Skip to main content
sharethis

ย้ำให้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยเพื่อปกป้องชุมชน แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เผยสู้โครงการเหมืองแร่โปแตชมา 12 ปี เชื่อว่าพลังพลเมืองที่เข้มแข็งที่สุด คือพลังของประชาชนที่รวมตัวอย่างเหนียวแน่น

 
วันที่ 27 พ.ค.56 เวลาประมาณ 09.00 น.- 11.00 น. ที่ศาลาวัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี สภาพัฒนาการเมือง ภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า ประมาณ 40 คน ได้ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาและเรียนรู้ พื้นที่ปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี เพื่อศึกษาพลังภาคพลเมืองในการตรวจสอบโครงการพัฒนาที่ลงมายังชุมชน โดยมีตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 20 คน ให้การต้อนรับ และร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล
 
พร้อมกันนี้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี มีการฉายวีดีทัศน์ สารคดีที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการเหมืองแร่โปแตช  เพื่อให้ทางทีมของสภาพัฒนาการเมืองฯ ได้รับทราบที่มาที่ไปของปัญหาและเข้าใจถึงการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรของชาวบ้าน หลังจากนั้นจึงมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันต่อกรณีปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี
 
นายกษิดิ์เดชธนทัต เสกขุนทด สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง จ.นครราชสีมา และผู้ประสานงานการลงพื้นที่ในครั้งนี้ กล่าวว่า ที่มาในครั้งนี้เพื่อต้องการศึกษาและเรียนรู้ขบวนการภาคพลเมืองของกลุ่มชาวบ้านที่มีความเข้มแข็งในการปกป้องชุมชนและทรัพยากร โดยในภาคอีสานจะมีการลงพื้นที่ 3 แห่ง 3 ทีม คือ 1.พื้นที่จังหวัดติดลำน้ำโขงซึงมีปัญหาการขึ้นลงของน้ำที่ผิดปรกติ ซึ่งอาจจะเกิดจากการสร้างเขื่อนในประเทศจีนและลาว
 
2.พื้นที่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความร่วมมือระหว่างผู้นำท้องถิ่นและประชาชนอย่างเข้มแข็ง ในการทำการเกษตรแบบยั่งยืน และ 3.คือพื้นที่ที่จะมีโครงการเหมืองแร่โปแตชที่อุดรฯ ที่มาในวันนี้ โดยหลังจากลงพื้นที่ในแต่ละทีมแล้วจะได้ประชุมร่วมกันทั้ง 3 ทีม เพื่อสรุปข้อมูลที่ได้อีกครั้งหนึ่ง
 
ด้านนางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ชาวบ้านเชื่อว่าที่ผ่านมาถ้าประชาชนไม่รวมตัวกัน ไม่สามารถมีใครที่จะมาช่วยเหลือเราได้ พวกเราต่อสู้กับโครงการเหมืองแร่โปแตชมา 12 ปี จนเหมืองยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ก็ด้วยเราสู้ของเราเอง ระดมทุนในการสู้เอง พวกเราจึงเชื่อว่าพลังพลเมืองที่เข้มแข็งที่สุด คือพลังของประชาชนที่รวมตัวอย่างเหนียวแน่น
 
“เราต่อสู้มายาวนานโดยอาศัยสิทธิชุมชน และประชาธิปไตยภาคพลเมือง เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกับรัฐ จนปัจจุบันเราได้คณะกรรมการร่วมกับ กพร. (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) เพื่อพิจารณา และศึกษาหาทางออกร่วมกันถึงปัญหาการคัดค้าน ซึ่งอุตสาหกรรมจังหวัดรวบรวมได้ถึง 11ประเด็น เช่น ใบไต่สวนไม่ถูกต้อง การประชาคมผิดระเบียบ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอน ฯลฯ ทั้งหมดนี้เราจะต้องผลักดันกันต่อไป” นางมณีกล่าว
 
ขณะที่รศ.ดร.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร ประธานคณะกรรมการวิชาการ สภาพัฒนาการเมือง ได้กล่าวว่า การต่อสู้ของพลังพลเมือง ตามหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริงมีพลังเสมอ สู้ด้วยเหตุด้วยผล สู้ในกรอบกติกา แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ทุกฝ่ายเอาความจริงขึ้นมาพูด ไม่ปกปิดซ่อนเร้น รัฐหรือนายทุนรู้อะไร ประชาชนต้องรู้ด้วยทุกอย่าง ความเข้มแข็งของประชาชนจึงจะเกิด เมื่อความเท่าเทียมในการรับรู้ข้อมูลมีความเท่ากัน
 
“ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ต้องฟังทุกเสียงของประชาชน ไม่ว่าเสียงนั้นจะเป็นเสียงส่วนน้อยหรือเสียงส่วนมาก การต่อสู้ของประชาชนในทุกๆ เสียง จึงถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ประชาชนจะสามารถทำได้ เพื่อให้เสียงของเขาได้ถ่ายทอดปัญหาให้ผู้คนในสังคมได้รับรู้” รศ.ดร.อัษฎางค์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net