Skip to main content
sharethis
สภาที่ปรึกษาฯ จัดวิพากษ์ความพร้อมของประเทศไทยต่อการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) กรมเจรจาการค้าชี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับมาตรฐานการค้าและการแข่งขันที่สูงขึ้น
 
31 พ.ค. 56 - วานนี้ (30 พ.ค. 56) คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้ผู้บริโภค  จัดสัมมนาเรื่อง “ ข้อตกลงทางการค้ากับการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค กรณี TPP และ EU-ไทย FTA”” เพื่อศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยจากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค  นักวิชาการ ภาคเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนและสื่อมวลชน ในการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP)   ห้องประชุม 1  สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
 
โดยมี ศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้ผู้บริโภค สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวเปิดสัมมนา โดยกล่าวว่า TPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีลักษณะกว้างขวาง มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดภาษี ในประเทศสมาชิกลง 90 % ในปี 2549และมุ่งให้ภาษีเป็นศูนย์ภายในในปี 2558 นอกจากนี้ยังมีการเจรจาครอบคลุมประเด็นหลักอื่นๆ อาทิ การค้าสิ้นค้า กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า การเยียวยาทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญาและนโยบายการแข่งขันและการจัดซื้อจัดหาโดยรัฐ ซึ่งสหรัฐอเมริกาเองก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การเจรจา TPP ประสบความสำเร็จ โดยประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่จะเข้าร่วมในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนดังกล่าว ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว แสดงการคัดค้านของกลุ่มนักวิชาการและภาคประชาชน ว่าอาจจะเกิดปัญหาขึ้น หากมิได้มีการพิจารณาถึงผลกระทบอย่างรอบครอบและรอบด้าน
 
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค ด้านบริการ กล่าวว่า หัวข้อในการสัมมนาจะศึกษาผลกระทบจากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP และ การเจรจาความตกลง FTA ไทย EU ซึ่งประเด็นเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขไม่แตกต่างกันในนัยยะสำคัญ หลังจากที่ทางสภาที่ปรึกษาฯ เสนอให้รัฐบาลกำหนดให้ (ร่าง) กรอบการเจรจาฯ ระบุอย่างชัดเจนให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้าขององค์การการค้าโลก 
 
นางพิราภรณ์ กิจไพฑูรย์ ผู้อำนวยการส่วนบูรณาการ ๒ (อเมริการิเหนือ) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP มีพัฒนาการมาจาก P4 ประกอบด้วย ประเทศชิลี นิวซีแลนด์ สิงค์โปร และบูรไน ต่อมาในปี 2551 ประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศเข้าร่วมเจรจากับประเทศสมาชิก P4 ในปี 2553 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศว่า ความตกลง TPP จะเป็นต้นแบบสำหรับการเจราจาทำความตกลงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจการค้าในกลุ่มเอเปค (Free Trade Area of the Asia Pacific : ETAAP) ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐฯ เวียดนาม แคนนาดา และเม็กซิโก โดยที่ TPP เป็นต้นแบบในการเปิดการค้าเสรีในเศรษฐกิจยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 ที่มีมาตรฐานสูงและมีกรอบกว้างขวาง ขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นมีความสนใจเข้าร่วม แม้ประเทศสมาชิก 11  ประเทศก็มีฉันทามติให้ประเทศญี่ปุ่นสามารถเข้าร่วมเป็น
 
สมาชิกลำดับที่ 12 ได้ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันทีเพราะต้องรอให้ประเทศสมาชิกปรับแก้ไขข้อกฎเกณฑ์ในประเทศก่อน ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ คือ การรักษาส่วนแบ่งตลาดของไทย เนื่องจากไทยทำการค้ากับสมาชิก TPP 11 ประเทศมีมูลค่าสูง ทำให้สินค้าส่งออกของไทยได้รับสิทธิพิเศษเรื่องภาษีนำเข้าสหรัฐฯเป็นศูนย์เป็นการถาวร อีกทั้งช่วยรักษาและดึงดูดการค้า การลงทุนจากสมาชิก TPP และประเทศคู่ค้าอื่นๆ ให้ใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต การค้า ในภูมิภาค และมีส่วนช่วยผลักดันการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบเศรษฐกิจการค้าของไทย ในส่วนผลกระทบที่จะตามมาคือ การนำเข้าสินค้าและบริการจากสมาชิก TPP เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนกฏระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการค้าและการแข่งขันที่สูงขึ้น ตามเงื่อนไขและมาตรฐานของ TPP ด้วย
 
ดร.บัณทูร เศรษฐศิโรตน์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับประเด็นการเจรจาในเรื่องสิ่งแวดล้อมภายใต้ TPP มีข้อเรียกร้องสำคัญหลายประการที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งทางบวกและทางลบ เช่น สหรัฐฯ มีข้อกำหนดให้คู่เจรจาต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม 7 ฉบับ  ซึ่งมีในนัยว่า สหรัฐต้องการให้ประเทศคู่เจรจายอมรับสิทธิและพันธกรณีในความตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมที่สหรัฐฯเป็นสมาชิกอยู่เท่านั้น ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อม ต้องศึกษาข้อมูลต่างๆให้รอบครอบก่อนที่จะดำเนินการขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP ประเทศไทยต้องคำนึงถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจ ต้องมีการศึกษาในภาพรวมมิใช่มองส่วนใดส่วนหนึ่ง จำเป็นที่ต้องมีเครื่องมือในการประเมินผลกระทบด้านต่างๆ ของ TPP ด้วย
 
ด้านคุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล เลขานุการและสมาชิกคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการ กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นมีการศึกษามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี เกี่ยวกับการเข้าร่วม TPP ในขณะที่อเมริกาเองก็มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในกลุ่มประเทศอาเซียน ในส่วนของประเทศไทยยังไม่มีการวิจัยเรื่อง TPP โดยเฉพาะ แต่มีเอกสารอ้างอิงมางานวิจัยของบริษัท ไบรอัน เคฟ ที่ร่วมกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ร่วมกันทำการศึกษาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย FTA ไทยสหรัฐฯ โดยการสัมภาษณ์ข้อมูลเชิงลึก ซึ่งสหรัฐอเมริกาต้องการใช้ TPP ในการคานอำนาจกับประเทศจีน ไทยควรเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ TPP โดยมีเงื่อนไขว่า 1.ประเทศสมาชิก TPP ยอมรับที่จะไม่ผลักดันให้ไทยขยายอายุสิทธิบัตรยา มากไปกว่าระดับความคุ้มครองภายใต้กรอบความตกลงหรืออนุสัญญาด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไทยเป็นสมาชิก 2. ประเทศสมาชิก TPP ยอมรับที่จะไม่ผลักดันบทบัญญัติด้านบริการทางการเงินมากกว่าหลักการภายใต้ GATS 3.ประเทศสมาชิก TPP ยอมรับที่ไทยจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกอนุสัญญา UPOV
 
ดร.นุศราพร เกษสมบูรณ์ นักวิจัย HIA ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือที่เรียกว่า ทริปส์พลัส ซึ่งนั่นจะบ่อนทำลายศักยภาพของประเทศไทยในการผลิตยาชื่อสามัญทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ จะเกิดผลกระทบต่อการเข้าถึงยา เพราะว่ายาจะมีราคาที่แพงขึ้น จากสถิติแล้วคนไทยเป็นเจ้าของสิทธิบัตรยามีน้อยถ้าเทียบกับ เจ้าของสิทธิบัตรจากต่างประเทศ ทำให้ไทยมีแนวโน้มในการนำเข้ายาจากต่างประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงร้อยละ 70 ขณะที่ประเทศไทยมีการอัตราการผลิตยาได้เองร้อยละ 30 
 
นายจักรชัย โฉมทองดี กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า สิ่งที่สังคมไม่ทราบว่า  การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ประเทศไทยจะได้อะไรบ้าง เกิดประโยชน์อะไร  ข้อตกลง FTA แทบจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศโซนยุโรปเลย  ทุกวันค่าเงินบาทแข็งค่าเพราะนักลงทุนจากต่างประเทศนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนตลอด ถ้ามีการเปลี่ยนก็ไม่อยู่ในปริมาณที่มีนัยยะสำคัญแต่อย่างใด แต่อาจจะมีนักลงทุนชาติอื่นมาใช้ฐานการผลิตของไทยเพื่อมาส่งออกสินค้าไปสู่ยุโรปส่วนนี้ก็อาจจะมีผลบ้าง จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบ ออกมาชี้แจงผลดีผลเสียที่ได้พิจารณาและนำมาสู่ข้อสรุปในการแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วม TPP เพราะจนถึงขณะนี้สังคมยังไม่ทราบเลยว่า คณะรัฐมนตรีตัดสินใจบนฐานข้อมูลใด
 
และในช่วงบ่ายได้มีการแบ่งกลุ่มย่อย เพื่อเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเจรจาความตกลงดังกล่าวรวมทั้งการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการสัมมนาของคณะทำงานจะได้นำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์สังเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net