Skip to main content
sharethis

29 พ.ค.56 นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 28 และ 29 พ.ค. 56 มติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.75 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาด เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจกลุ่มยูโรยังคงอ่อนแอแต่ความเสี่ยงลดลงบ้าง เศรษฐกิจจีนและเอเชียขยายตัวต่ำกว่าคาด ส่งผลให้การฟื้นตัวของการส่งออกไทยอาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มได้รับผลบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสะท้อนจากการส่งออกและการบริโภคที่ปรับดีขึ้น ในขณะที่ภาวะการเงินโลกยังมีความผันผวนสูง ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ภูมิภาคและต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 56 ขยายตัวต่ำกว่าคาดจากอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อแรงส่งของเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้ โดยเฉพาะหากมีความล่าช้าในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ด้านแนวโน้มการส่งออกก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจภูมิภาคโดยเฉพาะจีนที่ขยายตัวชะลอลง ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อน้อยลงจากปัจจัยด้านต้นทุน แต่สินเชื่อและหนี้ภาคครัวเรือนยังขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง

คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงขยายตัวเนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงมากขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดมาก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมได้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ แต่ภายใต้ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินที่ยังมีอยู่ คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.75 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินรวมทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายที่เหมาะสมตามสถานการณ์

ทั้งนี้ เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินที่คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. 3 ท่าน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 ท่าน ได้แก่  กรรมการนโยบายการเงินภายใต้ พ.ร.บ. ธปท. พ.ศ. 2551 กนง. จะมีกรรมการทั้งหมด 7 คน เช่นเดียวกับในปัจจุบัน โดยมีผู้ว่าการเป็นประธาน เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมติที่ กนง. กำหนด และเพื่อให้มีการเชื่อมโยงกับคณะกรรมการด้านนโยบายอื่นๆ ของ ธปท.  นอกจากนั้น มีรองผู้ว่าการอีก 2 คนและผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีก 4 คนเป็นกรรมการใน กนง. เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจผู้ว่าการตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

คณะกรรมการนโยบายการเงินทั้ง 7 คน ภาพจากเว็บไซต์ ธปท.

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน

1. กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินของประเทศ โดยคำนึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ

2. กำหนดนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา

3. กำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายตาม  (1) และ (2)

4. ติดตามการดำเนินมาตรการของ ธปท. ตาม (3) ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net