Skip to main content
sharethis

ติดตามข่าวสารด้านลิขสิทธิ์รอบโลกกับ 'อธิป จิตตฤกษ์' สัปดาห์นี้นำเสนอข่าว Adobe เปลี่ยนจากการขายโปรแกรม 'โฟโต้ชอป' มาเป็นให้เช่า, อเมริกาเตรียมปฏิรูปกฎหมายลิขสิทธิ์

 

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก

 

07-05-2013

สภาวิจัยแห่งชาติอังกฤษเรียกร้องให้มีการใช้ข้อมูลที่เป็นวัตถุวิสัยและมีการวิจัยก่อนจะทำการเปลี่ยนแปลงกฏหมายลิขสิทธิ์

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130505/12444222950/broad-coalition-public-private-interests-call-objective-data-research-concerning-copyright-reform.shtml

 

08-05-2013

Robert Amsterdam เขียนบทความลงให้ TorrentFreak เพื่อชี้ว่าตอนนี้สหรัฐอเมริกากำลังทำให้โลกทั้งโลกเป็นค่ายกวนตานาโมในยุคดิจิทัล

เขายกกรณีของ Kim Dotcom ที่เขาทำคดีอยู่มาเป็นตัวอย่างว่าสหรัฐไม่ได้มีความใส่ใจในการรักษาสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการทำธุรกิจของใครทั้งนั้น และจงใจละเว้นการเคารพสิทธิและจัดการทุกคนที่สหรัฐเห็นว่ามีปัญหาอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน และทรัพย์สินของเขาจะอยู่ที่ไหน

News Source: http://torrentfreak.com/u-s-govt-attack-on-megaupload-bears-hallmarks-of-digital-gitmo-130507/

 

09-05-2013

อเมริกาเริ่มพิจารณาการปฏิรูปกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว

ทั้งนี้ มีประเด็นในการพิจารณาปฏิรูปด้วยกันทั้งหมด 25 ประเด็น ผู้เข้าร่วมพิจารณาเบื้องต้นนั้นเป็นทั้งนักวิชาการและคนของรัฐ 5 คน ซึ่งทั้งหมดเคยเข้าร่วมโครงการ The Copyright Principles Project: Directions for Reform ของทางมหาวิทยาลัย Berkley

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130507/17274422984/house-judiciary-committee-sets-up-first-hearing-copyright-reform.shtml

 

สมาคมเจ้าของลิขสิทธิ์ของอเมริกาบอกว่าถ้ามีการละเว้นไม่ถือว่าการปรับเปลี่ยนเนื้อหาอันมีลิขสิทธิ์มาให้คนตาบอดสามารถอ่านได้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ มันจะสร้างมาตรฐานที่อันตรายที่จะเป็นภัยต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ต่อไป

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130507/00585822974/intellectual-property-owners-association-against-helping-blind-because-it-would-set-dangerous-precedent.shtml

 

Adobe จะเปลี่ยนจากการขายโปรแกรม Photoshop มาเป็นให้บริการผ่านคลาวด์ร่วมกับโปรแกรมอื่นๆแล้วเก็บค่าบริการรายเดือนแทนโดยจะเริ่มให้บริการเดือนมิถุนายน 2013 นี้

ทาง Adobe เอง นั้นมองว่าการเปลี่ยนจากการ "ขาย" Photoshop มาเป็นให้ "เช่า" หรือให้จ่าย Subscription รายเดือนนั้นเป็นการทำให้ Photoshop ราคา "ถูกลง" และจะทำให้คนที่ใช้โปรแกรม Photoshop แบบละเมิดลิขสิทธิ์หันมาใช้โปรแกรมอย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์

ทั้งนี้โปรแกรม Photoshop ดั้งเดิมแบบเต็มชุดก็มีสนราคาสูงลิบ ราวๆ 600 ดอลลาร์ (ประมาณ 18,000 บาท) ซึ่งในการขายพ่วงรวมกับโปรแกรม Illustrator, Dreamweaver, InDesign, Acrobat Pro และโปรแกรมอื่นๆ ของ Adobe รวมกันเป็นเป็น Creative Suite (CS) ก่อนหน้านี้ก็มีราคาถึงประมาณ 2,600 ดอลลาร์ (ประมาณ 78,000 บาท)

ทางด้านบริการ Creative Cloud นั้นจะมีทุกโปรแกรมของ Creative Suite และมากกว่านั้น ซึ่งค่าบริการของ Creative Could สำหรับผู้แรกใช้นั้นอยู่ที่ประมาณ 50 ดอลลาร์ (ประมาณ 1500 บาท) ต่อเดือน และสำหรับผู้ที่ใช้ Creative Suite ตั้งแต่เวอร์ชั่นที่ 3 ขึ้นไปอยู่แล้วก็จะไ้ด้รับส่วนลด 40% และจ่ายค่าบริการ 30 ดอลลาร์ (ประมาณ 900 บาท) ต่อเดือน ซึ่งทาง Adobe จะให้ผู้สมัครใช้บริการ Creative Cloud เป็นรายปีแต่จะเก็บค่าบริการเป็นรายเดือน

News Source: http://torrentfreak.com/adobe-photoshop-pirates-arent-bad-people-who-like-to-steal-things-130509/

 

10-05-2013

ศาลรัฐควิเบคตัดสินว่ารายการทีวีที่คล้ายกันไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

เรื่องมีอยู่ว่าเจ้าของรายการ Métamorphose ซึ่งเป็นรายการแปลงโฉมผู้หญิงฟ้องว่ารายการ Zone 3 ที่มีเนื้อหารายการเหมือนกันนั้น "ลอก" ภาพลักษณ์หรือละเมิดลิขสิทธิ์รายการตน

ศาลเน้นว่ากฏหมายลิขสิทธิ์นั้นคุ้มครอง "การแสดงออก" เท่านั้นไม่ใช่ "ความคิด" ดังนั้นความคิดที่อยู่เบื้องหลังทั้งรายการของโจทก์และจำเลยก็น่าจะถือว่าอยู่ในคลังทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ ทำให้ไม่ถือว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์

ทั้งนี้ศาลก็ได้พิจารณาองค์ประกอบของทั้งสองรายการอย่างละเอียดก่อนจะมาถึงข้อสรุปนี้

News Source: http://www.jdsupra.com/legalnews/entertainment-law-case-tv-makeover-show-05388/

 

อินเดียติดตั้งระบบสอดส่องการสื่อสารของประชาชนตั้งแต่โทรศัพท์ยันอินเทอร์เน็ตเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ก็มีผู้ห่วงว่าเนื่องจากอินเดียไม่มีกฏหมายปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชนที่แข็งแรงที่จะนำไปสู่ความโปร่งใสของการสอดส่อง ระบบนี้ก็อาจถูกรัฐนำไปใช้อย่างผิดๆ ได้โดยง่าย

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130508/09302923002/indian-government-quietly-brings-its-central-monitoring-system-total-surveillance-all-communications.shtml , http://timesofindia.indiatimes.com/tech/tech-news/internet/Government-can-now-snoop-on-your-SMSs-online-chats/articleshow/19932484.cms

 

วง Streetlight Manifesto ถูกเล่นงานจากค่ายของพวกเขาเองอีกครั้งเมื่อทางค่ายไม่ยอมให้อัลบั้มของพวกเขามาขายเอง

Streetlight Manifesto เป็นวงดนตรีที่มีสัญญากับค่าย Victory Records อยู่

แต่ทางวงก็บอกว่าทางค่ายนี่มีระบบการเงินที่ดูไม่โปร่งใสและไม่จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์อะไรให้วงเลย ตั้งแต่อัลบั้มที่แล้วทางวงก็เลยรณรงค์ให้คนซื้ออัลบั้มและสินค้าต่างๆ จากทางเว็บของวงโดยตรงเลย เพราะนั่นเป็นทางเดียวที่วงจะได้เงินจากสิ่งเหล่านี้

อย่างไรก็ดีหลังจากที่ทางวงผลิตออกอัลบั้มล่าสุดมาจากทางค่าย ทางค่ายก็ปฏิเสธไ่ม่ให้อัลบั้มวงมาขายเองอีก ส่งผลให้ทางวงต้องคืนเงินให้กับบรรดาผู้ที่ฟรีออร์เดอร์อัลบั้มใหม่ของวง

ทั้งนี้นักร้องนำของวงก็ได้ออกอัลบั้มเสริมที่ชื่อคล้ายกับทางอัลบั้มของ Victory พร้อมทำมิวสิควีดีโอ ซึ่งไม่นานก็โดนทาง Victory Records ตั้งแจ้ง Youtube ว่าเป็นมิวสิควีดีโอที่ "ละเมิดลิขสิทธิ์" ของทางค่าย และโดนถอนออกเรียบร้อย

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130508/17221923011/streetlight-manifesto-cant-fulfill-pre-orders-because-label-refuses-to-give-them-their-own-records.shtml

 

YouTube เริ่มให้บริการ "ช่องเสียเงิน" แล้ว

โดยเริ่มแรกมีช่องที่เข้าร่วมโครงการ 53 ช่องด้วยกัน (ดูได้ที่ http://www.youtube.com/channels/paid_channels) ซึ่งค่าบริการก็อยู่ที่อย่างต่ำช่องละ 0.99 ดอลลาร์ต่อเดือน สูงสุดที่ช่องละ 7.99 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.99 ดอลลาร์ต่อเดือน

ทั้งนี้นี่ไม่น่าจะเป็นการกรุยทางไปสู่การที่ YouTube จะเป็นบริการแบบ "เสียเงิน" ทั้งหมด แต่นี่เป็นการเข้าร่วมแข่งขันในตลาด "ทีวีออนไลน์" ที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องมากกว่า

News Source: http://paidcontent.org/2013/05/09/youtube-launches-its-paid-subscription-channels-with-select-partners/ , http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130509youtube

 

การสำรวจของบริการขายอีบุ๊ค Smashwords ชี้ว่าราคาของอีบุ๊คที่ขายดีสุดคือ 3.99 ดอลลาร์

การสำรวจพบว่าหนังสือราคา 3.99 ดอลลาร์นั้น "ขาย" ดีที่สุด ดีกว่าหนังสือที่ราคา 0.99, 1.99 หรือ 2.99 ดอลลาร์ด้วยซ้ำ (อย่างไรก็ดียอดดาวน์โหลดก็ยังน้อยหว่าหนังสือที่แจกฟรี)

อย่างไรก็ดีนี่ก็เป็นการสำรวจจากยอดขายของ Smashwords อันเป็นบริการที่ให้คนเขียนตีพิมพ์หนังสือตัวเองขายเป็นอีบุ๊คเท่านั้น และก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าถ้านักเขียนทุกคนแห่กันเปลี่ยนราคาเป็น 3.99 ดอลลาร์หมด หนังสือราคานี้จะขายดีที่สุดอีกหรือไม่

News Source: http://paidcontent.org/2013/05/09/whats-the-best-price-for-a-self-published-ebook-3-99-smashwords-research-suggests/

 

11-05-2013

สมาคมอุตสาหกรรมบันทึกเสียงแห่งอเมริกาตัดสินใจนับการฟังเพลงออนไลน์ 100 ครั้งว่าเท่ากับยอดขายดาวน์โหลดดิจิทัล 1 ครั้ง

สมาคมอุตสาหกรรมบันทึกเสียงแห่งอเมริกา (หรือ RIAA) ตัดสินใจว่าการฟังเพลงออนไลน์ (หรือ Streaming) เพิ่งประกาศออกมาว่าจะนับว่าการฟังเพลงออนไลน์ 100 ครั้งว่าเท่ากับยอดขายดาวน์โหลดดิจิทัล 1 ครั้ง

โดยการนับแบบนี้ก็จะมีผลต่อการให้รางวัลโกลด์ แพล็ตตินั่ม ต่างๆ ที่เคยให้กับ "ศิลปิน" ที่งานมียอดขายสูง

มีการวิจารณ์ว่าการเปลี่ยนมาตรฐานการให้รางวัลแบบนี้จะส่งผลทำให้รางวัลนั้นเสื่อมค่าไปหรือไม่ เพราะเอาจริงๆ โดยทั่วไปการฟังเพลงออนไลน์ 100 ครั้งก็ห่างไกลจากการสร้างรายได้เท่ากับยอดขายดาวน์โหลดดิจิทัล 1 ครั้ง

อย่างไรก็ดีที่ผ่านๆ มาทาง RIAA ก็ไม่เคยให้รางวัลเหล่านี้จาก "ยอดขาย" อยู่แล้ว แต่ให้จาก "ยอดการส่งไปขาย" (Units Shipped) ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับยอดขายจริงๆ แต่อย่างใด

News Source: http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130510rent

 

วง Twisted Sister ขู่จะฟ้องร้านกาแฟชื่อเดียวกับวงว่าละเมิดเครื่องหมายการค้า

ทั้งนี้แม้ว่าทางวงจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาตั้งแต่ปี 1978 แล้ว แต่ขอบเขตการคุ้มครองมันก็เพียงแค่บริการบันเทิงของวงดนตรีเท่านั้น ร้านกาแฟไม่น่าจะเข้าข่ายการคุ้มครองแน่ๆ

ทั้งนี้หากไปตรวจสอบการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในอเมริกาก็จะพบว่ามีทั้ง เกมกระดาน เสื้อผ้าบูติก ไปจนถึงด้าย ที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่า Twisted Sister ไว้

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130509/15372623025/bogus-trademark-threat-twisted-sister-forcing-coffee-shop-to-change-its-name.shtml

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net