Skip to main content
sharethis

ปัญหาการศึกษายังไม่จบ!! เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติห่วงเด็กข้ามชาติไร้โอกาสทางการศึกษา ชี้มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ที่เข้าถึงการศึกษาตามระบบ แนะกระทรวงศึกษาธิการ เร่งออกแนวปฏิบัติจัดศูนย์การเรียนรู้

 

 

 

 
11 พ.ค. 56 - ภายหลังจากที่รัฐบาลได้มีคำสั่งให้ยุบโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศไทยทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งนอกจากเรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็กแล้วยังประเด็นปัญหาเรื่องการศึกษาอีกเป็นจำนวนมากที่รอให้รัฐบาลแก้ไขให้ตรงจุด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการศึกษาของเด็กข้ามชาติที่ยังไม่มีความชัดเจนถึงการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม
 
น.ส.โรยทราย วงศ์สุบรรณ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ปี พ.ศ. 2547 ของกระทรวงมหาดไทย ระบุสถิติของเด็กข้ามชาติอายุ 0-15 ปี ที่อยู่ในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 93,082 คน ที่มีการกระจายตัวหนาแน่นบริเวณจังหวัดตามตะเข็บชายแดนและพื้นที่ทางเศรษฐกิจ โดยจำนวนเด็กต่างชาติที่จดทะเบียนกับสำนักงานทะเบียนราษฎร์ในปีพ.ศ. 2547 ที่จังหวัดเชียงใหม่ 14,000 คน ตาก 13,036 คน ระนอง 9,673 คน กาญจนบุรี 6,432 คน เชียงราย 5,266 คน พังงา 3,960 คน สมุทรสาคร 3,679 คน ตราด 3,574 คน สุราษฏร์ธานี 3,340 คน กรุงเทพ 2,390 คน  ซึ่งเด็กเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้รับการศึกษาจากรัฐบาลไทย
 
ทั้งนี้นโยบายของรัฐบาลไทยก่อนปีพ.ศ. 2548 รัฐบาลไทยไม่มีแนวปฏิบัติในการรับเด็กต่างชาติเข้าโรงเรียนไทยที่แน่ชัด แต่ได้มีจุดเปลี่ยนในปีนั้น โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุญาตให้เด็กทุกคนในประเทศไทยได้เข้าเรียน โดยได้มีการออกเป็นระเบียบคณะรัฐมนตรี คือ 1. ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทย 2. จัดสรรงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัว 3. ให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำฐานข้อมูล เลขประจำตัว 13 หลัก เกี่ยวกับบุคคลที่ไม่มีหลักฐานหรือไม่มีสัญชาติไทย 4. ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะแก่เด็กและเยาวชนที่หนีภัยจากการสู้รบ
 
ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับทางเลือกในการจัดการศึกษาให้กับเด็กข้ามชาติมีหลากหลายรูปแบบ และหนึ่งในนั้นคือ การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center) ที่ดำเนินการโดยชุมชนของแรงงานข้ามชาติหรือองค์กรเอกชน เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการให้การศึกษาต่อเด็กข้ามชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณชุมชนต่างๆที่มีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งจากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการขององค์ที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) เมื่อวันที่ 15 กันยายน  2552  ประมาณการณ์ว่า มีจำนวนศูนย์การเรียน 116 ศูนย์ กระจายอยู่ใน จ.ตาก 70 แห่ง  จ.เชียงใหม่ 16 แห่ง จ.ระนอง 13 แห่ง  จ.พังงา 10 แห่ง จ.กาญจนบุรี 5 แห่ง  กรุงเทพมหานคร 2 แห่ง  และ จังหวัดอื่นๆ ซึ่งมีจำนวนต่างชาติเป็นนักเรียนในศูนย์การเรียนประมาณ 15,000-20,000 คน ซึ่งตัวเลขนี้ไม่รวมกลุ่มผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถเข้าถึงรูปแบบการศึกษาใดๆทั้งสิ้น
 
ซึ่งการออกกฎกระทรวงของรัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในรูปแบบศูนย์การเรียน 3 ฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554, กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรวิชาชีพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียนพ.ศ. 2555 ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่ยังไม่มีสัญชาติ รวมถึงเด็กที่ขาดโอกาสในการได้รับการศึกษาในระบบการศึกษาปรกติได้เข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนเองมากขึ้น ขณะนี้ยังติดอยู่ในขั้นตอนของการขอจัดตั้งศูนย์การศึกษาตามกฎกระทรวงที่เกิดขึ้น ซึ่งรอแนวปฏิบัติที่ชัดเจน
 
อย่างไรก็ตามยังมีการจัดการศึกษาในรูปแบบ School within school หรือ โรงเรียนพี่น้อง ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบของความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและศูนย์การเรียนในพื้นที่ หรือที่เรียกกันว่า School within school ในหลาย ๆ พื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีในความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรชุมชน และองค์กรพัฒนาเอกชนในการที่จะผลักดันให้เด็กในประเทศไทยทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามความพยายามในการผลักดันให้เด็กข้ามชาติให้ได้รับการศึกษาในระบบศูนย์การเรียนที่จะจัดตั้งตามกฎกระทรวงข้างต้นนั้น ยังไม่มีความคืบหน้าในการจัดการมากนัก ซึ่งยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติที่เหมาะสมสอดคล้องกับเด็กข้ามชาติกลุ่มต่าง ๆ
 
น.ส.โรยทรายกล่าวต่อว่า หากรัฐบาลไทยออกฎกระทรวงเพื่อรองรับการจัดการการด้านการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติ จะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเป็นการเปิดโอกาสด้านการศึกษาเมื่อเด็กกลับไปยังประเทศต้นทางซึ่งเป็นการสร้างโอกาสและรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  ขณะเดียวกันยังจะส่งผลดีต่อประเทศไทยทั้งในเรื่องการจัดการการเคลื่อนย้ายเด็กข้ามชาติและเป็นการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็กที่ส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายจนทำให้นานาชาติปฏิเสธที่จะสั่งซื้อสินค้าบางชนิดของประเทศไทย
 
นางอธิตา ออร์เรลล์ ผู้ประสานงานองค์การ World Education กล่าวว่า ในปัจจุบันมีตัวเลขประมาณการของเด็กข้ามชาติประมาณ 200,000-400,000 คน  ซึ่งแบ่งเป็นเด็ก 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ลูกของแรงงานต่างด้าวที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย  2.แรงงานเด็กซึ่งอาจเดินทางมาด้วยตนเอง หรือด้วยความช่วยเหลือของนายหน้าเพื่อแสวงหาโอกาสในการทำงาน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และ 3. เด็กต่างด้าวที่อยู่บริเวณชายแดนเดินทางมาเรียนหนังสือหรือทำงานบริเวณชายแดนของประเทศไทย แต่ไปกลับที่พักหรือภูมิลำเนาในประเทศต้นทาง  และถึงแม้รัฐบาลไทยจะมีนโยบายเปิดให้เด็กเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐได้ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา แต่จากตัวเลขสถิติในการเข้าเรียนของเด็กข้ามชาติในโรงเรียนในสังกัดของ สพฐ.พบว่ามีเด็กข้ามชาติสามสัญชาติเข้าเรียนในระดับ อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย แบ่งตามสัญชาติ  กัมพูชา 8,180 คน พม่า 49,677 คน ลาว 4,091 คน รวม 3 สัญชาติ 61,948 คน ขณะเดียวกันมีกลุ่มไม่ปรากฎสัญชาติ 18,385 คน หากตัวเลขประมาณการของเด็กข้ามชาติอยู่ที่ประมาณ 200,000 - 400,000 คน น้อยที่สุดเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ประมาณ 40% ของระบบเท่านั้น หากตัวเลขสูงสุดอยู่ที่ 400,000 คนจริง เด็กจะเข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียนไทยได้เพียง 20 % โดยประมาณเท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้การศึกษาของเด็กข้ามชาติเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึงเกิดจากปัจจัยหลายด้าน อาทิ  อุปสรรคในการสื่อสาร เพราะว่านักเรียนมักสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ทำให้ครูกับนักเรียนไม่เข้าใจกัน จำนวนครูและห้องเรียนที่ไม่พอ  คือ โรงเรียนไทยขนาดเล็กและกลางไม่มีความพร้อมที่จะรองรับเด็กต่างชาติในพื้นที่เข้าสู่ระบบการศึกษาเพิ่มเติมได้โดยทันทีหากยังมีทรัพยากรเท่าเดิม เช่น กรณี  อ.แม่สอด มีศูนย์การเรียนตั้งอยู่รวมทั้งสิ้น 75 ศูนย์ และเด็กต่างชาติที่อยู่ในศูนย์ฯประมาณ 12,800 คน  แต่มีโรงเรียนไทยเพียง 43 โรงและมีบุคคลากรเพียง 552 คน 
 
นอกจากนี้ทัศนคติของผู้ปกครองไทยมักไม่ยอมรับให้บุตรหลานตนเรียนร่วมกับเด็กไทย เพราะกังวลเรื่องคุณภาพการศึกษาและการรังเกียจหรือเลือกปฏิบัติทางชาติพันธ์   อีกทั้งผลการเรียนของเด็กต่างชาติฉุดมาตรฐานการศึกษา คือ เนื่องจากทักษะการสื่อสารภาษาไทยนั้นส่งผลโดยตรงต่อผลงานทางวิชาการของเด็กอีก บางครั้งสถานศึกษาที่รับเด็กต่างชาติจะถูกประเมินว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ  และที่สำคัญคืองบประมาณ เพราถึงแม้ว่าเด็กต่างชาติจะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเช่นเดียวกับเด็กไทย แต่ว่างบประมาณสนับสนุนการศึกษา เช่น อาหารกลางวัน ได้รับจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งก็จะคลอบคลุมเฉพาะเด็กไทยเท่านั้น ทำให้โรงเรียนที่รับเด็กต่างชาติต้องเบิกรับค่าใช้จ่ายเหล่านั้นเอง
 
ผู้ประสานงานองค์การ World Education กล่าวต่อว่า  สิ่งที่กระทรวงศึกษาควรดำเนินการต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการศึกษาให้เด็กข้ามชาติ คือ  ปรับเงื่อนไขในการจัดการศึกษาในระบบให้รองรับการจัดการศึกษาให้แก่เด็กข้ามชาติมากขึ้น เช่น ทำความเข้าใจกับโรงเรียนในการรับเด็ก ปรับเงื่อนไขการประเมิน  เร่งออกแนวปฏิบัติในเรื่องการจัดศูนย์การเรียน และปรับเงื่อนไขให้สอดคล้องกับผู้เรียนที่เป็นเด็กข้ามชาติ   จัดทำแนวปฏิบัติเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการร่วมกันในรูปแบบ School within school ระหว่างโรงเรียนกับศูนย์การเรียน และหารือกับประเทศต้นทาง เพื่อพัฒนาการรับรองวุฒิการศึกษา และระบบการเข้าศึกษาต่อของเด็กข้ามชาติที่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net