Skip to main content
sharethis

(17 พ.ค.56) ในการเปิดตัวโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ที่อาคารวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการ มสช.ระบุว่า โครงการดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อศึกษา วิเคราะห์ ติดตามและตรวจสอบนโยบายและกระบวนการทำงานของ กสทช. รวมถึงทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อ กสทช. ทั้งนี้ หวังว่าจะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปสื่อและรู้สึกเป็นเจ้าของมากขึ้น

ต่อมา พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยประจำโครงการ นำเสนอรายงานการศึกษาในหัวข้อ “ประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ต่อการจัดสรรช่องรายการทีวีดิจิตอลธุรกิจ” โดยระบุว่า การที่ กสทช.แบ่งประเภททีวีดิจิตอลช่องบริการธุรกิจ ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ช่องทั่วไป ช่องข่าว และช่องเด็ก สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของ กสทช.ที่อยากจะเห็นความหลากหลายในเนื้อหา ไม่เช่นนั้นความล้มเหลวของระบบตลาด จะทำให้รายการที่ดีแต่ไม่ได้รับความนิยม ไม่ถูกผลิต อย่างไรก็ตาม ลำพังการแบ่งช่องแม้จะแก้ปัญหาเชิงปริมาณได้ แต่ยังไม่แก้ปัญหาเชิงคุณภาพ

ทั้งนี้ มีข้อเสนอว่า กสทช.อาจลดราคาตั้งต้นประมูลของช่องรายการข่าวและช่องรายการเด็กให้ต่ำลง เพื่อจูงใจให้คนเข้าสู่ตลาด แต่ก็จะทำให้รัฐได้รายรับน้อยลง นอกจากนี้ การอุดหนุนราคาเช่นนี้ยังไม่ยึดโยงกับคุณภาพของเนื้อหารายการ และผู้ประกอบการยังอยู่ใต้แรงจูงใจเพื่อแสวงหากำไร และยังมีความเสี่ยงคือ ช่องเหล่านี้อาจอากาศรายการที่มีเนื้อหาคลาดเคลื่อนไปจากเจตนารมณ์ ซึ่งหากนิยามหรือเกณฑ์ของรายการเด็กฯ และรายการข่าวฯ คลุมเครือ รวมถึงไม่มีกระบวนการตรวจสอบและรับผิดที่แข็งแรง สังคมก็อาจได้รับสินค้าที่คุณภาพไม่สอดคล้องกับราคาที่จ่ายไป

พรเทพ เสนอว่า เพื่อรักษาเจตนารมณ์ตั้งต้นในการแบ่งประเภทช่องรายการ กสทช.ต้องให้ความสำคัญกับการกำกับด้านเนื้อหา ทั้งด้านนิยามและการตรวจสอบ โดยวางกรอบคุณสมบัติของรายการที่ช่องรายการต้องมีการผลิต กำหนดความหลากหลายของรายการ เช่น เวลาขั้นต่ำในการฉายรายการที่มีคุณสมบัติที่กำหนดในเวลาที่เหมาะสม กำหนดเนื้อหาโฆษณาสำหรับเด็ก เช่น ห้ามโฆษณาแฝง ชักจูงให้เด็กซื้อสินค้า รวมถึงกำหนดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในการออกอากาศให้ชัดเจน

พรเทพ กล่าวถึงประเด็นราคาเริ่มต้นการประมูล ซึ่งคณะผู้วิจัยจากเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่ง กสทช.ว่าจ้างให้ศึกษามูลค่าคลื่นเพื่อกำหนดราคาประมูล เสนอให้ กสทช. ปรับราคาตั้งต้นประมูลตามจำนวนผู้เข้าร่วมและจำนวนใบอนุญาต โดยจะลดลงอย่างเป็นสัดส่วนเมื่อมีผู้เข้าประมูลมากขึ้น โดยอาจลดลงได้ถึง 20% ของมูลค่าประมูลที่ต่ำที่สุด เพื่อจูงใจให้คนเข้ามาแข่งขันว่า แง่หนึ่งเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ เพราะจะมีส่วนให้การจัดสรรช่องรายการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การเลือกประกาศหรือไม่ประกาศเมนูราคาเริ่มต้นดังกล่าว ก็เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การจัดประมูลด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้ประกอบการร่วมมือกันเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลที่อาจไม่ได้ต้องการแข่งขันอย่างจริงจัง เพื่อดึงให้ราคาต่ำลง ซึ่งจะทำให้รัฐได้รายรับน้อยกว่าที่ควรถึง 20% 

พรเทพ กล่าวต่อว่า ดังนั้น การป้องกันและคัดกรองผู้เข้าร่วมประมูลที่ไม่จริงจังกับการประมูลจึงสำคัญมาก โดยอาจมีมาตรการ เช่น กำหนดให้วางหลักประกันการประมูล  เพิ่มหลักประกันที่ต้องวางก่อนการประมูลให้สูงขึ้นจากปัจจุบันที่ 10% ของราคาขั้นต้น นอกจากนี้ การไม่เปิดเผยตัวตนของผู้เข้าร่วมประมูลและข้อมูลว่าใครประมูลในใบอนุญาตช่องรายการประเภทใดบ้าง อาจทำให้การร่วมมือระหว่างผู้เข้าประมูลเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น


'ตลกร้ายของการปฏิรูปสื่อ'
ด้าน วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นำเสนอในหัวข้อ "ทีวีรัฐหรือทีวีสาธารณะ: ข้อเสนอในการจัดทำหลักเกณฑ์พิจารณาคุณสมบัติทีวีดิจิตอลสาธารณะ" โดยระบุว่า จากการติดตามความคืบหน้า มองว่าคลื่นเก่าที่พยายามจะเอากลับมาปฏิรูป ยังมองไม่ค่อยเห็นอนาคตในเวลาอันใกล้ ขณะที่คลื่นใหม่ เมื่อมาดูในส่วนของช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง ที่คาดหวังว่าจะสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยให้ดีขึ้น เปิดพื้นที่ให้เสียงส่วนน้อยของสังคมหรือทำเรื่องยากๆ ที่มีความซับซ้อน  ก็ปรากฏว่า ปัจจุบัน ช่อง 5 ช่อง 11 และไทยพีบีเอส ได้สิทธิออกอากาศคู่ขนานแล้ว โดยที่ช่อง 5 และช่อง 11 ไม่ต้องปรับผังรายการเพื่อรับใช้สาธารณะเลย ส่วนช่อง 8 และ 9 ซึ่งเป็นช่องความมั่นคงและความปลอดภัยสาธารณะ ล่าสุด กสท. ก็กำหนดนิยามต้องเป็นหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่เฉพาะ ซึ่งเป็นการตีความความมั่นคงแบบแคบ เจ้าที่เข้ามาได้คงมีหน่วยงานรัฐเพียงไม่กี่เจ้า เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพ  ส่วนรายอื่นๆ ก็มีสื่อตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการล็อกสเปกให้หน่วยงานรัฐ โดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์ช่องที่ชัดเจนและสามารถจับคู่ให้กับหน่วยงานรัฐได้ทั้งหมด

"โอกาสปฏิรูปสื่อผ่านจัดสรรคลื่นทีวีดิจิตอลจะเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า หรือจะเป็นตลกร้ายของการปฏิรูปสื่อ ที่หน่วยงานรัฐพาเหรดเข้ามายึดครองหน้าจอ โดยอาจไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะเลย ทั้งยังเปิดช่องให้รัฐเอาภาษีของประชาชนมาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของตัวเอง จ้างสื่อเอกชนมาทำสื่อให้ภาครัฐ เป็นการซื้อสื่อทั้งทางตรงและทางอ้อม หน่วยงานรัฐอาจเอาคลื่นความมั่นคงไปใช้เชิงพาณิชย์หรือไม่เพราะเปิดให้หาโฆษณาได้ และอาจกระทบต่อการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมในอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ในกรณี ช่อง 5 ที่แข่งขันบนเงื่อนไขเดียวกับสื่อพาณิชย์โดยไม่ต้องเสียค่าคลื่นความถี่" วรพจน์กล่าว

วรพจน์ กล่าวต่อว่า จะเห็นว่านิยาม "สื่อสาธารณะ" ของรัฐที่ออกมาดูจะเป็นสื่อของรัฐมากกว่า ดังนั้น หลายฝ่ายจึงเรียกร้องให้มีการออกหลักเกณฑ์พิจารณาคุณสมบัติทีวีสาธารณะที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ขอรับใบอนุญาตพิสูจน์ความเป็นสาธารณะและเป้าหมายสาธารณะได้ในระดับหนึ่ง พร้อมระบุว่า ในต่างประเทศนั้น จะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติใน 4 มิติ ได้แก่ หนึ่ง โครงสร้างองค์กร เพื่อรักษาความเป็นอิสระขององค์กรให้ปลอดจากแรงกดดันทางการเมืองและธุรกิจ สอง กลไกการรับผิดรับชอบทั้งภายในและภายนอก  สาม การหารายได้ ซึ่งต้องออกแบบระบบการเงินที่ยึดแนวทางความเป็นอิสระและยั่งยืน และสี่ ผังและเนื้อหารายการ ซึ่งต้องผลิตเนื้อหาที่สร้างผลกระทบเชิงบวกและตอบสนองผู้ถูกละเลยจากกลไกตลาด

วรพจน์ ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ กสทช. จะต้องกำกับดูแลหลังให้ใบอนุญาตด้วย โดยควรกำหนดให้มีช่วงทดลองหนึ่งปีแรก ถ้าทำตามที่เสนอไม่ได้จริง อาจพิจารณาไม่ต่ออายุใบอนุญาต รวมถึงควรมีมาตรการลงโทษหลายระดับกรณีมีการละเมิดกฎหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาต เช่น ปรับ ระงับการออกอากาศชั่วคราว จนถึงยกเลิกใบอนุญาต มีกลไกรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และ กสทช.จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลการดำเนินงานและส่งต่อเป้าหมายสาธารณะของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสาธารณะทุกปี เช่นเดียวกับ Ofcom ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสื่อและโทรคมนาคมของอังกฤษด้วย

นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนาในหัวข้อ “การจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับดูแลทีวีดิจิตอล: โอกาส ความท้าทาย และอุปสรรค ในการปฏิรูปสื่อ” ว่า เราได้ยินแต่เรื่องการประมูลช่อง แต่ไม่ได้ยินว่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลจะทำอย่างไร เพราะการผูกขาดนั้นจะอยู่ที่ระดับโครงข่ายซึ่งมีไม่กี่ไลเซ่น ยังไม่มีข่าวว่าจะประมูลไหม คิดราคาอย่างไร ไม่มีการพูดถึงในที่สาธารณะเลย ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องตลกที่เราจะประมูลช่องรายการโดยที่ไม่รู้ว่ามีต้นทุนจริงๆ เท่าไหร่ และไม่เพียงแต่ช่องบริการธุรกิจเท่านั้น  ช่องบริการสาธารณะ ซึ่งจะเอาภาษีประชาชนมาใช้ ก็ต้องจ่ายค่าโครงข่ายด้วย

นอกจากนี้ นวลน้อยตั้งคำถามเรื่องการกำหนดเวลาประมูลว่า ในต่างประเทศ หากเป็นการจัดสรรคลื่นทีวี ส่วนใหญ่จะใช้วิธีบิวตี้คอนเทสต์ ขณะที่หากเป็นโทรคมนาคมจะใช้วิธีประมูล ซึ่งก็ทำกันข้ามวันข้ามคืน เพื่อแข่งราคา แต่ของไทย กลับใช้วิธีประมูลทีวี โดยให้เวลาหนึ่งชั่วโมง ซึ่งไม่น่าเป็นผลดีต่อการประมูลนัก ทั้งนี้ เห็นต่างจากพรเทพที่เสนอให้ไม่เปิดเผยผู้เข้าแข่งขัน เพราะมองว่า ที่ผ่านมา คนที่ไม่รู้รายละเอียดคือสาธารณชน แต่คนที่ประมูลรู้กันหมดอยู่แล้ว จึงน่าจะเปิดชื่อให้รู้กันไปเลย เพราะสื่อจะหาข้อมูลต่อเองว่าใครเป็นอย่างไร

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net