เส้นทางของนักเคลื่อนไหวในอิเหนา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บ่ายวันนี้ ฉันนัดเพื่อนชาวอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นนักเรียนปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์และการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) [1] มานั่งดื่มกาแฟด้วยกัน วัตถุประสงค์ของฉันก็เพื่อขอเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศอินโดนีเซีย

เพื่อนของฉันคนนี้ชื่อ Sri Lestari Wahyuningroem แต่ฉันเรียกเธอสั้นๆ ว่า “อายู” (Ayu)

เธอพักจากการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติอินโดนีเซีย (University of Indonesia) ชั่วคราวเพื่อมาเป็นนักเรียนปริญญาเอกในประเทศออสเตรเลียโดยได้รับทุนสนุบสนุนจากมหาวิทยาลัย

ที่สำคัญเธอยังเป็นนักเคลื่อนไหวตัวยง ในประเด็นสิทธิมนุษยชน gender ประชาธิปไตย และความขัดแย้งหลายองค์กรที่เธอทำงานด้วยก็มีมากมายทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ เช่น องค์กรสหประชาชาติ (UN)

        
ภาพ: Sri Lestari Wahyuningroem [2]

เธอเล่าให้ฟังว่า ในช่วงเรียนหนังสือระดับปริญญาตรี เธอเลือกที่จะทำเรื่อง “บทบาททหารและผู้หญิงในอะเจห์”แต่ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว อะเจห์เป็นพื้นที่ต้องห้ามจากรัฐบาล เธอจึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปศึกษาวิจัย แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเคลื่อนไหวควบคู่ไปกับการทำงานวิชาการ

เธอเล่าให้ฟังว่า ช่วงก่อนปี 2000 เพื่อนๆ ที่เป็นนักเคลื่อนไหวชาวอะเจห์ถูกข่มขู่จากรัฐบาลจนไม่สามารถจะอยู่ในพื้นที่ได้ ทำให้ต้องระหกระเหินเดินทางออกจากอะเจห์ ไปทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนในต่างพื้นที่เช่น จาร์การ์ต้า

ผลของการถูกข่มขู่และขับไล่ดังกล่าว ก็มีข้อดีอยู่ไม่น้อยเพราะนักเคลื่อนไหวชาวอะเจห์หลายคน ไปทำงานกับองค์กรสหประชาชาติและทำให้ประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายขอบ ได้รับความสนใจในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น

ในประเทศอินโดนีเซียนอกจากอะเจห์แล้ว เธอยังมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับนักสิทธิมนุษยชนในปาปัวนิวกีนีอีกด้วย โดยเธอยังคงเน้นเรื่อง “บทบาทของทหารและผู้หญิง”

ช่วงระยะเวลาของการเก็บข้อมูลวิจัย รัฐบาลและทหารก็ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เพราะคิดว่าผู้หญิงอย่างเธอและงานวิจัยที่เธอทำ คงเกี่ยวข้องกับเรื่อง “ความรุนแรงในครอบครัว” แต่เมื่อเธอจัดสัมมนาและยื่นรายงานวิจัยให้รัฐบาล ก็ได้สร้างความตกตะลึงไม่น้อย เพราะผลของการวิจัยพบว่า ผู้หญิงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนท่ามกลางความขัดแย้งโดยทหารอย่างไร

การเคลื่อนไหวด้านสันติภาพโดยผู้หญิงมีความสำคัญมาก ในมุมมองของเธฮ

เธอกล่าวว่า เป็นเพราะว่ากระบวนการสันติภาพในอะเจห์ไม่ได้มีมิติของผู้หญิงตั้งแต่ต้น ดังนั้นเมื่ออะเจห์ได้สันติภาพ ผู้หญิงจึงไม่มีที่ยืนและมารู้สึกเสียใจมากมายมหาศาลในภายหลัง” เธอเพิ่มเติมว่า “มันไม่จำเป็นหรอกว่า ผู้หญิงที่เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพจะมีข้อถกเถียงที่ชัดเจนและเข้มแข็งตามหลักการทางวิชาการ เพียงแต่ขอให้ผู้หญิงได้เข้าร่วม ได้นำเสนอมุมที่มาจากผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ได้รับการสนับสนุนจากมุมของพวกเธอ เพียงเท่านี้ก็นับว่าเพียงพอแล้ว

นักเคลื่อนไหวในอะเจห์รุ่นก่อนกับรุ่นใหม่มีความแตกต่างกัน ก่อนหน้าที่อะเจห์จะได้เป็นเขตปกครองพิเศษ นักเคลื่อนไหวหลายคนไม่บอกแน่ชัดว่าตนเองเกี่ยวข้องกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหรือเปล่า แต่เมื่อหลังอะเจห์ได้เป็นเขตปกครองพิเศษ นักเคลื่อนไหวหลายคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ประกาศตัวเองว่าเป็นกลุ่มสนับสนุนการให้อะเจห์เป็นเขตปกครองพิเศษอย่างชัดเจนมากขึ้น

เพื่อนของเธอหลายคนถูกจับกุมและต้องจำคุกอยู่นานเนื่องจากกิจกรรมที่พวกเขาทำ เธอกล่าวว่าแน่นอนว่า ใครก็ตามที่เห็นตรงข้ามกับรัฐ มักจะถูกมองว่าเป็นพวกแบ่งแยกดินแดน แต่การอยู่ในพื้นที่สีเทาระหว่างรัฐกับเห็นไม่ตรงกับรัฐมันแบ่งกันได้ยากนะ เพราะกลุ่มแบ่งแยกทุกคนก็ไม่ใช่ว่าจะมีบัตรประจำตัวแล้วประกาศตัวว่า ตัวเองเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนสักหน่อย แล้วก็ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นตรงข้ามกับรัฐจะเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

นักเคลื่อนไหวที่ถูกกุมขังหลายคน เรามีการเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือกันอย่างน้อย 2 รูปแบบ

แบบแรก เรามีเพื่อนที่เป็นนักกฎหมายช่วยกันทำคดี เพราะเรากำลังสู้กับ “หลักบังคับแห่งกฎหมาย” (rule of law) ดังนั้นแนวทางการช่วยเพื่อนของเราจะต้องใช้นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน จัดการกับกฎหมายที่ถูกเขียนโดยรัฐ

แบบที่สอง ที่เธอเห็นว่าสำคัญที่สุด คือ ความเป็นหนึ่งเดียวกัน (solidarity) ของเครือข่ายด้านการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน

กรณีในอะเจห์ นักเคลื่อนไหวที่เป็นนักเรียน ทำงานร่วมกับองค์กรสหพันธ์นิสิตนักศึกษาในเมืองหลวงอย่างจาร์การ์ต้า ส่วนในปาปัวนิวกีนี นักเคลื่อนไหวในปาปัวนิวกีนี ทำงานร่วมกับ NGOs ด้านสิทธิมนุษยชนในจาร์การ์ต้าเช่นเดียวกัน

ทำไมต้องเป็นจาร์การ์ต้า? นั้นก็เพราะว่า จาร์การ์ต้า เป็นศูนย์กลาง เป็นแหล่งรวมศูนย์อำนาจ การทำงานกับเพื่อนๆ ที่อยู่ในศูนย์กลางจะทำให้เราเข้าถึงสื่อกระแสหลัก และสามารถนำเรื่องราวที่อยู่ชายขอบได้อย่างเป็นที่สนใจ และที่สำคัญการเคลื่อนไหว มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในศูนย์กลางมากกว่า สู่พื้นที่ๆ ขาดแคลนและยากจะเข้าถึง โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านการเมือง

ถึงแม้ว่า กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอะเจห์และปาปัวนิวกีนี จะเป็นที่น่าเอือมระอาและน่าเบื่อหน่าย เพราะผู้คนรู้สึกชินชากับข่าวความขัดแย้งที่ปรากฎออกมาในแต่ละวัน อาจจะทำให้นักเคลื่อนไหวรู้สึกท้อแท้ แต่อายูกล่าวว่า “ความเบื่อดังกล่าวมาจาก การที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจประเด็นที่เกิดขึ้นจริงๆ

ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปาปัวนิวกีนีก็เป็นที่รับรู้น้อยมากในสังคมประเทศอินโดนีเซีย เพราะผู้คนส่วนใหญ่มักเห็นแต่ปรากฎการณ์ผิวเผินว่า 1) คนเผ่าพวกนี้มักกินกันเอง 2) คนเผ่าพวกนี้เป็นพวกล้าหลัง 3) คนเผ่าพวกนี้เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอันเป็นผลทำให้คนส่วนใหญ่ที่มีอคติในด้านลบต่อชาวปาปัวนิวกีนีอยู่แล้ว ไม่อยากรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวันว่าได้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไรบ้าง

ใน ANU นักวิชาการหลายคนที่เป็นนักเคลื่อนไหว ได้ตั้งกลุ่มและสร้าง web-site ขึ้นมาภายใต้ชื่อ “Asia Rights” [2] เพื่อเป็นช่องทางในการนำเสนอเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นที่ชายขอบในเอเชียและเรียนรู้เรื่องราวต่างๆในแง่มุมทางวิชาการได้มากขึ้น ผลของการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ ในฐานะนักวิชาการ จะสามารถสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหมู่ชนชาวเอเชีย

ภาพ: หน้าตา Web-site: “Asia Right” [3]

ในกรณีของ Anwar [4] เธอกล่าวว่า “เรารู้น้อยมากเกี่ยวกับเรื่องราวของเขา มันจะเป็นการดีไม่น้อยถ้ามีใครบางคนช่วยย่อข้อมูลเบื้องต้นเป็นภาษาอังกฤษ และนำเสนอในเว็ปไซต์นี้ เพราะการพูดจากนอกประเทศและจากคนภายนอกในระดับชาติ ฉันคิดว่าจะมีพลังในการผลักดันการทำงานด้านกระบวนการยุติธรรม อย่างเป็นธรรมในประเทศไทยให้มากขึ้น”

----------------------------------------------------------------------------

[1] ประวัติย่อของอายู: http://ips.cap.anu.edu.au/psc/phd/wahyuningroem.php

[2] http://asiapacific.anu.edu.au/blogs/asiarights/

[3] E-mail และ facebook ของอายู E-mail: sri.wahyuningroem@anu.edu.au Facebook: http://www.facebook.com/#!/swahyuningroem

[4] รายละเอียดดูเพิ่มเติมได้ใน http://www.facebook.com/#!/saveanwar

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท