Skip to main content
sharethis

นิสิต-นักศึกษา ลงพื้นที่ ตามติดประเด็นการพัฒนานิคมเศรษฐกิจทวาย ฟังตัวแทน บริษัท อิตาเลียนไทยฯ แจงแก้ปัญหา KNU-ชาวบ้านไม่ยอมย้ายออก ด้านคนในพื้นที่ผลกระทบ เผยการเวนคืนไม่ชอบธรรม ไม่เคยมาถามความสมัครใจ

 
วันที่ 27-30 พ.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายการศึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Consortium of Development Studies in Southeast Asia-CDSSEA) จัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ “ASEAN from the ground” โดยให้นิสิตนักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทที่สนใจในประเด็นการพัฒนานิคมเศรษฐกิจทวาย และการสร้างถนนเชื่อมพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ระหว่างประเทศพม่า ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งรับฟังบรรยายจากตัวแทนของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้มีส่วนรับผิดชอบโครงการ
 
000
 
วิชพล พรรณรัตน์ ผู้จัดการขนส่ง บริษัท อิตาเลียนไทยฯ กล่าวว่าโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นโครงการที่จะพัฒนาประเทศพม่า และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างก้าวกระโดด นิตยสาร The New York Times เคยพูดถึงโครงการนี้ว่าเป็น “โครงการอุตสาหกรรมที่สามารถเปลี่ยนประเทศพม่าได้ (An industrial project that could change Myanmar)” โดยนอกจากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแล้ว ยังมีการก่อสร้างถนนเชื่อมเพื่อความรวดเร็วในการขนส่งสินค้าเป็นถนน 4 เลน และจะสร้างท่อส่งแก๊ส รางรถไฟ ระบบโทรคมนาคม คู่ขนานไปกับถนนด้วย
 
 
 
เส้นทางขนส่งสินค้า Southern corridor: ภาพจากบริษัท อิตาเลียนไทยฯ
 
ท่าเรือน้ำลึกทวายแบ่งออกเป็น 6 โซน โซน A เป็นอุตสาหกรรมหนักเช่น เหล็ก ถ่านหิน โซน B เป็นอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊ส โซน C เป็นอุตสาหกรรมปิโตร-เคมี และพลาสติก โซน D เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลาง เช่นยาง ไม้ และผ้า โซน E เป็นอุตสาหกรรมเบา เช่นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอาหาร และโซนสุดท้ายเป็นโซนสำนักงานและที่อยู่อาศัยซึ่งจะมีทั้งโรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย โครงการทั้งหมดมีขนาด 204.5 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าท่าเรือแหลมฉบังหรือมาบตาพุดของไทย 7 เท่า โดยบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้สิทธิพัฒนาพื้นที่เป็นเวลา 75 ปี  (DDC: เมื่อวันที่ 2 พ.ย.53 บริษัทอิตาเลียนไทยฯ ได้ลงนามในข้อตกลงเรื่องสิทธิในการพัฒนาและดำเนินการบริหารโครงการทวาย ตามระยะเวลาการเช่าที่ดินเป็นเวลามากกว่า 75 ปี)
 
แผนผังท่าเรือน้ำลึกทวาย: ภาพจากบริษัท อิตาเลี่ยนไทยฯ
 
ท่าเรือน้ำลึกทวายจะเป็นเส้นทางใหม่ในการขนส่งสินค้าจากมหาสมุทรแปซิฟิก ไปยังมหาสมุทรอินเดียแทนการอ้อมช่องแคบมะละกาซึ่งจะประหยัดเวลาลงไปได้ถึง 15 วัน การกระจายสินค้าไปยังยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และจีนสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น โดยเหตุผลที่เลือกทวายเป็นที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกเนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์มีความเหมาะสม มีหมู่เกาะเป็นแนวป้องการคลื่นและลมตามธรรมชาติ ทางบริษัทวางแผนว่าภายในระยะเวลา 10 ปีจะสามารถสร้างท่าเรือที่สามารถจุเรือขนาดใหญ่ได้มากถึง 54 ลำ  
 
วิชพล ระบุด้วยว่า โครงการดังกล่าวยังให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เช่นการบริหารจัดการน้ำ มีโครงการสร้างอ้างเก็บน้ำขนาด 500 ล้านลูกบาศก์เมตร บริเวณแม่น้ำซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองทวาย 20 กิโลเมตร ถ่านหินที่เราจะใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นถ่านหินที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม น้ำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย นอกจากนี้ทางบริษัทได้ขอความร่วมมือจากสถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เข้ามาทำ EIA (Environmental impact access) เพื่อศึกษาผลกระทบของโครงการอีกด้วย
 
ในเรื่องการทำความเข้าใจกับชาวบ้านในการขอเวนคืนที่ดิน ทางบริษัทมีฝ่าย CSR ช่วยให้ความรู้กับคนในชุมชนเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ ฝึกวิชาชีพ และการทำเกษตรแนวใหม่ มอบไก่ และสุกร ให้ชาวบ้านมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง มีการจัดทำโซนที่อยู่อาศัยใหม่เพื่อรองรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่
 
ที่อยู่อาศัยใหม่: ภาพจากบริษัท อิตาเลี่ยน-ไทย
 
หลังจากการบรรยาย นายวิชพลได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมโครงการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม มีคำถามที่น่าสนใจ ดังนี้
 
ถาม: ทางบริษัทมีแนวทางดำเนินการอย่างไรกับกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union หรือ KNU) ที่กำลังมีความขัดแย้งกับรัฐบาล เพราะในขณะนี้กระบวนการสันติภาพยังไม่เกิดขึ้น และการก่อสร้างตามโครงการเศรษฐกิจทวายหลายส่วนอยู่ในพื้นที่ของ KNU
 
ตอบ: รัฐบาลพม่าได้แก้ปัญหานี้โดยการให้กลุ่ม KNU เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยกลุ่ม KNU ได้ประโยชน์จากการขายอาหาร ของป่า และน้ำมันให้กับทางบริษัท คนของ KNU สามารถมีงานทำ และมีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดีขึ้นหากโครงการสำเร็จลุล่วงไปได้ KNU จึงค่อนข้างเห็นด้วยกับโครงการนี้เพราะเป็นโครงการที่ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย
 
ถาม: ทางบริษัทมีแนวทางในการต่อรองกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ และไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่อย่างไร
 
ตอบ: ทางบริษัทได้มอบหน้าที่นี้ให้กับฝ่าย CSR โดยแนวทางหลักๆ คือซื้อใจประชาชน และเข้าหาพระในพื้นที่ เพราะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคนในชุมชน อย่างไรก็ตามเรายังไม่สามารถเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการมากนัก เนื่องจากพม่าเป็นรัฐบาลทหาร สิทธิประชาชนจึงยังถูกปิดกั้นอยู่ แต่ก็ดีขึ้นในแง่ที่ยังให้ข้อมูลแก่ประชาชนมากขึ้น
 
000
 
นอกจากการพูดคุยกับตัวแทนของบริษัทอิตาเลี่ยนไทยฯ แล้ว กลุ่มนิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสพูดคุยกับ NGO และคนในพื้นที่
 
อรุณชัย ละมายไพเราะ นักเคลื่อนไหวอิสระผู้เคยอยู่ในแนวร่วม KNU กล่าวว่า กะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าที่น่าสงสาร ตัวเขาเองต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดในพม่าตั้งแต่เหตุการณ์ความขัดแย้งกับรัฐบาลในปี 1997 ยังโชคดีที่ได้โอกาสทางการศึกษาในประเทศไทย แต่คนรู้จักของเขาหลายคนไม่เป็นเช่นนั้น หลายคนต้องสูญเสียคนในครอบครัว สูญเสียที่ดินไป กว่าจะสามารถรวมตัวกันเป็น KNU จนต่อรองกับรัฐบาลทำให้มีชุมชนเป็นหลักแหล่งของตัวเองได้ก็ต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี ที่ดินของเขาจึงเปรียบเสมือนมรดกของชุมชนที่ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อ
 
ชาวกะเหรี่ยงจึงต่อต้านโครงการถนนเชื่อมต่อท่าเรือทวายมาก เพราะการเวนคืนที่ของรัฐบาลเป็นไปอย่างไม่ชอบธรรม ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า บางครั้งคนในหมู่บ้านออกไปหาของป่าในตอนเช้า พอตกเย็นก็กลับมาเจอไซท์ก่อสร้างอยู่ในหมู่บ้านตัวเอง การชดเชยก็น้อย หรือบางคนก็ไม่ได้เลย รัฐบาลบังคับให้คนใน 18 หมู่บ้านต้องย้ายออก ซึ่งคน 80-90% ไม่ต้องการ คนบางส่วนจึงยังอยู่ในพื้นที่จนถึงตอนนี้
 
ขณะที่ อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล ภาคประชาสังคมผู้ทำงานข้ามพรมแดนในกรณีท่าเรือน้ำลึกทวาย กล่าวว่า พื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นที่อยู่อาศัยของคน  40,000 คน โดยประกอบด้วยคนทวาย กะเหรี่ยง มอญ และอื่นๆ โครงการทวายจะทำให้คนเหล่านี้ต้องสูญเสียที่อยู่เดิมของเขา การประมงซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่จะถูกทำลาย ชายหาด และโบราณสถานบริเวณใกล้เคียงที่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจะถูกทำลาย
 
หมู่บ้านในรัศมี 60 กิโลเมตรรอบท่าเรือทวายจะได้รับผลกระทบจากมลพิษ การที่ท่าเรือทวายมีขนาดใหญ่กว่ามาบตาพุด 7 เท่านั้นหมายความว่าความเสียหายก็จะรุนแรงกว่า 7 เท่า ประชาชนอย่างน้อย 83,000 คนจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก อ่างเก็บน้ำ และถนนเชื่อมต่อ
 
กลุ่มนักเคลื่อนไหวรวมตัวกันบริเวณชายหาดที่จะถูกสร้างเป็นท่าเรือน้ำลึก
 
การสร้างที่อยู่ใหม่ให้กับชาวบ้านเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ในบางหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านมูดู มีสมาชิกหลายคนในหนึ่งครอบครัว แต่พวกเขาได้ที่อยู่ใหม่เพียงหลังเดียวเท่านั้น อีกทั้งรูปแบบการสร้างที่อยู่ใหม่มีลักษณะเป็นโซนแบบบ้านจัดสรรซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการดำรงชีวิตของชาวบ้านโดยสิ้นเชิง ส่วนคุณภาพของบ้านก็น่าเป็นห่วง ที่ผ่านมามีบ้านพังทลายสองครั้งจากเหตุพายุเข้า
 
การเวนคืนที่ดินก็ไม่ได้มาตรฐาน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้มากที่สุดคือชุมชนกะเหรี่ยง รัฐบาลไม่มีการสอบถามความยินยอม หรือแจ้งล่วงหน้า ไม่มีการทำ EIA แต่ใช้หลักการไถที่ก่อน จ่ายเงินชดเชยที่หลังซึ่งผิดหลักสากล นอกจากนั้น แหล่งน้ำในพื้นที่ยังถูกทำลาย เพราะดินจากการก่อสร้างปนเปื้อนลงไปในน้ำมากจนไม่ใช้สามารถใช้บริโภคได้
 
ที่อยู่อาศัยใหม่ที่เตรียมไว้ให้ชาวบ้านพังเนื่องจากถูกลมพัด
 
แม่น้ำที่ปนเปื้อนจากการทำถนน
 
อารีวัณย์ กล่าวว่า สภาพการณ์ที่เกิด เป็นเหตุให้ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องเช่น DDA (Dawei Development Association) ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาทบทวนโครงการดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล และกลับมาตั้งคำถามว่าการพัฒนานี้ใครจะได้ประโยชน์
 
“เราต้องการให้รัฐบาลออกมาแสดงความชัดเจนว่าคนในพื้นที่จะได้ประโยชน์จากการพัฒนานี้ ทางที่ดีรัฐบาลควรหันมาพัฒนาจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้วเช่นธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในท้องถิ่นได้ประโยชน์อย่างแน่นอน” อารีวัณย์ ระบุ
 
ส่วนลวิน ลวิน แสดงความเห็นในฐานะคนพื้นที่ผู้ประสบปัญหาจากโครงการว่า เราไม่ต้องการให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้น เพระมันเกินความจำเป็น เราพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เราไม่พอใจที่รัฐบาลสั่งให้เราย้ายไปในที่ที่รัฐบาลจัดไว้ให้ รัฐบาลไม่เคยมาถามความสมัครใจจากเรา ไม่แม้กระทั่งมาถามว่าเราอยากได้ที่อยู่ใหม่แบบใด แต่รัฐก็เดินหน้าก่อสร้างที่อยู่ใหม่ไปแล้วถึง 400 หลัง การฝึกอาชีพที่ทางบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ทำก็เป็นไปอย่างฉาบฉวย บริษัทส่งตัวแทนมาอาทิตย์ละ 2 ครั้ง บรรยายเพียงครั้งละ 1 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 2 เดือน หลังจากนั้นก็มาถ่ายรูปแล้วก็หายไป ชาวบ้านแทบไม่ได้อะไรเลย
 
ลวินเสนอด้วยว่า จริงๆ แล้วรัฐบาลอาจจะลดระดับความขัดแย้งลงได้หาก ทำ EIA เพื่อหาอัตราการชดเชยที่เป็นธรรม แต่เมื่อไม่มี EIA ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าควรจะชดเชยเท่าไหร่ สิ่งที่รัฐบาลทำจึงไม่ต่างจากการซื้อที่ดินคืนในราคาถูก ในราคาเพียง 20,000 บาทต่อเอเคอร์เท่านั้น   
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net