Skip to main content
sharethis

นำเสนอ 7 ปัญหาชายขอบ “ผู้สูงอายุ - คนไร้บ้าน – แรงงานนอกระบบ – มุสลิมชายแดนใต้ - ผู้พิการ – คนไร้สัญชาติ - แท็กซี่” ถูกทำให้ล่องหนในสังคมไทย “อานันท์ กาญจนพันธ์” ชี้สังคมอยู่ในภาวะ “สูญเสียตัวตนสูง - ความเสี่ยงสูง – ขูดรีดสูง” แนะขับเคลื่อนเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับกลไกเชิงสถาบัน และปฏิรูประบบภาษี

000

ในการประชุม “สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ในช่วงบ่าย เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น มีการประชุมกลุ่มย่อยหัวข้อ "ฟังเสียงคนที่ไม่ค่อยได้ยิน” และ “ทำอย่างไรเพื่อให้สังคมเป็นธรรม” โดยมีการนำเสนอประเด็นปัญหาของกลุ่มชายขอบ 7 หัวข้อ ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน แรงงานนอกระบบ มุสลิมจากชายแดนใต้ ผู้พิการ คนไร้สัญชาติ คนขับรถแท็กซี่

อรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายบำนาญ นำเสนอปัญหาของผู้สูงอายุ โดยชี้ให้เห็นว่าผู้สูงอายุไทยจำนวนมากไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบบำนาญ และเสนอให้นำ “พ.ร.บ. การออมแห่งชาติ” ซึ่งผ่านสภามาแล้ว นำมาบังคับใช้ และกล่าวด้วยว่าสังคมไทยจะยั่งยืนต่อเมื่อชุมชนแข็งแรงเพราะมีกองทุนการออมแห่งชาติ

ส่วน สุทิน เอี่ยมอิน จากศูนย์พักคนไร้บ้านบางกอกน้อย กล่าวว่าคนไร้บ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีผู้สูงอายุจำนวนมากตัดสินใจออกจากบ้าน เพราะไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน โดยกลุ่มคนไร้บ้านได้ตั้งศูนย์เพื่อดูแลกันเอง 3 แห่งใน กทม. และอีก 1 แห่งที่เชียงใหม่ มีการตั้งทีมสำหรับเจรจา ในกรณีที่ต้องขอให้โรงพยาบาลรับรักษาคนไร้บ้านที่เจ็บป่วย นอกจากนี้นายสุทินยังเรียกร้องให้รัฐบาลไม่แก้ปัญหาแบบสังคมสงเคราะห์ แต่เปลี่ยนมาเป็นการสนับสนุนการทำงานเครือข่าย และทำให้คนไร้บ้านสามารถยืนอยู่ในสังคมได้เอง

ด้าน วันเพ็ญ จำปาจีน ศูนย์แรงงานนอกระบบ จ.ราชบุรี กล่าวว่าแรงงานนอกระบบ มักไม่ได้รับข้อมูลว่างานที่ทำอยู่มีอันตราย หรือมีความเสี่ยงอย่างไร โดยเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสาธารณสุขประจำตำบลควรเน้นให้ความรู้กับอาชีพที่มีความเสี่ยง

ส่วน ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ กลุ่มสตรีมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่าเป็นหนึ่งในผู้สูญเสียสมาชิกครอบครัวในช่วงเหตุไม่สงบในพื้นที่ โดยขณะนี้รวมกลุ่มสตรีซึ่งสูญเสียสมาชิกครอบครัวได้กว่า 871 รายในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อเป็นอาสาสมัครชุมชนช่วยเหลือดูแลกันเวลาเกิดปัญหา ทั้งนี้ชาวมลายูอยากเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหา แต่ที่ผ่านมาเสียงของชาวบ้านไม่ได้ถูกทำให้ได้ยิน และคนจากข้างนอกมักสั่งให้หันซ้ายทีหันขวาที ทั้งๆ ที่ คนจะบอกหันซ้ายหันขวาควรเป็นตัวเรา โดยหวังว่าพื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่ของทุกๆ คน ไม่ใช่แค่ของตัวเขา ไม่ใช่ของคนปัตตานี ยะลา นราธิวาสเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ของคนไทยทุกๆ คน

ด้าน ธีระยุทธ สุคนธวิท จากศูนย์ดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ จ.นนทบุรี เล่าว่าการเดินทางของคนพิการมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะระบบขนส่งมวลชนไม่เอื้ออำนวย ซึ่งพลอยกระทบกับสิทธิการเข้าถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เมื่อค่าเดินทางสูง คนพิการจะไปเรียนหนังสือทุกวันได้อย่างไร การอยู่เฝ้าบ้านจึงกลายเป็นหน้าที่คนพิการ หรืออย่างบริการสาธารณสุขถึงฟรีก็ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ เพราะค่าเดินทางไม่ฟรี ยังไม่นับกรณีคนพิการรุนแรง ประเภทสี่คนหามสามคนแห่ นั่งไม่ได้ นอนไปอย่างเดียว ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางแพงมาก จะไปไหนมาไหนต้องเหมารถ

โดยขณะนี้ธีระยุทธและเพื่อนผู้พิการได้ร่วมกันตั้งกลุ่ม เพื่อออกเยี่ยมเยียนผู้พิการรุนแรง ที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ โดยออกเยี่ยมเยียนเพื่อไปให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา รวมถึงรับฟังความทุกข์และความในใจของพวกเขาด้วย

ธีระยุทธ ยังเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสาธารณูปโภค รวมถึงระบบขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ รวมถึงโอกาสอื่นๆ ด้วยรวมทั้งการศึกษา สาธารณสุข และอยากให้ทุกคนเปิดใจเห็นคนพิการเป็นเพื่อนมนุษย์ เป็นพี่น้อง เป็นสมาชิกหนึ่งของชุมชน เพื่อที่จะได้มีสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

ลาเคละ จะทอ ชาวลาหู่ นายกเทศมนตรีหญิงจาก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าที่ผ่านมามีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และตกสำรวจจากข้าราชการทำให้ไม่ได้รับสัญชาติ ซึ่งการไม่มีสัญชาติทำให้เสียโอกาสทั้งด้านการศึกษา และการรับบริการสาธารณสุข นอกจากนี้พอไม่มีสัญชาติ บางทีก็ถูกมองจากสังคมว่าเป็นคนอื่น จึงอยากขอร้องให้มองกลุ่มชาติพันธุ์เป็นมนุษย์เหมือนกัน และเป็นเพื่อนร่วมโลก

ส่วน สำอางค์ ขันธนิธิ ตัวแทนคนขับรถแท็กซี่ ได้เรียกร้องความเท่าเทียมของคนทุกอาชีพ ไม่อยากให้มีการเปรียบเทียบว่าอาชีพนี้ด้อยกว่าอาชีพนี้ โดยที่ผ่านมากลุ่มของเธอมีการรวมตัวกันตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนขับแท็กซี่เพื่อรวมตัวกันสร้างประโยชน์ให้สังคมด้วย

 

000

อานันท์ กาญจนพันธุ์: สังคมสามสูง และทางออก

โดยหลังการนำเสนอปัญหา ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญคือภาวะการสูญเสียตัวตน คนสนใจแต่เรื่องของตัวเอง และไม่สนใจผู้อื่น โดยผู้ที่นำเสนอปัญหาทั้ง 7 เหล่านี้ล้วนมีสภาพไม่ต่างจากมนุษย์ล่องหนเพราะถูกลืม และยิ่งปัจจุบันที่สังคมอยู่ในสภาพสังคมข้อมูลข่าวสาร แต่กลับมีการครอบงำข้อมูลข่าวสารสูง มีการนำเสนอข้อมูลด้านเดียว ทำให้เกิดการฉายภาพบ้างด้าน ก็ยิ่งซ้ำเติมสิ่งที่เป็นอคติ ยิ่งทำให้ปัญหาที่มีอยู่นี้หนักข้อขึ้น

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเรามองปัญหาระดับผิวเผินไม่ได้ เพราะปัญหาที่มองเห็นเกิดจากการสะสม ซับซ้อน ทับถมมานาน ซ้อนกันหลายระดับ และยิ่งสังคมที่เข้าสู่ระบบโลภาภิวัตน์ ก็เป็นไปอย่างที่เขาเรียกว่า “ยิ่งสูง ยิ่งหนาว ยิ่ง ว้าเหว่” ทั้งนี้รากฐานสำคัญของโลกาภิวัตน์ก็คือมันจะอยู่อย่างปัจเจกมากขึ้น ต่างคนต่างอยู่ เห็นตัวเองเป็นหลัก มองไม่เห็นคนอื่น คุณเป็นใครเขาไม่สน เขาสนใจตัวเอง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” คำแบบนี้ไม่มีแล้วในยุคนี้ กลายเป็น “ไม่มีหัวอกหัวใจ” มีแต่พูดว่ากูจะอยู่อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ลึกๆ แล้วมันกำลังแพร่กระจายอยู่ในใจของทุกคน

อาจารย์อานันท์ กล่าวว่าระหว่างเดินทางมาที่ประชุมได้เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของผู้โดยสารรถไฟฟ้า BTS อย่างนักมานุษยวิทยา โดยพบว่าทุกคนที่นั่งรถไฟฟ้า BTS ไม่มีใครมองหน้าใคร กดมือถือตลอด อยู่ในโลกของตัวเอง “ผมก็เฝ้าสังเกตเพราะเป็นนักมานุษยวิทยา และผมอาจเป็นคนสุดท้ายในโลกนี้ยังไม่ใช้มือถือ เพราะผมกลัวมากว่าจะไม่เอาใจเขาไปใส่ใจเรา”

000

โดยลักษณะปรากฏการณ์นี้เกิดมาจากสิ่งที่เรียกว่า “สามสูง” ได้แก่ หนึ่ง “สูญเสียตัวตนสูง” เพราะมองเห็นแต่ตัวเอง สนใจตัวเอง ไม่เห็นปัญหาของคนอื่น ทำให้คนอื่นถูกทำให้กลายเป็นมนุษย์ล่องหน

สูงที่สองคือ “ความเสี่ยงสูง” โดยจะเห็นได้จากผู้ที่นำเสนอปัญหาชายขอบทั้ง 7 ประเด็นนั้น บางกลุ่มก็ทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจภาคไม่เป็นทางการ ซึ่งมีความเสี่ยง เป็นการประกอบอาชีพที่เขาโละออกจากภาคเศรษฐกิจทางการไปแล้ว

โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบนับเป็นบุคคลล่องหนแท้จริง ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเจริญมาได้เพราะเขา แต่เรามองไม่เห็นหัวเขา ปล่อยให้เขาอยู่ในสภาพความเสี่ยงจากการทำงาน รวมทั้งความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

“ที่เชียงใหม่ ผมเจอหลายคน คนทำงานประเภทที่เขาโละออกไปแล้ว ซึ่งมีแต่ความเสี่ยง อย่างช่างประกอบไฟสำหรับติดต้นคริสต์มาส เวลาประกอบไฟเสร็จเขาต้องทดสอบนะครับ บางคนก็กระเตงลูกไป เสียบปลักไป ถ้าเกิดไฟช็อต ก็ไม่ได้ค่าชดเชยอะไร”

“ขณะที่กลุ่มเกษตรพันธะสัญญาที่รับพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์มาจากบริษัทใหญ่มาเลี้ยง ถ้านำปลาเลี้ยงไปกระชัง แล้วแม่น้ำเน่า ปลาตาย บริษัทก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ที่บอกว่าเกษตรพันธะสัญญานั้น จริงๆ ไม่มีสัญญานะครับ เพราะเกษตรกรรับความเสี่ยงคนเดียว แทนที่เป็นการร่วมทุน และพอถึงเวลามีปัญหา เกษตรกรก็รับภาระคนเดียว แล้วอย่างนี้จะอยู่กันได้อย่างไร”

สูงที่สามคือ “ค่าเช่าสูง” หรือ “ขูดรีดสูง” ทั้งนี้ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ระบบทุนนิยมเป็นผู้เอาผลประโยชน์ส่วนเกินออกไปจากระบบ และเอาออกไปมากกว่าส่วนที่คืนกลับมา เช่น ระบบจ่ายภาษีปัจจุบัน ที่ไม่ว่าคนงานรับค่าแรงวันละ 300 บาท หรือคนเงินเดือนเป็นหมื่นเวลาซื้อสบู่ก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT 7% เท่ากัน คือทั้งที่คนมีความสามารถในการจ่ายไม่เท่ากัน แต่กลไกทางเศรษฐกิจกลับผลักภาระให้คนด้อยโอกาสต้องจ่ายภาษีมากกว่า

นอกจากนี้ ประเทศไทยเก็บภาษีทางตรงกับคนไม่เกิน 2 ล้านคน แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่หลบเลี่ยงได้ นอกจากนี้มาตรการภาษีก้าวหน้า รวมทั้งภาษีที่ดิน และมรดกก็ยังไม่เกิดขึ้น โดยกลไกเศรษฐกิจที่พิกลพิการเช่นนี้ เกิดมาจากความเชื่อเรื่องเสรีนิยมใหม่ ที่เชื่อว่า กลไกตลาดดี 100% ถ้าให้ตลาดทำงานแล้วจะสบาย แต่จริงๆ แล้ววิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 หรือวิกฤตแฮมเบอเกอร์ในสหรัฐอเมริกาก็เป็นตัวอย่างที่ฟ้องว่ากลไกตลาดก็ล้มเหลวได้ โดยการที่ไม่มีกลไกควบคุมตลาดที่เพียงพอ ทำให้มันดึงส่วนเกินจากผู้คนมากจนเกินไป

อาจารย์อานันท์ ยกตัวอย่างการทำงานของคนงานในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน ซึ่งมียุคหนึ่งที่คนงานหลักเลิกงานแล้ว กลับบ้านแล้วหลับจนเสียชีวิต ที่เรียกว่าไหลตาย ซึ่งหาสาเหตุไม่ได้ แต่แพทย์กลับระบุว่าเป็นโรคเอดส์ ซึ่งที่จริงแล้วคนงานเหล่านี้ทำงานในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ และสัมผัสกับสารเคมีและรังสีปนเปื้อน คำถามก็คือในเวลานี้เมืองไทยมีแพทย์ที่รู้เรื่องสาเหตุความเจ็บป่วยในโรงงานกี่คน จะมีแพทย์คนไหนที่ศึกษาว่าโรงงานสร้างปัญหาให้กระทบให้กับคนงาน

ทั้งนี้คนงานทำงานให้โรงงาน แต่โรงงานกลับไม่เห็นคุณค่าคนงาน เอาจากมากกว่าที่คืนให้เขา ทั้งที่เขาเป็นคนงานของโรงงาน แต่กลับไม่ได้รับการดูแลเหมือนกับเป็นสมาชิกในบ้าน สิ่งนี้คือการที่ทุนดึงเอาส่วนเกินมากเกินไปจากคนที่ทำงาน

โดยอาจารย์อานันท์เสนอว่าหากจะแก้ภาวะ “สามสูง” นี้ จะให้คนชายขอบแต่ละกลุ่มปัญหารวมตัวช่วยเหลือกันคงไม่พอ เพราะชีวิตเขาตอนนี้ก็ลำบากอยู่แล้ว อย่างกลุ่มผู้พิการ นอกจากนี้สมัยก่อนเชื่อว่า “บ้าน วัด โรงเรียน” จะแก้ปัญหา แต่สมัยนี้ปัญหาใหญ่ระดับโลกาภิวัตน์คงไปไม่รอด จะให้เขารวมตัวแก้ไขปัญหาตัวเองคงแก้ได้ระดับหนึ่งแต่การแก้ไขปัญหาระดับรากโคน สังคมต้องสร้างกลไกแบบใหม่ขึ้นมา ต้องเปลี่ยนกลไกภาษี และต้องพูดกันอีกหลายชนิดภาษีทั้งภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน เพราะภาระความสามารถในการจ่ายภาษีไม่เท่ากัน แต่เราดันเก็บภาษีเท่ากัน ซึ่งทำให้เกิดสังคมที่ไม่เป็นธรรม

ในตอนท้ายอาจารย์อานันท์ กล่าวด้วยว่า การออกจากภาวะ “สามสูง” นี้ ต้องการพลังขับเคลื่อนทางสังคมอย่างยิ่ง โดยต้องรวมตัว ต่อรอง เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมกลไกเชิงสถาบัน ซึ่งที่ผ่านมาการรวมตัวเพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ยังไม่ค่อยมีเท่าใดนัก

บทบาทของนักวิชาการ หรือนักพัฒนาในองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างเดียวคงไม่พอ แต่จำเป็นที่กลุ่มทางสังคมต่างๆ จะต้องเข้ามาสร้างเครือข่ายโยงใยเพื่อขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ “ถ้าแก้สามสูงไม่ได้ก็ต้องนั่งพูดกันอีกหลายสิบปี เรื่องทำอย่างไรให้สังคมเป็นธรรม ป้าย (บนเวที) นี้ก็เก็บไว้ได้เลย เพราะต้องพูดอีกนานเลยคุณเอ๋ย” ศ.ดร.อานันท์กล่าว

 

000

ความหวังว่าสังคมจะมีโอกาสเข้าใจ

ขณะที่ .สุริชัย หวันแก้ว ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการนำเสนอประเด็นปัญหาของคนชายขอบเหล่านี้ สิ่งที่พบก็คือ เราแทบไม่มีโอกาสรับรู้ความจริงในสังคมเลย สังคมข้อมูลข่าวสารแต่กลับมืดบอดด้านความรับรู้ ทั้งนี้เรากำลังให้ผลักความเสี่ยงที่เกิดขึ้น กลายเป็นเรื่องของคนอื่นไปหมด และคิดว่าถ้าเรื่องนี้กวนใจมาก ก็จะร่วมบริจาคเสียหน่อย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้น่ากลัวและเราเองไม่รู้ตัว

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสังคมปัจจุบัน มีคนตื่นตัว และไม่ได้งอมืองอเท้า อย่างไรก็ตามระบบหน่วยงานราชการ ที่จะแก้ไขปัญหาสังคม ยังมีวิธีคิดแบบสงเคราะห์ ขณะที่สื่อมวลชนให้ความสนใจกับบางเรื่องเท่านั้น เช่น ไปให้น้ำหนักกับการตามผู้ใหญ่บ้านเมืองไปแจกของ แต่จะสื่อหรือใครที่ให้ความสนใจเวลาที่กลุ่มผู้พิการลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเอง สร้างงานด้วยตัวเอง ทั้งนี้เรายังไม่ได้หันมามองผู้เสียหายที่ลุกมาแก้ไขปัญหาตัวเองเท่าที่ควร แต่จากการฟังการนำเสนอปัญหาเหล่านี้ ชวนให้รู้ว่าที่ผ่านมาระบบได้ทำลายศักยภาพของเราไปเยอะ

ส่วน “ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ จากมูลนิธิดวงประทีป ซึ่งทำงานพัฒนาและจัดการศึกษาในชุมชนคลองเตยมาหลายสิบปี กล่าวว่า เชื่อว่าในที่สุด สังคมไทยจะมีทางออกอย่างหนึ่ง คือถึงแม้จะมีปัญหา แต่ในที่สุดจะสามารถพูดคุยกัน เข้าใจ และร่วมแก้ไขปัญหาได้ “ทั้งนี้ทุกปัญหามีประตูทางออกเสมอ แต่เราต้องมีความอดทน และต้องอาจจะต้องอดทนต่อการถูกด่าว่าดูถูกสารพัดเรื่อง แต่ขอให้คิดอย่างเดียวว่าเขาอาจจะไม่เข้าใจเรา จะได้ไม่ต้องแบกความไม่เข้าใจหรือทัศนคติลบเหล่านั้น และขอให้พยายามสร้างกำลังใจ และวันหน้าเขาจะมีโอกาสเข้าใจเรา และเราก็มีโอกาสทำงาน ได้คิดสร้างสรรค์ต่อไป”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net