Skip to main content
sharethis

นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงาน


7 พ.ค. 56 - นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า  วันพรุ่งนี้ (8 พ.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมย่อย กับ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามความคืบหน้า การดำเนินการตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานในวันแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการในส่วนใดแล้ว โดยกระทรวงฯ เตรียมนำเสนอสิ่งที่ดำเนินการไปแล้วมีอะไรบ้าง และมีข้อใดที่ดำเนินการอยู่ แต่ยังไม่เรียบร้อยเพราะติดเงื่อนไขบางประการ

ขณะเดียวกันเตรียมรายงานแผนการป้องกันและแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ของกระทรวงแรงงานด้วย ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อดำเนินการ ได้แก่ คณะอนุกรรมการพิจารณาความต้องการแรงงานของประเทศ มีนายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เป็นประธาน ทำหน้าที่สำรวจและรวบรวมข้อมูลตำแหน่งงานและความต้องการแรงงานของสถานประกอบ การต่างๆ ในภาพรวมของประเทศ และคณะอนุกรรมการพิจารณาการผลิตกำลังแรงงานของประเทศมี นางปราณิน มุตตาหารัช รองปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ทำหน้าที่สำรวจและรวบรวมข้อมูลในการผลิตกำลังคนในภาพรวมของประเทศ คาดว่าน่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 เดือน

(สำนักข่าวไทย, 7-5-2556)

 

ก.แรงงานเล็งตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงปิดกิจการ ช่วยลูกจ้างหยุดงานชั่วคราว

นายอาทิตย์ อิสโม รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข้อเรียกร้องของแรงงานที่ให้รัฐบาลตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงกรณี สถานประกอบการปิดกิจการและไม่จ่ายเงินชดเชยว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ ซึ่งในหลายประเทศมีกองทุนนี้อยู่ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งอาจจะใช้ชื่อกองทุนดังกล่าวว่า กองทุนประกันการมีงานทำ ซึ่งมองว่าการเก็บเงินสมทบอาจร่วมกับกองทุนประกันการว่างงานในการให้สิทธิ ประโยชน์ เพราะปัจจุบันนี้กองทุนนี้ให้สิทธิเฉพาะผู้ถูกเลิกจ้างแต่ไม่ครอบคลุม ลูกจ้างที่ต้องหยุดงานแต่ไม่ได้ถูกเลิกจ้างในกรณีต่างๆ เช่น กรณีเกิดเหตุอุทกภัย โรงงานไม่สามารถเปิดงานได้ ทำให้ลูกจ้างต้องหยุดงานและไม่ได้รับค่าจ้าง เป็นต้น โดยอาจแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เพื่อให้สามารถโยกเงินจากกองทุนนี้มาจ่ายสิทธิประโยชน์ร่วมกันได้ รวมไปถึงอาจกำหนดให้มีการจ่ายเงินสมทบทั้ง 2 กองทุนโดยไม่กระทบกับลูกจ้างมากนัก เนื่องจากปัจจุบันลูกจ้างส่งเงินสมทบเข้าในกองทุนนี้อยู่ที่ร้อยละ 0.5 เมื่อหักจากกองทุนรวมของประกันสังคมที่จ่ายอยู่ที่ร้อยละ 5 แล้ว ซึ่งอาจจะจ่ายใน 2 กองทุนรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 0.6-0.7 หรือมากน้อยกว่านั้นตามความเหมาะสม

รองปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีแนวความคิดที่จะบูรณาการกองทุนว่างงานของ สปส. กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) และกองทุนประกันการมีงานทำเข้าด้วยกัน เพื่อให้การดำเนินการของทั้ง 3 กองทุนเป็นไปอย่างครบวงจร และเพื่อให้การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยให้ทาง สปส.เป็นผู้เก็บเงินสมทบทั้ง 3 กองทุน เนื่องจาก สปส.มีความพร้อมด้านหน่วยงานและบุคลากรอยู่แล้วและให้ทาง กสร.เป็นผู้จ่ายเงินแก่ลูกจ้าง ซึ่งเรื่องทั้งกหมดนี้จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานติดตามและประสานงานข้อ เรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ 2556 ที่มี นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะทำงานฯ ซึ่งจะประชุมกันในเดือนพฤษภาคมนี้

(มติชนออนไลน์, 7-5-2556)

 

อุตฯ ชี้ไตรมาสแรกปี 56 รง.เจ๊งกว่า 187 ราย คนตกงานนับหมื่น

กระทรวงอุตสาหกรรมระบุไตรมาสแรกปี’56 โรงงานปิดกิจการ 187 ราย เลิกจ้างงาน 1 หมื่นรายหลังต้นทุนปรับสูงขึ้น ชี้กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปิดตัวมากที่สุด เครื่องนุ่งห่ม-อิเล็กทรอนิกส์-เฟอร์นิเจอร์ ด้านบีโอไอเผยความต้องการแรงงาน 48,254 ราย สาขาที่ต้องการมาก วิศวกรรมเครื่องกล
      
รายงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2556 (มกราคม-มีนาคม) มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตดำเนินกิจการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 187 ราย แจ้งปิดกิจการ มูลค่าลงทุน 3,830 ล้านบาท มีการเลิกจ้างแรงงานกว่า 10,000 คน ส่วนใหญ่เป็นกิจการเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูป, อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน, เฟอร์นิเจอร์, ซ่อมแซมรถยนต์ เป็นต้น เนื่องจากผู้ประกอบการประสบปัญหาการขาดทุนจากการดำเนินกิจการ รวมถึงได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
      
โดยช่วงเดียวกันของปี 2555 มีการปิดกิจการ 321 ราย มูลค่า 2,790 ล้านบาทเลิกจ้างงาน 9,800 คน แสดงให้เห็นว่าโรงงานที่ปิดกิจการในปี 2556 มีขนาดใหญ่กว่าปีที่ผ่านมาและมีปริมาณแรงงานสูง ซึ่งบางโรงงานที่ปิดกิจการมีจ้างงานระดับ 1,000 คนขึ้นไปโดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการเลิกจ้างงานกว่า 10,000 ตำแหน่ง แต่บรรดาแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากหลายโรงงานยังประสบปัญหาในการขาดแคลนแรงงานแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศ ใช้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศก็ตาม

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แจ้งว่า ในไตรมาสแรกของปี 2556 (มกราคม-มีนาคม) มีบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอจำนวน 398 โครงการ แจ้งความประสงค์ต้องการแรงงาน 48,254 ราย แบ่งเป็นระดับปริญญาตรี 8,360 ราย, ระดับ ปวช.และ ปวส. 11,568 ราย, ระดับ ป.6-ม.6 จำนวน 27,084 ราย และอื่นๆ 1,242 ราย ส่วนใหญ่เป็นความต้องการในกิจการบริการและสาธารณูปโภค, ยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
      
โดยสาขาปริญญาตรีที่บริษัทต้องการแรงงานมาก คือ วิศวกรรมด้านเครื่องกล 645 คน, วิศวกรรมไฟฟ้า 536 คน, อุตสาหกรรม 478 คน, คอมพิวเตอร์ 295 คน, วิศวกรรมการผลิต 266 คน, โทรคมนาคม 186 คน เป็นต้น
      
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทต่างๆ มีความต้องการแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานประเภทฝีมือ ทั้งเรื่องของช่างเทคนิค และวิศวกร ดังนั้น ทิศทางนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอนาคตจึงไม่มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ ใช้แรงงานเข้มข้นอีกต่อไป แต่จะมุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมฐานความรู้ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการทํางานเชิงลึก เพื่อพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป

(ASTVผู้จัดการออนไลน์, 7-5-2556)

 

งหวัดแพร่ จัดโครงการส่งเสริมการเข้าสิทธิ์ด้านอาชีพของคนพิการ

จังหวัดแพร่ จัดโครงการส่งเสริมการเข้าสิทธิ์ด้านอาชีพของคนพิการ พร้อมจัดกิจกรรมนัดพบแรงงานคนพิการ และรับสมัครคนพิการเข้ารับการฝึกอบรมวิชาชีพ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550

คนพิการ และผู้ว่างงานจำนวนมาก ทะยอยเดินทางเข้าลงทะเบียนเข้าโครงการส่งเสริมการเข้าสิทธิ์ด้านอาชีพของคน พิการ ที่โรงแรมนครแพร่ทาวน์เวอร์ อำเภอเมืองแพร่ ซึ่งกิจกรรม นอกจากจะมีการอภิปราย เรื่องการส่งเสริมอาชีพ และการมีงานทำของคนพิการโดยผู้แทนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดแพร่ ร่วมกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดแพร่ และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดแพร่แล้ว ยังมีบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ มารับสมัครบุคคลเข้าทำงาน ทั้งคนพิการและผู้ว่างงานทั่วไป พร้อมกันนี้ ยังมีการรับลงทะเบียนคนพิการ ให้แจ้งความประสงค์เข้ารับการฝึกอาชีพแบบกลุ่มของศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จังหวัดแพร่อีกด้วย

นางธิภกร นันทพงษ์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแพร่ กล่าวว่า จากข้อมูลจังหวัดแพร่ มีคนพิการประมาณ 20,000 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ มีคนพิการมาลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ต้องการงานทำที่สำนักงานพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแพร่ รวม 1,478 คน และองค์ปกครองส่วนท้องอีก 185 ราย ซึ่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนพิการเข้าทำงานอย่างน้อย ร้อยละ 1 ในหน่วยงานของรัฐและสถานประกอบการภาคเอกชน หากไม่รับคนพิการเข้าทำงาน ต้องส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแพร่ ร่วมกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดแพร่ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดแพร่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสมาคมคนพิการทุกประเภทในจังหวัดแพร่ จัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อค้นหาและสำรวจคนพิการที่ต้องการทำงานในสถานประกอบการ หรือฝึกอบรม เตรียมความพร้อม สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิด้านอาชีพคนพิการ และการมีงานทำของคนพิการ ตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะเปลี่ยนภาระให้เป็นโอกาสของสังคมต่อไป

(สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่ 9-5-2556)

 

ก.แรงงาน ให้อิสระ "สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ"

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ 11 องค์กรพันธมิตร โดยแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไก คุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ(คคส.) จัดเวทีสาธารณะถอดบทเรียนและร่วมรำลึก "20 ปี โศกนาฎกรรมเคเดอร์ กับคุณภาพชีวิตของคนทำงาน" เพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบการส่งเสริมป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพ และความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงการพัฒนาระบบการทดแทนเยียวยาที่เป็นธรรมเหมาะสม

นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 20 ปี ว่า จากเหตุการณ์โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ และการรวมตัวของเครือข่ายผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย ถือเป็นจุดเริ่มต้นและตัวอย่างของการผลักดัน เพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิและการเยียวยาที่เป็นธรรมจากนายจ้าง ของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการทำงาน ซึ่งแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเครือข่ายจะสามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้มาก ขึ้น แต่ก็ยังคงมีข้อเรียกร้องที่สำคัญหลายๆ ด้าน ที่ยังคงต้องผลักดันกันต่อไป โดยเฉพาะการการจัดตั้งสถาบันสิ่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่ต้องเป็นอิสระจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งประเด็นนี้มีการต่อสู้เรียกร้องกันมาอย่างยาวนาน เพราะกระทรวงแรงงานพยายามให้ รัฐมนตรีว่าการประจำกระทรวง หรือปลัดกระทรวง มานั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ตรงนี้จึงไม่ตอบโจทย์ความเป็นอิสระจากหน่วยงานภาครัฐ

"เราใช้เวลากว่า 19 ปี ในการผลักดันให้มีการจัดตั้ง สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมจากการทำงาน เพื่อให้เป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ส่งเสริม ป้องกันและแก้ไขปัญหาความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อไม่ให้ถูกครอบงำโดยรัฐ และจากการเข้าไปเป็นคณะกรรมการ เห็นว่ากรรมการเป็นคนจากภาครัฐเสียส่วนใหญ่ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าหากมีการตั้งองค์กรขึ้นมาจริงๆ ระบบการทำงานจะล้าสมัยแบบการทำงานของรัฐหรือไม่ และแม้ว่านายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน จะบอกว่าภายใน 1 ปี หลังจากนี้ จะมีความชัดเจนในการตั้งสถาบันฯ มากขึ้น แต่ก็ยังคงต้องเฝ้าจับตาดูต่อไป" นางสมบุญ กล่าว

นางสมบุญ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ทางเครือข่ายฯ ยังต้องการให้มีการ ปรับปรุงการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายและการต่อสู้คดีในชั้นศาลด้วย เนื่องจากตัวกฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างต้องเป็นผู้ฟ้องร้องค่าเสียหายจากนายจ้าง เอง ดังนั้นเมื่อกระบวนการไปถึงชั้นศาล ต้องยอมรับว่ากำลังของลูกจ้างนั้นมีไม่มากเท่านายจ้าง ตรงนี้จึงเป็นเรื่องเสียเปรียบ อีกทั้งประเด็นการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนจากนายจ้าง ตาม ม.48 ก็ยังคงถือเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาและต้องเร่งแก้ไข เพื่อช่วยให้แรงงานไทยทุกคนสามารถเข้าถึงกองทุนได้ง่ายมากขึ้น โดยการเพิ่มแพทย์และคลินิกเฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ ที่รักษาผู้ป่วยจากการทำงานให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ขั้นตอนการวินิจฉัยผู้เจ็บป่วยจากการทำงานได้รับความเป็นธรรม มากขึ้น

"ปัญหาที่เราพบเจอคือถ้าแพทย์ไม่ได้วินิจฉัยว่าต้นเหตุของการเจ็บป่วย เกิดจากการทำงาน ผู้เจ็บป่วยก็จะถูกตัดสิทธิการรักษาตามเงินกองทุน และถูกผลักไปใช้สิทธิรักษาตามกองทุนประกันสังคมหรือสิทธิบัตรทองแทน ทำให้แทนที่จะได้รับการรักษาในโรคที่เจ็บป่วย เช่น เป็นโรคกระดูกทับเส้นประสาท แต่หากไปพบแพทย์ตามโรงพยาบาลปฐมภูมิ ไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ ก็อาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบ ทำให้ถูกรักษาแค่กล้ามเนื้ออักเสบเท่านั้น" นางสมบุญ กล่าว

นางสมบุญ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันข้อเรียกร้องที่ได้เสนอผ่านการชุมนุมสมัชชาคนจน ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 2555 จนถึงบัดนี้ยังคงรอการเปิดโต๊ะเจรจากับรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทั้งการตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานระดับชาติ โดยสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน การปฏิบัติตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 เรื่องการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพ และความปลอดภัยของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ รวมไปถึงการยกเลิกแร่ใยหิน ตามมติ ครม.12 เม.ย.2554

(เนชั่นทันข่าว, 10-5-2556)

 

ไทยขาดแรงงานตรงกับคุณสมบัติงานมากสุดในอาเซียน

วันที่ 10 พฤษภาคม 2556  กำหนดให้เป็นวันปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ    กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือ “การสร้างต้นแบบความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน” โดยมีนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ศ.ดร.สมคิด  เลิศไพฑูรย์ อธิการ บดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมลงนาม ณ อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ส่วนแยกตลิ่งชัน)

นายปกรณ์ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้เกิดนวัตกรรมต้นแบบการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ และเครือข่ายขยายผลการดำเนินงานสู่สถานประกอบกิจการ ให้สามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และบรรลุเป้าหมายแรงงานปลอดภัย และสุขภาพอนามัยดีอย่างยั่งยืน ภายใต้การดำเนินงานร่วมกัน 4 เรื่อง คือ 1. มีคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาต้นแบบและเครือข่าย 2. พัฒนาต้นแบบการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ 3. สนับสนุนการนำต้นแบบไปใช้ในสถานประกอบกิจการ และ 4. สนับสนุนการประชาสัมพันธ์ สำหรับเครือข่ายในการนำต้นแบบไปใช้เพื่อการขยายผลสู่สถานประกอบกิจการ

“มธ. จะศึกษาและพัฒนาต้นแบบการดำเนินงาน สร้างแนวทางเพื่อการพัฒนา  เครือข่าย และพัฒนาฐานข้อมูลติดตามผลการดำเนินการ กรมสวัสดิการฯ กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนการดำเนินงานสู่สถานประกอบกิจการ และพัฒนาเครือข่ายเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน คณะกรรมการความปลอดภัยฯ ของสถานประกอบกิจการ และ สสส. สนับสนุนทรัพยากรและกิจกรรมการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สถานประกอบกิจการกลุ่ม เป้าหมาย” นายปกรณ์ กล่าว

ด้าน ดร.สุปรีดา กล่าวว่า จากสถาน การณ์การตรวจสุขภาพแรงงานไทยในสถานประกอบการปัจจุบันพบ 3 ปัญหาสำคัญ คือ 1. สถานประกอบการมีค่าใช้จ่ายจากการตรวจสุขภาพพนักงานประจำปีที่ค่อนข้างสูง เพราะใช้โปรแกรมตรวจสุขภาพแบบเหมารวม (package) ไม่ได้ตรวจตามความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานและช่วงอายุที่เหมาะสม 2. ผลการตรวจสุขภาพประจำปี ไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลสุขภาพของพนักงาน และ 3. ไม่มีการบริหารจัดการ หรือขาด การติดตามผลการตรวจสุขภาพของพนักงานในระดับบุคคล เช่น การบันทึก ติดตาม ผล ตลอดจนแนวโน้มความเสี่ยงของการเกิดโรค

“ความร่วมมือกันครั้งนี้ จะร่วมกันพัฒนาระบบตรวจสุขภาพที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยใช้ข้อมูลวิจัยสถานการณ์การตรวจสุขภาพแรงงานไทย ร่วมกับมาตรการและนโยบายทางกฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พัฒนากลยุทธ์สร้างต้นแบบงานที่มีความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานในกลุ่มเป้าหมายหลักกว่า 50 องค์กร อาทิ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กลุ่มบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ภายใน 2 ปี หรือปี 2558 ซึ่งประเทศไทยจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อดูแลคุณภาพแรงงาน ป้องกันการเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศ ซึ่งจะทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานยิ่งขยายตัว จากที่ปัจจุบันธนาคารโลกสำรวจพบว่าประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มี คุณสมบัติตรงกับงานสูงที่สุดในอาเซียน” ดร.สุปรีดา กล่าว.

(เดลินิวส์, 10-5-2556)

 

หนุนตั้งสหกรณ์ในโรงงานล้างหนี้ลูกจ้าง

กระทรวงแรงงานเร่งทำความเข้าใจนายจ้าง ตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในโรงงาน หวังลดปัญหากู้เงินนอกระบบ กำชับ กสร.ขยายจำนวนสหกรณ์ เปิดช่องให้สถานประกอบการกู้เงินได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท จัดตั้งสหกรณ์
      
นายอาทิตย์ อิสโม รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีนโยบายส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นภายในสถาน ประกอบการต่างๆ เพื่อให้ลูกจ้างมีแหล่งเงินออม รวมทั้งแหล่งเงินกู้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการกู้เงินนอกระบบได้ โดยกระทรวงแรงงานร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเจ้าหน้าที่ไปตามโรงงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์และทำความเข้าใจกับนายจ้าง เพราะการจัดตั้งสหกรณ์และการจัดการเก็บเงินเข้าสหกรณ์จะต้องหักบัญชีเงิน เดือนของลูกจ้าง อาจทำให้สถานประกอบการต่างๆ รู้สึกว่าเป็นความยุ่งยาก ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่จัดตั้งสหกรณ์ประมาณ 500 แห่ง ซึ่งสหกรณ์บางแห่งลงทุนจนทำให้มีเงินสะสมของสหกรณ์มากถึงหลักพันล้านบาท ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานได้ดำเนินงานสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่สถานประกอบการต่างๆ โดยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ สามารถทำกำไรได้ประมาณ 92 ล้านบาท และจากการบริหารงานทำให้ขณะนี้เงินทุนของสหกรณ์มีมากถึง 3,500 ล้านบาท
      
“ผมได้กำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เร่งขยายจำนวนสหกรณ์ภายในสถานประกอบการให้มากขึ้นโดยสถานประกอบการที่จะจัด ตั้งสหกรณ์ภายในสถานประกอบการได้จะต้องเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่มีลูกจ้าง 1,000 คนขึ้นไป เพราะต้องใช้พื้นที่และใช้เงินทุนในการจัดตั้งสหกรณ์ ถ้าลูกจ้างมีจำนวนน้อยเงินทุนที่หักจากเงินเดือนเพื่อใช้เป็นทุนของสหกรณ์ อาจจะมีจำนวนไม่พอ หากสหกรณ์ภายในสถานประกอบการใดที่กำลังจัดตั้งและมีความต้องการเงินทุนหมุน เวียนก็สามารถมาขอกู้จากสหกรณ์ของกระทรวงแรงงานได้ โดยวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท ซึ่งสถานประกอบการที่สนใจและต้องการคำแนะนำสามารถติดต่อมาที่ กสร.” นายอาทิตย์กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 13-5-2556)

 

ลำปางจ้างมากขึ้น 300บ.ไม่กระทบ

ลำปาง - น.ส.กัญจนา กลิ่นทอง แรงงานจังหวัดลำปางกล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาด้านแรงงานผู้ประกอบการในพื้นที่ จังหวัดลำปางในสภาพปัจจุบันว่า สภาพแรงงานในพื้นที่จ.ลำปาง มีประมาณ 50,000 คน ขึ้นทะเบียนประมาณ 33,000 คน ส่วนที่เหลืออีกกว่า 20,000 คน เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะเปลี่ยนสถานที่ทำงานบ่อยครั้งหากไม่คุ้มกับค่าแรง ส่วนผู้ประกอบการเองปรากฏว่าในรอบปีนี้กลับมีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น โดยพบว่าล่าสุดมีสถานประกอบการขึ้นทะเบียนกว่า 2,400 แห่ง เฉพาะในพื้นที่ลำปาง ซึ่งยังคงต้องการแรงงานอีกมากในกระบวนการผลิต ดังนั้น หากไม่เลือกงานก็สามารถทำงานในสถานประกอบการต่างๆ ได้อย่างแน่นอน

ในส่วนของการขึ้นค่าแรง 300 บาทยังไม่พบปัญหา เนื่องจากยังมีการขึ้นทะเบียนเพิ่มแสดงให้เห็นว่ายังไม่มีผลกระทบ กรณีบอกว่ามีการปิดกิจการอาจจะมาจากการตื่นตัวที่กลัวว่าจะรับมือกับ 300 บาทไม่ไหว จึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วย

(ข่าวสด, 13-5-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net