Skip to main content
sharethis

 

15 พ.ค. 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีวันประกาศถอดตรวนผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และนายก่อแก้ว พิกุลกอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำเสื้อแดงที่เคยถูกคุมขังในเรือนจำ

ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสร้างหลักประกันความมั่นคงในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยการ ขจัดการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ โดยมอบนโยบายให้กระทรวงยุติธรรมดูแลสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญใน ส่วนของกรมราชทัณฑ์ มอบหมายให้ศึกษาข้อกฎหมายและความเป็นไปได้ ในการผ่อนปรนหรือปลดเปลื้องเครื่องพันธนาการโดยเฉพาะตรวนให้กับผู้ต้องขัง ที่ต้องจำตรวนตลอดเวลาภายในเรือนจำ

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นายวสันต์ สิงคเสลิต ผบ.เรือนจำกลางบางขวาง รับไปดำเนินการนำร่องโครงการปลดตรวนเนื่องจากเรือนจำกลางบางขวางเป็นเรือนจำ ความมั่นคงสูง รับควบคุมผู้ต้องขังโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตจึงเป็นเรือนจำเดียวที่มีแดน ประหารชีวิต โดยเรือนจำลางบางขวางได้เริ่มทดลองถอดตรวนให้กับผู้ต้องขังตั้งแต่เมื่อวัน ที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้ต้องขังที่ได้รับการถอดตรวนจำนวน 563 ราย แยกเป็น ผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษาต่ำกว่า 50 ปี จำนวน 16 ราย ผู้ต้องขังที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต จำนวน 34 ราย และผู้ต้องขังประหารชีวิต จำนวน 513 ราย

โดยการถอดตรวนทำให้ผู้ต้องขังมีอิสรภาพในการเคลื่อนไหวร่าง กายและพบว่าหลังจากถอดตรวนผู้ต้องขังไม่ทำผิดทางวินัยเรือนจำ หากในอนาคตกรมราชทัณฑ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือมาทด แทนการจำตรวนได้ก็จะยกเลิกหรือปลดตรวนให้กับผู้ต้องขังอื่น ๆ

ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี สนับสนุนรัฐบาลต่อโครงการนำร่องในการถอดตรวนผู้ต้องขังจำนวน 500 คนที่เรือนจำกลางบางขวาง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล และเรียกร้องให้รัฐบาลควรกำหนดให้เป็นนโยบายที่ชัดเจนในการยกเลิกการใส่โซ่ตรวนผู้ต้องขังทั่วประเทศต่อไป รวมทั้งเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต เพื่อแสดงถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการให้คุณค่ากับชีวิตมนุษย์ทุกคน

นายสมชาย หอมลออ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า การรณรงค์เรียกร้องให้ถอดโซ่ตรวนผู้ต้องขังในเรือนจำมีการดำเนินการมาอย่างยาวนานจากนักสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เพราะถือว่าเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีลักษณะเป็นการทรมานซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

“การใช้เครื่องพันธนาการประเภทตรวนแก่ผู้ต้องขัง เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ การจำตรวนไว้ตลอด24 ชั่วโมงทั้งๆ ที่ผู้ต้องขังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำถือเป็นทรมาน และเป็นการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

เขาระบุว่า การที่รัฐบาลและกรมราชทัณฑ์จัดให้มีการถอดโซ่ตรวนนักโทษ 500 คนในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขังขององค์การสหประชาชาติ ที่กำหนดว่าบรรดาเครื่องพันธนาการ เช่น กุญแจมือ โซ่ ตรวน และสายรัดแขน จะต้องไม่ถูกนำมาใช้เพื่อการลงโทษ รวมทั้งไม่ใช้โซ่ตรวนในระหว่างการจองจำนักโทษ เครื่องพันธนาการอาจจะใช้ได้เพียงเฉพาะระยะเวลาที่จำกัดและเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น

“เราหวังว่าโครงการนำร่องนี้จะพัฒนาให้เป็นนโยบายที่ประกาศยกเลิกการใช้โซ่ตรวนกับผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่าง ๆ ทั่วประเทศและในห้องพิจารณาของศาลในที่สุด และเรียกร้องให้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขังขององค์การสหประชาชาติ ด้วย เช่น แก้ไขปัญหาความแออัดในเรือนจำ การจำแนกผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี กับผู้ต้องขังที่มีคำพิพากษาแล้ว การเพิ่มช่องทางเพื่อการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและทันท่วงที” สมชายกล่าว

นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ดำเนินการให้การศึกษา สร้างความเข้าใจในการเคารพสิทธิมนุษยชนมากว่า 50 ปี ปัจจุบันมี 140 ประเทศทั่วโลกหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของทุกประเทศที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่าทัศนคติและความเชื่อดั้งเดิมสามารถเปลี่ยนแปลงได้

“รัฐบาลไทยควรพิจารณาสนับสนุนแนวโน้มระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในทางที่ยกเลิกโทษประหาร เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต และโทษดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม”

จดหมายระบุด้วยว่า เพื่อเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์อันดีในการยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจึงเรียกร้องรัฐบาลพิจารณาสนับสนุน ดังนี้

            1. ประกาศพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 2 โดยมีเจตจำนงที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด

            2. เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษประหารชีวิต 

            3. บรรจุวาระการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกไว้ในแผนแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 3

            4.    ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต

 


เรียบเรียงบางส่วนจากเว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net