รายงาน: ทำไม “โซตัส” ยังไม่ตาย

ช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายนของทุกปี (หรืออาจจะนานกว่านั้น) เป็นช่วงกิจกรรมรับน้องใหม่ของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ และวัฒนธรรมการรับน้องที่เป็นที่ประเด็นถกเถียงกันทุกปีก็คือระบบ “โซตัส” (sotus) ซึ่งย่อมาจาก Seniority (ความอาวุโส) Order (ระเบียบ) Tradition (ประเพณี) Unity (ความสามัคคี) และ Spirit (จิตวิญญาณ หรืออาจจะแปลได้ว่าความมีน้ำใจ)

คำเหล่านี้หากดูความหมายตามตัวอักษรแล้วก็ดูธรรมดาไร้พิษสง แต่เมื่อถูกเอามารวมกันแล้วผ่านการตีความโดยรุ่นพี่ในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ แล้ว มันกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสถาปนาความชอบธรรมให้กับการใช้อำนาจของรุ่นพี่ ในบางที่มีการตั้ง “กฎเหล็กโซตัส” ขึ้นมาว่า ข้อ 1.รุ่นพี่ถูกเสมอ 2. รุ่นน้องผิดเสมอ 3. ถ้ารุ่นพี่ทำผิดให้กลับไปดูข้อ 1 และ 4. หากรุ่นน้องทำถูกให้กลับไปดูข้อ 2 เมื่อโซตัสมีลักษณะเช่นนี้ มันน่าจะถูกต่อต้านจากสังคม และคณาจารย์ผู้รับผิดชอบกิจกรรมการรับน้อง เพราะปัจจุบันสังคมมีความเป็นปัจเจกสูงขึ้น มีการพูดถึงสิทธิ เสรีภาพของปัจเจกชนกันอย่างแพร่หลาย ยังไม่นับรวมการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาในโซเชียลมีเดีย เช่นกลุ่ม Anti-SOTUS เพื่อโจมตีกิจกรรมการรับน้องที่เข้าข่ายโซตัสอย่างต่อเนื่อง มีการเดินหนังสือไปยังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบกิจกรรมการรับน้องของสถาบันอุดมศึกษา วงเสวนาที่วิพากษ์ระบบนี้ก็เกิดขึ้นแพร่หลายแทบทุกปี ในสภาวะเช่นนี้โซตัสน่าจะถึงจุดที่ต้องสลายตัวไปจากวัฒนธรรมการรับน้องได้แล้ว แต่มันก็มิได้เป็นเช่นนั้น

ภาพจาก: http://www.facebook.com/antisotusTH

สถานการณ์ปัจจุบัน หลายสถาบันยังคงมั่นคงในแนวทางโซตัส และต่อต้านทุกกระแสที่ต่อต้านโซตัส ต่อให้เป็นคำสั่งของอธิการบดีก็ตาม จึงเกิดคำถามขึ้นเหตุใดแนวทางที่สวนทางกับกระแสสังคมเช่นนี้จึงยังคงยืนหยัดอยู่ได้อย่างทระนง หรือบางทีโซตัสอาจจะไม่ใช่แค่กิจกรรมการรับน้องที่ไร้หตุผล หากแต่เป็นเครือข่ายอำนาจที่ซับซ้อนกว่านั้น

เหตุการณ์ต่อต้านคำสั่งอธิการบดีของนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้
http://www.matichon.co.th/daily/view_news.php?newsid=01p0113200854&sectionid=0101&selday=2011-08-20

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ได้เคยให้ความเห็นกับประเด็นนี้ในงานเสวนา “พิธีกรรมการรับน้องใหม่”ไว้ว่าการรับน้องเปรียบเสมือนการลงทุนยอมโดนตะคอก โดนกระทำ 1 ปีเพื่อที่จะได้เอาคืนในอีก 3 ปีข้างหน้าในฐานะรุ่นพี่ ยิ่งไปกว่านั้นจุดมุ่งหมายของโซตัสคือการสร้างความสัมพันธ์รุ่นพี่ - รุ่นน้อง และความรักพวกพ้องที่เหนียวแน่น เพื่อประโยชน์ต่อการสร้างระบบอุปถัมภ์ในชีวิตการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบราชการ จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าเหตุใดกิจกรรมการรับน้องจึงได้รับความนิยมในหมู่นิสิตนักศึกษา


เทปบันทึกงานเสวนา http://www.youtube.com/watch?v=cuhDtuVx7Y8
ภาพจาก http://www.facebook.com/groups/AntiSOTUS/

ยิ่งไปกว่านั้น ตัวอาจารย์เองก็มีส่วนสำคัญในโครงสร้างความรุนแรงนี้ เพราะตัวอาจารย์เองก็ได้ประโยชน์จากโซตัสเช่นกัน พิชญ์เปรียบเทียบระบบโซตัสเหมือนระบบอาณานิคม โดยมีอาจารย์เป็นเจ้าอาณานิคมใหญ่ แต่ตัวอาจารย์ไม่สามารถลงไปปกครองนิสิตนักศึกษาโดยตรงได้ จึงใช้อำนาจผ่านตัวรุ่นพี่แทน เพื่อสร้างความเชื่องให้กับรุ่นน้อง และความง่ายต่อการปกครอง เพราะฉะนั้นแท้จริงแล้วเหตุที่อาจารย์ไม่แก้ปัญหาความรุนแรงของโซตัสมิได้เนื่องจากอาจารย์ไม่รับรู้ปัญหา ตรงกันข้ามอาจารย์รู้ทุกขั้นตอนของการรับน้องและเป็นผู้เซ็นใบอนุญาตเองกับมือ

เขายังได้ยกตัวอย่างหนังสือจิตวิทยาเรื่อง Lucifer effect ของ Dr. Philip Zimbardo ที่ได้ทำวิจัยโดยการนำคนสองกลุ่มเข้ามาอยู่รวมกันในห้องมืด กลุ่มหนึ่งเป็นผู้คุม อีกกลุ่มหนึ่งเป็นนักโทษ และให้คนทั้งสองกลุ่มแสดงบทบาทสมมติเหมือนอยู่ในคุกจริงๆ ผลก็คือยิ่งเวลาผ่านไป กลุ่มผู้คุมจะยิ่งแสดงความโหดเหี้ยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายขณะผู้วิจัยต้องหยุดกระบวนการทางหมดกลางคัน เช่นเดียวกับโซตัส การที่อาจารย์เพิกเฉยต่อความรุนแรง และปล่อยให้โซตัสทำงานอย่างชอบธรรม ก็ไม่ต่างจากการเซ็นใบอนุญาตให้คนค่อยๆ กลายเป็น Lucifer หรือบุตรของซาตานในสักวัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ห้องเชียร์ที่อ้างว่ามีเป้าหมายเพื่อสร้างความรักสามัคคีก็ไม่ต่างจากคุกอาบูล กราอิบ หรือกัวตานาโม
 

หนังสือ Lucifer effect

ภาพจาก
http://neuronarrative.wordpress.com/2008/10/20/the-lucifer-effect-an-interview-with-dr-philip-zimbardo

คำอธิบายของพิชญ์ทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่าเหตุใด การเรียกร้องให้ยุติระบบโซตัสที่ผ่านมาจึงทำได้แค่สร้างกระแสในช่วงการรับน้อง ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้อย่างจริงจัง เนื่องจากการเรียกร้องดังกล่าวเป็นการเรียกร้องผ่านหน่วยงานราชการ และผ่านตัวอาจารย์ของสถาบัน ซึ่งทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นผู้ได้ประโยชน์จากระบบโซตัสทั้งสิ้น โซตัสคือระบบที่มีเครือข่ายผู้ได้ผลประโยชน์ครอบคลุมทุกกลุ่ม อีกทั้งมีระบบการป้องกันตัวเองอย่างรัดกุม เอกสารต่อต้านโซตัสส่วนใหญ่ที่ยื่นเข้าไปจึงมักไปกองอยู่ใต้เอกสารกองพะเนินบนโต๊ะของกระทรวงศึกษาธิการ

เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องของคำอธิบายดังกล่าว เราจึงดั้นด้นไปสัมภาษณ์ผู้จัดกิจกรรมรับน้องที่มีทัศนคติต่อโซตัสที่แตกต่างกัน รวมทั้งเพื่อสอบถามทัศนคติของพวกเขาต่อกระแสการต่อต้านโซตัสในขณะนี้ ข้อค้นพบหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะมีทัศนคติต่อโซตัสอย่างไร แต่ทุกคณะยังคงมองว่ากิจกรรมการรับน้องมีความสำคัญในฐานะกิจกรรมที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนิสิต นักศึกษาในคณะ และอาจารย์รับรู้กระบวนการทุกอย่างระหว่างการรับน้อง แม้อาจจะมีความไม่พอใจบ้างเรื่องเวลาในการทำกิจกรรมที่มากเกินไป แต่ก็ยังคงอนุญาตให้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทุกปี

(ผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมดในรายงานไม่ต้องการเปิดเผยชื่อนามสกุล รวมถึงชื่อสถาบัน และบทสัมภาษณ์นี้ก็ไม่ครอบคลุมมหาวิทยาลัยทั้งหมดจึงไม่สามารถเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศได้ เป็นเพียงแค่การเสนอมุมมองโดยตัวแทนนิสิตนักศึกษาที่มีส่วนร่วมกับกิจกรรมเท่านั้น)

หนึ่งในผู้ดูแลกิจกรรมการรับน้องของคณะรัฐศาสตร์แห่งหนึ่ง กล่าวว่าโดยหลักการแล้วความหมายของโซตัสเป็นสิ่งที่ไม่ได้เลวร้าย บางข้อเช่นความสามัคคี มีน้ำใจ เป็นข้อดีด้วยซ้ำ แต่พอมันถูกตีความจนกลายเป็นกิจกรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมันจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ อีกทั้งหลักการทั้ง 5 ข้อก็ไม่สามารถสร้างได้ในกระบวนการรับน้อง หากจะสร้างได้ก็สร้างได้เพียงเปลือก เช่นรุ่นน้องอาจจะยกมือไหว้รุ่นพี่สอดคลองกับหลักอาวุโส (seniority) แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่ารุ่นน้องไหว้เพราะกลัวรุ่นพี่สั่งทำโทษ หรือไหว้เพราะเคารพในตัวรุ่นพี่จริงๆ ในความเป็นจริง หากรุ่นพี่ทำตัวไม่น่าเคารพรุ่นน้องก็ไม่จำเป็นต้องเคารพ

เขาอธิบายว่า คำถามที่พวกเขาซึ่งเป็นรุ่นพี่คิดอยู่เสมอเวลาทำกิจกรรมคือ “ทำอย่างไรให้น้องรู้จักกัน?” กิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสันทนาการ บำเพ็ญประโยชน์ หรือกีฬารับน้องใหม่ ล้วนต้องตอบโจทย์ข้อนี้ให้ได้ ที่สำคัญคืออย่าให้น้องเป็นผู้ปฏิบัติตามเพียงฝ่ายเดียว กิจกรรมที่ดีควรเปิดโอกาสให้น้องได้แสดงความคิดเห็นของตัวเอง สำหรับเรื่องกระแสต่อต้านโซตัสนั้น เขาเห็นด้วยกับหลักการแต่วิธีการยังไม่น่าพึงพอใจนัก เพราะการยื่นหนังสือไม่สามารถสร้างผลกระทบอะไรได้ ทุกวันนี้ ทุกสถาบันล้วนมีหนังสือให้แต่ละคณะดูแลการรับน้องอยู่แล้ว แต่โซตัสก็ยังคงอยู่ หากต้องการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ต้องทำอะไรที่จริงจังกว่านี้

ภาพกิจกรรมกีฬาน้องใหม่จาก www.siamevent.com

นายกสโมสรนิสิตของคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งหนึ่งกล่าวว่า ทุกวันนี้โซตัสถูกตีความไปอย่างหลากหลายจนไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วโซตัสหมายความว่าอย่างไร เขาก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่เรียกว่าโซตัสหรือไม่ เพียงแต่ยึดหลักการไม่บังคับ และการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับน้องๆ รุ่นน้องมีสิทธิเลือกว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมหรือไม่ก็ได้ กิจกรรมของเราแบ่งเป็นสองส่วนคือสันทนาการที่เน้นความสนุกสาน กับห้องเชียร์ที่เน้นความกดดัน เหตุผลที่ต้องมีกิจกรรมสองรูปแบบที่แตกต่างกันเช่นนี้ก็เพราะต้องการรองรับความต้องการที่หลากหลายของรุ่นน้อง เป้าหมายคือต้องการให้น้องๆ รู้จักกัน ทำงานร่วมกันได้ในอีก 4 ปีในมหาวิทยาลัย และมีความรักต่อสถาบันการศึกษา เขาคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีต่อตัวน้อง แต่น้องจะรับหรือไม่เป็นสิทธิของน้อง ที่สำคัญคืออยากให้น้องเปิดใจ อย่าด่วนตัดสินกิจกรรมการรับน้องเพียงแค่ได้ยินคนอื่นบอกมา อย่าคิดว่ามหาวิทยาลัยมีไว้แค่เรียน นั่นอาจเป็นจุดประสงค์หลักก็จริง แต่กิจกรรมจะช่วยเสริมประสบการณ์ ให้ได้ลองทำงานร่วมกับคนหมู่มากซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของชีวิต

 

ภาพบรรยากาศ “ว๊าก” กิจกรรมห้องเชียร์จาก http://www.facebook.com/groups/AntiSOTUS

สำหรับกระแส anti-sotus เขาคิดว่าการหากโซตัสมีความรุนแรงอย่างที่ทางกลุ่มกล่าวหาจริงๆ ก็ควรจะยกเลิก แต่การที่ทางกลุ่มมีอคติและเหมารวมว่าทุกกิจกรรมรับน้องเป็นโซตัสเช่นนี้ มันทำให้คนที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงพลอยโดนหางเลขไปด้วย หากจะเคลื่อนไหวจริงจังก็ควรระบุให้ชัดเจนไปเลยว่าใครใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าทุกวันนี้การให้ความสำคัญต่อกิจกรรมการรับน้องมีน้อยลงทุกๆ ปี เขาชื่อว่าสักวันหนึ่งมันคงต้องหายไปและมีกิจกรรมอื่นเข้ามาทดแทน

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากให้มองกิจรรมการรับน้องเหมือนอาหารหนึ่งจาน หากมีคนบอกเราว่ามันไม่อร่อย ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุป ทำไมเราไม่ลองชิมดูก่อน จะได้รู้ว่ามันไม่อร่อยจริงหรือไม่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราต้องกินมันให้หมดจาน เราแค่ลองให้รู้ว่ามันเหมาะกับเราไหม”

ผู้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมรับน้องของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งหนึ่งกล่าวว่า การรับน้องคือกิจกรรมที่มีความสำคัญระดับหนึ่ง เพราะช่วยละลายพฤติกรรมทำให้น้องรักกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้ในรั้วมหาวิทยาลัย เราไม่ปฏิเสธโซตัส มันเป็นระบบหนึ่งที่ทำให้น้องๆ รักกัน และรักสถาบัน แต่ก็ต้องปรับปรุงหลายอย่าง เช่นเรื่องการบังคับ การใช้ความรุนแรงที่เกินจำเป็น เราไม่บังคับให้น้องต้องเข้าร่วมทุกกิจกรรม เราแค่เสนอทางเลือกให้น้อง รูปแบบกิจกรรมของเรามีทั้งสันทนาการ ทำคัทเอาท์ (cut out) งานกีฬามหาวิทยาลัย และห้องเชียร์ กิจกรรมทั้งหมดก็มีไว้เพื่อให้น้องฝึกการทำงานร่วมกัน เรามีการใช้ความรุนแรงบ้าง เช่นการสั่งวิดพื้น ลุกนั่ง เมื่อน้องทำผิด การว๊าก โดยไม่ใช้คำหยาบคาย ทั้งหมดก็เพื่อกระตุ้นให้น้องคิด พี่ๆ ไม่สามารถโดนตัวน้องได้

สำหรับกระแสการต่อต้านโซตัสที่เกิดขึ้น เขาเข้าใจว่านั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะเห็นต่าง แต่ก็ไม่ควรไปตัดสินแทนคนอื่นว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี ส่วนที่ดีของโซตัสมันก็มี สถาบันที่ใช้โซตัสก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ดีเสมอไป

ภาพการเต้นสันทนาการจาก http://atcloud.com/stories/32438

ความคิดเห็นของตัวแทน 3 คนที่ทำกิจกรรมรับน้องนอกจากจะทำให้ทฤษฎีของพิชญ์มีพลังในการอธิบายมากขึ้นแล้ว นี้ยังทำให้เราเห็นความสำเร็จ และความท้าทายของกระบวนการต่อต้านโซตัสดังนี้

ในแง่ของความสำเร็จ กระบวนการต่อต้านโซตัสได้สร้างภาพลักษณ์ในแง่ลบให้กับโซตัส ถึงขนาดที่ไม่มีใครกล้าอ้างเต็มปากว่าตนนิยมโซตัส โดยต้องพยายามหาเหตุผลมารองรับการกระทำของตนเอง และแก้ไขประเด็นที่ถูกโจมตีนั้นคือการบังคับและการใช้ความรุนแรง ซึ่งทำให้รูปแบบการรับน้องมีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ถึงแม้ยังคงมีกลิ่นอายของความรุนแรงอยู่บ้างก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความท้าทาย กระบวนการต่อต้านโซตัสยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าทางกลุ่มต่อสู้กับอะไร และต่อสู้เพื่ออะไรอย่างชัดเจน ความคลุมเครือเช่นนี้ทำให้ผู้ที่ไม่ชอบความรุนแรงในระบบโซตัส แต่ยังชื่นชอบกิจกรรมรับน้องพลอยโดนเหมารวมไปด้วยว่าเป็นผู้นิยมโซตัส ทำให้ผู้ที่ควรจะเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านโซตัสเกิดอคติกับกลุ่มเสียเอง หากกลุ่มยังไม่สามารถสร้างความชัดเจนให้กับแนวทางได้เช่นนี้ ย่อมยากที่จะรักษาแนวร่วม

ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของกระบวนการต่อต้านโซตัส และทุกๆ คนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมรับน้องนั่นคือ ทำอย่างไรให้การเคลื่อนไหวเกิดผลกระทบอย่างจริงจัง ในเมื่อเราทราบแล้วว่าการยื่นหนังสือไม่เกิดประโยชน์อันใด เราก็จำเป็นต้องหาวิธีอื่นในการต่อต้านโซตัส ความคิดเห็นหนึ่งในกลุ่ม anti-sotus กล่าวไว้ว่า “ที่ผ่านมาเราเรียกร้องให้อาจารย์ และรุ่นพี่ปรับตัว ทำไมเราไม่เรียกร้องให้รุ่นน้องลุกขึ้นมาต่อต้านระบบโซตัสบ้าง?” ประโยคดังกล่าวอาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับโซตัส เพราะการโจมตี ประจาน หรือชักชวนให้คนที่อยู่ในระบบ ได้ผลประโยชน์จากระบบโซตัสหันมารังเกียจโซตัสย่อมเป็นไปได้ยาก แต่การทำให้รุ่นน้องซึ่งเป็นสมาชิกใหม่หมาดตระหนักในสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชนในการเลือกย่อมเป็นสิ่งที่ท้าทายและมีความหวังมากกว่า เพราะถึงที่สุด การป่าวประกาศความป่าเถื่อนของโซตัสก็เท่ากับการผูกขาดความคิด นำเสนอข้อมูลด้านเดียว ไม่ต่างจากที่โซตัสกระทำ การให้รุ่นน้องเป็นผู้ตัดสินเองย่อมเป็นวิถีทางที่ดีที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท