสียและต้องตั้งอยู่บนฐานความรู้ทางวิชาการ เมื่อไม่ได้เป็นเช่นนั้นจึงมีการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง เรียกค่าเสียหายจากการละเลยล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย เพื่อเร่งรัดให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ทั้งยังเป็นการเยียวยาชาวบ้านจากการถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญในระหว่างที่มีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

สำหรับรายละเอียดค่าเสียหาย ชาวบ้านตกลงกันว่า ค่ากับข้าวที่ต้องจ่ายไปเนื่องจากไม่สามารถใช้ประโยชน์จากลำห้วยนั้นจะเรียกจากหน่วยงานรัฐ ส่วนค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไปจากการเจ็บป่วยด้านสุขภาพจะเรียกจากผู้ประกอบการ โดยคุณจีรวรรณ บรรเทาทุกข์ ได้เข้ามาช่วยเก็บข้อมูลการจ่ายค่าอาหารของชาวบ้านและนำมาเฉลี่ยโดยคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวจนกว่าจะเข้ามาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้และสภาพแวดล้อมบริเวณดังกล่าวให้กลับสู่สภาพเดิม

 

ต้องแสวงหา “เพื่อนร่วมทาง”

หลังยื่นฟ้องคดี ทีมทนายได้ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านในเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญและกระบวนการในชั้นศาล พร้อมกันนี้ได้ตั้งคณะทำงานในทางคดีโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วย เพราะการต่อสู้ในทางคดีนอกจากจะมีเรื่องการละเลยล่าช้าในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแล้วยังมีเรื่องวิธีการฟื้นฟูที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ต้องมีงานศึกษาหรืองานวิจัยเข้ามาให้น้ำหนัก ดังนั้น ทนายความจึงเชิญอาจารย์อาภา หวังเกียรติ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ จากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมาเป็นคณะทำงานและเสนอความเห็นทางวิชาการต่อศาล อย่างไรก็ตาม ในการทำคดีขณะนั้น ก็มีข้อจำกัดในการสร้างเครือข่ายนักวิชาการและรวบรวมองค์ความรู้เรื่องการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เพื่อเสนอทางเลือกอื่น ๆ ต่อศาล รวมทั้งประเด็นคลิตี้ก็เริ่มถูกหลงลืมในหน้าสื่อสาธารณะ

 

คำตัดสินศาลชั้นต้น

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อปี 2551 ใน 2 ประเด็นตามคำขอท้ายฟ้องคือ 1.  กรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่ที่จะต้องเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาจริง แต่มิได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจนก่อให้เกิดความเสียหาย และ 2. ให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้านทั้ง 22 รายรายละ 33,783 บาท โดยยกคำขอในเรื่องค่าเสียหายในอนาคตของชาวบ้าน เพราะศาลเห็นว่าการปนเปื้อนในลำห้วยเริ่มเจือจางและใช้ประโยชน์ได้บางส่วนแล้ว

 

ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อ...

หลังมีคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ทีมทนายความเห็นว่าคำพิพากษาไม่ส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหา เพราะศาลไม่ได้พิพากษาบังคับให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟู ทั้งที่มีคำวินิจฉัยว่ากรมควบคุมมลพิษล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ จึงนำมาสู่การยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดในหลายประเด็น คือ1) ยืนยันว่ากรมควบคุมมลพิษละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เพียงแต่ล่าช้าดังที่ศาลชั้นต้นตัดสิน2) เรื่องค่าเสียหายในอนาคตจากการกระทำละเมิดที่ยังมีต่อเนื่องและชาวบ้านยังได้รับความเสียหาย และ3) ขอให้กรมควบคุมมลพิษเข้าดำเนินการฟื้นฟูโดยจัดทำแผนงานที่ชัดเจน และกำหนดมาตรการอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่ว โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน

 

ศาลสูงกลับคำตัดสิน

หลังพิจารณาคดีเกือบ 5 ปี ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองกลางในหลายประเด็นอันได้แก่ การชี้ว่ากรมควบคุมมลพิษละเลย/ล่าช้าการปฏิบัติหน้าที่ในหลายประเด็นสำคัญจนทำให้ชาวบ้านได้รับความเสียหายจนถึงปัจจุบัน จึงกำหนดให้กรมควบคุมมลพิษต้องกำหนดแผนการฟื้นฟู และตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยทุกฤดูกาลจนกว่าจะไม่เกินค่ามาตรฐาน โดยปิดประกาศผลการตรวจให้ชุมชนทราบ รวมทั้งให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้เงินเกือบ 4 ล้านบาท โดยรวมดอกเบี้ยและค่าเสียหายในอนาคตไว้ด้วย

และนี่คือบทเรียนและประสบการณ์ในการทำคดีคลิตี้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดนี้เสมือนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เท่านั้น หลังจากนี้ กรมควบคุมมลพิษจะต้องเริ่มกำหนดแผนการฟื้นฟู โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และต้องมีการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องจนกว่าสารตะกั่วจะไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่ง EnLAW และเครือข่าย ในนามคณะทำงานติดตามการฟื้นฟูสายน้ำและชุมชนคลิตี้ภาคประชาสังคม จะได้ติดตามตรวจสอบการทำงานของกรมควบคุมมลพิษในเรื่องนี้ต่อไป

EnLAW หวังว่าคดีที่ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของสังคมไทยนี้ จะสะท้อนให้เห็น “บทเรียน” จากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ขาดการวางระบบและสร้างองค์ความรู้ทั้งเรื่องการตรวจสอบ การจัดการกับปัญหามลพิษที่รั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม และการเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษในสิ่งแวดลอม รวมทั้งเป็นกรณีตัวอย่างให้เกิดการพัฒนาระบบการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net