Skip to main content
sharethis

(27 พ.ค.56) ยงยุทธ เม่นตะเภา เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย และธนพร วิจันทร์ เลขาธิการกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง ในนามคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เข้ายื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ รองประธานฯ เป็นตัวแทนรับหนังสือแทน

ยงยุทธ เม่นตะเภา กล่าวว่า การมายื่นหนังสือครั้งนี้เพื่อให้ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับเข้าชื่อของนางสาววิไลวรรณ แซ่เตียและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน  14,264 คน ซึ่งมีหลักการที่สำคัญ 4 ประการดังนี้

1. เป็นหน่วยงานที่มีการบริหารแบบอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
2. ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม โดยผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารที่บริหารโดยมืออาชีพ และมีกระบวนการหรือกลไกการตรวจสอบการบริหารงาน
3. ขยายสิทธิประโยชน์และครอบคลุมคนทำงานในทุกกลุ่มอาชีพอย่างเท่าเทียม เป็นธรรมและเป็นระบบที่ยั่งยืน
4. ผู้ประกันตนมีสิทธิรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคมทุกเรื่อง มีการเพิ่มบทลงโทษนายจ้างให้มากขึ้นกรณีไม่ปฏิบัติตามในเรื่องต่างๆ

ยงยุทธ กล่าวว่า สำหรับโครงสร้างคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) ที่เสนอให้รัฐมนตรีว่า การกระทรวงแรงงาน เป็นประธานบอร์ดสำนักงานประกันสังคม และโครงสร้างบริหารประกอบด้วยปลัดกระทรวงแรงงาน, ผู้แทนกระทรวงการคลัง, ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย, ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข, ผู้แทนสำนักงบประมาณ เลขาธิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ สำนักงานประกันสังคมเข้ามาบริหาร ทำให้ผู้ประกันตนซึ่งถือเป็นเจ้าของเงินมองว่าเป็นการโอนอำนาจให้กับฝ่ายการเมืองแบบรวบอำนาจจัดการกองทุนประกันสังคม ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตน เพราะที่มาของผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง แม้จะมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเพิ่มอีกเป็นฝ่ายละ 7 คน แต่สุดท้ายต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีเลือกตั้งให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีฯ กำหนดอีก และยังสามารถแต่งตั้งที่ปรึกษาได้อีก 7 คน เป็นการบริหารในลักษณะไตรภาคีเหมือนเดิม แต่อำนาจต่างๆ อยู่ในมือของนักการเมือง ซึ่งผู้ใช้แรงงานไม่เห็นด้วยที่ฝ่ายการเมืองจะเข้ามาล้วงลูกแทรกแซงการบริหารจัดการ

ด้านธนพร วิจันทร์ เลขาธิการกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีฯ กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมขณะนี้มีเงินจำนวนมาก ซึ่งต้องนำมาจัดสวัสดิการให้กับผู้ประกันตนให้ได้รับผลประโยชน์ที่สุด และผู้ประกันตนตอนนี้มีองค์ประกอบมากกว่าแรงงานในระบบอุตสาหกรรม อย่างที่ทราบกันอยู่ว่ามีทั้งแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในส่วนนี้ควรได้เข้ามามีสิทธิในการร่วมบริหาร และเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารด้วยไม่ใช่หรือ ไม่ควรให้อยู่แบบแอบๆ ไว้ การเป็นองค์กรอิสระของประกันสังคม และการมีมืออาชีพมาบริหารจึงจำเป็น การบริหารต้องมองถึงอนาคตและปี 2558 ก็จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งระบบสวัสดิการ ค่าจ้างควรมีมาตรฐานเดียวกันด้วย

ด้านอนุสรณ์ กล่าวว่า ในส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของรัฐบาลได้ผ่านการพิจารณาแล้ว อย่างไรก็ตาม ขอให้ขบวนการแรงงานนำร่างที่เสนอโดยประชาชน 14,264 รายชื่อ เข้ามาอีกครั้งในช่วงของการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งสามารถทำได้ในช่องทางดังกล่าว การที่เสนอโครงสร้างการบริหารนั้น ในส่วนของกรรมาธิการก็คิดว่าเป็นประโยชน์อยู่ หากไม่เห็นด้วยก็สามารถที่จะนำข้อเสนอมาเสนอได้

อนึ่ง ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย ฉบับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฉบับของนายเรวัต อารีรอบ ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ฉบับของ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คน และฉบับของนายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้รับหลักการในวาระที่หนึ่งจำนวน 2 ฉบับคือ ฉบับของ ครม.และฉบับของนายเรวัต ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาฯ มีมติไม่รับหลักการใน 2 ฉบับคือ ฉบับของนายนคร และฉบับของภาคประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net