ทำไม “ประชาธิป’ไทย” (Paradoxocracy) ไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
เป็นที่ฮือฮาในโซเชียลมีเดียกันพอสมควร สำหรับภาพยนตร์สารคดี "ประชาธิปไทย" (Paradoxocracy) ที่นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงทุกวันนี้ ผ่านภาพเหตุการณ์สำคัญๆ ของความขัดแย้งทางการเมือง และผ่านมุมมองของนักคิด นักวิชาการจำนวนมาก เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, จิระนันท์ พิตรปรีชา, ธงชัย วินิจจะกูล, ไชยันต์ ไชยพร, ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ สมบัติ บุญงามอนงค์(บก.ลายจุด) เป็นต้น

แต่ที่น่าแปลกใจ หรือน่าประหลาดใจมากคือ เมื่อผู้ทำหนังสารคดีเรื่องดังกล่าว คือ “เป็นเอก รัตนเรือง" กับ "ภาสกร ประมูลวงศ์" ให้สัมภาษณ์มติชนออนไลน์ (5 มิถุนายน 2556 http://www.youtube.com/watch?v=NUe1M4XIK1g&feature=player_embedded#t=41s) ว่า “ก่อนถ่ายหนังเรา research มาปีกว่า” แต่พอถึงประเด็นคำถามว่า ทำไมไม่มีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในภาพยนตร์เรื่องนี้ คำตอบกลับเป็นว่า “...ส่วนตัวผมก็ไม่รู้จักแกเลยเพิ่งมารู้จักตอนออกรายการตอบโจทย์ แล้วเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น...” ขอคัดคำถาม-ตอบเกี่ยวกับ “ทำไมไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ” จากมติชนออนไลน์มาให้อ่านดังนี้
@ทำไมไม่มีสัมภาษณ์ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล”
 
เป็นเอก : ไม่มี ไม่ได้ติดต่อเขา คือก็มีเพื่อนบอกผมว่าต้องไปหาคนนี้ แต่พอถึงเวลาก็จะด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ ไม่ได้มีเขาอยู่
 
@ ทำไมไม่มี “สมศักดิ์ เจียมฯ” ทั้งที่ เขาเป็นผู้นำทางความคิดทางการเมืองขั้วหนึ่งเลย
 
เป็นเอก : มันมีคนเต็มไปหมดเลย ที่เป็นผู้นำทางความคิด ทางการเมือง ไม่ได้มีเขาคนเดียว
 
ภาสกร : ถ้าถามว่า ทำไมไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ ก็จะมีคำถามตามมาว่า ทำไมไม่มีคนโน้นคนนี้
 
เป็นเอก : ใช่ คือถ้ามีสมศักดิ์ เจียมฯ เดี๋ยวก็จะตามมาด้วยคำถามอีกว่า ควรจะมีป๋าเปรมหรือเปล่า ควรมีคนโน้นคนนี้ หรือควรจะมีทักษิณ ซึ่งเราก็ติดต่อทักษิณนะ ไม่ใช่ไม่ติดต่อ แต่ว่าเขาไม่ว่าง ถ้าก่อนหน้านั้นหน่อยเขาคงว่าง ช่วงที่เราจะไปเขาไม่ว่าง
 
@สมศักดิ์ เจียม อาจจะเป็นภาพตัวแทนความคิดคนอีกจำนวนมาก
 
เป็นเอก : อันนี้เป็นความเห็นของบางคน แต่สำหรับหลายๆ คน เขาก็เป็นตัวแทนของความกวนตีนนะ อันนี้ผมพูดตามที่ได้ยินมา แล้วส่วนตัวผมก็ไม่รู้จักแกเลยเพิ่งมารู้จักตอนออกรายการตอบโจทย์ แล้วเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น พอผมไปดูก็พบว่า หลายอย่างที่แกพูด ผมเห็นด้วยมาก เป็นหลักการที่ถูกต้อง ปัญหาอย่างหนึ่งคือ แกมีท่าทีที่ provoke ขนาดนั้น น่าเสียดายที่ทำให้คนจำนวนมากแทนที่จะอยากฟังสิ่งที่แกพูด กลับอยากจะถีบหน้าแก ไม่ได้ฟังสิ่งที่แกพูด
 
(นิ่ง) หนังเรื่องนี้ ตั้งใจให้การศึกษา ไม่ได้ต้องการจะทำตัวให้ดูดตีน หรือประกาศตัวว่า ฉันมีความคิดแบบนี้ หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่มี “สติ” มาก ไม่ต้องการจะเล่นกับความแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในประเทศนี้ แต่ต้องการให้ความรู้แบบง่ายๆ ดังนั้น คนที่เป็นฮาร์ดคอร์เหลืองหรือแดง จะไม่ได้รสแซ่บกลับไป หรือไม่ได้รสชาติถูกปากคุณ แต่หนังเรื่องนี้ สำหรับคนที่กำลังอยู่กลางศูนย์กลางของความงงงวย คล้ายๆ ผมกำลังงงว่าเหตุการณ์ในประเทศนี้เกิดอะไรขึ้นวะ
 
อ่านสัมภาษณ์นี้แล้ว ผมมีข้อคิดเห็นดังนี้
 
1.ไม่ทราบว่าเหตุผลที่ไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ คืออะไรกันแน่? ที่ภาสกรว่า “ถ้าถามว่า ทำไมไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ ก็จะมีคำถามตามมาว่า ทำไมไม่มีคนโน้นคนนี้ แล้วเป็นเอกก็ตอบว่า “ใช่ คือถ้ามีสมศักดิ์ เจียมฯ เดี๋ยวก็จะตามมาด้วยคำถามอีกว่า ควรจะมีป๋าเปรมหรือเปล่า ควรมีคนโน้นคนนี้ หรือควรจะมีทักษิณ...”
 
แต่จริงๆ ประเด็นคำถามอยู่ที่ว่า ในเมื่อหนังเรื่องนี้มีนักคิด นักวิชาการที่เป็นตัวแทน (หรือต่อสู้) ทางความคิดอยู่หลายคน ทำไมไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ แต่คนตอบกลับอ้างถึงป๋าเปรม ทักษิณ ที่อยู่นอกวงการนักคิด นักวิชาการ
 
2.ไม่น่าเชื่อว่า “ทำ research มาปีกว่า” ก่อนลงมือทำหนัง แต่กลับไม่รู้จักสมศักดิ์ เจียมฯว่าเขาเสนอ “ประเด็นสำคัญ” อะไรที่เป็น “ปัญหาแกนกลางของความเป็นประชาธิปไตย” เพิ่งมารู้จักตอน “ไปออกรายการตอบโจทย์ แล้วเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา” จากนั้นก็วิจารณ์ว่า “ท่าทีที่ provoke ขนาดนั้น น่าเสียดายที่ทำให้คนจำนวนมากแทนที่จะอยากฟังสิ่งที่แกพูด กลับอยากจะถีบหน้าแก ไม่ได้ฟังสิ่งที่แกพูด”
 
ทำให้สงสัยว่า “คนจำนวนมากแทนที่จะอยากฟังสิ่งที่แกพูด กลับอยากจะถีบหน้าแก” นั้น ผู้ทำหนังไป “สำรวจ” มาจากคนกลุ่มไหน ใช้วิธีสำรวจอย่างไรจึงได้ข้อสรุปนี้มา หรือเป็นแค่ “ความรู้สึก” ของผู้ทำหนังเอง หรือแค่ “อนุมาน (คาดคะเน/เดา)” จากที่ฟังต่อๆ กันมาจากคนในกลุ่มสีหนึ่งเท่านั้น (ทว่ากลับบอกว่าหนังเรื่องนี้ “ไม่มีสี” อยากให้คน “ถอดเสื้อดูหนัง”)
 
3.ประเด็นสำคัญคือ ถ้าผู้ทำหนังประกาศว่า “หนังเรื่องนี้ ตั้งใจให้การศึกษา ไม่ได้ต้องการจะทำตัวให้ดูดตีน หรือประกาศตัวว่า ฉันมีความคิดแบบนี้ หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่มี “สติ” มาก ไม่ต้องการจะเล่นกับความแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในประเทศนี้...”
 
คำถามก็คือว่า ผู้ที่ประกาศตนว่า “ตั้งใจให้การศึกษา” โดยเฉพาะเป็นการศึกษาในเรื่อง “ประชาธิปไตย” แก่ประชาชนนั้น เหคุใดจึงไม่สามารถก้าวข้ามประเด็น “ท่าที” ไปสู่ประเด็นเรื่อง “หลักการ” ให้ได้
 
ก็ในเมื่อผู้ทำหนังบอกเองว่า “...หลายอย่างที่แกพูด ผมเห็นด้วยมาก เป็นหลักการที่ถูกต้อง...” แล้วไง ต่อให้สมศักดิ์จะมี “ท่าทีที่ provoke ขนาดนั้น” จริงๆ มันจะมีปัญหาอะไร ขึ้นอยู่กับผู้ทำหนังจะสัมภาษณ์ หรือตั้งประเด็นถามอย่างไรเพื่อให้ได้ความคิดเห็นหรือคำอธิบาย “เชิงหลักการ” มิใช่หรือ
 
โดยเฉพาะที่ว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่มี “สติ” มากนั้น วัดอย่างไร ถ้าไม่วัดจากการที่ผู้ทำหนังมี “สติ” ก่อนตั้งแต่เริ่มแรกที่จะเผชิญกับ “การอภิปรายปัญหาเชิงหลักการ” ของ “ประเด็นสถาบันกษัตริย์” ซึ่งเป็นประเด็นที่สมศักดิ์พูดและเรียกร้องให้นักวิชาการ ปัญญาชนอภิปรายประเด็นนี้มากว่าสิบปีหรือยี่สิบปีแล้ว
 
ซึ่งการอภิปรายเชิงหลักการเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยตามที่สมศักดิ์ทำและเรียกร้องมาตลอด ก็ไม่ใช่เรื่อง “เล่นกับความเป็นฝักฝ่าย” หรือทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ “ดูดตีน” ไปได้แต่อย่างใด กลับจะเป็นการก้าวข้ามความเป็นฝักฝ่ายไปช่วยกันคิดในประเด็นหลักการ ซึ่งตรงตามความหมายของการ “ให้การศึกษา” เรื่อง “ประชาธิปไตย” ได้ตรงจุดหรือตรงหัวใจสำคัญมากกว่า
 
4.ตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ เป็นเอกบอกว่า “หนังเรื่องนี้ ก็คงถูกแต่ละฝ่าย เอาไปตีความให้เข้าข้างฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุน ผมว่าดูเรื่องนี้ มันไม่สับสน เพราะตั้งใจจะให้การศึกษา ซึ่งจริงๆ แล้ว ควรจะฉายในห้องเรียนมากกว่าฉายในโรงหนัง เพราะ ปมด้อยของเราอย่างหนึ่งในฐานะคนที่เกิดมาเติบโตในประเทศไทย คือว่า ความรู้ทางประวัติศาสตร์ในหนังสือเรียนที่เราเรียนมา มันบอกไม่หมด มันมีแต่ความดีความดี แล้วหนังเรื่องนี้ ก็แค่เปิดให้เห็นกว้างขึ้น จากหนังสือเรียนที่เคยเรียนกันมา”
 
น่าเสียดายที่แม้ผู้ทำหนังจะคิดอย่างที่ว่านี้ได้ และต้องการ “ให้การศึกษา” (ดูเหมือนจะ “ย้ำ” คำนี้บ่อยมาก) เกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย” เห็นว่าหนังสือเรียนบอกไม่หมด บอกแต่ “ความดี ความดี” แต่กลับไม่ได้ไปสัมภาษณ์คนที่เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” ที่พยายามจะบอกความจริงทุกด้านให้หมด และพยายามจะตั้งคำถามกับสิ่งที่ปลูกฝังกันมาว่า “ความดี ความดี” นั้น พิสูจน์กันได้อย่างไร หากจะพิสูจน์ควรจะมีหลักการ กติกากันอย่างไร และทำไมประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจต้องมีสิทธิที่จะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เรียกว่า “ความดี ความดี” นั้น เป็นต้น
 
กลายเป็นว่า การที่คนทำหนัง “Paradoxocracy” ไม่รู้จักสมศักดิ์ เจียมฯ และประกาศทำหนังเพื่อต้องการให้การศึกษาประชาธิปไตยแก่ประชาชน แต่กลับไม่สามารถแม้แต่จะก้าวข้าม “ท่าที” ของสมศักดิ์ ไปสู่การอภิปรายเชิง “หลักการ” ของเขา อันเป็นหัวใจสำคัญของการทำความเข้าใจ “ปัญหาแกนกลาง” ของประชาธิปไตยไทย จึงทำให้แม้แต่ในกระบวนการทำหนัง “Paradoxocracy” นี้ ก็ยังมีความเป็น “Paradox ในตัวมันเองเองอย่างที่ไม่น่าจะเป็น!
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท