Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
เท่าที่ได้ทราบข้อมูลมา คนแรก ๆ ที่ใช้คำว่าไทยสปริงก็คือพลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชรในโฮมเพจที่ไว้ล่าลายชื่อสำหรับประท้วงการกล่าวปาฐกถาของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่มองโกเลียนั้นเอง เพื่อเป็นการจุดประกายการต่อต้านและการล้มรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ในยุคที่เสื้อเหลืองอันมีสำนักพิมพ์ผู้จัดการเป็นศูนย์กลางดูโรยราเต็มที และในเวลาอันใกล้ๆ นั้นไทยสปริงดูจะสามารถจุดประกายแฟชั่นการติดรูปหน้ากากขาวหรือหน้ากากกาย ฟอว์กส์ไว้แทนตัวตนของนักท่องโลกไซเบอร์ทั้งหลายที่ชื่นชอบในการเกลียดชังพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ผู้ที่พวกเขาเห็นว่าเป็นผู้จัดการรัฐบาลตัวจริง ผู้กุมอำนาจชักใยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่เผด็จการ รัฐบาลฉ้อฉล โกงกิน รัฐบาลทุนสามานย์ รัฐบาลล้มเจ้า ฯลฯ ถึงแม้กลุ่มของคุณวสิษฐจะยืนยันว่าเป็นคนละกลุ่มกับพวกหน้ากากขาว แต่ด้วยการคาดคะเนของผู้เขียนเองว่าคงมีผู้ประสานงานหรือสนับสนุนเป็นคนกลุ่มเดียวกันหรืออย่างน้อยก็อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน อุปมาดังเบียร์สิงห์และเบียร์ลีโอที่เป็นคนละแบรนด์แต่ก็ถูกผลิตโดยบริษัทเดียวกัน บทความนี้จึงเรียกนักประท้วงทั้งหลายโดยภาพรวมว่าชาวไทยสปริง
 
สำหรับคำว่าสปริงหรือ Spring นี้มีความหมายโดยทั่วไปคือฤดูใบไม้ผลิ แต่อีกความหมายหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อันไปสู่สิ่งใหม่ ถ้าเป็นคำศัพท์ทางการเมืองก็คือการปฏิวัติ (Revolution) การปฏิวัติไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  เพราะมักมีคนนำไปปะปนกับรัฐประหาร (Coup d'etat) ซึ่งหมายความว่าแค่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยใช้วิธีการทางทหารเกือบทั้งหมด (ความจริงพลเรือนก็มี) แต่การปฏิวัติที่แท้จริงหมายถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐ ไม่ว่าการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ โดยแรงผลักดันคือมวลชนทั้งหลาย (1) มีการใช้คำนี้กับเหตุการณ์มากมายในอดีตเช่นการประท้วงของชาวฮังการีต่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ภักดีกับสหภาพโซเวียต (Hungarian Spring) ในปี 1956 เช่นเดียวกับการประท้วงของชาวเช็คโกสโลวาเกียต่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียตในปี 1968 (Prague Spring) ถ้า 2 เหตุการณ์นี้ไม่ประสบความล้มเหลวเสียก่อนก็จะนำประเทศไปสู่การเป็นประชาธิปไตยทุนนิยม (แต่กระนั้นก็เป็นปัจจัยทางอ้อมที่นำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991)   คำว่าสปริงได้มาโผล่อีกครั้งและเป็นที่นิยมจนติดหูในปี 2011  ที่ประชาชนในกลุ่มประเทศอาหรับออกมาประท้วงรัฐบาลเผด็จการที่ปกครองประเทศมาหลายทศวรรษจนประสบความสำเร็จไม่ว่าตูนีเซีย ลิเบีย อียิปต์ เยเมน ประเทศได้กลายเป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าจะใช้คำตรงกว่านั้นก็ต้องบอกว่าประเทศได้มีภาวะการกลายเป็นประชาธิปไตย (Democratization) เพราะมีหลายประเทศที่ยังมีภาวะที่ไม่เรียบร้อยจนเกินกว่าจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ถือได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจกันครั้งใหญ่
 
ยกตัวอย่างเช่นอียิปต์ หลังจากอาหรับสปริงครั้งแรกได้ผลักดันให้ฮอสนี มูบารักพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดี ชาวอียิปต์เองก็ยังไม่พอใจที่ว่าสถาบันของทหารยังคงมีอำนาจอยู่มาก ยังมีการประท้วงกันที่จุตรัสทาห์รีร์กันอยู่เรื่อยๆ จนเมื่อมีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศและได้ประธานาธิบดีคนใหม่ตามระบอบประชาธิปไตยคือ นายโมฮะหมัด มอร์ซีซึ่งได้กำจัดอิทธิพลของทหารออกไปโดยวิธีแยบยล ประเทศก็น่าจะก้าวสู่สภาพเรียบร้อยแต่ทว่าประชาชนยังเห็นว่านายมอร์ซีมาจากพรรคภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ซึ่งน่าจะนำประเทศไปภายใต้อำนาจหรืออุดมการณ์ของมุสลิมหัวรุนแรง เมื่อประธานาธิบดีออกกฏหมายมอบอำนาจให้ตัวเองเหนือฝ่ายตุลาการและเปิดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งถูกโจมตีว่าให้อำนาจกับศาสนามากไป ชาวอียิปต์ก็แห่กันมาใช้บริการจุตรัสทาห์รีร์กันอีกครั้งถึงแม้ในปัจจุบันจะสงบนิ่งไปแต่พร้อมจะมีคลื่นลูกใหม่ออกมาเรื่อย ๆ อนึ่ง ในการประท้วงนี้ยังรวมไปถึงการเรียกร้องสิทธิของสตรีซึ่งถูกกดขี่อย่างมากในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามแบบอนุรักษ์นิยมอย่างอียิปต์
 
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการจะบอกว่าให้เมืองไทยจะต้องมีภาวะทางการเมืองเหมือนกับอียิปต์หรือโจมตีตำหนิการประท้วงของชาวไทยสปริงแต่ประการใด เพียงแค่ต้องการถามชาวไทยสปริง (เช่นเดียวกับพวกเสื้อแดง เสื้อเหลืองหรือเสื้อไร้สี)  ทั้งหลายว่าสามารถทำให้คำว่า “สปริง” ศักดิ์สิทธิ์หรือปฏิวัติสังคมไทยได้ถึงรากถึงแก่นได้เหมือนตัวอย่างข้างบนหรือไม่ หรือว่าเพียงต้องการให้ทักษิณและเครือข่ายหมดอิทธิพลไปก็พอใจโดยไม่สนใจว่ากลุ่มอิทธิพลอื่นไม่ว่าทหาร  ข้าราชการประจำ กลุ่มทุนสามานย์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก(ที่สื่อมักไม่เอ่ยนามในด้านลบเหมือนทักษิณ) เลื้อยเข้ามาคลุมพื้นที่แทนอิทธิพลของเครือข่ายทักษิณ ชาวไทยสปริงสนใจหรือไม่ที่จะต่อสู้กับกลุ่มประโยชน์เหล่านั้นโดยการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาธิปไตยไม่ว่าความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ สังคมหรือแม้แต่เรื่องทางเพศ รวมไปถึงเสรีการแสดงออกที่รัฐบาลไม่ว่าชุดไหนก็ใช้ความเป็น "รัฐตำรวจ" ในการควบคุมทั้งนั้นไม่ว่ากฏหมายมาตรา 112 หรือกฏหมายการเซ็นเซอร์สื่อมวลชน  ชาวไทยสปริงสนใจหรือไม่ที่ในอนาคตจะร่วมช่วยเหลือชนรากหญ้าจำนวนมากในการเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐ หรือเพิ่มระดับขั้นไปสู่การปลดแอกจากการกดขี่ของนายทุนจำนวนมาก(ที่ไม่จำเป็นต้องสังกัดในกลุ่มทักษิณ)  ถ้าสามารถทำได้ก็ถือได้ว่าเป็นปรากฏไทยสปริงที่ปรากฏลงบนสื่อสากล เช่น ซีเอ็นเอ็น หรือบีบีซีอย่างน่าภาคภูมิใจ
 
สำหรับหน้ากากขาวหรือหน้ากากกาย ฟอว์กส์ (ซึ่งน่าจะได้รับความนิยมกว่าสัญลักษณ์ดอกบัวของพลตำรวจเอก วสิษฐอย่างมากเพราะของฝ่ายหลังดูคล้ายคลึงกับสัญลักษณ์ของยาสีฟันยี่ห้อหนึ่งอย่างกับแกะ) ได้รับอิทธิพลจากกาย ฟอว์กส์ (1570 – 1606) บุรุษชาวอังกฤษซึ่งไม่ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิหรือเสรีภาพแบบประชาธิปไตย แถมยังมีพฤติกรรมที่ขัดแย้งกับความรู้สึกของชาวไทยสปริงอย่างรุนแรง นั้นคือฟอว์กส์เป็น "พวกล้มเจ้า" เพราะต้องการลอบปลงประชนม์พระเจ้าเจมส์ที่ 1 เพื่อเปลี่ยนอังกฤษให้กลับมายึดถือนิกายคาทอลิกแต่ก็ถูกจับได้และประหารชีวิตเสียก่อน ดังนั้นจึงเป็นผลิตซ้ำความหมายของสัญลักษณ์ที่น่าสนใจสำหรับชาวไทยสปริงในการนำหน้ากากนี้เป็นตัวแทนขบวนการของตน (2)  นอกจากนี้การที่หน้าของฟอว์กส์ได้รับความนิยมก็เพราะนักเขียนชาวอังกฤษ 2 คนคือ อลัน มัวร์และเดวิด ลอยด์ นำมาใช้เป็นหน้ากากสำหรับตัวเอกที่ต่อสู้กับรัฐบาลฟาสซิสต์ของอังกฤษในโลกอนาคตภายใต้งานที่ชื่อ V for Vendetta  โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการที่มวลชนอังกฤษทำการประท้วงรัฐบาลของมาร์กาเรต แทตเชอร์อย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ 80 เมื่อนวนิยายกึ่งการ์ตูนเรื่องนี้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี  2005 ก็ได้นำหน้ากากกาย ฟอว์กส์ไปสู่ความนิยมของชาวโลกในการประท้วงรัฐบาลที่กดขี่ บั่นทอนเสรีภาพของประชาชนรวมไปถึงกลุ่มประชาชนที่ต่อต้านระบบทุนนิยมโดยการยึดครองวอลล์สตรีท (Occupy Wall Street) และสถานที่สำคัญหลายแห่งในโลกเมื่อ 2 ปีก่อน (โดยที่คนประท้วงก็คงมีอยู่มากที่ไม่รู้ว่าหน้ากากมีที่มาอย่างไร)         
 
ที่สำคัญทั้งนวนิยายและภาพยนตร์ต้องการให้ตัวเอกที่ใส่หน้ากากกาย ฟอว์กส์เป็นตัวแทนของแนวคิดอนาธิปไตย (Anarchism) หรือแนวคิดที่ต่อต้านปฏิเสธการมีอยู่ของรัฐเพราะเห็นว่ารัฐคือตัวแทนของการกดขี่ข่มเหง โดยต้องการให้สังคมของชนกลุ่มต่างๆ ร่วมกันปกครองตัวเอง สำหรับชาวไทยสปริงจำนวนมากก็ดูใช้ชีวิตอย่างมีความสุขดีกับระบบทุนนิยมอันแตกต่างจากกลุ่มยึดครองวอลล์ สตริท และเกือบทั้งหมดก็คงเป็นพวกภักดีเจ้าอย่างเหลือล้น (Hyper-royalist) หรือในอนาคตขอเดาเล่นๆ หากทหารทำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไป ก็คงมีคนใส่หน้ากากกาย ฟอว์กส์ไปยืนชี้นิ้วเป็นรูปตัววีอยู่หน้ารถถังกันอยู่เป็นทิวแถว ก็เลยขอกดปุ่ม Like ให้กับชาวไทยสปริงอีกครั้งว่าได้สร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้กับหน้ากากกาย ฟอว์กส์ว่าเป็นสัญลักษณ์เพื่อโจมตีรัฐบาลแต่ก็เชิดชูสถาบันที่ทรงอำนาจของ"รัฐ" ยิ่งกว่าตัวของรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ !      
 
 
 
==========
      
 
(1) ถ้าคำนึงถึงประวัติศาสตร์ ไทยสปริงครั้งแรกน่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 การที่มักมีคนบอกว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนอำนาจจากบุคคลคนหนึ่งไปยังบุคคลกลุ่มหนึ่ง ก็เพราะพวกเขาถูกหล่อมหลอมโดยประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยมที่มุ่งนำเสนอคณะราษฎรในด้านบิดเบือนและไม่ได้กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของ "มวลชนสยาม” ไม่ว่าชนชั้นกลางหรือรากหญ้าในช่วงการปฏิวัติว่าได้สนับสนุนคณะราษฎรอย่างไร เหตุใดการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นไปโดยไม่นองเลือดและปราศจากการต่อต้านของมวลชน และคณะราษฎรนั้นได้กระทำการอย่างไรเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไทย
 
(2) ผู้เขียนเข้าใจตามแนวคิดโพสต์โมเดิร์นดีกว่าสัญลักษณ์เช่นนี้ก็อาจถูกนำไปมาใช้หรือผลิตซ้ำในอีกบริบทหนึ่งก็ได้ โดยที่ไม่มีใครสามารถกุมอำนาจในการให้ความหมายได้อย่างแท้จริง (แม้แต่แต่ผู้ให้กำเนิดสัญลักษณ์เอง) เช่นหน้ากากกายฟอว์กส์กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านการกดขี่ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าก็ไม่ใช่การผิดอะไรเพราะกลายเป็นสัญลักษณ์ยอดนิยมทีเข้าถึงจิตใจคนรุ่นใหม่ได้ดีกกว่าดอกบัวของพลตำรวจเอกวสิษฐ แต่ผู้เขียนคิดว่าอย่างไรแล้วมันก็ยังมีจุดเชื่อมโยงระหว่างสัญลักษณ์ที่ถูกผลิตซ้ำมาใหม่กับบริบทแบบเก่าอยู่อย่างน้อยก็อยู่ในความคิดของคนที่รู้ที่มาของสัญลักษณ์เช่นนั้น เช่น ลองจินตนาการความรู้สึกของเราที่เห็นคนรุ่นใหม่เอาภาพพระพุทธรูปไปติดในห้องส้วม ในฐานะตัวแทนของความรู้สึกสว่าง สงบ สบายขณะถ่ายของเสีย หรือคนรุ่นใหม่เดินถือธงที่มีสัญลักษณ์สวัสดิกะของนาซีไปทั่วถนนแล้วบอกว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพดู

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net