Skip to main content
sharethis
 
กว่า 10 ปี ที่ชาวบ้านพนางตุง จ.พัทลุง ต่อสู้เพื่อขอคืนพื้นที่ทำกิน จนต้องถูกมหาวิทยาลัยทักษิณฟ้องร้องคดีในข้อหาบุกรุกและทำลายทรัพย์สิน แต่ยังยืนยันที่จะเข้าไปทำกินในพื้นที่ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เป็นผืนแผนดินที่ตกทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่า และไม่มีพื้นที่ทำกินอื่น
 
ล่าสุด ชาวบ้านพนางตุง ได้ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในนาม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ Pmove เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณะประโยชน์ทุ่งสระ โดยสิ่งที่ต้องการคือการอนุมัติทำโฉนดชุมชนให้ชาวบ้าน 132 ครัวเรือน และยังคงรอคอยอยู่บริเวณข้างกระทรวงศึกษา
 
กรณีความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมายาวนาน ระหว่าง มหาวิทยาลัยทักษิณ กับชาวบ้านใน ต.พนางตุง สำหรับชาวบ้านปมปัญหาเริ่มต้นมาจากการขอเข้าใช้พื้นที่ของ มหาวิทยาลัยทักษิณ ตั้งแต่เมื่อปี 2538 โดย มหาวิทยาลัยทักษิณระบุวัตถุประสงค์ว่า ‘ต้องการทำมหาวิทยาลัยเขต’ แต่ต่อมากลับมีการสร้าง ‘วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน’ ซึ่งไม่มีความเชื่อมโยงกับชุมชน
 
 
นางเนิม หนูบูรณ์ ชาวบ้านบ้านไสกลิ้ง ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ให้ข้อมูลว่า การ ก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ของมหาวิทยาลัยทักษิณ ผิดวัตถุประสงค์ที่เคยขอก่อตั้ง ทั้งนี้ชาวบ้านเห็นว่า มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้พื้นที่ 3500 ไร่ ที่ อ.ป่าพยอม ซึ่งมากพอที่จะจัดสรรพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้เป็นวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนได้ ชาวบ้านจึงขอคืนพื้นที่ใน ต.พนางตุง จำนวน 1,500 ไร่ เพื่อเอามาทำมาหากิน
 
แต่ มหาวิทยาลัยทักษิณไม่คืน กลับดำเนินการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนในพื้นที่ ต.พนางตุง โดยขณะนี้ใช้เนื้อที่ไปแล้วประมาณ 200 ไร่ ชาวบ้านจึงเกิดการรวมตัวกันตั้งกลุ่มประท้วง และ ถูก มหาวิทยาลัยทักษิณฟ้องคดี กับชาวบ้านกว่า 24 คน แบ่งเป็น 4 คดี ซึ่งคดีแรกจะมีการตัดสินในวันที่ 6 มิ.ย.นี้
 
000
 
พื้นที่วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน เขตพื้นที่พนางตุง ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
 
 
1. กลุ่มอาคารสำนักงาน
2. อาศรมภูมิปัญญาศิลปการ
3. อุทยานการเรียนรู้ (TK Park)
4. อาศรมภูมิปัญญาโภชนาการและเวชการ
5. อาศรมภูมิปัญญาสุขภาวะ
6. อาศรมภูมิปัญญาถ่ายทอดภูมิปัญญาและเทคโนโลยชุมชน
7. อาศรมภูมิปัญญาบริหารจัดการชุมชน
8. อาศรมภูมิปัญญาการสร้างพลังงานทดแทน
9. เขตพาณิชยกรรม
10. สนามกีฬา
11. อุทยานประวัติศาสตร์ธรรมชาติ
12. สวนป่าสาธิต
13. เขตที่พักอาจารย์,บุคลากร
14. สัมมนิเวศน์
15. พื้นที่ต่อเติมในอนาคต
16. อ่างเก็บน้ำ
 
 
“ทางมหาวิทยาลัยเราไม่ได้ทำผิดวัตถุประสงค์ เพราะเราเป็นหน่วยงานการศึกษา ทำหน้าที่เรื่องการเรียนการสอน ทำเพื่อประโยชน์ของส่วนร่วม” รศ.ดร.สมเกียรติ สายธนู อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ให้กล่าวกรณีความขัดแย้งที่มีกับชาวบ้าน
 
รศ.ดร.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยก่อสร้างเฉพาะในพื้นที่จำนวน 635ไร่ ตามมติระดับจังหวัดมอบให้ และไม่ได้มีการขอพื้นที่จากกระทรวงมหาดไทย ในส่วนพื้นที่ที่เหลือแล้วแต่จังหวัดจะดำเนินการ เพราะว่าทางมหาวิทยาลัยไม่ต้องการเป็นคู่กรณีกับชาวบ้าน เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานกรศึกษา หน่วยงานสาธารณะประโยชน์ และทางมหาวิทยาลัยไม่ต้องการอะไรเพิ่มเติม
 
ส่วนเรื่องการพูดคุยกับชาวบ้าน ต้องให้ทางจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ยมากกว่า เพราะว่ามติจังหวัดผู้มอบพื้นที่ให้มหาวิทยาลัย เพียงแต่ว่าชาวบ้านไม่ยินยอมเท่านั้น
 
การที่ชาวบ้านมาบุกรุกในพื้นที่ 635ไร่ ที่จังหวัดตัดสินมอบให้มหาวิทยาลัยแล้ว โดยตอนนี้มีชาวบ้านเข้ามาปลูกต้นไม้ จึงเป็นเรื่องของจังหวัดที่ต้องช่วยมหาวิทยาลัยดูแล ถ้าชาวบ้านมาบุกรุก มหาวิทยาลัยจะดำเนินการไปแจ้งลงบันทึกประจำวัน เพราะว่ามหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจหน้าที่จะไปจับกุมชาวบ้าน เพียงแต่ไปแจ้งตามระเบียบ
 
“ในส่วนที่ว่าทำไมถึงไม่ไปอยู่ในที่ 3,500ไร่ เนื่องจากพื้นที่พนางตุงมันเป็นพื้นที่ส่วนขยายของมหาวิทยาลัย เราต้องการที่จะขยายโอกาสทางการศึกษา” รศ.ดร.สมเกียรติ กล่าว
 
อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทางวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนยังไม่มีนักศึกษาเพราะวิทยาลัย ไม่ได้หมายความว่าจะมีนักศึกษาเพียงอย่างเดียว ต้องอยู่ที่วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ตามปรัชญาของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนที่ว่า
 
“สร้างกระบวนทัศน์ในการเรียนรู้ ด้วยภูมิปัญญาชุมชน บูรณาการด้วยองค์ความรู้หลากหลาย เพื่อให้ทุกอนุภาคของวิทยาลัย เป็นอุทยานแห่งการเรียนรู้ โดยให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมอันสำคัญ” (คลิกอ่าน: ปรัชญา/นโยบาย วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ)
 
000
 
กลุ่มอาคารปฏิบัติการวิจัยของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ม.ทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จำนวน 15 หลัง ก่อสร้างเมื่อ ปี 2551 ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุ่งสาธารณะประโยชน์ทุ่งสระ หมู่ที่ 5 และ 6 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
 
ทั้งนี่ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.55 วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณได้ออกประกาศเรื่องการใช้ที่ดินทุ่งสระสาธารณะประโยชน์ ในส่วนที่เป็นสิทธิของมหาวิทยาลัยทักษิณแจกจ่ายแก่ชาวบ้าน
 
ประกาศดังกล่าวอ้างอิงถึงการประชุมของคณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐประจำจังหวัดพัทลุง ซึ่งมีผู้ว่าราชการเป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 มี.ค.51 ซึ่งมีมติเอกฉันท์ให้มหาวิทยาลัยทักษิณใช้ “ทุ่งสระ” ที่ดินสาธารณะประโยชน์ ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เนื้อที่ประมาณ 635 ไร่ ทางฝั่งทิศตะวันตกของถนนสายทะเลน้อย-ลำปำ
 
“มหาวิทยาลัยฯ จะอนุญาตให้ใช้ที่ดินทำประโยชน์และอนุญาตให้เข้ามาดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูกไว้ได้เฉพาะราษฎรที่ได้มาทำสัญญาข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยฯ เท่านั้น หากราษฎรรายใดเข้ามาใช้พื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตมหาวิทยาลัยฯ จำเป็นต้องแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย” ประกาศที่ลงนามโดยผู้บิหารวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณระบุ
 
สำหรับชาวบ้าน ความผิดพลาดของมหาวิทยาลัยทักษิณคือ ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินไปแล้วตั้งแต่เมื่อปี 51 แต่ปล่อยทิ้งร้างไม่ดำเนินการใช้ประโยชน์ กลับไปใช้ที่ดินสาธารณะทุ่งลานโย อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุงเนื้อที่ประมาณ 3,500 ไร่ ในการก่อสร้าง ‘มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง’ ขณะที่คณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐประจำจังหวัดพัทลุงก็ไม่ได้ยกเลิกมตินี้
 
ชาวบ้านเล่าด้วยว่า เดิมมหาวิทยาลัยทักษิณได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะหัวป่าหวาย 4,000 ไร่ แต่ถูกกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมคัดค้านเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ทางมหาวิทยาลัยทักษิณจึงขอใช้พื้นที่ใหม่ คือที่ดินสาธารณะ 1,500 ไร่ ทางฟากตะวันตกของถนนลำปำ–ทะเลน้อย และได้รับอนุญาตจากสภาตำบลพนางตุงในขณะนั้น ต่อมากระทรวงทัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามมาคัดค้านห้ามใช้ประโยชน์อีกเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงเหลือพื้นที่ 635 ไร่ ในที่ดินสาธารณะทุ่งสระ
 
เรื่องการให้วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนใช้พื้นที่เป็นกรณีที่ถกเถียงกันมายาวนาน ซึ่งในส่วนของชาวบ้านก็มีความพยายามในการเคลื่อนไหวเพื่อถามหาความชัดเจน
 
000
 
ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 พ.ย.51 ตัวแทนชาวบ้านหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนของต่ออนุกรรมการในการจัดการที่ดินและป่า ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุความเดือดร้อนจากการที่มหาวิทยาลัยทักษิณได้เข้ามาครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งสระ เพื่อก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน
 
ชาวบ้านระบุว่า มหาวิทยาลัยทักษิณขัดขวางไม่ให้เข้าไปประกอบอาชีพ และปักป้ายประกาศห้ามเข้าไปในที่ดิน อีกทั้งยังขุดลอกคลองขึ้นใหม่ ทำให้ชาวบ้านประมาณ 150 ครอบครัว ไม่สามารถสัญจรและเข้าไปประกอบอาชีพการเกษตรและเลี้ยงสัตว์บริเวณดังกล่าวได้เช่นเดิม
 
คูคลองที่มหา'ลัย ขุดลอกขึ้นใหม่ เพื่อกันแนวเขต ทำให้ชาวบ้านขาดน้ำในการทำนา
ภาพโดย: บัณฑิตา อย่างดี
      
ต่อมา เมื่อวันที่ 24 เม.ย.52 คณะกรรมการสิทธิฯ มีมติในการประชุมครั้งที่ 12/2552 เห็นชอบมาตรการในการแก้ไขปัญหา โดยให้มหาวิทยาลัยทักษิณยุติการก่อสร้างใดๆ ในพื้นที่ ต.พนางตุง จนกว่าจะได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย โดยเคารพต่อสิทธิชุมชน และสิทธิองค์กรปกครองท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ
 
และให้มหาวิทยาลัยทักษิณ ดำเนินการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนใน ต.พนางตุง เฉพาะพื้นที่ที่มีการก่อสร้างไปแล้วเท่านั้น โดยให้เทศบาลพนางตุงดูแลพื้นที่สาธารณประโยชน์ต่อไป
 
000
 
นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายอดีตคณะกรรมการสิทธิในขณะนั้น กล่าวว่า ตามที่มีมติจากกรรมการสิทธิฯ เมื่อปี 2552 ยังได้ให้มหาวิทยาลัยทักษิณดำเนินการชดเชยค่าเสียสิทธิประโยชน์ในการประกอบอาชีพในพื้นที่ ตามระยะเวลาที่ไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์จริงตามความเหมาะสม ภายใน 60 วัน แต่มหาวิทยาลัยทักษิณ ยังคงดำเนินการก่อสร้างอาคารต่อ และยังมีเรื่องฟ้องร้องคดีกับชาวบ้านในพื้นที่อีก
 
นางสุนี กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ก่อสร้างตึกอกมาเป็นรูปเป็นร่าง เหมือนกับเจ้าของทรัพย์สิน แต่ทาง มหาวิทยาลัยทักษิณ ไม่มีโฉนดในการถือครองที่ดิน มีเพียงหนังสืออนุญาตให้ใช้พื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ชาวบ้านรู้ดี
 
สำหรับชาวบ้านต้องการตั้งประเด็นว่า เมื่อรายงานกรรมการสิทธิฯ บอกว่าที่ดินนี้ มหาวิทยาลัยทักษิณยังไม่ได้ขออนุญาตใช้ให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย จึงให้ยุติการก่อสร้างไว้ ให้ไปรับฟังความเห็นตามมติ อบต.นี่เป็นข้อเสนอจากกรรมการสิทธิ์ในขณะนั้น
 
“เขาในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบ ต้องย้อนกลับไปให้กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติ ว่าเขามีสิทธิ์ขอใช้พื้นที่หรือเปล่า เดิมตอนที่เขาขอใช้พื้นที่ยังเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่ตอนนี้เขาออกนอกระบบไปแล้ว อีกอย่าง รายงานกรรมการสิทธิ์บอกว่า เขายังดำเนินการไม่ครบ เขาต้องกลับไปขอใหม่ ซึ่งเขาจะต้องไปผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้น ต้องให้กระทรวงอนุมัติว่าเขามีสิทธิ์หรือไม่ และต้องให้เทศบาลรับผิดชอบเข้าไปทำประชาคมกับชาวบ้าน และมาพิจารณาอีกทีว่า เขามีสิทธิ์ขอใช้พื้นที่ได้เท่าไหร่” นางสุนี กล่าวถึงข้อเสนอในสถานการณ์ปัจจุบัน
 
000
 
นางเนิมกล่าวว่า เมื่อมหาวิทยาลัยทักษิณ ออกนอกระบบไปแล้วพื้นที่นี้ตกเป็นของมหาวิทยาลัย ทางรัฐไม่มีการเก็บภาษี รัฐก็ไม่ได้อะไร ลูกหลานก็ไม่ได้เรียนในวิทยาลัยเขตตามที่เคยหวัง ถ้าเอาไปแล้วชาวบ้านที่ทำกินเค้าสละกลับไม่ได้ประโยชน์อะไร และยังกระทบที่ทำกินด้วย ชาวบ้านจะไปทำกินกันที่ไหน
 
“ป้ายังมีความหวังว่าจะไม่เสียที่ดินไป เพราะหลายๆ หน่วยงานเขารู้ มีข่าวลงบ้าง ทำให้หน่วยงานต่างๆ รู้ถึงความขัดแย้งของชาวบ้าน เขาคงจะนึกสงสารชาวบ้านเหมือนกัน ในเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไปแล้ว มันจะมาเอาที่ทำกินชาวบ้านเปล่าๆ” นางเนิม กล่าว
 
นางเนิม ให้ข้อมูลด้วยว่า การขอคืนพื้นที่ดังกล่าวนั้นชาวบ้านต้องการนำมาทำเป็นโฉนดชุมชน ซึ่งพอเป็นโฉนดชุมชน จะมีการตั้งกติกา มีกรรมการ ในการจัดสรรพื้นที่ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเอกสารสิทธิ์ แต่สิ่งที่ชุมชนต้องการนั้นเพียงเพื่อจะรักษาพื้นที่ไว้ให้ลูกหลาน คนรุ่นหลัง ได้มีที่ทำกิน
 
“เราประชุมตกลงกับชาวบ้านที่ตรงนั้นแล้วว่า ถ้าไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็ไม่ว่า แต่ให้เราได้ทำกินชั่วลูกชั่วหลาน และให้พ้นจากคดี เพราะวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนไม่ได้ขอใช้พื้นที่ ทางกระทรวงมหาดไทยไม่ได้อนุมัติให้ใช้ ส่วนทางกรรมการสิทธิ์ตัดสินให้ภูมิปัญญาไปขอใช้พื้นที่กับเทศบาล แต่เค้าก็ไม่ไปขอใช้”
 
ขณะนี้ นางเนิมและตัวแทนชาวบ้านพนางตุงกำลังรอคอยการแก้ปัญหาในทางนโยบายจากรัฐบาล ในที่ชุมนุมข้างกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิการทำกินบนผืนแผนดินของเกษตรกร
 
“ป้าสงสัยอยู่อย่างเดียวว่า ในเมื่อเค้าไม่มีสิทธิ์ในพื้นที่ตรงนี้ แล้วเค้าจะมาฟ้องชาวบ้านข้อหาบุกรุก เค้าฟ้องได้อย่างไร?” คำถามที่ค้างคาใจสำหรับชาวบ้านพนางตุง 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net