Prachatai Eyes View: เถ้าธุลีที่หลงเหลือ

Prachatai Eyes View: เถ้าธุลีที่หลงเหลือ

ลำห้วยข้างหน้าเป็นลำห้วยสุดท้ายก่อนจะเข้าสู่แคมป์แม่สุริน ลุงสุขเลาะหาร่องน้ำด้วยความชำนิชำนาญ แกว่า แกเคยทำโฟล์วีลจมมากับมือ อย่างน้อย 2-3 คัน ,หลุดจากคุ้งน้ำ เหนือเนินเล็กน้อย มองเห็นเต็นท์พักชั่วคราวของยูเอ็นและเจ้าหน้าที่อำเภอขุนยวมเด่นชัด รั้วไม้ไผ่ระแนงปะปนกับรั้วลวดหนาม ป้อมยามและไม้กั้นตรงด่าน ,ทุกคนต้องเข้าไปเช็คชื่อที่นั่น

หลังจากข่าวเหตุการณ์ไฟไหม้แคมป์แม่สุริน ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อเกือบสองเดือนที่ผ่านมา ทำให้ศูนย์พักพิงผู้หนีภัยสงครามแห่งนี้กลายเป็นเป้าสายตาของคนทั้งโลก เล่ากันว่า ไฟไหม้ใหญ่ไม่เคยเกิดขึ้นส่วนใหญ่มีแต่ดินถล่มและน้ำป่า ชาวกะเหรี่ยงแดงในแคมป์เกือบ 2,000 คน ไม่เคยประสบเหตุน่าระทึกขวัญเช่นนี้มาก่อนและเราจะไม่พูดกันถึงความสูญเสีย ซึ่งหาอ่านได้ตามหน้าข่าว

นอกเหนือจากหน่วยงานรัฐในพื้นที่ องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศหลายองค์กรที่ทำงานกับผู้หนีภัยสงครามระดมสรรพกำลังเข้าช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ ,ความจำเป็นลำดับแรก คือ บ้าน อันเป็นรากฐาน จนเกิดข้อถกเถียงถึงข้อห้ามและความเหมาะสมในการสร้างบ้านขึ้นใหม่ว่า ควรจะยังคงใช้ไม้ไผ่และใบตองตึงเป็นวัสดุหลักอีกหรือไม่และควรจะสร้างให้มีระยะห่างกันมากน้อยแค่ไหนถึงจะเหมาะสม ฯลฯ

มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของความสูญเสียที่เกิดขึ้นว่า เป็นเพราะโครงสร้างของบ้านที่ติดไฟง่าย ภูมิประเทศที่อยู่ในหุบเขาทำให้ไฟลามโดยเฉพาะจุดที่สูญเสียมาก คือ ป็อก1และป็อก4 ส่วนอีกสาเหตุมาจากลักษณะบ้านที่ปลูกติดกันจนง่ายต่อการลุกลามและวิเคราะห์ถกความเห็นกันอีกมากมาย สุดท้ายชาวบ้านได้รับไม้ไผ่และใบตองตึงเป็นวัสดุหลักในการสร้างบ้าน อันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐไทย ห้ามผู้หนีภัยสงครามสร้างอาคารถาวร ทั้งที่ แคมป์แม่สุรินอยู่ที่นั่นมากว่า 20 ปี

เราเข้าไปในฐานะทีมงานซึ่งทำกิจกรรมกับเด็กผ่านองค์กรเด็กระหว่างประเทศ คือ save the children ที่เข้าไปสร้างพื้นที่ Child friendly space ใน 2 จุด เพื่อเป็นที่นัดหมายรวมเด็กที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็ก อายุระหว่าง 7-12 ปี ที่มีจำนวนมากถึง 300 คน ส่วนเด็กโตจะต้องไปช่วยพ่อกับแม่ปลูกบ้านหลังใหม่

กิจกรรมที่ลงไปทำเน้นการฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจด้วยศิลปะบำบัด ภายใต้หลักการที่ว่า ศิลปะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เด็กได้ระบายอารมณ์ความรู้สึกออกมาผ่านการวาด เขียน ร้องหรือแม้แต่การหัวเราะ ระหว่างการทำกิจกรรม my home เด็กๆ  เริ่มร่างเส้นเป็นหลังคาและตัวบ้าน วาดภาพบ้านของตัวเอง มีหมูหมากาไก่และสัตว์เลี้ยง แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ พวกเขาวาดไฟที่ลุกท่วมอยู่บนหลังคากับเฮลิคอปเตอร์เข้าไปด้วย ,เมื่อถึงกิจกรรมวาดภาพใบหน้าของตัวเอง ภาพส่วนใหญ่สะท้อนอารมณ์หดหู่ ใบหน้าที่ไม่ค่อยจะยิ้มแย้มหรือการลงสีโทนร้อนสะท้อนเอาอารมณ์ที่คุกรุ่นด้านในออกมาให้เราได้เห็นอย่างเด่นชัด

ในบางกรณี เด็กบางคนวาดภาพเสร็จแล้ว ขว้างสีชอล์คลงพื้นด้วยอารมณ์กราดเกรี้ยว สภาพจิตใจที่ยังตกค้างและจำเป็นต้องได้รับการระบายออก ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานกับเด็กอย่างองค์กร save the children ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ,การทำกิจกรรมช่วยให้เด็กได้ระบายความรู้สึกของตัวเองออกมา อย่างน้อยก็ช่วงระยะเวลาหนึ่งเพราะทันทีที่เขากลับบ้านนั่นหมายถึง เด็กต้องไปเจอกับสภาพความตึงเครียดภายในครอบครัว ความตึงเครียดอันเกิดจากความสูญเสีย การได้ระบายออกเป็นหนทางหนึ่งและศิลปะเป็นเครื่องมือหนึ่ง

ระบาย(สี)เพื่อระบาย(ออก) ..

เหตุการณ์ไฟไหม้แคมป์แม่สุริน แหล่งพักพิงผู้หนีภัยสงคราม ไม่ได้ก่อให้เกิดสภาพของความสูญเสียเพียงเฉพาะกายภาพที่เป็นตัวอาคารบ้านเรือนเท่านั้น แต่มันยังคงทิ้งเถ้าธุลีเอาไว้ในจิตใจของคนที่นั่น อย่างช่วยไม่ได้ นโยบายความมั่นคงแห่งรัฐกำลังถมเถ้าธุลีให้พอกพูนบนชะตากรรมที่พวกเขา
เองไม่ได้เป็นผู้ก่อ ,กลายเป็นเถ้าธุลีที่ยังตกค้างอยู่ภายในจิตใจของพวกเขา.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท