Skip to main content
sharethis

เวทีรับฟังความเห็นเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างของกรมชลประทานล้มไม่เป็นท่า เมื่อชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ร่วมมือกับชาวบ้าน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา กว่า 1,000 คน ไล่ตะเพิดเจ้าหน้าที่กรมชลประทานและเจ้าหน้าที่บริษัทที่ปรึกษาให้ออกนอกพื้น

 

 
 
 
 
 
 
 
 
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมาที่ศาลาว่าการอำเภอเชียงม่วน จ.พะเยา ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีโครงการเขื่อนยมบน และเขื่อนแม่น้ำยม (เขื่อนยมล่าง ) ที่มีแผนที่จะสร้างทั้ง 2 เขื่อนที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษา บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด แต่ยังไม่ทันได้เริ่มงานเวทีก็ล่มเสียก่อน เพราะชาวบ้าน ต.สะเอียบ จ.แพร่ และชาวบ้าน อ.เชียงม่วน จ.พะเยากว่า 1,000 คน ได้เข้าสังเกตการณ์ในเวทีประชุม ทำให้เวทีไม่สามารถเปิดดำเนินการตามวาระที่กำหนดไว้ เพราะชาวบ้านโห่ไล่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานและเจ้าหน้าที่บริษัทที่ปรึกษา ทำให้เจ้าหน้าที่หนีหัวซุกหัวซุนออกจากสถานที่จัดเวทีประชุมอย่างทุลักทุเล เป็นเหตุให้ไม่มีผู้ดำเนินการประชุมและเวทีล่มในที่สุด
 
นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้าเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า “ชาวบ้านได้ทราบข่าวว่าจะมีการจัดเวทีเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ขึ้นที่นี่ จึงได้มาสังเกตการณ์ เพราะชาวบ้านเบื่อหน่ายและเอือมระอากับพฤติกรรมของกรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษา ที่หลอกลวงชาวบ้านมาครั้งแล้วครั้งเล่า ศึกษาทีไรก็สร้างเขื่อนทุกที ไม่เคยคิดถึงทางออกหรือทางเลือกอื่นๆเลย พวกเราชาวสะเอียบได้เสนอทางออก ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยมทั้ง 12 แนวทางมาโดยตลอดแต่ก็ไม่เคยได้รับการพิจารณาเลย บทเรียนหลายต่อหลายครั้งทำให้เราเห็นว่าการจัดเวทีปาหี่อย่างนี้แล้วก็ไปสรุปว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ซึ่งไม่จริง วันนี้เราจึงต้องมาแสดงตัวให้เห็นว่าชาวสะเอียบไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง และเขื่อนแก่งเสือเต้น และยืนยันที่จะใช้สิทธิของพวกเราชาวบ้านตาดำดำในการคัดค้านโครงการเหล่านี้จนถึงที่สุด” นายสมมิ่งกล่าว
 
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษา บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ ได้จัดเวทีเช่นเดียวกันนี้ที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.สุโขทัย ซึ่งไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้นแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีตัวแทนชาวบ้านจังหวัดสุโขทัย ยื่นหนังสือสนับสนุนให้สร้างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ที่ อ.สอง จ.แพร่ อีกด้วย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องจัดทำ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) เพราะเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง เป็นเขื่อนขนาดใหญ่มีผลกระทบร้ายแรงตามกฎหมายต้องศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน กรมชลประทานจึงได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษา บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ ศึกษาผลกระทบดังกล่าว ทั้งนี้เขื่อนยมบนหรือเขื่อนแม่น้ำยมตอนบน มีแผนที่จะสร้างปิดกั้นแม่น้ำยม บริเวณใกล้กับผาอิง ห่างจากบ้านดอนชัยสักทอง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ประมาณ 2 กิโลเมตร ระดับกักเก็บที่ 258 เมตร รทก. ความจุ 166 ล้านลูกบาศก์เมตร ความสูงของสันเขื่อน 40 เมตร จากท้องน้ำ โดยอ่างเก็บน้ำจะยาวไปถึงอำเภอเชียงม่วน จ.พะเยา รวมความยาวประมาณ 40 กิโลเมตร ท่วมพื้นที่ 10856 ไร่
 
 ขณะที่ เขื่อนยมล่าง หรือเขื่อนแม่น้ำยม มีแผนที่จะสร้างปิดกั้นแม่น้ำยม บริเวณใต้จุดบรรจบแม่น้ำงาวลงมา 5.3 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเขตตำบลเตาปูน ที่ติดกับเขต ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ห่างจากจุดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเดิม ประมาณ 10 กิโลเมตร ระดับกักเก็บที่ 230 เมตร รทก. ความจุ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ความสูงของสันเขื่อน 54.5 เมตร จากท้องน้ำ โดยอ่างเก็บน้ำจะยาวเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ผ่านผืนป่าสักทองธรรมชาติผืนใหญ่ ไปจนถึง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ รวมความยาวประมาณ 37.5 กิโลเมตร ท่วมพื้นที่ 21,000 ไร่
 
ด้านนายวิชัย รักษาพล ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า “กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาได้หลอกลวงเราหลายต่อหลายครั้ง บิดเบือนข้อเท็จจริงหลายต่อหลายครั้ง จนเราไม่ไว้วางใจอีกต่อไป ล่าสุดเราไปสังเกตการณ์การประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่เตาปูน ก็ไปสรุปว่าชาวสะเอียบเข้าร่วมและเห็นด้วยกับเขา เราจึงมีมติว่า ห้ามบุคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด หากพบเจอจะไม่รับประกันความปลอดภัย” นายวิชัย กล่าว
 
เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น.นายก่อบุญญ์ ปัญญาบุญ นายอำเภอเชียงม่วนได้กล่าวเปิดงาน แต่ยังไม่ทันได้กล่าวอะไรมากชาวบ้านสะเอียบที่เตรียมป้ายผ้าคัดค้านเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างและเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้เดินขึ้นไปขึงป้ายผ้าบนเวที ทำให้เวทีเกิดความวุ่นวายขึ้นจนไม่สามารถดำเนินการต่อได้ นายก่อบุญญ์ ปัญญาบุญ นายอำเภอเชียงม่วนได้ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อพี่น้องชาวสะเอียบได้เดินทางมาประท้วงเวทีจำนวนมาก ก็เลยไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ตนในฐานะฝ่ายปกครองและเจ้าของสถานที่ก็คงได้แค่อำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านทั้งสะเอียบและชาวเชียงม่วนให้หารือกันแบบชาวบ้าน ซึ่งคิดว่าคงไม่มีปัญหาแต่อย่างได ส่วนเวทีคงต้องยุติไปเพราะคงไม่สามารถดำเนินการต่อได้แต่อย่างได" นายก่อบุญญ์ กล่าว
 
หลังจากนั้นชาวสะเอียบก็ได้นำรถเครื่องเสียงเข้ามาจอดปราศรัยอยู่ด้านหน้าห้องประชุม ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ที่มาสังเกตการมากๆ เพราะไม่อยากให้กรมชลและบริษัทที่ปรึกษาโกหกหลอกลวงประชาชนอีกต่อไป จากนั้นได้มีการเชิญตัวแทนชาวบ้าน อ.เชียงม่วนขึ้นปราศรัยกับชาวบ้าน โดยนายอดุล กุลตาล อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านทุ่งมอก อ.เชียงม่วน จ.พะเยา กล่าวว่า "ชาวเชียงม่วนก็ไม่เห็นด้วยกับโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง เพราะกระทบกับพี่น้องเชียงม่วนตั้ง 11 หมู่บ้าน แต่ชาวเชียงม่วนได้ร้องขออ่างเก็บน้ำขนาดกลาง คือ อ่างน้ำปี้ ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาของแม่น้ำยม ในเขตอำเภอเชียงม่วน แต่กรมชลก็ไม่สร้างให้ซักที จะรอแต่แก่งเสือเต้น รอยมบนยมล่างคงไม่ได้สร้างแน่ อยากให้กรมชลพัฒนาอ่างขนาดกลางขนาดเล็กจะดีกว่า ชาวบ้านจะได้ประโยชน์มากกว่า" นายอดุล กล่าว
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดค้าเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ยังได้ออกแถลงการณ์ใจความว่าถูกกรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาหลอกมาหลายครั้งแล้ว จึงต้องมีมาตรการในการห้ามบุคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างและเขื่อนแก่งเสือเต้นเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด หากพบเจอจะไม่รับรองความปลอดภัย แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า ให้กรมชลประทานยกเลิกสัญญาจ้างงานบริษัทที่ปรึกษา และคืนเงินงบประมาณให้กับแผ่นดิน
 
จากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. แกนนำได้ประกาศว่าเจ้าหน้าที่กรมชลประทานและเจ้าหน้าที่บริษัทปัญญา ได้ไปกินข้าวเที่ยงที่ร้านอาหารอุ่นเรือนในตัวเมืองเชียงม่วนแล้ว จึงประกาศให้ชาวบ้านนำข้าวปลาอาหารออกมากินกัน พร้อมเปิดเพลงขับกล่อมอย่างเป็นกันเอง จนถึงเวลาประมาณ 12.30 น. แกนนำได้ประกาศว่าเจ้าหน้าที่กรมชลและเจ้าหน้าที่บริษัทได้เดินทางออกจากอำเภอเชียงม่วนมุ่งหน้าไปจังหวัดแพร่แล้ว จึงประกาศให้ชาวบ้านเดินทางกลับได้ ทั้งยังประกาศว่าจะไปที่ห้องประชุมโรงเรียนพิริยาลัย จ.แพร่ อีกให้มากกว่าเดิม และได้ขอบคุณทางอำเภอเชียงม่วน ที่อำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดี
 
อนึ่ง ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษา ยังมีแผนที่จะจัดเวทีเช่นเดียวกันนี้ขึ้นที่โรงเรียนพิริยาลัย จ.แพร่ เป็นเวทีที่ 3 ซึ่งเป็นเวทีสุดท้ายสุดท้าย ต่อไป
..........
 
แถลงการณ์ คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
หยุดเวทีปาหี่... กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษา หยุดหลอกลวงประชาชน
ยกเลิกสัญญาจ้างบริษัทที่ปรึกษา คืนเงินงบประมาณให้กับแผ่นดิน
10 พฤษภาคม 2556 ณ ศาลากลางอำเภอเชียงม่วน จ.พะเยา
 
จากการที่กรมชลประทาน ได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษา จัดเวทีปาหี่ หลอกลวงประชาชน โดยอ้างว่าเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ การจัดเวทีดังกล่าวเริ่มขึ้นที่ศาลากลางจังหวัดสุโขทัยในวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดฉากให้หน้าม้ามายื่นหนังสือสนับสนุนเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ซึ่งทั้ง 2 เขื่อนมีแผนที่จะสร้างที่ อ.สอง จ.แพร่ กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาได้มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้มาหลายต่อหลายครั้ง จัดฉากสร้างเวทีให้ดูเหมือนประชาชนมีส่วนร่วม แล้วก็สรุปตามที่ตนเองต้องการ
 
เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว กรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาศึกษาได้ข้อสรุปว่าไม่มีป่าสักทองแล้ว บรรหาร เสธหนั่น สั่งเดินหน้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อนุมัติงบออกแบบก่อสร้างผลาญงบประมาณแผ่นดินไป 200 ล้านบาท
 
เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว บิ๊กจิ๋ว ผลาญงบประมาณแผ่นดินด้วยการอนุมัติงบประมาณ 94 ล้านบาท มาศึกษาเพิ่มเติม พบว่ามีรอยเลื่อนแม่ยม ยาวกว่า 22 กิโลเมตรพาดผ่านแนวสันเขื่อน กรมชลประทานจึงจ้างบริษัทที่ปรึกษาและจุฬาลงกรมหาวิทยาลัย มาศึกษารอยเลื่อนแม่ยม สรุปว่าสร้างได้แต่ต้องเพิ่มงบประมาณจาก 4,700 ล้านบาทมาเป็น 12,000 ล้านบาท เพื่อป้องกันแผ่นดินไหว 7.5 ริกเตอร์ แต่หากแผ่นดินไหวเกิน 7.5 ริกเตอร์ก็ตัวใครตัวมัน
 
เมื่อ 5 ปีที่แล้ว บรรหาร เสธหนั่น ผลักดันงบประมาณอีก 80 ล้านบาท ให้กรมชลประทานว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาและมหาวิทยาลัยมหิดล มาหลอกชาวบ้านให้เข้าร่วมเวทีและสรุปว่าควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นตามที่กรมชลประทานและกระทรวงเกษตรของบรรหารต้องการ ทั้งที่ชาวสะเอียบคัดค้านอย่างเต็มที่มาตลอดต่อเนื่อง วิธีการดำเนินการเยี่ยงนี้ เป็นบทเรียนให้ชาวสะเอียบต้องประกาศห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด แต่เมื่อสร้างแก่งเสือเต้นไม่ได้ จึงเริ่มหันมาหาเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างแทน โดยใช้วิธีเดิมๆ อีก
 
ล่าสุดกรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา บริษัทปัญญาเจ้าเก่า มาศึกษาเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างอีก 720 วัน ผลการศึกษาคงสรุปออกมาตามที่กรมชลประทานผู้ว่าจ้างต้องการเช่นเดิม พวกคุณผลาญงบประมาณแผ่นดินมามากพอแล้ว หยุดการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างและเขื่อนแก่งเสือเต้นได้แล้ว
 
เขื่อนยมล่างมีแผนที่จะสร้างห่างจากเขตสะเอียบ 5 กิโลเมตร น้ำท่วมเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ต.สะเอียบ 32.5 กิโลเมตร รวมพื้นที่เขื่อนยาว 37.5 กิโลเมตร ท่วมป่าสักทอง ท่วมที่ทำกินชาวสะเอียบเหมือนเดิม และท่วมเข้าไปในเขตอำเภองาว จังหวัดลำปางอีกด้วย
 
เขื่อนยมบนมีแผนที่จะสร้างห่างจากบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ 2 กิโลเมตร ท่วมบ้านแม่เต้น ท่วมป่าแพะป่าเบญจพรรณในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกยูงที่สำคัญของภาคเหนือ อีกทั้งยังท่วมบ้านแม่เต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ และที่ทำกินของพี่น้อง อ.เชียงม่วน จ.พะเยา อีก 11 หมู่บ้าน
 
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้รู้เช่นเห็นชาติ และเอือมระอากับพฤติกรรมของ กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษามามากพอแล้ว จึงขอให้ท่านหยุดดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างและเขื่อนแก่งเสือเต้น และคืนเงินงบประมาณให้กับแผ่นดิน เพื่อนำไปพัฒนาจัดหาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนผู้ยากไร้จะมีประโยชน์กว่า
 
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้จัดทำหนังสือเป็นทางการ ลงวันที่ 29 เมษายน 2556 ส่งลงทะเบียนเร่งด่วนไปยังอธิบดีกรมชลประทานแล้ว หากยังไม่มีการตอบรับ หรืออ้างว่าไม่รู้เรื่อง คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ คงต้องไปเยี่ยมท่านอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม 12 แนวทางมาโดยตลอด หรือยังไม่รู้ไม่เห็น คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จะได้หาโอกาสไปยื่นให้กับมือท่านอีกวาระหนึ่ง
 
 
ด้วยจิตรคารวะ
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net