Skip to main content
sharethis

เครือข่ายลุ่มน้ำเหนือ-อีสานจัดเสวนาคู่ขนานเวทีจัดการน้ำที่เชียงใหม่ พร้อมอ่านแถลงการณ์-ทำหุ่นล้อ 'ปลอดประสพ' - 'หาญณรงค์' ห่วงใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน แต่ชุมชนลุ่มน้ำยังขาดข้อมูลและไม่มีส่วนกำหนดนโยบาย ด้าน 'Thai Flood' ติงเวทีประชุมเรื่องน้ำที่เชียงใหม่ขาดเรื่องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมประชาชน

19 พ.ค. 56 เวลา 10.00 น. ณ ร้านหนังสือ Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสานได้จัดเวทีประชาชน “การจัดการน้ำ: ผู้นำต้องฟังเสียงจากรากหญ้า” ณ ร้านหนังสือ Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่

โดยเวทีครั้งนี้เป็นการจัดคู่ขนานไปกับการจัดประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Water Summit) ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เช่นกัน ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม ภายใต้หัวข้อ “ความมั่นคงด้านน้ำ” โดยเวทีประชาชนได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดประชุมระดับนานาชาติครั้งนี้ และแสดงความคิดเห็นเรื่องการจัดการน้ำแบบรวมศูนย์อำนาจ ขาดการเคารพต่อประชาชนในท้องถิ่น และไม่เปิดโอกาสให้มีประชาชนมีส่วนร่วม

 

000

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่าได้ติดตามการจัดประชุมนานาชาติมาตั้งแต่ต้น แต่มีความจำเป็นของการจัดเวทีคู่ขนานนี้ เพราะการจัดนิทรรศการและไฮไลต์ของงานในครั้งนี้ เราเคยนึกว่าจะพูดเรื่องการจัดการน้ำของชุมชน วิธีอยู่กับน้ำหรือสู้กับน้ำของชุมชนต่างๆ แต่ปรากฏว่าเราเห็นแต่นิทรรศการของบริษัทเค-วอเตอร์ บริษัทจีน ซึ่งร่วมทุนกับบริษัทอิตาเลียนไทย หรือบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ แต่ไม่เห็นว่าการทำงานของประชาชนว่าจะมีมีส่วนร่วมได้อย่างไร

แผนการจัดการน้ำที่เป็นอยู่ ซึ่งใช้งบเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท มีลักษณะเป็นการจัดการจากข้างบนลงข้างล่าง คนในพื้นต่างๆ ซึ่งอยู่ในแผนของพื้นที่การจัดการน้ำนี้แทบไม่ทราบข้อมูลและไม่มีส่วนร่วมใดๆ ไม่มีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ภาคประชาชนจึงเรียกร้องให้มีการจัดประชุม ให้มีการนำเสนอข้อมูลทางเทคนิคจากทั้งนักวิชาการ และภาคประชาชนในพื้นที่ แต่ไม่มีการหารือในเรื่องนี้เลย ทั้งที่จะมีการเซ็นสัญญาโครงการแล้ว และนำเรื่องเข้าครม. นี่คือสิ่งที่ตนกังวล และรัฐบาลกลับมองการเรียกร้องเรื่องนี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง โดยอยากให้มีการเสียสละ แต่กลับมองว่าเราเป็นขยะทางสังคม

ตนยืนยันว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ไม่ได้ไปก่อความวุ่นวาย หรือทำลายการประชุม แต่เห็นว่ากระบวนการที่ควรจะเป็นในแผนการจัดการน้ำ 3.5 หมื่นล้าน นั้น ต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนก่อน และค่อยไปดำเนินการเรื่องการออกแบบและผู้รับเหมา นอกจากนั้นยังต้องมีการคิดถึงการจัดการน้ำระหว่างประเทศ ที่มีพรมแดนใกล้กัน เช่น แม่น้ำโขง หรือสาละวิน แต่กลับไม่มีหัวข้อหรือท่าทีเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ในการประชุม

 

000

มนตรี จันทรวงศ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.เหนือ) ได้ตั้งคำถามถึงแผนการจัดการน้ำโดยภาครัฐในสามประเด็นใหญ่ ได้แก่ หนึ่ง ระบบที่รัฐบาลพัฒนาขึ้นมาหลังน้ำท่วมในปี 2554 ที่เรียกว่า “Single command” ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักนิติรัฐ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับลุ่มน้ำ โดยเฉพาะการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ (EIA/HIA) ทำให้เกิดคำถามในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างรัฐบาลกับบริษัทที่เข้ามาประมูลต่างๆ

แผนนี้ยังได้ทำลายโครงสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการน้ำ ในรูปของ “คณะกรรมการจัดการน้ำแห่งชาติ” และ “คณะกรรมการลุ่มน้ำ” แต่กลับไปตั้ง “คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ” (กบอ.) ขึ้นมาแทน และแผนบริหารยังมุ่งที่ผลลัพธ์ คือน้ำต้องไม่ท่วมภาคกลางและกทม.ตลอดไป มากกว่าให้ความสำคัญกับกระบวนการ ทั้งกระบวนการวางแผน กระบวนการมีส่วนร่วม หรือกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย อีกทั้งระบบ Single command นี้ยังสะท้อนความผิดพลาดในระดับปฏิบัติมาแล้ว เมื่อปี 2555 ที่มีการสั่งให้ระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์อย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งที่สองในอยุธยา ทั้งที่สามารถผันออกไปตามประตูระบายน้ำต่างๆ ได้ แต่กลับไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบจากความผิดพลาดนี้ได้

ประเด็นที่สอง คือ คำถามเรื่องประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยได้ให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นมาช่วยศึกษาการจัดการน้ำ โดย JICA ทำร่วมกับสภาพัฒน์ และได้รายงานเสนอแนะแผนการจัดการน้ำท่วมที่ใช้งบแสนกว่าล้านบาท โดยไม่จำเป็นต้องเงินถึง 3.5 แสนล้าน แต่มีประสิทธิภาพ และเน้นการใช้โครงสร้างเดิมที่มี ไม่เลือกวิธีการสร้างเขื่อนใหม่ แต่รัฐบาลยังไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจนใดๆ ต่อสังคม ในการที่ไม่เลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาจากงานศึกษาของ JICA แต่กลับเลือกใช้แผนของ กบอ. แทน

ประเด็นที่สาม คือประเด็นสิทธิของประชาชนในทรัพยากรน้ำ รัฐบาลได้อาศัยโอกาสนี้อ้างว่าไม่มีหน่วยงานกลางในการจัดการน้ำ จึงต้องมีการตั้งกระทรวงน้ำหรือออกกฎหมายน้ำ โดยน้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติเดียวที่ยังไม่มีกฎหมายมาควบคุม ถ้ากฎหมายนี้ออกมา ส่งผลทำให้ประชาชนทุกระดับมีภาระที่จะต้องจ่ายค่าน้ำ และค่าขอใบอนุญาตใช้น้ำ เช่นเดียวกับการเก็บค่าน้ำบาดาล รวมทั้งทำลายความรู้ในการใช้น้ำของประชาชนออกไป

รวมทั้งปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งคือการจัดการลุ่มน้ำในระดับข้ามพรมแดน ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น กรณีของคุณสมบัด สมพอน นักพัฒนาของลาว ที่ได้ถูกอุ้มหายตัวไป โดยเขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการวิพากษ์วิจารณ์การสร้างเขื่อนไซยะบุรีในลาว เป็นตัวอย่างหนึ่งของความรุนแรงของรัฐในการเข้ามาแก้ปัญหา หวังว่าประเทศไทยจะไม่เกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น และเรายังต้องมีการพัฒนาดูแลปัญหาเรื่องนี้ในระดับภูมิภาคด้วย

 

000

ปรเมศวร์ มินศิริ จากศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (Thai Flood) ได้เล่าถึงการเข้าไปชมนิทรรศการของงานประชุมเรื่องการจัดการน้ำ และพบบูธของบริษัทต่างประเทศขนาดใหญ่ เช่น บูธเกาหลีแต่งชุดเกาหลีเลย แต่ว่าเล่าเรื่องที่จะทำในเมืองไทย ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าเขาได้รับงานแล้วหรือ ในกรณีเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเกิดน้ำท่วม แม้ว่าเขาจะต้องรีบแก้ปัญหามาก แต่เขาตั้งกรรมการ 600 กว่าคน โดยไม่ได้มีแต่มุมมองด้านวิศวะ แต่มีมุมมองด้านสังคม เกษตร กฎหมาย สุขภาพ ทุกสิ่งทุกอย่างรวมกัน แล้วจึงบอกว่าอันนี้มีผลกระทบอะไร แต่วิธีที่ไทยใช้คือรีบๆ ทำ ให้บริษัทหนึ่งมารับไป แล้วคิดไปทำไป  ในเวทีของสภาวิศวกร ในที่ประชุมน้ำครั้งนี้ ก็มีการพูดถึงความเป็นห่วงในเรื่องเหล่านี้ เช่น เรื่องเขตระยะเวลาที่ใช้ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน

ตอนแรกระหว่างดูงานนิทรรศการเรื่องน้ำ ตนคาดหวังว่าจะเจอว่ารัฐบาลทำบูธบอกว่าหนึ่งปีหลังประสบปัญหาน้ำท่วมมา เราได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และแผนงานที่จะให้ประชาชนดู แล้วซีกหนึ่งจะให้เอกชนเช่าบูธขายของ หรือให้หน่วยงานต่างๆ มาออกก็ได้ แต่ปรากฏว่าพอเดินเข้าไปกลับอินเตอร์มาก มีบริษัทเกาหลี-จีน และบอร์ดนิทรรศการของรัฐบาลกลับเป็นเนื้อหาเดิมที่จัดเมื่อปีที่แล้ว แต่ย่อส่วนลง เราได้ข่าวว่ารัฐบาลบอกว่าอยากจะเป็นผู้นำทางด้านน้ำในประเทศแถบนี้ ก็เลยร่างปริญญาเชียงใหม่ขึ้นมา ซึ่งเขาบอกว่า ครม.อนุมัติแล้ว แต่ประชาชนยังไม่ได้เห็น แล้วจะเอาร่างนี้ไปให้ผู้นำโลกที่มาร่วมงานเซ็น โดยไม่ได้ใช้ความรู้นำในการเชิญชวนคนมาร่วมกันคิดกันทำเลย

นอกจากนั้นการพิจารณาเรื่องน้ำ จำเป็นต้องพิจารณาสามเรื่องร่วมกัน คือเรื่องน้ำ เรื่องอาหาร และเรื่องพลังงาน สามส่วนนี้แนวโน้มของโลกคือการคิดและพิจารณาร่วมกัน การขยายเครือข่ายเรื่องนี้จึงน่าจะคิดเรื่องเหล่านี้ด้วย

ในเวทีช่วงต่อมายังได้มีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนต่างๆ เช่น ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่ขาน เขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนชมพู เขื่อมปากมูน และเขื่อนโป่งอาง ได้กล่าวถึงผลกระทบของเขื่อนต่างๆ ต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน ผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ รวมทั้งยังมีตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนในลุ่มน้ำโขงและสาละวิน ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาระบบการจัดการน้ำในระดับภูมิภาคด้วย

 

หลังจากนั้นในเวลาราว 12.00 น. เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสานได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ “การจัดการทรัพยากรน้ำต้องมีส่วนร่วม เคารพสิทธิชุมชน สร้างมาตรฐานสิ่งแวดล้อมภูมิภาค” (ดูรายละเอียดด้านล่าง) นอกจากนั้นทางเครือข่ายยังได้มีกิจกรรมการชูป้ายเรียกร้องสิทธิการจัดการลุ่มน้ำต่างๆ การแสดงออกล้อเลียนนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานบริหารกบอ. ซึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน

ทั้งนี้ จากที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่าทางกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ได้มีการจัดตั้ง "กองกำลังอาสาสมัครพิทักษ์เมืองเชียงใหม่" และประกาศว่าจะต่อต้านหากมีการชุมนุมของเอ็นจีโอใกล้กับประชุมผู้นำน้ำโลกนั้น ล่าสุดกลุ่มดังกล่าวไม่ได้เดินทางมาในเวทีการประชุมคู่ขนานของภาคประชาชนนี้แต่อย่างใด แต่มีการชุมนุมอยู่บริเวณโรงแรมแกรนด์วโรรสแทน โดยในเวทีคู่ขนานครั้งนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลรักษาความปลอดภัยอีกด้วย

 

000

แถลงการณ์ เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน

การจัดการทรัพยากรน้ำต้องมีส่วนร่วม เคารพสิทธิชุมชน สร้างมาตรฐานสิ่งแวดล้อมภูมิภาค

19 พฤษภาคม 2556

ในวาระที่มีการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Water Summit) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2556 นั้น แม้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้นำจากหลายประเทศ แต่พบว่าการประชุมกลับมิได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และปัญหาผลกระทบต่อประชาชนแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีความพยายามข่มขู่ คุกคาม ไม่ให้มีการจัดกิจกรรมแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล เป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นหลักปฏิบัติของประเทศประชาธิปไตย

เครือข่ายภาคประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน มีข้อกังวลและข้อเสนอต่อปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาค ดังนี้

กรณีโครงการแก้ปัญหาอุทกภัย ภายใต้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน เป็นโครงการที่รัฐบาลเป็นผู้วางแผนและตัดสินใจเองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากการปรึกษาหารือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดความคิดและข้อมูลที่หลากหลาย ขั้นตอนกระบวนการทั้งหมดที่ผ่านมา เป็นไปอย่างเร่งรีบ ไม่มีขั้นตอนและมาตรการที่รับรองว่าจะสามารถดำเนินโครงการไปจนสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้จริง และมีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า นอกจากการคอรัปชั่นแล้ว โครงการ 3.5 แสนล้าน อาจนำไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด

โครงการภายใต้ชุดโครงการ 3.5 แสนล้านบาท อาทิ  เขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนแม่ขาน เขื่อโป่งอาง เขื่อนแก่งเสือเต้น (หรือเขื่อนยมบน ยมล่าง) เขื่อนคลองชมพู และเขื่อนแม่วงศ์ ถูกนำมาบรรจุในแผน โดยยังไม่มีการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ ที่ชี้ชัดว่าสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้จริง ที่สำคัญ รัฐบาลไม่สร้างกระบวนการปรึกษาหารือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านในพื้นที่ต่างไม่ได้รับข้อมูลโครงการ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

กรณีแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติของ 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานมานับตั้งแต่เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งแรกในประเทศจีนสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2542 ผลกระทบข้ามพรมแดนต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว การขึ้นลงของน้ำผิดธรรมชาติเนื่องจากการใช้งานเขื่อนทางตอนบนส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อพันธุ์ผลาธรรมชาติแม่น้ำโขงทางท้ายน้ำ โดยเฉพาะพรมแดนไทย-ลาวที่จังหวัดเชียงราย สร้างความเสียหายต่อการประมง การเก็บไก การปลูกผักริมน้ำ และวิถีชีวิตพึ่งพาแม่น้ำโขง

นอกจากนี้ยังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในปี 2551 และเหตุการณ์แม่น้ำโขงแห้งขอดในรอบ 60 ปีในปี 2553 จวบจนปัจจุบัน ยังไม่มีการเจรจาการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนดังกล่าวระหว่างรัฐบาลประเทศท้ายน้ำและรัฐบาลจีนแต่อย่างใด คนหาปลาและชาวบ้านริมโขงจำนวนมากต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพัง

แม่น้ำโขงทางตอนล่างยังมีโครงการเขื่อนไซยะบุรี ในประเทศลาว และอีก 11 โครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขง เขื่อนไซยะบุรีเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2555 ท่ามกลางเสียงคัดค้านมากมายจนกลายเป็นกรณีความขัดแย้งในระดับนานาชาติ โครงการเขื่อนแห่งนี้ก่อสร้างโดยบริษัทไทย เงินกู้จากธนาคารไทย 6 แห่ง ไฟฟ้าส่งขายประเทศไทย เป็นเขื่อสัญชาติไทยในดินแดนลาว ที่จะส่งผลกระทบเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและพันธุ์ปลาธรรมชาติ ซึ่งข้อมูลระบุว่าร้อยละ 70 ของพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงเป็นปลาอพยพทางไกลวางไข่และหากิน

เขื่อนไซยะบุรี เดินหน้าอย่างรวดเร็วทั้งๆที่ยังไม่ผ่านข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ที่4ประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างลงนามไว้ คณะมนตรีแม่น้ำโขงยังไม่ให้ความเห็นชอบ ขณะที่เขื่อนอื่นๆ อาทิ เขื่อนปากแบง เขื่อนสานะคาม เขื่อนปากลาย กำลังจะเริ่มกระบวนการเร็วๆ นี้

แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำนานาชาติระหว่างจีน พม่า ไทย ก็เกิดโครงการเขื่อนขนาดใหญ่กว่า 30 โครงการตลอดลุ่มน้ำ ทั้งในเขตทิเบตและยุฯนานของจีน ในรัฐชาติพันธุ์ของพม่า อาทิ เขื่อนกุ๋นโหลง เขื่อนท่าซางในรัฐฉาน เขื่อนยวาติ๊ดในรัฐคะเรนนี และเขื่อนฮัตจีในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งทั้งหมดนี้ลงทุนโดยบริษัทและรัฐวิสาหกิจจากไทยและจีน เพื่อส่งออกไฟฟ้า

สถานการณ์ในพม่าพบว่าทุกเขื่อนที่วางแผนบนแม่น้ำสาละวิน เป็นเขื่อนกลางสนามรบ ที่ยังคงมีความขัดแย้งและการปะทะกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะที่ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ ทั้งชาวไทใหญ่ คะยา กะเหรี่ยง ต้องหนีภัยความตายมายังชายแดนไทย ไม่มีสิทธิที่จะออกเสียงเพื่อปกป้องทรัพยากรของตน

การเปิดเสรีการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักธรรมภิบาล มีกฎหมายสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนข้ามพรมแดน โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชน ดังเช่นโครงการเขื่อนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น

เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน ขอแสดงจุดยืนคัดค้าน การพัฒนาทรัพยากรน้ำที่ไม่เคารพสิทธิของชุมชน และระบบ single-command หรือ ระบบสั่งการแบบรวมศูนย์ ไม่ใช่คำตอบของการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญ

เพื่อความยั่งยืนและความเป็นธรรม เพื่อทรัพยากรน้ำที่เราจะรักษาให้ลูกหลาน

เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน

 

 

รายชื่อผู้ลงนามแถลงการณ์

1.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ)

2.สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

3.เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา

4.เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง

5.เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)

6.เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ

7.ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)

8.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.พอช.อีสาน)

9.เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

10.มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย)

11.สมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ

12.ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)

13.ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง

14.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

15.คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 kv. จ.อุดรธานี

16.กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง

17.กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย

18.กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

19.มูลนิธิฮักเมืองแจ่ม จ.เชียงใหม่

20.เครือข่ายลุ่มน้ำแม่แจ่ม 19 สาขา จ.เชียงใหม่

21.สถาบันอ้อผะญา

22.คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จ.แพร่

23.กลุ่มคัดค้านใหม่

24.กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน ต.ออบขาน จ.เชียงใหม่

25.กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน หมู่บ้านแม่ขนินใต้ ต.บ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

26.เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอง จ.พะเยา และจ.เชียงใหม่

27.เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก

28.สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล

29.สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ (สกน.)

30.สหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.)

31.เครือข่ายสลัม 4 ภาค

32.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)

33.เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)

34.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปท.)

35.เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา

36.เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล

37.กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

38.ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ

39.กลุ่มตะกอนยม ต.สะเอียบ จ.แพร่

40.โครงการเสริมศักยภาพองค์กรชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า

41.เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า จ.ขอนแก่น

42.กลุ่มพิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง

43.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว

44.เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จ.อุบลฯ

45.เครือข่ายนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน

46.สถาบันปัญญาปีติ

47.กลุ่มเยาวชนจิตอาสาหญ้าแพรกสาละวิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net