Skip to main content
sharethis

วงเสวนาร่างฯ รธน.ม.190 ถกดุลอำนาจบริหาร-นิติบัญญัติ ด้านทีดีอาร์ไอ ติงกรอบสัญญาหลวม ให้อำนาจฝ่ายบริหาร ขาดการถ่วงดุล - เป็นกลาง คปก.ชี้ออกกม.ลูกอุดช่องโหว่ ขณะที่กมธ.ฯ แจง คำนึงผลกระทบรอบด้าน ภาคปชช.ระบุนิยามกว้างสร้างอำนาจต่อรอง ลดอุณหภูมิการเมือง

10 มิ.ย. 56 – คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดเสวนาวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยมีคณะกรรมาธิการพิจารราร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190) ,สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร,กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ,กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และผู้แทนจากภาควิชาการร่วมอภิปราย

 
คปก.ชี้ออกกม.ลูกทันทีที่แก้รธน.ม.190 อุดช่องโหว่ ตั้งข้อสังเกตปชช.เข้าถึงข้อจริงหรือ
 
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า มีข้อกังวลว่า หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190  ต้องไปออกกฎหมายลูกนั้น จะมีประเด็นสำคัญตามมาคือ หนังสือสัญญาจะเป็นประเภทใดจะมีการศึกษาผลกระทบหรือไม่แล้วใครจะเป็นผู้ศึกษา ขณะเดียวกันถ้ากฎหมายลูกออกมาล่าช้าก็จะต้องใช้กฎหมายแม่บท ประเด็นนี้อาจจะเกิดการโต้แย้งจากหลายฝ่ายได้ ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐสภาที่จะต้องทำกฎหมายลูกทันทีหากมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 อีกทั้งควรเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วมโดยพิจารณาด้วยว่าเรื่องใดบ้างที่ต้องรับฟังความคิดเห็น เพื่อแก้ไขจุดอ่อนตรงนี้ให้ฝ่ายปฏิบัติทำงานได้จริง
 
นายไพโรจน์ กล่าวว่า กรณีวรรค 4 ที่ระบุก่อนแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในหนังสือสัญญาตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น ประเด็นนี้ตนมีข้อสังเกตว่า ประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลได้จริงหรือไม่ เนื่องจากการเข้าถึงสัญญานั้นจะกระทำได้ในขั้นตอนที่ทำสัญญาแล้วเสร็จ ประเด็นนี้เป็นจุดอ่อนประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณา เพราะถ้าหากให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดของหนังสือสัญญาได้ตั้งแต่ขั้นต้นก็จะช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อรองของรัฐไทยได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งรัฐสภายังมองไม่เห็นถึงประเด็นนี้มากนักและคิดว่าเป็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข อย่างไรก็ตามคาดว่าการพิจารณาในวาระสองและสามอาจจะต้องใช้เวลา ซึ่งคปก.จะเร่งทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เสนอไปยังรัฐสภาโดยเร็ว
 
กมธ.ฯแจง คำนึงผลกระทบรอบด้าน
 
ด้านผศ.จารุพรรณ กุลดิลก ผู้แทนคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190) กล่าวชี้แจงว่า ในการแก้ไขมาตรา190 เป็นมาตราที่ยากที่สุดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทั้งผู้ที่นำกฎหมายเข้าสู่สภาตลอดจนผู้ยกร่างฯ ตรงนี้ได้พิจารณาแล้วว่ามีใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบ้าง ประเทศไทยจะได้เปรียบเสียเปรียบต่างประเทศอย่างไร โดยการพิจารณาครั้งนี้ได้คำนึงถึงประวัติความเป็นมา,วัฒนธรรม,กฎหมายระหว่างประเทศ,ทิศทางการทูตในอนาคตรวมถึงการจะเข้ารวมเป็นประชาคมอาเซียนและข้อกังวลต่างๆแล้ว
 
ทีดีอาร์ไอ ติงเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหาร ขาดหลักธรรมาภิบาลในกม.ลูก
 
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า กระบวนการขั้นตอนในการจัดทำหนังสือสัญญาตามร่างฯ ฉบับนี้ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานราชการมากกว่าการรับรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งมีการกำหนดกรอบในการทำหนังสือสัญญาไว้หลวมๆ ทำให้อำนาจของดุลยพินิจตกอยู่กับฝ่ายบริหารค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อยังไม่มีกฎหมายลูก นอกจากนี้ยังเห็นว่าไม่มีการกำหนดหลักธรรมาภิบาลที่สำคัญในกฎหมายลูก เช่น การถ่วงดุล ความโปร่งใส ความเป็นกลาง เป็นต้น
 
 “จากประสบการณ์ที่ยังไม่มีการตรากฎหมายลูกแม้เวลาล่วงเลยมาแล้ว 6 ปี ควรกำหนดให้มีการดำเนินการภายใต้ระบบเดิมในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายลูก เพื่อผลักดันให้เกิดกฎหมายลูก ขณะเดียวกันเห็นว่าควรกำหนดกรอบของกระบวนการและขั้นตอนในการทำหนังสือสัญญาที่ไม่น้อยกว่าเดิม เพราะประเภทของหนังสือสัญญาถูกจำกัดแล้ว ภาระที่ตกแก่หน่วยงานราชการไม่น่าจะมากนัก นอกจากนี้ยังเห็นว่าหากมีการขยายประเภทของหนังสือสัญญา อาจกำหนดกระบวนการและขั้นตอนของหนังสือสัญญาแต่ละประเภทที่แตกต่างกันด้วย” ดร.เดือนเด่น กล่าว
 
ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า การกำหนดบทนิยามให้แคบลงนั้นเป็นเรื่องดี แต่นิยามใหม่ยังแคบเกินไป ควรรวมถึงหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อการเงิน การคลังของประเทศ  เช่น สัญญาเงินกู้จากต่างประเทศ ตลอดจนหนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันด้านทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม แรงงาน และสิทธิมนุษยชนที่ต่างไปจากเดิม และความตกลงกับองค์กรระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ
 
เสนอแก้ไขวรรค2 เพิ่มบทคุ้มครอง-แย้งอำนาจวินิจฉัยศาลรธน.หวั่นขาดความสมดุล
 
นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้แทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการเน้นย้ำคุณูปการมาตรา190 ซึ่งตนมองว่า นิยามที่กว้างขึ้นสอดคล้องกับการเป็นประชาธิปไตย ลดความสุ่มเสี่ยงทางการเมือง และสร้างอำนาจต่อรองได้มากขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าข้อจำกัดก็ยังมีอยู่ คือมีความไม่ชัดเจนในพื้นที่การตีความเดิม จึงนำมาสู่การแก้ไขมาตรา190 เพื่อลดข้อจำกัดด้านความล่าช้า ความไม่มีประสิทธิภาพดังกล่าว
 
นายจักรชัย กล่าวว่า กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์มีความเห็นว่า ในวรรคสองควรจะต้องมีเพิ่มเติมเรื่อง บทคุ้มครองด้านการค้าการลงทุน หรือมีบทเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองหรือจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรือสังคม ที่มิใช่ความร่วมมือทางวิชาการ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ขณะเดียวกันควรเพิ่มบทบัญญัติ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือหนังสัญญา  รวมทั้งการศึกษาถึงประโยชน์ของหนังสือสัญญา และผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการ และการดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าว ประเด็นนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก หากมีการแก้ไขปรับปรุงตรงจุดนี้จะช่วยลดแรงเสียดทานต่อรัฐบาลได้
 
“ประเด็นที่เห็นต่างประเด็นหนึ่งคือในกรณีที่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาใดเข้าลักษณะหนังสือตามวรรคสาม ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัยหนังสือสัญญา ซึ่งประธานรัฐสภาจะได้แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วยประธานสภาส.ส. ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีและประธานศาลฎีกา เพื่อให้เกิดความสมดุล ไม่เห็นด้วยที่ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด” นายจักรชัย กล่าว
 
ตั้ง 5 ประเด็นถกเถียงดุลอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ
 
ผศ.รัชดา ธนาดิเรก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มี 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ควรจะมีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ 2.เรื่องการเยียวยา ไม่ควรมองเฉพาะเรื่อง FTA อาจจะมองเรื่องอื่นด้วย เช่น สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรต่างๆ 3. กรอบการเจรจาควรจะมีอยู่หรือไม่ 4. หากมีความเห็นแย้งกัน เหตุใดต้องให้การวินิจฉัยกลับไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ 5.บทเฉพาะกาล ในมาตรา 4 เขียนไว้ แต่ยังไม่ได้หยิบยกเรื่องของการเยียวยา ช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายลูก ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่และมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ทั้ง 5 ประเด็นเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป
 
ด้านผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า  กรมเจรจาการค้าต้องพิจารณาทั้งสองส่วนคือ ทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจุดประสงค์หลักของการแก้ไขมาตรา 190  เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความคลุมเครือ ความไม่ชัดเจนในบทนิยาม ประกอบกับมีประเด็นเกี่ยวกับผลผูกพันด้านการค้าการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องปลดล็อคความคลุมเครือดังกล่าวนั้น และการออกกฎหมายลูกก็จะทำได้ง่ายขึ้น
 
 
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190
 
มาตรา 190 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
 
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว
 
ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย
 
เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนจะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในการที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน หรือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม
 
ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผล กระทบจากการปฏิวัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป
 
ในกรณีที่มีปัญหาตาม วรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 154(1) มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net