Skip to main content
sharethis

ชาวเคนยา 250 คน ที่จัดตั้งโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Occupy Parliament ประท้วงโดยการนำเลือดมาเทที่ถนนหน้าอาคารรัฐสภา พร้อมนำหมูที่เพนท์สีปล่อยหน้าอาคาร เพื่อสื่อถึงความโลภของ ส.ส. ซึ่งขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำในประเทศ 131 เท่า


เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา มีกลุ่มผู้ประท้วงออกมาชุมนุมแสดงความไม่พอใจที่ ส.ส. พยายามเรียกร้องให้มีการขึ้นเงินเดือนให้กับตัวเองมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 131 เท่า โดยมีการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเทเลือดและการปล่อยหมูที่เต็มไปด้วยรอยสี หน้าอาคารรัฐสภา

The Independent รายงานว่าผู้ประท้วงได้นำถังมาเทเลือดบนถนนหน้าอาคารและปล่อยหมูออกมา โดยที่ตัวหมูมีการเขียนสีกราฟิตี้วิพากษ์วิจารณ์การที่ ส.ส. ขอขึ้นเงินเดือนตัวเองเป็น 6,540 ปอนด์ (ราว 295,000 บาท) ต่อเดือน

เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลได้สลายการชุมนุมด้วยการยิงแก๊สน้ำตาและใช้ไม้กระบองเข้าจู่โจมฝูงชนที่ชุมนุมอย่างสงบราว 250 คน The Independent ระบุว่าตัวตำรวจปราบจลาจลเองก็ได้รับเงินเดือนเพียง 100 ปอนด์ (ราว 4,500 บาท) ต่อเดือนเท่านั้น

โบนิฟาซ มวันกิ นักรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นกล่าวว่า หมูในการประท้วงครั้งนี้เป็นสัญลักษณ์แทนความโลภของเหล่าผู้แทนในประเทศ มวันกิเป็นหนึ่งในหลายสิบคนที่ถูกจับกุมตัวเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม กลุ่มการประท้วงเรียกร้องความสนใจดังกล่าวจัดตั้งโดยกลุ่มเรียกตัวเองว่า Occupy Parliament ซึ่งเป็นกลุ่มที่หมายลุกฮือต่อต้านความโลภของ ส.ส.เคนยา

โดยเมื่อเดือนที่แล้วก็มีผู้ประท้วงชุมนุมแบกโลงศพมาที่อาคารรัฐสภา ซึ่งเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์แสดงให้เห็นผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปที่เกิดจากการพยายามหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองของ ส.ส.

เมื่อสามปีที่แล้วมีผู้ลงประชามติสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเคนยาอย่างท่วมท้น โดยร่าง รธน. ฉบับดังกล่าวมีการนำค่าจ้างเงินเดือนข้าราชการมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยที่มีการเสนอแนะให้ปรับลดเงินเดือนของ ส.ส. จาก 78,500 ปอนด์  (ราว 3,560,000 บาท) ต่อปี เหลือ 51,650 ปอนด์ (ราว 2,300,000 บาท) ต่อปี ขณะที่ ส.ส. ซึ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาในตำแหน่งเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาเรียกร้องให้มีการขึ้นเงินเดือนเพื่อนำไปใช้จ่ายเป็นค่ายานพาหนะหรูๆ ค่าเดินทาง ค่าบอดี้การ์ด และค่าเข้าห้องเลานจ์วีไอพีในสนามบิน โดยที่ ส.ส. ในสมัยก่อนหน้านี้ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจในเคนยามาแล้วจากการที่พวกเขาให้เงินบำนาญเกษียณอายุแก่ตัวเอง 70,400 ปอนด์ (ราว 3,200,000 บาท)

The Independent กล่าวว่าแม้ประเทศเคนยาจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตมากที่สุดในแอฟริกาตะวันออก แต่ชาวเคนยาส่วนมากมักจะเป็นแรงงานนอกระบบ (informal sector) และหลายคนต้องต่อสู้ชีวิตกับค่าแรงขั้นต่ำ 50 ปอนด์ (ราว 2,300 บาท) ต่อเดือน

เมื่อไม่นานมานี้มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวว่าหากประเทศเคนยาปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่นและการบริหารประเทศที่ย่ำแย่ เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตร้อยละ 7 ต่อปี และกลายเป็นประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางภายในปี 2018

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เคยจัดอันดับรายปีให้เคนยาเป็นหนึ่งในประเทศที่แย่ที่สุด (อันดับที่ 139 จาก 174 อันดับ) จากดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น

 

 


เรียบเรียงจาก

Graffitied pigs and buckets of blood on the streets of Nairobi as protests over MPs' pay continue, The Independent, 14-05-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net