ออง ซาน ซูจีไม่เห็นด้วยกับการห้ามชาวโรฮิงยามีบุตรเกิน 2 คน

จนท.พม่าในรัฐอาระกัน เตรียมใช้นโยบายห้ามชาวโรฮิงยามีภรรยาเกิน 1 คน ห้ามมีบุตรเกิน 2 คน โดยอ้างว่าเพื่อขจัดเหตุตึงเครียดทางเชื้อชาติระหว่างชาวอาระกันและชาวโรฮิงยา ขณะที่ออง ซาน ซูจีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้โดยเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และละเมิดสิทธิมนุษยชน

ออง ซาน ซูจี ปราศรัยเมื่อ 17 พ.ย. 2554 (ที่มา: วิกีพีเดีย/แฟ้มภาพ)

 
บีบีซี รายงานว่า ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า ออง ซาน ซูจี ประณามคำสั่งของเจ้าหน้าที่พม่าในรัฐอาระกันที่ออกนโยบายบังคับให้ครอบครัวชาวโรฮิงยามีบุตรได้ไม่เกินสองคน
 
ทั้งนี้นโยบายห้ามมีบุตรเกิน 2 คนดังกล่าว เคยใช้มาก่อนในปี 2537 แต่ล่าสุดเจ้าหน้าที่พม่าในรัฐอาระกันได้นำกลับมาใช้อีกในพื้นที่ซึ่งพวกเขาระบุว่ามีอัตราการเกินสูง ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดทางเชื้อชาติ
 
ทั้งนี้ความตึงเครียดระหว่างเชื้อชาติได้ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างชุมชนชาวอาระกันและชาวโรฮิงยาในรัฐอาระกันเมื่อปีก่อน ขณะที่นางออง ซาน ซูจีเองก็ถูกวิจารณ์มาก่อนหน้านี้ จากการที่นางออง ซาน ซูจีไม่ออกมาพูดถึงสิทธิของชาวโรฮิงยา
 
โดยนับตั้งแต่ความขัดแย้งเมื่อปีที่แล้ว ได้ทำให้ชาวโรฮิงยานับหมื่นคนต้องกลายเป็นผู้อพยพและต้องอาศัยอยู่ในค่ายพักชั่วคราว
 
สำหรับข้อห้ามไม่ให้ชาวโรฮิงยามีบุตรเกินสองคนเกิดขึ้นในปี 2537 และได้ผ่อนคลายกฎดังกล่าวไปเมื่อไม่นานมานี้
 
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อให้สืบหาสาเหตุของความรุนแรงในรัฐอาระกัน ได้ออกมาเสนอแนะว่าควรใช้วิธีการให้การศึกษาเรื่องการวางแผนครอบครัวเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งที่คณะกรรมการชุดนี้เรียกว่าเป็นการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของประชากรมุสลิม
 
และเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (25 พ.ค.) เจ้าหน้าที่ในรัฐอาระกันจะนำนโยบายมีบุตรไม่เกินสองคน มาบังคับใช้ในสองเมืองคือ มง ด่อว์ และบูดีถ่อง อย่างไรก็ตามยังไม่มีความชัดเจนว่าจะนำมาตรการนี้มาใช้อย่างไร
 
"ภายใต้คำสั่งนี้ ชายชาวเบงกาลี (คำที่เจ้าหน้าที่พม่าเรียกชาวโรฮิงยา) จะได้รับอนุญาตให้มีภรรยาเพียง 1 คน และแต่ละคู่แต่งงานสามารถมีบุตรได้ 2 คน และที่ซึ่งมีบุตรมากกว่า 2 พวกเขาจะถูกถือว่าผิดกฎหมาย" สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านคนเข้าเมือง
 
อย่างไรก็ตาม ออง ซาน ซูจี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า นางไม่อาจยืนยันว่านโยบายนี้ถูกบังคับใช้ แต่ถ้านำมาใช้ก็ถือว่าผิดกฎหมาย "ไม่เป็นการดี หากมีการเลือกปฏิบัติเช่นนี้ เรื่องนี้ไม่ไปด้วยกันกับเรื่องสิทธิมนุษยชน" นางออง ซาน ซูจี กล่าว
 
ฟิลล์ โรเบิร์ตสัน แห่งฮิวแมนไรท์วอทซ์ อธิบายว่ามาตรการเช่นนี้ถือการละเมิดและเรื่องเย็นชา
 
ทั้งนี้ฮิวแมนไรท์วอทซ์กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าว่าเกี่ยวข้องกับการล้างเผ่าพันธุ์ ในช่วงที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนและตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน และมีผู้อพยพกว่า 140,000 ราย
 
โดยชาวโรฮิงยาถือเป็นกลุ่มคนไร้รัฐ มีจำนวนประชากรราว 8 แสนคน ซึ่งไม่ถูกทางการพม่ารับรองให้มีสถานะเป็นพลเมืองของพม่า ขณะที่สหประชาชาตินิยามพวกเขาว่าเป็นชนกลุ่มน้อยทางด้านศาสนาและภาษาบริเวณตะวันตกของพม่า ซึ่งเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยที่ถูกรังควานมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก
 
อย่างไรก็ตาม มีชาวพม่าจำนวนมากเรียกพวกเขาว่าเบงกาลี ซึ่งคำนี้ถือเป็นการสะท้อนความเชื่อที่แพร่หลายอยู่ในพม่าที่ว่าชุมชนของชาวโรฮิงยามาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท