'เจ้ย' อภิชาติพงศ์ ได้รางวัลฟูกุโอกะสาขาศิลปะและวัฒนธรรม

ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้รับรางวัลฟูกุโอกะซึ่งเป็นรางวัลของประเทศญี่ปุ่นมอบให้ผู้ทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมเอเชียและส่งเสริมสันติภาพดีเด่น

7 มิ.ย. 56 - รางวัลวัฒนธรรมเอเชียแห่งฟูกูโอกะ ซึ่งเป็นรางวัลมอบให้แก่ศิลปินและนักวิชาการนานาชาติที่ทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมเอเชีย มอบรางวัลดีเด่นสาขาศิลปะและวัฒนธรรมให้แก่ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล โดยในปีนี้ยังมีผู้ได้รับรางวัลในสาขาอื่น เช่น นากามูระ เท็ตสึ แพทย์ชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้อำนวยการบริการการแพทย์เพื่อสันติภาพญี่ปุ่น ได้รับรางวัลแกรนด์ไพรซ์ เท็สซ่า มอร์ริส ซูซูกิ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้รับรางวัลสาขาวิชาการดีเด่น
 
ในเว็บไซต์ระบุว่า งานของอภิชาติพงศ์เป็นงานที่ได้สร้างความฮือฮาในวงการภาพยนตร์ ด้วยวิธีการใหม่ๆ ในการเล่าเรื่องเช่น การบรรยายทางทัศนา (visual narration) มีเรื่องราวที่มีฐานมาจากนิทานและตำนานท้องถิ่นซึ่งผสมผสานกับความทรงจำส่วนตัว และเกี่ยวข้องกับประเด็นร่วมสมัยในปัจจุบันด้วย
 
"อภิชาติพงศ์ ในฐานะที่เป็นผู้ตั้งมาตรฐานสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ จากวิธีการเล่าเรื่องที่แหวกขนบไปจนถึงการแสดงออกทางทัศนา ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับวงการภาพยนตร์ทั่วโลก และยังคงสร้างสรรค์ในพื้นที่หลากหลายโดยไม่ติดอยู่ในกรอบเรื่องการแบ่งประเภทเดิมๆ สำหรับความสำเร็จนี้ เขาจึงสมควรเป็นผู้ได้รับรางวัลฟูกุโอกะสาขาศิลปะและวัฒนธรรมอย่างแท้จริง" เว็บไซต์รางวัลฟูกุโอกะระบุ 
 
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เติบโตในจังหวัดขอนแก่น สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปริญญาโท ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาพยนตร์ จากสถาบันศิลปะชิคาโก (Art Institute of Chicago) เริ่มต้นผลิตภาพยนตร์และวิดีโอตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2533 เป็นหนึ่งในผู้ผลิตภาพยนตร์ไม่กี่คนในประเทศไทยที่ทำงานนอกระบบสตูดิโอ อภิชาติพงศ์มักทดลองโดยยึดหลักโครงเรื่องที่อิงมาจากละครโทรทัศน์ ละครวิทยุ การ์ตูน และภาพยนตร์เก่า ๆ มักได้แรงบันดาลใจมาจากเมืองเล็ก ๆ มักใช้นักแสดงที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่ใช่มืออาชีพ และใช้บทสนทนาสด
 
พ.ศ. 2543 ภาพยนตร์สารคดีเรื่องยาวเรื่องแรกของเขา ดอกฟ้าในมือมาร (Mysterious Object at Noon) ได้เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมากมาย และได้รับคำวิจารณ์พร้อมรางวัล 4 รางวัล และเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในปี 2543 โดยนักวิจารณ์นิตยสาร The village voice 
 
อภิชาติพงศ์เปิดบริษัทภาพยนตร์ Kick the Machine โดยผลิตภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) ได้รับรางวัล Un Certain Regard ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ประจำปี พ.ศ. 2545 ณ ประเทศฝรั่งเศส ถูกจัดเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดที่คานส์โดยนิตยสาร Le Cahiers du Cinema พ.ศ. 2547 
 
ภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) ซึ่งร่วมกับบริษัท Anna Sanders Films ประเทศฝรั่งเศส ได้รับรางวัล Jury Prize และเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับเข้าเลือกในสายประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์
 
ภาพยนตร์เรื่องที่ 6 ของเขา ลุงบุญมีระลึกชาติ (พ.ศ. 2553) ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 63 นับเป็นภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้
 
ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าว ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1990 โดยผู้ได้รับรางวัลที่ผ่านมา รวมถึง เจมส์ ซี สก็อต นักวิชาการชาวสหรัฐด้านมานุษยวิทยา แอนโทนี รีด นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ไทย คลิฟฟอร์ด กีแอร์ตซ์ นักมานุษยวิทยา และคึกฤทธิ์ ปราโมทย์ นักเขียนและรัฐบุรุษไทย และเมื่อปีที่แล้ว ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลดังกล่าวในสาขาวิชาการดีเด่น 
 
 
ที่มาเนื้อหาบางส่วนจาก เว็บไซต์วิกิพีเดีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท